ReadyPlanet.com


คดีลักทรัพย์


ขอเรียนสอบถามหน่อยนะครับ

1. ผมเป็นผู้เสียหายในคดีลักทรัพย์ มีประจักษ์พยานเบิกความเห็นจำเลยกระทำผิด ชัดเจน  คดีก็รอศาลท่านตัดสินอยู่ แต่จำเลยก็ต่อสู้คดี  สิ่งที่ผมจะเรียนสอบถามคือว่า หากจำเลยหลุด หรือ ศาลยก เค้าจะมาฟ้องผมกลับในข้อหาอะไรครับ เพราะเค้าเคยมาพูดกับผมตอนที่เจอกันที่ศาลว่า จะมาฟ้องกลับ



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้เสียหาย :: วันที่ลงประกาศ 2012-05-29 21:47:28


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2281917)

 ส่วนใหญ่ที่ฟ้องกันคือข้อหา แจ้งความเท็จ กับเบิกความเท็จครับ แต่การฟ้องคดีไม่ได้หมายความว่า โจทก์ หรือผู้เสียหายที่ฟ้องคดีจะชนะคดีเสมอไปนะครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-06-23 12:36:57


ความคิดเห็นที่ 2 (2281927)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1076/2551

 
พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ     โจทก์
 
          การกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172 และมาตรา 174 วรรคสอง เป็นความผิดสำเร็จเมื่อพนักงานสอบสวนได้ทราบข้อความที่จำเลยแจ้ง พนักงานสอบสวนจะทราบว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จหรือไม่ คดีที่ผู้ต้องหาถูกฟ้องว่ากระทำความผิดเนื่องจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยนั้นศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไร และถึงที่สุดแล้วหรือไม่ มิใช่ข้อสำคัญที่จะฟังว่าจำเลยกระทำความผิหรือไม่
 
          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 เวลากลางวันจำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดงว่านายจักรวาฬ และนายธงชัยได้กระทำความผิดอาญาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2538 เวลากลางวัน โดยจำเลยเห็นนายจักรวาฬและนายธงชัยร่วมกันนำสารเคมีซึ่งมีพิษเจือลงในถังน้ำขนาด 18 ลิตร ซึ่งมีไว้สำหรับพนักงานของบริษัทจรุงไทย ไวร์แอนด์เคเบิ้ล จำกัด ใช้ดื่มกิน และต่อมามีนายพิสิฎฐ์หัวหน้างานของบริษัทมาดื่มน้ำที่เจือสารพิษในถังน้ำดังกล่าว เป็นเหตุให้นายพิสิฎฐ์มีอาการปวดท้องและอาเจียนอย่างรุนแรง ซึ่งความจริงแล้ว เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2538 เวลากลางวันจำเลยมิได้พบเห็นนายจักรวาฬและนายธงชัยร่วมกันนำสารเคมีซึ่งมีพิษเจือลงในถังน้ำดื่มซึ่งมีไว้สำหรับพนักงานของบริษัทดื่มกินตามที่จำเลยได้แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนแต่อย่างใด การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวอาจทำให้นายจักรวาฬและนายธงชัยได้รับความเสียหาย ถูกดำเนินคดีอาญาฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเอาของที่มีพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในน้ำที่มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภค และเป็นการกระทำเพื่อจะแกล้งให้นายจักรวาฬและนายธงชัยต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 174
          จำเลยให้การปฏิเสธ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 174 วรรคสอง จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันและไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2538 พันตำรวจตรีอุทัยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดง ได้รับแจ้งจากพนักงานบริษัทจรุงไทยไวร์แอนด์เคเบิ้ล จำกัด ว่า มีคนร้ายนำสารพิษเจือปนในน้ำดื่มที่บริษัทจัดไว้ให้แก่พนักงาน และมีพนักงานของบริษัท 4 คน ดื่มน้ำจากตู้น้ำดื่มดังกล่าวแล้วมีอาการอาเจียนอย่างรุนแรงจึงไปตรวจสอบ ต่อมาจากการสอบสวนทราบว่าจำเลยเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ วันที่ 28 มีนาคม 2538 พันตำรวจตรีอุทัยได้เรียกจำเลยมาสอบสวนเป็นพยาน จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เห็นเหตุการณ์ ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 พันตำรวจตรีอุทัยไปสอบสวนจำเลยที่บริษัทที่เกิดเหตุ จำเลยให้การเพิ่มเติมว่า ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 11.30 นาฬิกา จำเลยเห็นนายจักรวาฬ และนายธงชัยร่วมกันใส่สารเคมีไม่ทราบว่าเป็นสิ่งใดลงไปในถังน้ำดื่ม และหลังเกิดเหตุจำเลยถูกนายจักรวาฬข่มขู่มาโดยตลอด เนื่องจากจำเลยเห็นเหตุการณ์และแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่ที่จำเลยให้การเพิ่มเติมพนักงานสอบสวนในครั้งหลังนี้เพราะนายจักรวาฬถูกไล่ออกไปแล้ว รายละเอียดปรากฏตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ.3 หลังจากนั้นพันตำรวจตรีอุทัยได้ดำเนินคดีแก่นายจักรวาฬและนายธงชัยในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเอาของมีพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในน้ำที่มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภคและพนักงานอัยการได้ฟ้องบุคคลทั้งสองเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6273/2538 และ6908/2540 ต่อมาพนักงานอัยการอ้างจำเลยเบิกความเป็นพยานจำเลยกลับเบิกความในคดีทั้งสองคดีนั้นว่า จำเลยไม่เห็นเหตุการณ์ที่คนร้ายนำสารพิษใส่ลงไปในน้ำดื่ม และยืนยันว่าที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 นั้นเป็นเท็จรายละเอียดตามบันทึกคำให้การพยานโจทก์เอกสารหมาย จ.7 และ จ..10 พนักงานสอบสวนจึงดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีนี้ ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.16 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพันตำรวจตรีอุทัยพนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยให้การเพิ่มเติมต่อพยานเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 ว่า จำเลยเห็นนายจักรวาฬและนายธงชัยกระทำความผิดโดยร่วมกันใส่สารเคมีไม่ทราบว่าเป็นสิ่งใดลงไปในถังน้ำดื่ม ตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ.3 และก่อนจะให้จำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การดังกล่าวพยานได้ให้จำเลยอ่านบันทึกคำให้การด้วยตนเองและพยานได้อ่านให้จำเลยฟังแล้ว แต่ต่อมาเมื่อจำเลยไปเบิกความเป็นพยานในคดีที่ฟ้องนายจักรวาฬและนายธงชัยเป็นจำเลยตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6273/2538 และ6908/2540 ของศาลชั้นต้น จำเลยกลับเบิกความยืนยันว่าจำเลยไม่เห็นเหตุการณ์ที่เคยให้การไว้ว่านายจักรวาฬและนายธงชัยกระทำความผิดและจำเลยยังยืนยันต่อศาลด้วยว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การต่อพยานเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 ว่าจำเลยเห็นนายจักรวาฬและนายธงชัยร่วมกันกระทำความผิดนั้นเป็นความเท็จ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏตามบันทึกคำให้การพยานโจทก์เอกสารหมาย จ.7 และ จ.10 นอกจากนี้จำเลยเองก็นำสืบรับว่าจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจำเลยให้การว่าไม่เห็นบุคคลใดกระทำความผิด ต่อมาอีก 2 เดือน พนักงานสอบสวนไปสอบสวนจำเลยที่บริษัทอีกครั้งหนึ่งและพนักงานสอบสวนพูดคุยกับนายสายัณห์ผู้ช่วยผู้จัดการซึ่งเป็นหัวหน้างานของจำเลยว่าหากจำเลยไม่ให้การว่าเห็นเหตุการณ์จะไล่จำเลยออกจากงาน จำเลยจึงให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยเห็นเหตุการณ์เพราะกลัวจะถูกไล่ออกจากงาน แต่ความจริงจำเลยไม่เห็นเหตุการณ์ ซึ่งเจือสมพยานโจทก์ ทั้งคำเบิกความของจำเลยเองก็เป็นการยอมรับแล้วว่าความจริงจำเลยไม่รู้เห็นเหตุการณ์ในการกระทำความผิดของนายจักรวาฬและนายธงชัย ส่วนที่จำเลยไปให้การต่อพันตำรวจตรีอุทัยพนักงานสอบสวนว่า จำเลยเห็นนายจักรวาฬและนายธงชัยร่วมกันกระทำความผิดนั้นเป็นความเท็จ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนจริง และการแจ้งของจำเลยดังกล่าวทำให้นายจักรวาฬและนายธงชัยถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเอาของมีพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในน้ำที่มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภค ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวโดยมีเจตนาที่จะแกล้งให้นายจักรวาฬและนายธงชัยได้รับโทษ หรือกระทำไปเพราะถูกข่มขู่ดังที่จำเลยนำสืบต่อสู่หรือไม่ ซึ่งในข้อนี้ เห็นว่า จำเลยมีตัวจำเลยเบิกความลอยๆ เพียงปากเดียวว่า ที่จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพราะกลัวถูกออกจากงาน โดยอ้างว่าก่อนจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนได้พูดคุยกับนายสายัณห์ผู้ช่วยผู้จัดการซึ่งเป็นหัวหน้างานของจำเลยว่า หากจำเลยไม่ให้การว่าเห็นเหตุการณ์จะไล่จำเลยออกจากงาน แต่จำเลยก็ไม่นำนายสายัณห์มาเบิกความยืนยันว่าพนักงานสอบสวนได้พูดกับนายสายัณห์ตามที่จำเลยอ้างหรือไม่ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่า ในคดีที่ฟ้องนายจักรวาฬและจำเลยไปเบิกความเป็นพยานตามบันทึกคำให้การพยานโจทก์เอกสารหมาย จ.7 นั้น จำเลยก็มิได้อ้างว่าจำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพราะถูกข่มขู่ หรือกลัวว่าจะถูกไล่ออกจากงานส่วนในคดีที่ฟ้องนายธงชัย และจำเลยไปเบิกความเป็นพยานตามบันทึกคำให้การพยานโจทก์เอกสารหมาย จ.10 จำเลยกลับเบิกความว่า ที่จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเนื่องจากกลัวว่านายพิสิฎฐ์ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกจะให้จำเลยออกจากงานแต่นายพิฐิฎฐ์ก็ไม่ได้ข่มขู่จำเลย ซึ่งไม่ตรงกับที่จำเลยนำสืบต่อสู้ในคดีนี้ รวมทั้งจำเลยยังเบิกความด้วยว่าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานตำรวจไม่เคยข่มขู่หรือขู่เข็ญจำเลยให้ให้การแต่อย่างใดดังนี้ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพราะถูกข่มขู่ จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนและเป็นการแจ้งโดยมีเจตนาที่จะแกล้งให้นายจักรวาฬและนายธงชัยได้รับโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเอาของมีพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในน้ำที่มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภคการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 และมาตรา 174 วรรคสอง และความผิดดังกล่าวนี้เป็นความผิดสำเร็จเมื่อพนักงานสอบสวนได้ทราบข้อความที่จำเลยแจ้งพนักงานสอบสวนจะทราบว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จหรือไม่ คดีที่ผู้ต้องหาถูกฟ้องว่ากระทำความผิดเนื่องจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยนั้นศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไร และถึงที่สุดแล้วหรือไม่ หาใช่ข้อสำคัญที่จะฟังว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ฉะนั้นแม้โจทก์จะไม่อ้างส่งสำนวนคดีที่ฟ้องนายจักรวาฬและนายธงชัยต่อศาลชั้นต้นตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6273/2538 และ 6908/2540 และคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวเป็นพยานก็หามีผลทำให้พยานโจทก์ขาดน้ำหนักที่จะรับฟังหรือเป็นพิรุธสงสัยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
          พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ประกอบด้วยมาตรา 174 วรรคสอง จำคุก 1 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน
 
 
มาตรา 172 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มี อำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 
 
มาตรา 173 ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อ ความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดี อาญาว่าได้มีการกระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท 
 
มาตรา 174 ถ้าการแจ้งข้อความตาม มาตรา 172 หรือ มาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อ ความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับ ไม่เกินหกพันบาท
ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรกเป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใด ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท 
   
ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-06-23 12:59:20



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล