ReadyPlanet.com


ควรไกล่เกลี่ย หรือ ให้ศาลตัดสินคดีไปเลย


คดี กรณี บริษัทเจ้าหนี้ (เล็กมาก) 
ฟ้องบริษัทลูกหนี้ (บริษัทใหญ่มาก ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า ฯ)
ซื้อสินค้าประเภทสายไฟฟ้า  แล้วไม่ยอมจ่ายเงิน เมื่อครบกำหนดเครดิต  ยอดเงิน 1 ล้าน บาท
อยากถามว่า 
1. เจ้าหนี้ ควรจะไปวันไกล่เกลี่ย หรือไม่  หรือให้ศาลสืบพยานและตัดสิน ไปเลย
2. การไม่ไปไกล่เกลี่ย ทำให้ ฝ่ายได  ได้เปรียบ  เสียเปรียบ หรือไม่
3. กรณี ศาลตัดสิน เช่น ให้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย
จะหมายถึง ให้ชำระในคราวเดียว  หรือไม่ และ ศาลจะระบุ   วันเวลา ด้วย หรือไม่

4.  ศาลจะตัดสิน ให้ลูกหนี้ แบ่งชำระเป็นงวดๆ  ได้หรือไม่  ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอม
5. ค่าธรรมเนียมศาล เจ้าหนี้จะได้คืน กรณีใดบ้าง
6. หากต้องการให้ลูกหนี้ เป็นผู้จ่ายค่าทนาย และ ค่าธรรมเนียมศาล ให้เจ้าหนี้ด้วย จะได้หรือไม่
7. ทนายบอกว่า ถ้าไกล่เกลี่ยกันได้  ศาลจะให้ค่าธรรมเนียมคืน
 แต่หากให้ศาลตัดสินจะไม่ได้ค่าธรรมเนียม คืน................จริงหรือไม่

8. การไกล่เกลี่ยคดี กัน  หรือ ให้ศาลตัดสินคดี   ทั้ง 2 อย่าง มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร 

9. หากต้องการ ให้มีผลบังคับ ตามกฎหมาย ต่อไปในรูปคดี ควรให้ศาลตัดสิน ใช่หรือไม่

10.    คดีแบบนี้  ใช้คำว่า ชนะคดี หรือ แพ้คดี ได้ หรือไม่

11.    กรณีลูกหนี้ จะใช้คืนเป็นงวดๆ  โดยเจ้าหนี้จะให้ใช้เป็นแบงก์ การันตี แทน เช็คล่วงหน้า ได้หรือไม่

12.   ถ้าไกล่เกลี่ยแล้ว ลูกหนี้ไม่ยอมจ่ายเงินตามที่ตกลงกันไว้ จะทำอย่างไร

13.   ถ้าให้ศาลตัดสินแล้ว สุดท้ายลูกหนี้ไม่ทำตามคำตัดสิน จะทำอย่างไร

14.   ถ้าให้ศาลตัดสิน ลูกหนี้จะอุทรณ์คดี ต่อ ได้หรือไม่ 

15.   ถ้าศาลตัดสิน คดีจะยืดเยื้อได้อีก หรือ ไม่ กรณีใดบ้าง

 



ผู้ตั้งกระทู้ น้องนาย :: วันที่ลงประกาศ 2011-11-20 09:56:19


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2238601)

1. เจ้าหนี้ ควรจะไปวันไกล่เกลี่ย หรือไม่  หรือให้ศาลสืบพยานและตัดสิน ไปเลย
ตอบ - ควรเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายครับ

2. การไม่ไปไกล่เกลี่ย ทำให้ ฝ่ายได  ได้เปรียบ  เสียเปรียบ หรือไม่
ตอบ - ได้เปรียบเสียเปรียบตอบไม่ได้ครับ แต่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายตามข้อ 1.

3. กรณี ศาลตัดสิน เช่น ให้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย จะหมายถึง ให้ชำระในคราวเดียว  หรือไม่ และ ศาลจะระบุ   วันเวลา ด้วย หรือไม่

ตอบ - ศาลจะต้องพิพากษาไปตามคำขอท้ายฟ้องครับคือให้ชำระทั้งหมดคราวเดียวภายในเวลาที่หนดเช่น 15 วัน หรือ 30 วัน นับแต่รับทราบคำบังคับ

4.  ศาลจะตัดสิน ให้ลูกหนี้ แบ่งชำระเป็นงวดๆ  ได้หรือไม่  ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอม

ตอบ - ศาลจะตัดสินตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ถ้าไม่มีการขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเป็นงวด ๆ ศาลก็จะพิพากษาให้ชำระทั้งหมดครั้งเดียวตามที่ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้อง

5. ค่าธรรมเนียมศาล เจ้าหนี้จะได้คืน กรณีใดบ้าง
ตอบ - เช่น ศาลไม่รับฟ้อง โจทก์ถอนฟ้อง หรือคู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน

6. หากต้องการให้ลูกหนี้ เป็นผู้จ่ายค่าทนาย และ ค่าธรรมเนียมศาล ให้เจ้าหนี้ด้วย จะได้หรือไม่
ตอบ - ศาลจะสั่งไว้ในคำพิพากษาครับว่าให้ฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้ฝ่ายชนะคดีเป็นจำนวนเงินเท่าใด (โดยปกติตามจำนวนเงินที่ชนะคดี เช่น เสียค่าธรรมเนียมศาลร้อยละ 2 ของทุนทรัพย์ 1 ล้านบาท ศาลพิพากษาให้ชนะคดี 10,000 บาท โจทก์จะให้จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระค่าขึ้นศาลให้ ร้อยละ 2 ของ 10,000 บาท ส่วนอื่นนอกนั้นเข้าหลวงครับ เพราะศาลอาจมองว่าใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต)

7. ทนายบอกว่า ถ้าไกล่เกลี่ยกันได้  ศาลจะให้ค่าธรรมเนียมคืน
 แต่หากให้ศาลตัดสินจะไม่ได้ค่าธรรมเนียม คืน................จริงหรือไม่

ตอบ - จริงครับ, คุณน่าจะให้เกียรติทนายคุณบ้างนะครับ (ความเห็น)

8. การไกล่เกลี่ยคดี กัน  หรือ ให้ศาลตัดสินคดี   ทั้ง 2 อย่าง มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร 

ตอบ - คำถามเดียวกันกับข้อ 2. ไกล่เกลี่ย หากตกลงกันได้ไม่มีใครแพ้ใครชนะ แต่จะชนะทุกฝ่าย และการพิจารณาคดีของศาลก็เสร็จรวดเร็ว และศาลก็ไม่ต้องทำคำพิพากษาให้ยุ่งยาก เพราะการที่ศาลทำคำพิพากษาให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้ชนะคดีย่อมมีหนึ่งฝ่ายไม่ถูกใจ ไม่พอใจ และมีสิทธิคัดค้านคำพิพากษาของศาลได้อีก

9. หากต้องการ ให้มีผลบังคับ ตามกฎหมาย ต่อไปในรูปคดี ควรให้ศาลตัดสิน ใช่หรือไม่

ตอบ - ไม่ว่าคดีจะจบลงด้วยการไกล่เกลี่ย หรือศาลทำคำพิพากษาก็มีผลบังคับตามกฎหมายทั้งนั้นครับ

10.    คดีแบบนี้  ใช้คำว่า ชนะคดี หรือ แพ้คดี ได้ หรือไม่

ตอบ - คำว่า "ชนะคดี" กับ "แพ้คดี" ตามความหมายของคุณคืออะไร? ผมไม่แน่ใจ แต่หากศาลตัดสินแล้วไม่ว่าจะออกมาอย่างไร คู่ความก็มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาได้ทุกฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงิน 500,000 บาท จำเลยให้การว่าไม่ได้เป็นหนี้ ขอให้ศาลยกฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นตัดสินว่า จำเลยเป็นหนี้เพียง 50,000 บาท โจทก์ไม่พอใจคำพิพากษาของศาลก็อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ตัดสินใหม่ว่าเป็นหนี้กัน 500,000 บาท ไม่ใช่ 50,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นตัดสินมา  ส่วนฝ่ายจำเลยก็เห็นว่าไม่ได้เป็นหนี้แม้แต่บาทเดียวก็มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลได้เช่นเดียวกัน ขอให้ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องโจทก์ ดังนั้นคำถามข้อนี้ เท่าที่ผมชี้แจงมาน่าจะครบถ้วนที่จะตอบคำถามได้นะครับ

11.    กรณีลูกหนี้ จะใช้คืนเป็นงวดๆ  โดยเจ้าหนี้จะให้ใช้เป็นแบงก์ การันตี แทน เช็คล่วงหน้า ได้หรือไม่

ตอบ - ในกรณีคดีจบลงด้วยการไกล่เกลี่ย วิธีการชำระหนี้เป็นเรื่องของเจ้าหนี้ กับลูกหนี้ ดังนั้นศาลจะไม่เข้ามาชี้แนะใด ๆ แต่อย่างไรก็ตามผลรับที่สุดหากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้รับชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิบังคับคดีเอากับลูกหนี้ได้ภายใน 10 ปีครับ สรุป ก็อยู่ที่คู่ความตกลงกันเองครับ

12.   ถ้าไกล่เกลี่ยแล้ว ลูกหนี้ไม่ยอมจ่ายเงินตามที่ตกลงกันไว้ จะทำอย่างไร

ตอบ - ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึด หรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนกว่าจะครบถ้วน และโจทก์จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี

13.   ถ้าให้ศาลตัดสินแล้ว สุดท้ายลูกหนี้ไม่ทำตามคำตัดสิน จะทำอย่างไร

ตอบ - คำตอบตามข้อ 12.

14.   ถ้าให้ศาลตัดสิน ลูกหนี้จะอุทรณ์คดี ต่อ ได้หรือไม่ 

ตอบ - อ่านคำตอบในข้อ 10.

15.   ถ้าศาลตัดสิน คดีจะยืดเยื้อได้อีก หรือ ไม่ กรณีใดบ้าง

ตอบ - ทุกคดี มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันจึงไม่อาจกำหนดเวลาได้ว่าจะใช้เวลาในแต่ละคดีสั้นยาวอย่างไร จึงยากที่จะตอบได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-12-15 12:58:46



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล