ReadyPlanet.com


แบ่งมรดกคุณปู่


สวัสดีค่ะ  ดิฉันมีเรื่องรบกวนทางทีมงานเรื่องการแบ่งมรดกคะ ขอเล่าข้อมูลประกอบก่อนนะคะ

คุณปู่ของดิฉันเสียชีวิตไปเมื่อประมาณ  10 ปีก่อน  ต่อมาพ่อของดิฉันก็เสียชีวิตลงหลังปู่ 3 ปี พ่อเป็นลูกคนโต มีน้องอีก 9 คน  ส่วนดิฉันมีน้องชาย 1 คน มาปีนี้ทางครอบครัวคุณย่า ได้ขายที่ดินแปลงหนึงที่เป็นชื่อของปู่  ในราคา 5 ล้านบาท โดยบอกว่าจะแบ่งเงินให้ลูกเพราะเป็นมรดกของปู่ และได้ตั้งให้คุณอาคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกขึ้น (ด้วยวาจา) 

เรียนถามคุณทนายอย่างนี้นะคะ

1. ดิฉันจะได้รับแบ่งมรดกนั้นหรือไม่  เพราะพ่อดิฉันได้เสียชีวิตแล้ว (ได้ยินย่าบอกว่าใครตายแล้วก็จะไม่ได้รับ)

2. การแบ่งมรดกนั้น มีวิธีการแบ่งอย่างไร และจะแบ่งในสัดส่วนเท่าใด คนเป็นกับคนตายได้เท่ากันหรือไม่

3. ถ้าดิฉันไม่ได้รับมรดก หรือได้  แต่ได้ในสัดส่วนที่น้อย (มีอาคนหนึ่งมาบอกว่าย่าจะแบ่งให้ดิฉัน กับน้อง 5 หมื่นบาท) ดิฉันจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ได้รับ  หรือได้รับในสัดส่วนที่เป็นธรรมสำหรับดิฉันและน้อง

4. ขั้นตอนการแบ่งมรดก จะเป็นแบบไหน  ผู้จัดการมรดกจะต้องขอใบมรณะบัตรของพ่อดิฉันหรือไม่

5. กรณีที่ดิฉันรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแบ่งมรดกครั้งนี้  ดิฉันและน้องจะมีวิธีการต่อสู้อย่างไรบ้างคะ

 

ขอบคุณเป็นอย่างสูงมานะโอกาสนี้

 



ผู้ตั้งกระทู้ อาภาพร :: วันที่ลงประกาศ 2012-05-07 15:49:37


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2272026)

 1. ดิฉันจะได้รับแบ่งมรดกนั้นหรือไม่  เพราะพ่อดิฉันได้เสียชีวิตแล้ว (ได้ยินย่าบอกว่าใครตายแล้วก็จะไม่ได้รับ)

ตอบ - เมื่อคุณปู่ตาย ทรัพย์สินของปู่ในขณะถึงแก่ความตายตกได้แก่ทายาทของคุณปู่ ทายาทของคุณปู่มีใครบ้าง?  1. ย่าที่จดทะเบียนสมรสกับปู่ 2. บุตรของปู่ทุกคนไม่ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตก่อนปู่ก็ตาม แต่เนื่องจากผู้ตายไม่มีสภาพบุคคลที่จะรับมรดกได้ กฎหมายจึงให้ผู้สืบสันดานของผู้ที่จะเป็นทายาท (ผู้ที่จะเป็นทายาทก็คือคนที่มีสิทธิรับมรดกของใครคนใดคนหนึ่งในอนาคตแต่ตายก่อนเจ้ามรดก) ดังนั้นเมื่อพ่อคุณเสียชีวิตก่อนปู่ เมื่อปู่เสี่ยชีวิตมรดกของปู่ก็ตกได้แก่ทายาทของปู่ ส่วนทายาทของปู่คือบุตรทั้ง 9 คน อาจรวมถึงย่าด้วยถ้าย่าจดทะเบียนสมรสกับปู่ และย่าอาจมีสิทธิแบ่งครึ่งก่อนในฐานะเป็นสินสมรสก็ได้ ซึ่งคุณไม่ได้ให้รายละเอียดตรงนี้มาจึงตอบให้กว้าง ๆ ไว้ก่อน ดังนั้นที่คุณได้ยินมาว่าใครตายแล้วก็จะไม่ได้รับมรดกจึงไม่เป็นความจริงครับ ตามข้อเท็จจริงมรดกของปู่ (ไม่รวมสินสินสมรส) ตกได้แก่บุตร 9 คน + ย่า เป็น 10 คน (ย่าจดทะเบียนสมรสนะ) พ่อได้ 1 ใน 10 ส่วน ให้นำ 1 ส่วนของพ่อมาแบ่งระหว่างคุณ(ผู้ถาม) กับน้องชายคนละส่วนเท่า ๆ กัน (แบ่งเฉพาะส่วนของพ่อนะไม่ได้แบ่งเท่ากับลูกของปู่ทั้ง 9 คนนะครับ)

2. การแบ่งมรดกนั้น มีวิธีการแบ่งอย่างไร และจะแบ่งในสัดส่วนเท่าใด คนเป็นกับคนตายได้เท่ากันหรือไม่

ตอบ - คนเป็นหรือยังมีชีวิตอยู่กับคนตายมีสิทธิได้รับส่วนเท่า ๆ กัน แต่ผู้สืบสันดานของคนตายเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของคนตาย วิธีการแบ่งก็ตามข้อ 1. เพราะไม่ได้อ่านคำถามข้อ 2. จึงได้ตอบไปก่อนหน้าแล้วจึงไม่ขอตอบซ้ำอีก

3. ถ้าดิฉันไม่ได้รับมรดก หรือได้  แต่ได้ในสัดส่วนที่น้อย (มีอาคนหนึ่งมาบอกว่าย่าจะแบ่งให้ดิฉัน กับน้อง 5 หมื่นบาท) ดิฉันจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ได้รับ  หรือได้รับในสัดส่วนที่เป็นธรรมสำหรับดิฉันและน้อง

ตอบ - เมื่อคุณทราบสิทธิของคุณแล้วตามข้อ 1. เมื่อผู้จัดการมรดก ซึ่งคุณบอกว่าตั้งผู้จัดการมรดกด้วยวาจาคงไม่มีครับ ตรงนี้ต้องไปหาข้อมูลมาใหม่ครับเพราะการตั้งผู้จัดการมรดกต้องคำสั่งศาลเท่านั้น ถ้ายังไม่มีการตั้งผู้จัดการมรดก ตัวคุณผู้ถามก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้นะครับ สำหรับคำถามข้อนี้ว่ามีแนวทางอย่างไรถ้าได้มรดกน้อยกว่าสิทธิที่จะได้ ก็ต้องฟ้องผู้จัดการมรดกครับ (ถ้าศาลตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว) ต้องฟ้องภายใน 5 ปีนะครับนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นครับ

4. ขั้นตอนการแบ่งมรดก จะเป็นแบบไหน  ผู้จัดการมรดกจะต้องขอใบมรณะบัตรของพ่อดิฉันหรือไม่

ตอบ - เมื่อผู้จัดการมรดกทราบว่าทายาทมีใครบ้างก็ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับมรดกก็เป็นอันเสร็จสิ้น แต่ในกรณีที่เป็นที่ดินในบางกรณีไม่อาจแบ่งปันกันได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งเช่น ที่ดินมีสิ่งปลูกสร้างไม่สามารถที่จะแบ่งออกเป็นแปลงเล็ก ๆ ได้เป็นต้น ซึ่งกรณีดังกล่าวก็ต้องตีราคาแล้วแบ่งเงินกันหรือตกลงราคากันไม่ได้ก็ต้องขอให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียได้รับมรดกแล้วก็ไม่จำเป็นต้องขอใบมรณบัตรครับ

5. กรณีที่ดิฉันรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแบ่งมรดกครั้งนี้  ดิฉันและน้องจะมีวิธีการต่อสู้อย่างไรบ้างคะ

ตอบ - เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือผู้จัดการมรดกไม่แบ่งก็ต้องฟ้องผู้จัดการมรดกครับ แต่เนื่องจากเจ้ามรดกเสียชีวิตไป 10 ปีแล้ว อายุความมรดกที่จะฟ้องร้องเรียกให้แบ่งมรดกต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือฟ้องผู้จัดการมรดกภายใน 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นครับ ในเรื่องอายุความนี้มีความสับสนซับซ้อนอยู่มากต้องอาศัยข้อเท็จจริงประกอบอีกมากจึงไม่อาจให้คำตอบได้ชัดเจน คือต้องทราบว่าในขณะนี้ทรัพย์มรดกของปู่ถูกแบ่งปันกันไปแล้วทั้งหมดหรือไม่ หากแบ่งไปหมดแล้วแต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแบ่งต้องฟ้องภายใน 5 ปีนับแต่แบ่งกันเสร็จมิฉะนั้นเป็นอันขาดอายุความครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-05-09 11:07:52



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล