ReadyPlanet.com


โดนจับคดียาเสพติด คดีซ้อนคดี ทำยังไงครับ


 โดนจับคดีมียาเสพติดไว้ในครอบครอง 8 เม็ด และในระหว่างรอลงอาญา โดนจับคดีมีกัญชาไว้ในครอบครอง แล้วในระว่างที่รอขึ้นศาล โดนจับคดีมีกัญชาไว้ในครอบครองอีกครั้ง (รวมเป็น3คดีซ้อน)


 

จะจำคุกกี่ปี และปรับไม่เกินเท่าไหร่ครับ



ผู้ตั้งกระทู้ เบนต์ :: วันที่ลงประกาศ 2014-08-20 00:39:00


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3709481)

1. ในคดีแรกที่ศาลรอการลงโทษนั้นศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกกี่ปีในคดีที่ 2 ศาลจะให้จำคุกหรือไม่ไม่สำคัญ แต่การที่จำเลยกระทำความผิดซ้ำเป็นการผิดเงื่อนไขการรอการลงโทษ ดังนั้นศาลจึงสามารถนำโทษที่รอลงอาญาไว้มาพิพากษาจำคุกจริงโดยไม่รอลงอาญาได้ คำถามว่าจะจำคุกกี่ปีก็ขึ้นอยู่กับโทษเดิมศาลจำคุกไว้กี่ปี

2. กระทำความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  การที่กฎหมายกำหนดโทษขั้นสูงไว้ไม่เกิน 5 ปี และโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นโทษขั้นสูงซึ่งไม่ได้กำหนดโทษขั้นต่าไว้ ดังนั้นหากจะพิจารณาความหมายก็เท่ากับว่า โทษจำคุก 1 วันก็ไม่เกิน 5 ปี ปรับ 1 บาท ก็ไม่เกิน 1 แสนบาทครับ จึงเป็นอำนาจของศาลครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2014-09-21 18:38:53


ความคิดเห็นที่ 2 (3709482)

จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522  ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 15 ปี และปรับ 1,500,000 บาท
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  22121/2555

 
ป.วิ.อ. มาตรา 49, 186(9)
 
          คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ยึดสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท เป็นของกลาง แม้จะปรากฏตามบัญชีของกลางคดีอาญาว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท มาด้วยก็ตาม เมื่อศาลมิได้สั่งริบ ศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนของกลางแก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 และมาตรา 186 (9)
 
          โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 76/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 138, 288 และริบกัญชาที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บค 248 นครพนม กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง

          จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, (ที่ถูก มาตรา 26 วรรคสอง) 76/1 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 288 ประกอบมาตรา 80 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 15 ปี และปรับ 1,500,000 บาท ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานกับฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน และปรับ 750,000 บาท ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้ว คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 40 ปี 10 เดือน และปรับ 750,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบกัญชาที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 296 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นจำคุกจำเลยมีกำหนด 9 ปี 6 เดือน และปรับ 750,000 บาท ริบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บค 248 นครพนม ของกลาง แต่ให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 5 (กัญชา) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยขับรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บค 248 นครพนม มุ่งหน้าไปสู่จังหวัดมุกดาหาร โดยในรถยนต์ของจำเลยได้บรรทุกกัญชาแห้งอัดแท่งจำนวน 244 แท่ง น้ำหนัก 232.54 กิโลกรัม เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุได้ขับรถยนต์ชนกับรถยนต์กระบะป้ายแดง หมายเลขทะเบียน ศ - 1823 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสิบตำรวจเอกสมนึก เป็นผู้ขับ ดาบตำรวจพิภพและสิบตำรวจโททองเยี่ยมนั่งมาด้วย หลังเกิดเหตุขณะที่รถยนต์ของสิบตำรวจเอกสมนึกเสียหลักและหมุนอยู่บนถนน ได้มีรถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บน 4065 กรุงเทพมหานคร ซึ่งขับโดยดาบตำรวจเผด็จชัยตามหลังมาได้ชนท้ายรถของสิบตำรวจเอกสมนึกทำให้รถยนต์ทั้งสามคันต่างได้รับความเสียหาย สิบตำรวจเอกสมนึก ดาบตำรวจพิภพ สิบตำรวจโททองเยี่ยมและจำเลยต่างได้รับบาดเจ็บ

          มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีนี้ตามบัญชีของกลางคดีอาญา เจ้าพนักงานตำรวจทำการยึดทรัพย์ของกลางได้ 4 รายการ ประกอบด้วยกัญชาแห้งอัดแท่งน้ำหนัก 232.54 กิโลกรัม รถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บค 248 นครพนม สร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง โจทก์มีคำขอริบของกลาง 3 รายการ ยกเว้นสร้อยคอทองคำ 1 เส้น หนัก 2 บาท ซึ่งศาลมิได้สั่งริบ จึงเห็นสมควรสั่งคืนให้จำเลย แม้ปัญหาดังกล่าวจะมิได้มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจสั่งคืนของกลางดังกล่าวได้
          พิพากษายืน แต่ให้คืนสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท แก่เจ้าของ
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2014-09-21 18:44:09


ความคิดเห็นที่ 3 (3709486)

กัญชาของกลางไม่เคยอยู่ในความครอบครองของจำเลย

จำเลยได้รับการว่าจ้างจาก ห. ให้มารับกัญชาจากคนลาวไปส่งมอบให้ ห. ที่จังหวัดสกลนคร และตั้งแต่เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนตรวจค้นจับกุมจำเลยและขยายผลจนจับกุมผู้กระทำความผิดคนอื่นได้พร้อมกัญชา กัญชาของกลางไม่เคยอยู่ในความครอบครองของจำเลยแต่อย่างใด การที่จำเลยขับรถไปยังจุดนัดหมายเพื่อรอรับกัญชาของกลางเป็นเพียงการเตรียมการเพื่อกระทำความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนในข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ก็ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9059/2555
 
          ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติหรือให้คำนิยามคำว่า “มีไว้ในครอบครอง” ว่ามีความหมายครอบคลุมเพียงใด จึงต้องถือตามความหมายที่ใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542 ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “ครอบครอง” ไว้ว่า ยึดถือไว้ มีสิทธิปกครองส่วนความหมายในทางกฎหมายให้นิยามไว้ว่า ยึดถือทรัพย์สินไว้โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนอันทำให้บุคคลได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง ดังนั้น การมีกัญชาไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นการยึดถือไว้โดยมีเจตนาที่จะหวงกันไว้เพื่อตนเอง โดยอาจมุ่งหมายเพื่อใช้หรือหาประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า จำเลยได้รับการว่าจ้างจาก ห. ให้มารับกัญชาจากคนลาวไปส่งมอบให้ ห. ที่จังหวัดสกลนคร และตั้งแต่เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนตรวจค้นจับกุมจำเลยและขยายผลจนจับกุมผู้กระทำความผิดคนอื่นได้พร้อมกัญชา กัญชาของกลางไม่เคยอยู่ในความครอบครองของจำเลยแต่อย่างใด การที่จำเลยขับรถไปยังจุดนัดหมายเพื่อรอรับกัญชาของกลางเป็นเพียงการเตรียมการเพื่อกระทำความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนในข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ก็ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้ ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
  
          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 75, 76/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
          จำเลยให้การปฏิเสธ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 76/1 วรรคสอง, 100/1 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุก 15 ปี และปรับ 1,500,000 บาท คำให้การจำเลยในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี และปรับ 1,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ในกรณีต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปีได้ แต่ไม่ให้เกิน 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า จำเลยได้รับการว่าจ้างจากนายหงษ์ ให้มารับกัญชาของกลางจากคนลาว โดยใช้โทรศัพท์ติดต่อนัดหมายส่งมอบกัญชา แล้วจะจ่ายเงินให้คนลาวที่นำกัญชามาส่งมอบ 10,000 บาท จากนั้นจำเลยจะนำกัญชาของกลางไปส่งมอบให้นายหงษ์ที่จังหวัดสกลนคร ทั้งนี้จำเลยได้รับเงินค่าจ้างเป็นเงิน 7,000 บาท แต่ปรากฏว่าจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง และธนบัตรจำนวน 17,000 บาท ในขณะที่จำเลยขับรถจะไปรับกัญชาของกลาง ขณะจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นและควบคุมตัวไว้ จำเลยไม่ได้มีกัญชาของกลางไว้ในครอบครอง ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการขยายผลให้จำเลยโทรศัพท์ติดต่อกับคนลาวเพื่อให้นำกัญชาของกลางมาส่งมอบ จนกระทั่งยึดได้กัญชาเป็นของกลาง

          มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันมีกัญชาของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติหรือให้นิยามคำว่า มีไว้ในครอบครอง ว่ามีความหมายครอบคลุมเพียงใด จึงต้องถือตามความหมายที่ใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้บัญญัติความหมายของคำว่า ครอบครอง ไว้ว่า ยึดถือไว้ มีสิทธิปกครอง ส่วนความหมายในทางกฎหมายให้นิยามไว้ว่า ยึดถือทรัพย์สินไว้โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน อันทำให้บุคคลได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง ดังนั้น การมีกัญชาไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นการยึดถือไว้โดยมีเจตนาที่จะหวงกันไว้เพื่อตนเอง โดยอาจมุ่งหมายเพื่อใช้หรือหาประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า ตั้งแต่เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนตรวจค้นจับกุมจำเลยและขยายผลจนกระทั่งจับกุมผู้กระทำความผิดคนอื่นได้พร้อมกัญชาของกลาง กัญชาของกลางไม่เคยอยู่ในความครอบครองของจำเลยแต่อย่างใด การที่จำเลยขับรถไปยังจุดนัดหมายเพื่อรอรับกัญชาของกลางเป็นเพียงการเตรียมการเพื่อกระทำความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก็ตาม ก็ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2014-09-21 18:53:56


ความคิดเห็นที่ 4 (3709489)

จำเลยมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 เดือน 15 วัน
 
ตำรวจจับจำเลยและยึดกัญชาแห้ง 5 ห่อ น้ำหนักสุทธิ 23.740 กรัมศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายกัญชาจำคุกกระทงละ 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และมิได้จำหน่ายกัญชา พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองแต่เพียงฐานเดียว ลงโทษจำคุก 3 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงลงโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1501/2555

 
          เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและยึดกัญชาแห้ง 5 ห่อ น้ำหนักสุทธิ 23.740 กรัม เป็นของกลาง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายกัญชาตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง จำคุกกระทงละ 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และมิได้จำหน่ายกัญชา พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง แต่เพียงฐานเดียว ลงโทษจำคุก 3 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน ความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลอุทธรณ์แก้ทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษอันเป็นการแก้ไขมากแต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219
            การที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
 
            โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 76, 76/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91 บวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.5303/2544 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ และริบกัญชาของกลาง

          จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ

            ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 2 ปี ฐานจำหน่ายกัญชา จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานจำหน่ายกัญชา จำคุก 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน บวกโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.5303/2544 ของศาลชั้นต้น เป็นจำคุก 2 ปี 9 เดือน 15 วัน ริบกัญชาของกลาง

          จำเลยอุทธรณ์
            ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย 1 เดือน 15 วัน บวกโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.5303/2544 ของศาลชั้นต้น เป็นจำคุกจำเลย 2 เดือน 30 วัน (ที่ถูก ข้อหาอื่นให้ยก) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา

            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ และยึดกัญชาแห้ง 5 ห่อ น้ำหนักสุทธิ 23.740 กรัม เป็นของกลาง ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายกัญชาตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง จำคุกกระทงละ 2 ปี เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และมิได้จำหน่ายกัญชา พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง แต่เพียงฐานเดียว ลงโทษจำคุก 3 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน ดังนั้น ความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลอุทธรณ์แก้ทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษอันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 การที่โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาโจทก์ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยความผิดฐานดังกล่าว คงรับวินิจฉัยให้เพียงข้อเดียวว่าจำเลยมีความผิดฐานจำหน่ายกัญชาหรือไม่ โจทก์มีผู้ร่วมจับกุมจำเลยมาเบิกความว่า เจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่าจำเลยลักลอบจำหน่ายกัญชาที่บริเวณชุมชนป้าย 7 จึงวางแผนจับกุมโดยการล่อซื้อ ร้อยตำรวจโทรุ่งสกุล นำธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 1 ฉบับ ไปลงรายงานประจำวันและถ่ายสำเนาไว้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นพยานทั้งสองและสายลับจึงเดินทางไปล่อซื้อกัญชาจากจำเลย โดยพยานทั้งสองไปซุ่มดูอยู่ห่างจากบ้านไม่มีเลขที่ที่เกิดเหตุในชุมชนซอย 7 ประมาณ 10 เมตร เห็นสายลับเข้าไปพูดคุยกับจำเลยแล้วมอบธนบัตรแก่จำเลย จำเลยเดินไปที่ถนนฝั่งตรงข้ามหยิบกระเป๋าแบบคาดเอวขึ้นมารูดซิบล้วงเอาสิ่งของข้างในส่งให้แก่สายลับ สายลับนำมามอบให้แก่ร้อยตำรวจโทรุ่งสกุล เมื่อตรวจดูเห็นว่าเป็นกัญชา จึงเข้าจับกุมจำเลย จากการตรวจค้นตัวจำเลยพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อปะปนอยู่กับธนบัตรอื่นในกระเป๋ากางเกงของจำเลย และพบกัญชา 4 ห่อเล็ก ในกระเป๋าคาดเอว ชั้นจับกุมแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายกัญชา จำเลยให้การรับสารภาพ และมีร้อยตำรวจเอกวิรุทธิ์ พนักงานสอบสวนมาเบิกความว่า ชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยเหมือนกับชั้นจับกุม จำเลยให้การรับสารภาพ และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองผู้ร่วมจับกุมจำเลยเป็นประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ในขณะที่สายลับล่อซื้อกัญชาจากจำเลย เบิกความได้สอดคล้องต้องกันในเรื่องธนบัตรของกลางที่มอบให้สายลับใช้ล่อซื้อกัญชาจากจำเลย มีการถ่ายสำเนา และลงรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานก่อนที่จะมอบให้สายลับไปดำเนินการ เมื่อสายลับล่อซื้อกัญชามาได้ พยานผู้ร่วมจับกุมได้เข้าจับกุมจำเลยทันที จากการตรวจค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อในกระเป๋ากางเกงของจำเลย ขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไปในระยะกระชั้นชิดต่อเนื่องกัน แม้พยานทั้งสองจะเบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับกระเป๋าคาดเอวที่พบกัญชาของกลางจำนวน 4 ห่อ โดยร้อยตำรวจโทรุ่งสกุลเบิกความว่า ค้นพบกระเป๋าคาดเอวอยู่ในตระกร้าผ้า ซึ่งวางอยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านจำเลย ส่วนจ่าสิบตำรวจณิพัธพงษ์ เบิกความว่า ขณะที่เข้าจับกุมจำเลย จำเลยยังถือกระเป๋าคาดเอวอยู่ ก็ยังไม่ถึงกับเป็นข้อพิรุธถึงขนาดทำให้คำเบิกความของพยานทั้งสองไม่มีน้ำหนักให้รับฟังแต่อย่างใด และเมื่อนำคำเบิกความของพยานทั้งสองมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและสอบสวนแล้ว แม้โจทก์จะไม่นำสายลับมาเบิกความเป็นพยาน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบก็มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยจำหน่ายกัญชาตามฟ้อง พยานจำเลยที่นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยมีกัญชาของกลางจำนวน 5 ห่อ ไว้ในครอบครองเพื่อเสพ และจำเลยลงชื่อในเอกสารที่เจ้าพนักงานตำรวจนำมาให้ลงชื่อโดยไม่ได้อ่านข้อความไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาในส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น

            พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง ฐานจำหน่ายกัญชา จำคุก 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วเป็นจำคุก 1 ปี 5 เดือน 15 วัน บวกโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย.5303/2544 ของศาลชั้นต้น เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน 30 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2014-09-21 19:15:17


ความคิดเห็นที่ 5 (3709513)

จำเลยผลิตกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยการเพาะปลูกกัญชา

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผลิตกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยการเพาะปลูกกัญชา 5 ต้น น้ำหนักรวมทั้งราก กิ่ง ลำต้น ใบ และเมล็ด 501.420 กรัม และจำเลยมีกัญชาดังกล่าวไว้ในครอบครองขอให้ลงโทษและริบกัญชาของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ  ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานผลิตกัญชาซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ริบกัญชาของกลาง

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  436/2550
 
          โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยผลิตกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยการเพาะปลูกกัญชา 5 ต้น น้ำหนักรวม 501.420 กรัม โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และหลังจากที่จำเลยเพาะปลูกกัญชาแล้ว จำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งกัญชา 5 ต้น อันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26, 75, 76 กับอ้าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 22 ซึ่งยกเลิกความในมาตรา 75 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทนด้วย การที่โจทก์บรรยายฟ้องอ้างถึง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงเป็นการอ้างถึงมาตรา 75 และมาตรา 76 ที่แก้ไขใหม่โดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 เป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิดชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
  
          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2546 ถึงวันที่ 9 กันยายน 2546 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยผลิตกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยการเพาะปลูกกัญชา 5 ต้น น้ำหนักรวมทั้งราก กิ่ง ลำต้น ใบ และเมล็ด 501.420 กรัม และจำเลยมีกัญชาดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 75, 76, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 22 และริบกัญชาของกลาง

          จำเลยให้การรับสารภาพ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานผลิตกัญชาซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบกัญชาของกลาง

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 22 แต่คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยว่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว และโจทก์ต้องบรรยายฟ้องระบุกฎหมายในขณะกระทำความผิดให้ชัดเจน ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบและทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ นั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยผลิตกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยการเพาะปลูกกัญชา 5 ต้น น้ำหนักรวมทั้งราก กิ่ง ลำต้น ใบ เมล็ด หนัก 501.420 กรัม โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และหลังจากที่จำเลยเพาะปลูกกัญชาดังกล่าวแล้ว จำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งกัญชาจำนวน 5 ต้น อันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และคำขอท้ายฟ้องโจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26, 75, 76 กับอ้างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 22 ซึ่งยกเลิกความในมาตรา 75 และมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทนด้วย การที่โจทก์บรรยายฟ้องอ้างถึงพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงเป็นการอ้างถึงมาตรา 75 และมาตรา 76 ที่แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 เป็นการบรรยายฟ้องและอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานผลิตกัญชาและมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น สำหรับการบังคับชำระค่าปรับศาลล่างทั้งสองมิได้สั่งให้กักขังจำเลยไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากกักขังจำเลยแทนค่าปรับ 100,000 บาท ก็กักขังได้เพียง 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 วรรคแรก ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุให้ชัดเจนเสียด้วย”
          พิพากษายืน หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยกักขังไม่เกิน 1 ปี.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2014-09-21 20:37:20


ความคิดเห็นที่ 6 (3709516)

ความผิดฐานผลิตกัญชาโดยการแบ่งบรรจุ  รถจักรยานยนต์ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงจึงไม่ริบ

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ  ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดกัญชาที่จำเลยผลิตมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกัน การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานผลิตกัญชาซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 2 ปี ส่วนโทษปรับเห็นว่าของกลางมีเพียงเล็กน้อยและจำเลยอายุ 20 ปี ยังเป็นนักศึกษา จึงเห็นควรปรับน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำ ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้ในการเดินทาง ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงจึงไม่ริบ

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8721/2549

 
ป.วิ.อ. มาตรา 90, 158, 195 วรรคสอง, 225
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26, 75 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง
 
          โจทก์บรรยายฟ้องตอนแรกว่า จำเลยผลิตกัญชาโดยการแบ่งบรรจุออกเป็นห่อ ๆ แต่กลับบรรยายความต่อไปว่า จำเลยมีกัญชาแห้งไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 1 ห่อ น้ำหนัก 0.57 กรัม และที่เป็นห่อไม่ทราบจำนวนและน้ำหนัก และจำเลยจำหน่ายกัญชาแห้งที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 1 ห่อ ดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ กับบรรยายฟ้องตอนท้ายว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดได้กัญชาแห้งที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อเป็นของกลาง แสดงว่านอกจากกัญชาแห้ง 1 ห่อ ที่เจ้าพนักงานยึดได้จากจำเลยแล้ว ไม่มีกัญชาจำนวนอื่นอีก ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า จำเลยจำหน่ายกัญชาแห้งให้สายลับ 1 ห่อ ทั้งยังรับว่าได้นำกัญชามาแบ่งใส่ห่อเพื่อจำหน่ายให้แก่เพื่อน ๆ ไม่ทราบจำนวนและน้ำหนักนั้น กลับปรากฏตามบันทึกการจับกุมที่แนบท้ายคำร้องขอฝากขังว่า จำเลยให้การว่ากัญชาของกลางเป็นของ ต. ซึ่งจำเลยได้แบ่งมาเพื่อจำหน่ายต่อ ดังนี้ แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่เมื่อกัญชาของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีเพียงห่อเดียวและจำเลยจำหน่ายให้สายลับไปทั้งหมดโดยไม่มีการแบ่งบรรจุเป็นจำนวนอื่นอีก การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาจึงไม่เป็นความผิดฐานผลิตกัญชาโดยการแบ่งบรรจุ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ส่วนความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายกัญชานั้น เมื่อได้ความตามฟ้องว่าเป็นกัญชาจำนวนเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดสองกรรมไม่
  
          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 75, 76/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง

          จำเลยให้การรับสารภาพ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง กัญชาที่จำเลยผลิต มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกัน การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานผลิตกัญชาซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ส่วนโทษปรับเห็นว่าของกลางมีเพียงเล็กน้อยและจำเลยอายุ 20 ปี ยังเป็นนักศึกษา จึงเห็นควรปรับน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/1 วรรคสอง ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้ในการเดินทาง ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงจึงไม่ริบ

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องตอนแรกว่า จำเลยผลิตกัญชาโดยการแบ่งบรรจุออกเป็นห่อ ๆ แต่กลับบรรยายความต่อไปว่า จำเลยมีกัญชาแห้งไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 1 ห่อ น้ำหนัก 0.57 กรัม และที่เป็นห่อไม่ทราบจำนวนและน้ำหนัก และจำเลยจำหน่ายกัญชาแห้งที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 1 ห่อ ดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ กับบรรยายฟ้องตอนท้ายว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดได้กัญชาแห้งที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อเป็นของกลาง แสดงว่านอกจากกัญชาแห้ง 1 ห่อ ที่เจ้าพนักงานยึดได้จากจำเลยแล้ว ไม่มีกัญชาจำนวนอื่นอีก ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า จำเลยจำหน่ายกัญชาแห้งให้สายลับ 1 ห่อ ทั้งยังรับว่าได้นำกัญชามาแบ่งใส่ห่อเพื่อจำหน่ายให้แก่เพื่อน ๆ ไม่ทราบจำนวนและน้ำหนักนั้น กับปรากฏตามบันทึกการจับกุมที่แนบท้ายคำร้องขอฝากขังว่า จำเลยให้การว่ากัญชาของกลางเป็นของนายเต้าซึ่งจำเลยได้แบ่งมาเพื่อจำหน่ายต่อ ดังนี้ แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่เมื่อกัญชาของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีเพียงห่อเดียวและจำเลยจำหน่ายให้สายลับไปทั้งหมดโดยไม่มีการแบ่งบรรจุเป็นจำนวนอื่นอีก การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาจึงไม่เป็นความผิดฐานผลิตกัญชาโดยการแบ่งบรรจุ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ส่วนความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายกัญชานั้น เมื่อได้ความตามฟ้องว่าเป็นกัญชาจำนวนเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดสองกรรมไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต ยกฟ้องข้อหาผลิตกัญชา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8.
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2014-09-21 21:01:28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล