ReadyPlanet.com


หนี้จำนอง


รบกวนสอบถามครับ
คือพ่อแม่จำนองบ้านไว้ แล้วเกิดพ่อเสียชีวิต แม่ไม่สามารถชำระหนี้ต่อได้ มีหมายนัดจากศาลมาถึงแม่เมือ ตุลาคม 2545 แต่เม่ไม่ได้ไปตามนัดนั้น จากนั้นเมื่อปลายเดือน มีนาคม 2555 มีหมายศาลมาถึงแม่ น่าเป็นคำบังคับคดีรึเปล่าเพราะด้านหน้าเขียนว่า "คำบังคับ"

แม่เป็นจำเลยที่1 อยู่ในฐานะผู้กู้และฐานะทายาทของพ่อ
ในหมายศาลบอกว่า “พิพากษาให้ชำระเงินจำนวนหนึ่งพร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทย์ “

แต่ ในหมายศาลมีข้อความอีกว่า “แต่ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในฐานะทายาทโดยธรรมของ …. ให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่ตน”  เขาให้เวลา 30 วันในการชำระหนี้ครับ
มรดกก็มีเพียงบ้านที่นำไปจำนองเพียงหลังเดียว และแม่ไม่มีโฉนดอื่นอีกเลย

สงสัยว่า
1. แม่ต้องชดใช้หนี้อย่างไร คือ ใช้แค่มรดกที่ได้ หรือ ต้องชำระหนี้จนหมด หรืออย่างไรครับ 
2. หากเพิกเฉยไม่ทำอะไรจะเกิดอะไรขึ้นครับ ควรทำอย่างไรดีครับ
3. แล้วบุตรจะต้องชดใช้หนี้แทนพ่อแม่รึไม่ครับ อย่างไรครับ (ขณะนี้บุตรกำลังศึกษาอยู่)

4.หากอีก 7 เดือนจะหมดอายุความ ยืดทรัพย์ที่จำนองไปแล้ว แต่ยังขายทอดตลาดไม่ได้ ขายได้หลังที่จากหมดอายุความไปแล้ว ขายได้ไม่พอชำระหนี้ จะตามยืดทรัพย์ต่อได้ไหมครับ หรือเจ้าหนี้จะทำอย่างไรต่อไป 
5.หากหมดอายุความไปแล้ว เจ้าหนี้ได้เงินไม่พอชำระหนี้ จะฟ้องหรือบังคับคดีได้อีกหรือไม่ครับ

6.การยืดทรัพย์เพื่อนำไปชำระหนี้นี้หมายถึงของใช้ในบ้านและเงินเก็บด้วยหรือเปล่าครับ
ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ



ผู้ตั้งกระทู้ phu :: วันที่ลงประกาศ 2012-04-13 16:37:47


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2266926)

1. แม่ต้องชดใช้หนี้อย่างไร คือ ใช้แค่มรดกที่ได้ หรือ ต้องชำระหนี้จนหมด หรืออย่างไรครับ 
 

ตอบ -  แม่ในฐานะผู้กู้ร่วม (ตามปกติในสัญญา) ต้องรับผิดร่วมกันหรือแทนกันทั้งหมด และเพื่อให้มีผลผูกพันทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงฟ้องแม่ในฐานะทายาทของพ่อด้วย แต่คุณไม่ได้แจ้งมาว่าฟ้องบุตรของพ่อด้วยซึ่งที่ควรเป็นต้องฟ้องทายาททุกคนด้วย

2. หากเพิกเฉยไม่ทำอะไรจะเกิดอะไรขึ้นครับ ควรทำอย่างไรดีครับ

ตอบ -  เขาจะมายึดทรัพย์บ้านที่ดินที่จำนองขายทอดตลาด และทรัพย์สินอื่น (หากมีขึ้นในอนาคตภายใน 10 ปี)

3. แล้วบุตรจะต้องชดใช้หนี้แทนพ่อแม่รึไม่ครับ อย่างไรครับ (ขณะนี้บุตรกำลังศึกษาอยู่)

ตอบ - หากเจ้าหนี้หรือโจทก์ไม่ได้ฟ้องมาเป็นจำเลยร่วมก็ไม่ต้องรับผิดใด แต่หากฟ้องมาก็รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่รับมาจากพ่อ ตามที่เล่ามาบอกว่าไม่มีอะไรนอกจากบ้านและที่ดินก็คงไม่มีปัญหาอะไรครับ

4.หากอีก 7 เดือนจะหมดอายุความ ยืดทรัพย์ที่จำนองไปแล้ว แต่ยังขายทอดตลาดไม่ได้ ขายได้หลังที่จากหมดอายุความไปแล้ว ขายได้ไม่พอชำระหนี้ จะตามยืดทรัพย์ต่อได้ไหมครับ หรือเจ้าหนี้จะทำอย่างไรต่อไป 
 

ตอบ - ในกรณีที่มีการยึดแล้วถือว่าได้บังคับคดีแล้วจะขายทอดตลาดภายหลังหนี้ขาดอายุความแล้วก็สามารถทำได้ แต่จะยึดทรัพย์สินอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกไม่ได้ และหากบ้าที่ดินที่ถูกยึดตีราคาออกมาแล้วนำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่รวมดอกเบี้ยแล้วยังคงมีหนี้ค้างชำระเกิน 1 ล้านบาท ( หรือ 1 ล้านพอดี) เจ้าหนี้ส่วนใหญ่จะฟ้องให้ลูกหนี้ (แม่) เป็นบุคคลล้มละลายเพื่อรวบรวมทรัพย์สิน (จริงเพื่อบีบให้หาเงินมาใช้) หากไม่อยากถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายก็อาจเจรจาประนอมในจำนวนหนี้ที่สามารถตกลงกับเจ้าหนี้ได้ (ซึ่งเป็นสูตรของสถาบันการเงิน) 

 5.หากหมดอายุความไปแล้ว เจ้าหนี้ได้เงินไม่พอชำระหนี้ จะฟ้องหรือบังคับคดีได้อีกหรือไม่ครับ

ตอบ - ฟ้องใหม่และบังคับคดีไม่ได้แล้วครับ

6.การยืดทรัพย์เพื่อนำไปชำระหนี้นี้หมายถึงของใช้ในบ้านและเงินเก็บด้วยหรือเปล่าครับ
 

ตอบ - ทรัพย์สินทุกชนิดของลูกหนี้ครับ ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285 และ 286

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-04-15 13:14:18


ความคิดเห็นที่ 2 (2266927)

มาตรา 285 ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ย่อม ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
(1) เครื่องนุ่งห่มหลับนอนหรือเครื่องใช้ในครัวเรือน หรือเครื่องใช้สอยส่วนตัวโดยประมาณรวมกันราคาไม่เกินห้าหมื่นบาท ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลจะกำหนดทรัพย์สินดังกล่าวที่มีราคาเกินห้าหมื่นบาท ให้เป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามฐานะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(2) เครื่องมือหรือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพหรือประกอบวิชาชีพ โดยประมาณรวมกันราคาไม่เกินหนึ่งแสนบาท แต่ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลขออนุญาตยึดหน่วง และใช้เครื่องมือหรือเครื่องใช้อันจำเป็นเพื่อดำเนินการเลี้ยงชีพหรือการประกอบวิชาชีพ อันมีราคาเกินกว่าจำนวนราคาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตภายในบังคับแห่งเงื่อนไข ตามที่ศาลเห็นสมควร
(3) วัตถุ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่แทน หรือช่วยอวัยวะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(4) ทรัพย์สินอย่างใดที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย หรือตาม กฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันมีลักษณะเป็นของส่วนตัว โดยแท้เช่นหนังสือสำหรับวงศ์ตระกูลโดยเฉพาะ จดหมายหรือ สมุดบัญชีต่าง ๆ นั้น อาจยึดมาตรวจดูเพื่อประโยชน์แห่งการบังคับ คดีได้ ถ้าจำเป็นแต่ห้ามมิให้เอาออกขายทอดตลาด
ประโยชน์แห่งข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ใน มาตรานี้ ให้ขยายไปถึง ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง อันเป็นของภริยาหรือของบุตรผู้เยาว์ของ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งทรัพย์สินเช่นว่านี้ตามกฎหมายอาจถือได้ ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นทรัพย์สินที่อาจ บังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้
คำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด


มาตรา 286 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
(1) เบี้ยเลี้ยงชีพซึ่งกฎหมายกำ หนดไว้และเงินรายได้เป็นคราว ๆ อันบุคคลภายนอกได้ยกให้เพื่อเลี้ยงชีพ เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทหรือตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร
(2) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยราชการ และเงินสงเคราะห์ บำนาญ หรือบำเหน็จที่หน่วยราชการได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น
(3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (2) ที่นายจ้างจ่ายให้แก่บุคคลเหล่านั้น หรือคู่สมรส หรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท หรือตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร
(4) เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับอันเนื่องมาแต่ความตาย ของบุคคลอื่นเป็นจำนวน ตามที่จำเป็นในการดำเนินการฌาปนกิจศพตามฐานะของผู้ตายที่ศาลเห็นสมควร ในกรณีที่ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินตาม (1) และ (3) ให้ศาลกำหนดให้ไม่ น้อยกว่าอัตราเงินเดือนขั้นต่ำสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้น และไม่เกินอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้น โดยคำนึงถึงฐานะในทางครอบครัวของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและจำนวนบุพการีและผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย
ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจออกคำสั่งอายัดตาม มาตรา 311 วรรคสอง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินตาม (1) (3) และ (4) และให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับแก่การกำหนดจำนวนเงินตาม (1) และ (3) โดยอนุโลม แต่ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการกำหนดจำนวนเงินเช่นว่านั้น เพื่อขอให้ศาลกำหนดจำนวนเงินใหม่ได้
ในกรณีที่พฤติการณ์แห่งการดำรงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เปลี่ยนแปลงไป บุคคลตามวรรคสามจะยื่นคำร้องให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดี แล้วแต่กรณี กำหนดจำนวนเงินตาม (1) และ (3) ใหม่ก็ได้
คำสั่งของศาลที่เกี่ยวกับการกำหนดจำนวนเงินตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์ไปยังศาล
อุทธรณ์ได้และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-04-15 13:14:41



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล