ReadyPlanet.com


การหย่า


     ในกรณีที่ฝ่ายชายไม่หย่า    แต่ดิฉันขอหย่า  โดยไปแจ้งความจำนงค์ที่อำเภอไว้ฝ่ายเดียว    ได้หรือไม่ค่ะ....



ผู้ตั้งกระทู้ silarat :: วันที่ลงประกาศ 2012-05-30 12:59:50


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2281983)

 การหย่ามีได้สองกรณีคือ 1. หย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย 2. หย่าโดยคำพิพากษาของศาล ซึ่งต้องฟ้องต่อศาลและการฟ้องหย่าต้องมีเหตุอ้างตามกฎหมายด้วย  สำหรับตามคำถามว่าจะขอหย่าโดยไปแจ้งความจำนงค์ที่อำเภอไว้ฝ่ายเดียวนั้นไม่สามารถทำได้ครับ เพราะไม่ถือว่าเป็นการหย่าโดยความยินยอมและไม่ใช่การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลครับ

 

มาตรา 1514 การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หรือโดยคำพิพากษาของศาล
 การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน 
 
มาตรา 1515 เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้การหย่า โดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว 
 
มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความ ผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่าย ที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
 อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่น ประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่ง นั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุก เกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามี ภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของ ศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตาม สมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอา สภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความ ประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่าย หนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วม ประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-06-23 19:09:34


ความคิดเห็นที่ 2 (2281985)

 การลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือให้มีการหย่าโดยความยินยอม

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15984/2553
 
            คดีก่อน โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงจะไปจดทะเบียนหย่ากันและต่างฝ่ายจะถอนฟ้องและถอนฟ้องแย้งซึ่งกันและกัน โดยศาลชั้นต้นจดข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาแล้ว และโจทก์จำเลยที่ 1 ได้ถอนฟ้องแล้วตามข้อตกลง แต่ต่อมาโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนหย่า ภายหลังกลับมาฟ้องหย่าเป็นคดีนี้ ไม่ถือว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องโดยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะมีเหตุใหม่และเป็นคนละประเด็นกับคดีเดิม ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ ก็มีสิทธิยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และ 249 วรรคสอง
            ศาลชั้นต้นบันทึกข้อเท็จจริงหรือการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการนั่งพิจารณาไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 48 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นบันทึกว่าโจทก์ตกลงหย่ากับจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่า รายงานกระบวนพิจารณาเป็นหนังสือหย่าโดยความยินยอม และผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาสมทบที่ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็เป็นลงลายมือชื่อตามที่กฎหมายบัญญัติ ถือไม่ได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะพยาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1514 วรรคสอง
 
          โจทก์ฟ้องว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
          จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1100/2548 ของศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากข้อพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ได้ระงับไปตามข้อตกลงหย่าโดยความยินยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2548 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1100/2548 ของศาลชั้นต้น โจทก์มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนการหย่ากับจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลง แต่โจทก์ได้ผิดข้อตกลง ค่าทดแทนที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินควร ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ไปจดทะเบียนการหย่ากับจำเลยที่ 1 หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
          จำเลยที่ 2 ให้การว่าขอให้ยกฟ้อง
          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
            ศาลชั้นต้น พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่ากันและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับวันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 มิถุนายน 2548) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ให้เป็นพับ
          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
            ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
          จำเลยทั้งสองฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่าในคดีนี้ โจทก์ตกลงจะไปหย่ากับจำเลยที่ 1 ต่อมาภายหลังโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่จะไปจดทะเบียนการหย่า แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของโจทก์ว่าจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นตั้งแต่ต้นเพียงต้องการให้จำเลยที่ 1 ถอนฟ้องในคดีดังกล่าวเท่านั้น จึงทำให้จำเลยที่ 1หลงเชื่อถอนฟ้องในคดีดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาไม่สุจริต เห็นว่า ปัญหาว่าเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 249 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2548 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1100/2548 ของศาลชั้นต้น แม้จะมีบันทึกไว้ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเนื่องจากได้ตกลงกับจำเลยแล้วว่าจะไปจดทะเบียนหย่าขาดกันในวันนี้และทนายจำเลยยื่นคำร้องขอถอนฟ้องแย้งโดยแต่ละฝ่ายไม่คัดค้านที่อีกฝ่ายขอถอนฟ้องต่อมาโจทก์ก็ไม่ได้ไป แต่โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้ก็หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ เพราะมีเหตุใหม่และเป็นคนละประเด็นกัน โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ หาใช่เรื่องโจทก์จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเพียงเพื่อต้องการให้จำเลยที่ 1 ถอนฟ้องตามที่ฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
            ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อต่อมามีว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจฟ้องแย้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนการหย่าหรือไม่ ในปัญหานี้ จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2548 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1100/2548 ของศาลชั้นต้น ที่มีบันทึกว่าโจทก์ตกลงจะไปหย่ากับจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการหย่าโดยความยินยอมที่ได้ทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514วรรคสองแล้ว เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดว่า ผู้จะเป็นพยานในหนังสือจะต้องอยู่ในสถานะใด ดังนั้น ผู้พิพากษาสมทบของศาลชั้นต้นที่ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าว จึงถือว่าเป็นพยานในหนังสือหย่าโดยความยินยอมแล้ว จำเลยที่ 1 มีอำนาจฟ้องแย้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนการหย่าได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 48 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของศาลต้องจดแจ้งรายงานการนั่งพิจารณาหรือกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ของศาลไว้ทุกครั้ง และรายงานนั้นต้องมีข้อความโดยย่อเกี่ยวด้วยเรื่องที่กระทำและรายการข้อสำคัญอื่น ๆ และลงลายมือชื่อผู้พิพากษาไว้ด้วย ทั้งตามมาตรา 50 บัญญัติด้วยว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดจะต้องลงลายมือชื่อ หากเป็นการลงลายมือพิมพ์นิ้วมือ แกงได หรือเครื่องหมายอย่างอื่นที่ได้ทำต่อหน้าศาลนั้น ไม่จำต้องมีลายมือชื่อของพยานสองคนรับรอง ดังเช่นที่ได้บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 ซึ่งเห็นได้ชัดว่า รายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเป็นเรื่องศาลชั้นต้นจะต้องทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ที่ต้องลงลายมือชื่อผู้พิพากษาและรวมถึงลายมือชื่อผู้พิพากษาสมทบในคดีศาลคดีเยาวชนและครอบครัวด้วย การที่ผู้พิพากษาสมทบลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับที่จำเลยทั้งสองอ้าง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือให้มีการหย่าโดยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสองแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนการหย่าได้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้มาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้
 
 
ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-06-23 19:21:00



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล