ReadyPlanet.com


อยากสอบถามการเรียกเอาที่ดินคืนได้หรือไม่ในกรณีนี้


ยายดิฉันมีลูก 5 คน ได้แบ่งที่ดินให้ลูกๆ ตามสันส่วน แม่ของดิฉันเป็นลูกสาวคนโต ได้ที่ดินน้อยกว่าน้า ๆ และยายได้รับการเลี้ยงดูจากน้าคนที่ 3 มีวันหนึ่งน้าคนที่ 3 ของดิฉัน กับพี่ชายของดิฉัน ได้ทะเลาะกันอย่างรุ่นแรง มีอาละวาด ด่าทอกันเสีย ๆ หาย ๆ และวันหนึ่งน้าดิฉันบอกว่าจะไม่ให้แม่ กับพี่ชายดิฉันอยู่ที่บ้าน (เป็นที่ดินของแม่ที่ยายได้โอนให้แล้ว)  เพราะจะให้ยายฟ้องเอาที่ดินคืน ในกรณีนี้ ยายจะสามารถเรียกที่ดินคืนได้หรือไม่ค่ะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ ลูกคนหนึ่ง :: วันที่ลงประกาศ 2012-06-09 09:56:44


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2283585)

การถอนคืนการให้

น้าทะเลาะกับพี่ชายของคุณก็เป็นเรื่องส่วนตัว น้าไม่ใช่ผู้ให้จึงไม่สิทธิฟ้องขอให้ถอนคืนการให้ ส่วนน้าจะไปยุยงยายให้ถอนคืนการให้ก็เป็นสิทธิของยายจะเชื่อน้าหรือไม่ และประเด็นสำคัญก็อยู่ที่การถอนคืนการให้จะต้องมีเหตุตามกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ไม่ใช่ให้แล้วจะฟ้องเรียกคืนได้ทุกกรณี ตามที่เล่ามานั้นไม่ปรากฏว่า แม่ของคุณประพฤติเนรคุณต่อยายอย่างไร จึงไม่อยู่ในกรณีที่จะถอนคืนการให้ได้ครับ

มาตรา 531  อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้นท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือ
(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-06-30 10:54:00


ความคิดเห็นที่ 2 (2283587)

อายุความถอนคืนการให้

แม้คำให้การของจำเลยจะไม่ระบุระยะเวลาที่เป็นอายุความตามข้อต่อสู้ไว้  แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเณรคุณเพียงเรื่องเดียว  ซึ่งตาม ป.พ.พ. บัญญัติเรื่องอายุความถอนคืนการให้ไว้ในลักษณะให้  มาตรา 533  เพียงมาตราเดียว  ซึ่งเมื่ออ่านคำให้การของจำเลยโดยตลอดแล้วเป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า  จำเลยไม่ได้ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ได้ด้วยการด่าว่า  และหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวในฟ้อง  เพราะมิฉะนั้นโจทก์คงไม่โอนที่ดินแปลงที่  5  ให้แก่จำเลยในวันที่ 10 เมษายน 2539  อย่างแน่นอน  และหากศาลฟังว่าจำเลยประพฤติเนรคุณดังที่โจทก์ฟ้องอันเป็นมูลเหตุให้โจทก์มีสิทธิถอนคืนการให้ได้  ฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว  จำเลยยังได้แสดงเหตุแห่งการปฎิเสธและการขาดอายุความให้ปรากฏว่าเหตุใดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ  คำให้การของจำเลยชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177  วรรคสอง  คดีจึงมีประเด็นเรื่องอายุความ
            คำฟ้องของโจทก์อ้างว่า  จำเลยประพฤติเนรคุณด่าว่าและหมิ่นประมาทโจทก์  เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2538  ถึงปี 2539  แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17  พฤษภาคม 2544  ซึ่งเหตุประพฤติเนรคุณที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องดังกล่าว  เกิดขึ้นเมื่อนับถึงวันฟ้องเกินกว่า 6 เดือน  นับแต่วันที่โจทก์ได้ทราบถึงเหตุเหล่านั้นฟ้องโจทกึงขาดอายุความตาม  ป.พ.พ. มาตรา 533  วรรคหนึ่ง 
 

มาตรา 533 เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือ
เมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่
อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-06-30 10:57:41


ความคิดเห็นที่ 3 (2283589)

ถอนคืนการให้-ประพฤติเนรคุณ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 980/2550 เหตุประพฤติเนรคุณที่จะถอนคืนการให้ได้ในกรณี หมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง คดีนี้ จำเลยพูดว่า "พูดจากลับไปกลับมาเหมือนเด็ก เล่นขายของ ..


ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-06-30 11:00:34


ความคิดเห็นที่ 4 (2283590)

การถอนคืนการให้

ให้ที่ดินมีเงื่อนไขต้องส่งข้าวเปลือก มิใช่ภาระติดพันในทรัพย์


การที่โจทก์ยกที่ดินให้จำเลยผู้เป็นบุตรโดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยต้องส่งข้าวเปลือกให้โจทก์ปีละ 10 ถังนั้น ยังถือไม่ได้ว่า เป็นการให้ทรัพย์สินโดยมีค่าภารติดพันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 528 แต่เป็นการยกให้โดยเสน่หา เพราะค่าภารติดพันในที่ดินหรือทรัพย์สิน ต้องเป็นภารติดพันเกี่ยวกับตัวที่ดินหรือทรัพย์สินนั้นเองโดยตรงไม่ใช่ภารติดพันนอกตัวทรัพย์ เมื่อปรากฏว่าโจทก์เพียงคนเดียวมีที่ดิน 3 ไร่เศษ ได้ข้าวปีละกว่า 100 ถัง ย่อมมีฐานะไม่ถึงกับเป็นผู้ยากไร้ ตรงข้ามกับจำเลยซึ่งมีบุตรถึง 10 คนมีที่ดินที่พิพาทแปลงเดียวเนื้อที่เพียงประมาณ 5 ไร่ ได้ข้าวปีละ 140-150 ถัง และไม่มีรายได้อื่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ยากไร้ จำเลยย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะจุนเจือผู้อื่นได้อีก และไม่ปรากฏว่าจำเลยด่าโจทก์หรือหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง กรณีจึงไม่อาจถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประพฤติเนรคุณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2)(3) (คำพิพากษาฎีกา 87/2532)

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-06-30 11:03:35


ความคิดเห็นที่ 5 (2283593)

ทำร้ายร่างกายมารดา เป็นเหตุอาญาร้ายแรงที่จะเพิกถอนการให้


การที่จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ผู้เป็นมารดาจนได้รับอันตรายแก่กาย ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยขาดความกตัญญู แม้โจทก์จะได้รับบาดเจ็บไม่ถึงสาหัสก็ถือได้ว่าจำเลยได้ประพฤติเนรคุณ โดยประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(1) แล้ว โจทก์จึงเรียกถอนคืนการให้ได้ (ฎ 412/2528)

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-06-30 11:18:06


ความคิดเห็นที่ 6 (2283594)

แม้เพียงดูหมิ่นผู้ให้ ก็ถือว่าหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรง


หมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2)หาจำเป็นต้องถึงกับเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาไม่ -เพียงแต่ได้ความว่า เจตนาดูหมิ่นก็ถือว่าประพฤติเนรคุณแล้ว จำเลยซึ่งได้รับการให้ที่ดินจากโจทก์ผู้เป็นบิดาด่าว่าโจทก์ว่า "ไอ้แก่กูไม่นับมึงเป็นพ่อ ออกไปให้พ้น ไม่ไปมึงตายกูไม่รับรู้" เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์เรียกโจทก์ว่าไอ้แก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ว่าไม่นับถือโจทก์เป็นบิดา ขับไล่โจทก์ออกไปให้พ้น มิฉะนั้นโจทก์ตายจำเลยไม่รับรู้ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้ถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณได้ (ฎีกา 3502/2535)

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-06-30 11:20:23


ความคิดเห็นที่ 7 (2283598)

การถอนคืนการให้ทรัพย์สิน
การถอนคืนการให้ทรัพย์สิน อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีนี้ คือ
1. ถ้าเป็นการหใอันมีภาระติดพันและผู้รับละเลยไม่ชำระค่าติดพันนั้น ผู้ให้จะถอนการให้ได้เพียงจำนวนที่จ้องต้องเอไปชำระค่าติดพันเท่านั้น
2. การให้โดยเสน่หา และผู้รับปฏิบัติผิดข้อกำหนดที่ผู้ให้ได้วางไว้
3. เมื่อผู้รับเนรคุณ ประทุษร้ายผู้ให้ เป็นความผิดอาญาร้ายแรง เช่น ผู้รับได้ทำร้ายร่างกายผู้ให้ถึงอันตรายสาหัส
4. ผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง เช่น มารดายกที่ดินให้บุตรต่อมาบุตรได้ด่ามาดาด้วยถ้อยคำหยาบคายจนมารดาทนไม่ไหว ต้องออกจากบ้านไปอาศัยผู้อื่นทำให้ได้รับความเดือดร้อนมาก
5. ผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งจำเป็นเลี้ยงชีพแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถให้ได้ เช่น มารดาอายุ 84 ปี ไม่สามารถทำงานเลี้ยงตัวเองได้ บุตรผู้รับมรดกของมารดาไม่ยอมเลี้ยงดูมารดา โดยบุตรอยู่ในฐานะที่สามรถเลี้ยงดูมารดาได้ ดังนี้มารดามีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ได้
6. เจ้าหนี้ของผู้ให้ย่อมมีสิทธิเพิกถอนการให้ได้ ในเมื่อผู้ให้ได้รู้อยู่แล้วว่าการให้นี้เป็นการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ

กรณีทายาทของผู้ให้ใช้สิทธิถอนคืนการให้
สิทธิการถอนคืนการหให้ เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ให้ แต่บางกรณีที่กฏหมายให้สิทธิแก่ทายาทของผู้ให้ที่จะใช้สิทธิถอนคืนการให้แทนผู้ให้ได้ ในกรณีที่
1. ผู้รับได้ฆ่าผู้ให้ได้ตายโดยเจตนาและไม่ชอบด้วยกฏหมาย
2. ผู้รับได้กีดกันผู้ให้มิให้มีการถอนคืนการให้ จนในที่สุด ผู้ให้เสียชีวิตลง ทายาทของผู้ให้มีสิทธิขอให้ถอนการให้ได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-06-30 11:26:58


ความคิดเห็นที่ 8 (2283601)

ถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณ
 
การที่เจ้าของทรัพย์ได้จดทะเบียนโอนบ้านพร้อมที่ดินให้ผู้อื่นอาจจะเป็นบุคคลในเครือญาติ  หรือบุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันเครือญาติ  แต่รักใคร่เอ็นดูจึงได้ยกให้โดยไม่มีค่าตอบแทนนั้น
ในทางกฎหมายจะเรียกว่าเป็นการให้โดยเสน่หาและการจะเอาคืนเพราะผู้รับไม่ส่งเสียเลี้ยงดูนั้นจะเรียกว่าเป็นการถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณ  ซึ่งจะทำได้หรือไม่ 

ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 ซึ่งบัญญัติว่า

“อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น อาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้

- ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา,
- ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
- ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้”


ดังนั้นการทะเลาะกันในสายตาของคนทั่วไปอาจจะเป็นเรื่องการเนรคุณก็ตาม  แต่ในทางกฎหมายอย่างไรจึงจะถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณได้จะต้องเข้าเงื่อนไขของมาตรา 531 ด้วย เพราะหากไม่ได้มีการทำร้ายหรือประทุษร้ายที่จะเป็นความผิดอาญาได้แล้ว  หรือการด่าว่าด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสมหรือหยาบคายยังต้องพิจารณาด้วยว่าคำพูดเหล่านั้นได้เป็นการทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทผู้ให้ซึ่งต้องเป็นเรื่องร้ายแรงด้วยหรือไม่ คือต้องดูข้อเท็จจริงประกอบเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าเข้าเงื่อนไขของกฎหมายที่จะเพิกถอนการให้ได้หรือไม่

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6323/2552 โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยประพฤติเนรคุณเป็น 2 ประการ  ประการแรกจำเลยขับไล่และด่าว่าโจทก์ “แก่แล้วทำไมไม่ตายเสียที น่าจะตายให้พ้น ๆ ไป จะได้ไม่เป็นภาระกับคนอื่น”  ประการที่ 2 จำเลยไม่ยอมให้สิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ ทั้งที่จำเลยสามารถหยิบยื่นได้ อันเป็นเหตุตาม ป.พ.พ.มาตรา 531(2) และ (3) ตามลำดับ  แต่เหตุประการแรกโจทก์ไม่นำสืบว่าจำเลยด่าว่าอย่างไรบ้างที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ.มาตรา 531 (2)  ส่วนเหตุประการที่สองโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดู ไม่ให้ค่าเลี้ยงชีพเมื่อโจทก์ขอ  แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ยังมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินอย่างน้อย 1 แปลง และมีบุตรคนอื่น ๆ ให้การอุปการะเลี้ยงดูด้วย  ตามสถานภาพของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นคนยากไร้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531(3) กรณีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนคืนการให้ได้

ในกรณีเจ้าของทรัพย์สินอาจมีความกังวลว่าถ้าหากได้ยกทรัพย์สินให้บุตรหรือญาติหรือผู้ใดจนไม่มีทรัพย์สินที่จะเลี้ยงตัวเองแล้วอาจจะถูกผู้รับทอดทิ้งหรือไม่ส่งเสียเลี้ยงดูในภายหลัง  ทางแก้ง่าย  ๆ ควรจะทำเป็นพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ผู้ที่ตนตั้งใจจะยกทรัพย์สินให้แทนการไปจดทะเบียนโอนยกให้  เพราะหากเกิดสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  เจ้าของทรัพย์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขพินัยกรรมได้เสมอ  เนื่องจากพินัยกรรมฉบับหลังสุดหากมีข้อขัดหรือแย้งกับพินัยกรรมฉบับก่อน ๆ ให้ถือพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับหลังสุด เพราะพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมจะมีผลบังคับได้จะต้องเป็นคำสั่งครั้งสุดท้ายของผู้ตาย

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-06-30 11:34:07



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล