ReadyPlanet.com


พรากผู้เยาว์


 หลานสาวอายุ 14 ไปมีอะไรกับแฟน อายุประมาณ 16-17 จนท้อง คุยกับฝ่ายชายแรก ๆ ก็ยอมมาแต่งงาน เรียกค่าสินสอด 44000 บาท แต่ 2 อาทิตย์ให้หลัง พ่อฝ่ายชายมาพูดว่าหลานไปมีอะไรกับลูกน้องพ่อ ทางเราจึงไม่ยอม เลยแจ้งความ เพราะทางฝ่ายชายดูถูกเรามาก แต่เราก็สงสารเด็กผู้ชาย ถ้าเมื่อเรื่องไปถึงศาล แล้วเราจะไปยอมความที่ชั้นศาลได้หรือไม่ อยากให้พ่อแม่ของเด็กรับรู้ถึงความเจ็บที่ฝ่ายหญิงได้รับบ้าง มีรายละเอียดอีกเยอะ แต่สอบถามเท่านี้ก่อน



ผู้ตั้งกระทู้ น้าสาว :: วันที่ลงประกาศ 2011-09-18 14:20:18


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2225535)

ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ เป็นความผิดต่อแผ่นดินไม่สามารถยอมความกันได้ แต่ในชั้นศาล หากผู้เสียหายแถลงศาลว่าไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลย ย่อมมีเหตุบรรเทาโทษที่ศาลจะนำมาประกอบการกำหนดโทษและลงโทษจำเลยสถานเบาได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-10-15 21:35:40


ความคิดเห็นที่ 2 (2225538)

ผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดี มีเหตุบรรเทาโทษ 

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ทั้งได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายรวมจำนวน 80,000 บาท จนเป็นเหตุพอใจแก่ผู้เสียหาย และผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 13 ปี 9 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุตรดิตถ์แล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดเพราะความเยาว์วัย หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยและความประพฤติแล้วจะเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุกให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 (จังหวัดเชียงใหม่) มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 3 ปี ขั้นสูงคนละ 4 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6517/2552

          ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74, 75 และ 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน เมื่อปรากฏว่ากฎหมายที่แก้ไข ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำความผิดในขณะอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะกระทำความผิดอายุ 17 ปีเศษ กฎหมายบังคับให้ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษลงให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง มิใช่อยู่ในดุลพินิจของศาลตามกฎหมายเดิม เป็นกรณีมีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ภายหลังเป็นคุณกว่า ต้องใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 283 ทวิ, 317

          จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 1 มีอายุ 14 ปีเศษ จำเลยที่ 2 มีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 และ 76 ประกอบมาตรา 53 ตามลำดับ ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารกับฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง และเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม เป็นความผิดกรรมเดียวกัน ลงโทษฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 25 ปี ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 27 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ทั้งได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายรวมจำนวน 80,000 บาท จนเป็นเหตุพอใจแก่ผู้เสียหาย และผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 13 ปี 9 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุตรดิตถ์แล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดเพราะความเยาว์วัย หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยและความประพฤติแล้วจะเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 (จังหวัดเชียงใหม่) มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 3 ปี ขั้นสูงคนละ 4 ปี

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุตรดิตถ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์

            ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าไม่เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรม และให้ลงโทษปรับในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 แก่จำเลยทั้งสองอีกสถานหนึ่ง โดยลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 และ 76 ตามลำดับแล้ว ปรับคนละ 5,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 2,500 บาทอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 106 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติ 2 ปี ให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก3 เดือนต่อครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด ให้จำเลยทั้งสองตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสองเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง หากผลการเรียนไม่เป็นที่พอใจหรือเรียนซ้ำชั้นให้ผู้อำนวยการสถานพินิจรายงานให้ศาลทราบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังสถานพินิจมีกำหนดคนละ 12 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง แต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรม ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เปลี่ยนโทษจำคุก และให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองในแต่ละฐานความผิดอีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษกับให้คุมความประพฤติของจำเลยทั้งสองไว้ อันเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อยและมิใช่กรณีพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 เมื่ออัยการสูงสุดไม่ได้รับรองฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

          อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2551 มาตรา 6 และ 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74, 75 และ 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในมาตรา 74 และ 75 กฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกันต่างกันแต่เพียงเกณฑ์อายุของจำเลย คดีนี้ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ อยู่ในเกณฑ์อายุตามมาตรา 75 (เดิม) และมาตรา 74 (ที่แก้ไขใหม่) โดยมาตรา 75 (เดิม) บัญญัติให้ศาลพิจารณาว่า สมควรลงโทษจำเลยหรือไม่ ส่วนมาตรา 74 (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า จำเลยไม่ต้องรับโทษจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนนี้ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ส่วนจำเลยที่ 2 อายุ 17 ปีเศษ อยู่ในเกณฑ์อายุมาตรา 76 (เดิม)และมาตรา 75 (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่กำหนดให้ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง มิใช่ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลตามกฎหมายเดิม อันเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่เป็นคุณกว่ามาตรา 76 (เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

            พิพากษาแก้เป็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (ที่แก้ไขใหม่) แต่เห็นสมควรมอบตัวจำเลยที่ 1 ให้บิดาและมารดาของจำเลยที่ 1 รับไปดูแล โดยวางข้อกำหนดให้บิดาและมารดาของจำเลยที่ 1 ระวังไม่ให้จำเลยที่ 1 ก่อเหตุร้ายขึ้นอีกภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษานี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-10-15 21:42:16



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล