ReadyPlanet.com


สัญญาจ้างแรงงาน


ลูกจ้างตามสัญญาจ้างกำหนดระยะเวลาจ้าง 3ปี เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้าง  ก็ต่อสัญญาจ้างฉบับเดิมอีก3ปี เมื่อครบกำหนดระยะเวลาจ้างตามสัญญาฉบับที่สองแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยไหมคับ



ผู้ตั้งกระทู้ ติ่งหู :: วันที่ลงประกาศ 2012-02-20 13:53:25


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2255159)

สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาครบกำหนดให้ทำงานต่อ ถือว่าต่อสัญญาจ้างใหม่เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา
เมื่อเลิกจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และ จ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาฎีกาที่ 7717 /2551
 
                โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13  มกราคม 2540  ถึงวันที่ 13  มกราคม  2543 โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทฟาสโก้ยามาบิชิ จำกัด   ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทร่วมค้าของบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ วันที่ 13 เมษายน 2543 จำเลยตกลงจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโครงการ มีกำหนดเวลา 12 เดือน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 150,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน
                 ภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างตามข้อตกลงในวันที่ 13 เมษายน 2544 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานต่อและจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตามปกติโดยต่อเนื่อง และโจทก์ยังคงทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม ณ ที่ทำการของจำเลยตลอดมาโดยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 150,000 บาท และค่าที่พักเดือนละ 60,000 บาท รวมเป็นเงินค่าจ้างเดือนละ 210,000 บาท ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2544
                 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด และจำเลยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย  จึงถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 
                 ขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า  210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์และค่าชดเชย 630,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
 
                        จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543 โจทก์ทำสัญญาจ้างกับบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัด แต่เหตุที่โจทก์ทำงานในบริษัทจำเลยได้เนื่องจากจำเลยและบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทในเครือของบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างเดิมของโจทก์ จำเลยมิได้จ้างโจทก์ ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยและไม่อาจนำมาบังคับจำเลยได้   โจทก์มีข้อตกลงตามสัญญาจ้างเดิมระหว่างโจทก์กับบริษัทดังกล่าว ฉบับลงวันที่  24  มีนาคม 2543  ชอบที่โจทก์จะเรียกร้องจากบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2543 จำเลยไม่เคยตกลงรับโอนการจ้างโจทก์มาจากบริษัทฟาสโก้ยามาบิชิ จำกัด ประเทศออสเตรเลียและไม่เคยตกลงนับอายุงานของโจทก์ต่อเนื่องมาจากบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์ตกลงกับบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิกจำกัด  เพื่อทำงานในบริษัทจำเลยตำแหน่งผู้จัดการโครงการ  มีกำหนดเวลา 12 เดือนตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2543 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2544 ตามจดหมายการจ้างงานลงวันที่ 24 มีนาคม 2543 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 150,000  บาท และค่าที่พักเดือนละ 60,000 บาท รวมเดือนละ 210,000 บาท ซึ่งมีข้อตกลงโดยชัดแจ้งว่าให้สิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์กับบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด สิ้นสุดลง ต่อมาบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัด ตกลงต่ออายุการทำงานของโจทก์ต่อไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 หลังจากนั้นได้ต่ออายุการทำงานอีกครั้งจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2544 เมื่อครบกำหนดการจ้างจำเลยมิได้ต่ออายุสัญญาโจทก์อีก
                      เมื่อสัญญาจ้างโจทก์สิ้นสุดลงบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด ได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แทนบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัด  ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย จำเลยจึงมิต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย และการจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
 
                      ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า
                      นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน    และสัญญาจ้างดังกล่าวกำหนดระยะเวลา 12 เดือน เป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแน่นอน จำเลยจึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า   อันมีผลให้จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ.  2541  มาตรา 118  วรรคสาม  พิพากษายกฟ้อง
 
                          โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
 
                          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างในวันที่ 13  เมษายน2544 จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่จำเลยยังคงให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปและจ่ายค่าจ้างให้ จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2544 โดยมีหนังสือยืนยันให้การจ้างสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า
                        เห็นว่า กรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 วรรคสาม  นั้น สัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างต้องเป็นไปตามมาตรา 118 วรรคสี่ กล่าวคือต้องเป็นสัญญาจ้างในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นคครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานจะต้องแล้วเสร็จในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง เมื่อคดีนี้มิใช่การจ้างงานในโครงการ หรืองานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาล กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 118 วรรคสาม ที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้กระทำความผิดจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 
 
                   มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า
                   แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเดิมจะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอนคือระหว่างวันที่ 14 เมษายน 2543 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2544 แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวในวันที่ 13 เมษายน 2544 แล้วจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่ยังคงให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปทั้งยังยอมจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จึงต้องถือว่าโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงกลายเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างกันไว้ดังนั้นเมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะเลิกจ้างโจทก์ จำเลยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบเมื่อถึงหรือก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป
                  จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2544 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 31 ธันวาคม 2544 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน ตั้งแต่วันที่  1 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2545 คิดเป็นเงิน 150,000 บาท อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
 
                          พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 23 กันยายน 2545) และค่าชดเชย 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 31 ธันวาคม 2544)  เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
                   
          
                               
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-02-21 15:40:03



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล