ReadyPlanet.com


คดีมรดก ผู้จัดการมรดก, สัญญาแบ่งมรดก, อายุความมรดก


เจ้ามรดกตายเมื่อเดือนธ.ค.52   ได้ทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดกกันเองเมื่อเม.ย.54 แต่ผู้จัดการมรดกยังไม่ได้แบ่งตามที่ตกลงกันไว้ จะสามารถทำอย่างไรได้บ้างค่ะ..อายุความค่ะ 



ผู้ตั้งกระทู้ เหมียว :: วันที่ลงประกาศ 2012-06-18 14:42:57


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2286745)

กองมรดกมีผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของทายาท หรือตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผู้จัดการมรดกไม่ดำเนินการก็ฟ้องผู้จัดการมรดกได้ครับ สำหรับกรณีที่ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกอยู่โดยยังไม่ได้แบ่งปันถือว่าผู้จัดการมรดกครอบครองมรดกแทนทายาททุกคน อายุยังไม่เริ่มนับครับ แต่หากผู้จัดการมรดกได้โอนทรัพย์ไปให้บุคคลใดโดยไม่มีสิทธิหรือไม่ทำตามหน้าที่ ต้องฟ้องผู้จัดการมรดกภายใน 5 ปี นับแต่การแบ่งมรดกเสร็จสิ้นครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 0859604258 วันที่ตอบ 2012-07-14 10:03:01


ความคิดเห็นที่ 2 (2286787)

 ถ้าผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย หรือตามข้อกำหนดพินัยกรรม หากเป็นกรณีที่ผู้นั้นครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังไม่ได้แบ่ง แล้วฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดก ก็สามารถฟ้องได้แม้จะเกิน 1 ปีแล้วก็ตาม ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องฟ้องภายใน 1 ปี อายุความมรดก 1 ปี อยู่ภายใต้บังคับว่า "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี แล้วก็ดี " ดังนั้น สำหรับทายาทคนที่ครองครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกันนั้น แม้ฟ้องขอแบ่งมรดกเมื่อกำหนดอายุความมรดกกี่สิบปีก็ตามก็ฟ้องขอแบ่งได้ ไม่ขาดอายุความมรดก 1 ปี

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-14 11:35:21


ความคิดเห็นที่ 3 (2286792)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่นายลับกับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสาม ดังนั้น เมื่อจำเลยและนายลับแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งมีสิทธิรับมรดกเช่นนี้จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก ย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง และเงินจำนวน 200,000 บาท ที่จำเลยได้รับไปได้ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363

http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538682758&Ntype=7

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-14 11:41:05


ความคิดเห็นที่ 4 (2286796)

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญเลี้ยงตามคำสั่งศาล อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยทำบัญชีทรัพย์มรดกและแบ่งมรดกไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อปรากฏว่ายังมีทรัพย์มรดกหลายรายการที่จำเลยจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง จึงยังไม่อาจเริ่มนับอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว และโดยเหตุที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ต้องรับผิดต่อทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 ในลักษณะตัวการตัวแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 ถึง 812, 819 และมาตรา 823 การที่จำเลยครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 13804 และ 13809 ซึ่งมีส่วนเป็นทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยจะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสี่ไม่ขาดอายุความ จึงชอบแล้ว

อ่านต่อคลิ๊กที่นี่

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-14 11:46:57


ความคิดเห็นที่ 5 (2286800)

ผู้จัดการมรดกไม่แบ่งมรดกให้


รบกวนปรึกษาเรื่องมรดกคะ

คือดิฉันและน้องชาย  เป็นบุตรของภรรยาคนที่สอง  แต่มีหนังสือรับรองบุตรคะ   ซึ่งพ่อได้เสียชีวิตแล้วเมื่อ       12 ก.ค. 2552  ซึ่งพ่อมีภรรยาที่จดทะเบียนสมรส กับบุตรอีก 3 คน  ต่อมาภรรยาเขาได้แต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก และแบ่งมรดกให้บุตรของเขาทั้ง 3 คน แต่ไม่ได้แจ้งเรา 2 คนพี่น้อง เรามาทราบภายหลัง จึงขอถามคะ

1.ดิฉันและน้องชาย สามารถขอแบ่งมรดกได้หรือไม่  และต้องดำเนินการอย่างไร

2.อายุความจะหมดเมื่อไหร่  นับตั้งแต่วันไหน

3.ผู้จัดการมรดกมีความผิดหรือไม่  ได้รับโทษอย่างไร

_________________________________________________________________

กรณีตามปัญหาของท่าน

(1) ท่านและน้องชายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกในลำดับที่ 1 (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และ มาตรา 1629)

(2) ท่านสามารถฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งโดยฟ้องผู้จัดการมรดกต่อศาลที่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก เนื่องจากผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาท ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 - 812 , 819 , 923 เพราะถือว่าผู้จัดการมรดกทำหน้าที่แทนทายาททั้งหลายจึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องตัวแทนมาใช้บังคับ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720) อายุความกรณีนี้มีกำหนด 5 ปี เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นลง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรรคสอง)

(3) ท่านสามารถฟ้องเป็นคดีอาญาได้ด้วยหากมีพยานหลักฐานชัดเจน โดยถือว่าเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีเอง (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (2)) ข้อหายักยอกทรัพย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  96 , 352 , 354) ซึ่งเป็นคดีที่สามารถยอมความได้ โดยต้องฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-07-14 11:58:47


ความคิดเห็นที่ 6 (2286803)

ผู้จัดการมรดก - อายุความ
ผู้จัดการมรดกขายทรัพย์มรดกโดยไม่มีอำนาจ ทายาทเรียกคืนได้เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน ผู้ซื้อที่ดินจากผู้ขายที่ไม่มีสิทธิขาย แม้จะรับโอนโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโอนแล้วก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินที่รับซื้อมา เรียกว่า "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1971/2551
 
          จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน ไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 จึงนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้
          จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1287 ตำบลบงเหนือ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เนื้อที่ 12 ไร่ (ที่ถูก 13 ไร่) 2 งาน 71 ตารางวา โดยได้รับมรดกมาจากนางอ่อนจันทร์มารดาของโจทก์ เมื่อปี 2515 และได้ครอบครองทำประโยชน์เรื่อยมา ต่อมาปี 2538 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการทางทะเบียนโอนที่ดินมรดกให้โจทก์และทายาทอื่น แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 838/2539 ของศาลชั้นต้น แต่ในระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันสมคบกับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองต่างทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์อันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนแล้วให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1287 ตำบลบงเหนือ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ระหว่างจำเลยทั้งสอง และบังคับให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ไปดำเนินการโอนขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
          จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
          จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ทราบมาก่อนว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งสภาพที่ดินพิพาทไม่มีสิ่งปลูกสร้างพอที่จะให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์ตามฟ้องทั้งโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายบักคำ (สามีของจำเลยที่ 2) แล้วตั้งแต่วันที่ทำบันทึกตกลงประนีประนอมยอมความกันที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสว่างแดนดิน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 แล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงเหตุฉ้อฉลแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วทั้งที่ดินพิพาทมีหลักฐานทางทะเบียนเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งเจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 แล้วได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทให้คนเช่าทำไร่อ้อยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ถือได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองจากโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ฟ้องเอาคืนภายในกำหนด 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง แล้วเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1287 ตำบลบงเหนือ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท
          จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งกับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน โดยโจทก์เป็นบุตรของนางอ่อนจันทร์กับนายจันทร์ดี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางอ่อนจันทร์กับนายชิต บิดามารดาของโจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียน ส่วนบิดามารดาของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 1 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือจำเลยที่ 1 นายอุดมและนายสวัสดิ์ชัย ส่วนนายประเสริฐเป็นลูกติดมากับบิดาจำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาทเดิมมีเนื้อที่ 24 ไร่ เป็นของนายอำคาขายให้แก่นายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.2 ต่อมานางอ่อนจันทร์มารดาโจทก์ได้ร่วมกับนายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 13 ไร่ นำรวมเข้ากับที่ดินเดิมเป็นประมาณ 37 ไร่ แล้วขอแบ่งแยกออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ต่อมานายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชิต เมื่อปี 2537 และภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายชิต (ตามคำสั่งศาลชั้นต้น คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 260/2537 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2537 ตามสำเนาที่แนบท้ายหนังสือนำส่งพยานเอกสาร ของสำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครสาขาสว่างแดนดิน ฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2543) แล้วจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ทำบันทึกตกลงแบ่งแยกที่ดินมรดกให้แก่ทายาทต่อหน้านายสว่างผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2538 ตามเอกสารหมาย ล.1 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือจำนวน 13 ไร่ ให้แก่โจทก์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2538 ขอให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทจำนวน 13 ไร่ ดังกล่าวตามที่ตกลงกันไว้ให้แก่โจทก์ ตามคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 549/2538 เอกสารหมาย จ.3 และต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 (ในขณะนั้น) ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เอกสารหมาย จ.4 คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2544 ท้ายสำนวนคดีดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงผูกพันจำเลยที่ 1 และในระหว่างดำเนินคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 ตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย จ.1
          คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่ จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยคบคิดกันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วหรือไม่ เห็นว่า สำหรับประเด็นแรกโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น ทางพิจารณาได้ความว่า โจทก์เป็นบุตรของนางอ่อนจันทร์กับนายจันทร์ดี ซึ่งอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และต่อมามารดาโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับนายชิตบิดาจำเลยที่ 1 และมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือจำเลยที่ 1 นายอุดม นายสวัสดิ์ชัย โจทก์จึงไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชิตบิดาจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของบิดาจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มีสิทธิรับมรดกของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ตกแก่มารดาโจทก์ในฐานะคู่สมรสและถือเป็นทายาทคนหนึ่งของบิดาจำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์นำสืบว่า เมื่อมารดาโจทก์มาอยู่กินกับนายชิต ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทเพิ่มเติมประมาณ 13 ไร่ จากที่ดินเดิม 24 ไร่ ที่ซื้อจากนางอำคารวมเป็น 37 ไร่เศษ แล้วแบ่งแยกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ดังนี้เมื่อนายชิตถึงแก่กรรม ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นทรัพย์มรดกที่ตกแก่มารดาโจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งตกแก่ทายาที่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชิตกับมารดาโจทก์คือจำเลยที่ 1 กับพี่น้องรวม 3 คน คนละหนึ่งส่วน โดยมารดาโจทก์ยังมีส่วนได้รับในฐานะทายาทชั้นบุตรด้วยอีก 1 ส่วน และเมื่อมารดาโจทก์ถึงแก่กรรมในภายหลัง ส่วนที่ตกเป็นมรดกของมารดาโจทก์ก็ย่อมตกแก่โจทก์ ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาโจทก์ โจทก์จึงมีส่วนได้ในที่ดินพิพาทที่เป็นทรัพย์มรดกของนายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ด้วย และจากคำเบิกความของโจทก์ที่ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า นางอ่อนจันทร์มารดาของโจทก์ ได้ถึงแก่กรรมภายหลังนายชิตประมาณ 4 ให้แก่ลูกๆ จำนวน 5 ล็อก โดยมีสิ่งบอกหลักเขตหรือแนวกรรมสิทธิ์ได้ แต่ไม่ได้โอนทางทะเบียน และระหว่างนั้นมารดาโจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทจำนวน 13 ไร่ ให้แก่นางใหม่ ต่อมาโจทก์ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวคืนมาจากนางใหม่ โดยไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกัน แต่นางใหม่ให้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ไว้ที่โจทก์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ได้ออกค่าใช้จ่ายให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชิต เพื่อจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการรับโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต แล้วได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินในนามเดิมออกเป็น 5 แปลง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2538 คงเหลือที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 เพียง 13 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา ตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลัง ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะไปดำเนินการขอแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงๆ นั้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่สามารถตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวได้ จึงได้ไปเจรจาตกลงแบ่งที่ดินพิพาทกันต่อหน้านายสว่างผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านตามเอกสารหมาย ล.1 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2538 โดยโจทก์มีนายสว่างผู้ใหญ่บ้าน และนายหนู นายจันทากับนายถวิลกรรมการหมู่บ้านมาเบิกความว่าร่วมเป็นกรรมการในการเจรจาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงแบ่งปันที่ดินพิพาทกันตามเอกสารหมาย ล.1 ว่า จำเลยที่ 1 ขอแบ่งที่ดิน 2 แปลง แปลงหนึ่งเนื้อที่ 1 งาน อีกแปลงหนึ่งเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน นายประเสริฐได้ 1 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน นายอุดมได้ 1 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน นายสวัสดิ์ชัย 1 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน ส่วนโจทก์ได้ที่ดินส่วนที่เหลือทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 กับพี่น้องซึ่งเป็นบุตรของนายชิตรวม 4 คน ได้ที่ดินรวม 5 แปลง โดยจำเลยที่ 1 ได้ 2 แปลง คนอื่นได้คนละ 1 แปลง ซึ่งตรงกันจำนวนแปลงที่จำเลยที่ 1 ได้ขอแบ่งตามที่ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งแต่ละแปลงมีเนื้อที่ใกล้เคียงกับที่ตกลงกันไว้ในเอกสารหมาย ล.1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 ได้ 2 แปลง มีแปลงหนึ่งเนื้อที่ 1 งานเศษด้วย จึงเชื่อได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงแบ่งที่ดินมรดกเอกสารหมาย ล.1 กันต่อหน้าผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงไปดำเนินการขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงตามที่ตกลงกันไว้จริงโดยคงเหลือที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 13 ไร่เศษ ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ตกเป็นของโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทกันในคดีนี้คือ ที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 12 ไร่เศษ ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 ได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 นั้น เป็นของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต เป็นผู้ถือสิทธิ์ครอบครองแทนเท่านั้น
          ปัญหาวินิจฉัยต่อไปในประเด็นที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสมรู้ร่วมคิดกันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วหรือไม่นั้นเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการทำนิติกรรมฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามที่วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่ทายาทคนใดไปขายให้บุคคลใด โดยทายาทผู้นั้นไม่ยินยอมทั้งสิ้น ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้จำนวน 13 ไร่เศษ ไปขายให้แก่ผู้ใด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะซื้อที่ดินดังกล่าวไว้สุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 นั่นเอง ดังนั้นการที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืนนั้น จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เพราะการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น จำเลยที่ 1 ผู้โอนจะต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว แต่การโอนทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหายเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจดังกล่าวมาแล้ว จึงนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ในการเพิกถอนการฉ้อฉลมาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 1 ปี ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาโต้แย้งมา และเมื่อคดีนี้ไม่ใช่เรื่องการขอเพิกถอนการฉ้อฉลแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้
          อนึ่ง คดีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครองที่โจทก์จะต้องฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนด 1 ปี ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ด้วย เพราะในเรื่องการแย่งการครอบครองนั้น จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้ว จึงไม่มีประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จะโต้แย้งว่าโจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายบัวคำสามีของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 ตามบันทึกตกลงประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.5 ที่ทำที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสว่างแดนดิน แล้วโจทก์จึงสิ้นสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 นั้น ก็ฟังไม่ได้เช่นกัน
          ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องติดตามเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความไม่ใช่เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 จึงไม่ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาท ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
          พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนโจทก์
 
 
( ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล - กำธร โพธิ์สุวัฒนากุล - สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร )
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 0859604258 วันที่ตอบ 2012-07-14 12:12:02


ความคิดเห็นที่ 7 (2305218)

ถ้าพ่อแม่ของดิฉันมีที่ดินอยู่ แล้วมีพี่น้อง 6 คน แล้วถ้าพี่น้องของดิฉันจะขายที่ดินผืนนี้(แปลงนี้)โดยที่ดิฉันไม่ยินยอมจะขายได้หรือไม่ และหากน้องสาวและน้องชายดิฉันไปร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดก หากดิฉันไม่ยินยอมเซ็นในหนังสือที่ขอเป็นผู้จัดการมรดกเค้าจะได้รับแต่งตั้งหรือไม่  หากดิฉันไม่ยอมคนเดียวน่ะค่ะ รบกวนตอบทีค่ะ

_________________________________________

คำตอบ - เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มีทรัพย์สินตกทอดแก่ทายาท ทรัพย์สินนั้น เรียกว่า มรดก , มรดกตกได้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกคือ ลูกทั้ง 6 คน คนละส่วนเท่า ๆ กัน หากคุณไม่ต้องการขาย แต่สามารถแบ่งส่วนของคุณได้ และต้องตกลงกันได้ด้วย หมายความว่า ที่ดินจะแบ่งส่วนของคุณอยู่ทางทิศไหนของที่ดิน เพราะปัญหาก็คือ ทายาททุกคนก็อยากได้ทำเลดี เป็นต้น

หากตกลงกันได้ก็รังวัดแบ่งแยกออกไป หากตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องนำออกขายทอดตลาด ซึ่งทายาททุกคนก็สามารถเข้าไปประมูลแข่งราคาจากการขายทอดตลาดได้ครับ ขายได้แล้วก็นำเงินมาแบ่งกันตามส่วน หากคุณไม่ยอมขาย ทายาทอื่นก็ต้องร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกดำเนินการแทนทายาท คือขายนำเงินมาแบ่งกันได้

กรณีที่คุณไม่ยินยอมเซนต์หนังสือยินยอมก็ไม่มีเหตุขัดข้องในการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด แต่ศาลก็จะให้ส่งสำเนาคำร้องมาให้ทางคุณทำคำร้องคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดกต่อไป ซึ่งในทางปฏิบัติหากทายาทแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายหรือมากกว่านั้น ศาลก็จะตั้งผู้จัดการมรดกร่วมกันครับ

ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ

085-9604258

 

ผู้แสดงความคิดเห็น cc วันที่ตอบ 2012-10-03 10:40:22


ความคิดเห็นที่ 8 (2386878)

เรียนท่่านทนายที่เคารพ

                    แม่ของดิฉันโดนฟ้องคดียักยอกทรัพย์มรดกค่ะเรื่องมีอยู่ว่า ปี 2512 เจ้ามรดกตายแต่ก่อนตายได้สั่งเสียไว้ว่าไม่ให้บุตรชายเอาที่ดินไป ดังนั้นบุตรสาวสามคนจึงเข้าครอบครองที่ดินที่เป็น ส.ค และ น.ส. 3  แบ่งส่วนเท่า ๆ กัน ต่อมาปี  2553 ทั้งสามไปขอออกโฉนด เมื่อ เดือน กรกฏาคม 2553 (วันที่ปรากฏในโฉนดที่ดิน น.ส. 4 ) ปี 2555 มาดาดิฉันโอนให้ลูก ๆ หมดแล้ว     ต่อมา 3 มิถุนายน  2556 น้าชายมาขู่ขอแบ่งที่ดินแล้วสาบแช่งด่าทอต่าง ๆ นาๆ ไม่ขอกันดีๆ เดือน กรกฏา 56 หมายศาลมาที่บ้านคดี ยักยอก 352-354 ค่ะ กรณีอย่างนี้ท่่านทนายคิดว่าแม่หนูจะชนะคดีไหมค่ะ

___________________________________________

 

คำตอบ -  เมื่อเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรม แต่การสั่งเสียไว้ด้วยวาจา หรือเป็นคำพูดจึงไม่มีผลผูกพัน น้าชายก็มีสิทธิรับมรดกของ พ่อแม่ได้(ตา-ยาย) คำถามว่าจะชนะคดีหรือไม่? คงตอบไม่ได้ครับ เป็นอำนาจของศาล แต่เหตุการณ์ผ่านมาหลายปีแล้วอาจต่อสู้เรื่องอายุความได้ครับ

ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ

085-9604258

 

ผู้แสดงความคิดเห็น สุภาภรณ์ วันที่ตอบ 2013-07-15 10:02:27


ความคิดเห็นที่ 9 (2392308)

ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
คำพิพากษาฎีกาที่ 814/2554
ช.ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทแก่ อ. เมื่อ ช. ตายที่ดินพิพาทตกเป็นของ อ. ต่อมา อ.ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งห้า เมื่อ อ.ตาย ที่ดินพิพาทตกเป็นของโจทก์ทั้งห้า แม้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ช. จำเลยที่ 1 ก็เพียงแต่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของ ช. แทนทายาททุกคนเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาททุกคน ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทที่ตกเป็นของโจทก์ทั้งห้าไปขายโดยทายาทผู้ได้รับมรดกไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งห้า แม้จำเลยที่ 2 แม้จะซื้อที่ดินโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทคืนอันเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 กรณีไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เพราะการจะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้ จำเลยที่ 1 ผู้โอนต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว และการโอนทำให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ
 

 

(รูปภาพสำหรับ - สำนักงานทนายความ, และ ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 0859604258 วันที่ตอบ 2013-07-26 15:46:32


ความคิดเห็นที่ 10 (2403102)

ดิฉันมีความประสงค์จะขายที่ดินที่ได้รับมรดก ต้องการที่จะขอแบ่งแยกรางวัดที่ดินในส่วนของดิฉันออกมาเพื่อขาย แต่พี่น้องผู้ถือโฉนดร่วมกันอีก 3 คน ไม่ยินยอมเซนต์ ดิฉันควรทำอย่างไรค่ะจึงจะได้แยกโฉนดส่วนที่เป็นของดิฉัน

ผู้แสดงความคิดเห็น ff วันที่ตอบ 2013-08-22 03:17:43


ความคิดเห็นที่ 11 (2405576)

ตอบความคิดเห็นที่ 10

ฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้ครับ ถ้าแบ่งไม่ได้ให้ประมูลกันเอง หากไม่ได้อีกก็ต้องขายทอดตลาดแบ่งเป็นเงินสดครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-28 20:57:58



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล