ReadyPlanet.com


ค่าทดแทน กรณีคู่หมั้นจะไปแต่งงานกับหญิงอื่น


วันหมั้นมีการคุยค่าสินสอด และวางสินสอดบางส่วนให้ฝ่ายหญิง แต่ยังไม่ได้ระบุวันแต่งและจดทะเบียน เพราะยังไม่พร้อมเรื่องเงิน และฝ่ายชายก็อยุ่กินกับฝ่ายหญิงที่บ้านของฝ่ายหญิง ต่อมาอีก 1ปีคู่หมั้นทั้งสองคุยกันว่าจะแต่งงานและจดทะเบียนกัน แต่ทางฝ่ายชายต้องการมีรถยนต์ก่อนเพื่อสะดวกในการจัดการงานแต่ง และวางแผนจะกลับไปใช้ชีวิตอยู่บ้าน ตจว ของฝ่ายชายและจะใช้รถในการประกอบอาชีพ ฝ่ายหญิงจึงยินดีร่วมผ่อนรถ และเป็นผู้กู้ไฟแนนท์ให้ (ฝ่ายชายมีเงินเดือนเพียง 8000 บาท ไม่สามารถกู้ได้)โดยฝ่ายชายนำเงินจากมารดามาดาวน์รถ ต่อมามีปัญหาการเงิน จึงยังไม่พร้อมจะแต่งงานกัน จนผ่านมา 3 ปี ปัญหาการเงินยิ่งพอกพูน ฝ่ายหญิงจึงทำการขายรถ เพือหยุดหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น ระหว่างนั้นฝ่ายชายแอบไปมีหญิงชู้ โดยที่ครอบครัวของฝ่ายชายรู้เห็น เป็นเวลา 1 ปี โดยที่ยังอยู่กินกันกับคู่หมั้น และวางแผนจะออกรถมาช่วยกันผ่อนคันใหม่ในเดือน ก.ค และจะทำการแต่งงาน มีลูกกันปีหน้า เพราะตอนนี้รายได้ของทั้งสองมากขึ้นกว่าเมื่อปีก่อนมาก แต่เรื่องมาแตก เพราะหญิงชู้ได้ไปค้างที่บ้านของฝ่ายชายที่ ตจว ซึ่งอยุ่ใกล้กับบ้านย่าของฝ่ายหญิง มีชาวบ้านรู้เห็น และมารดาของฝ่ายชายก็ไม่ได้ปิดบังใด ๆ ใครถามก็บอกว่าคนนี้คือเมียอีกคนของลูกชาย และต้องการจะให้แต่งกับคนนี้ จึงเป็นเรื่องขึ้นมา ฝ่ายหญิงและครอบครัวรับไม่ได้ เพราะหมั้นอยู่กินกันอย่างเปิดเผย ทั้งเสียอะไรไปเยอะ และเป็นที่นินทาของชาวบ้าน เพราะทั้งสองครอบครัวอยู่หมุ่บ้านเดียวกันที่ ตจว  จึงมีการโต้เถียงกันขึ้น ฝ่ายชายและครอบครัวประกาศไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะให้เงินมาดาวน์รถแล้ว(ที่ขายไป) ถือว่าเป็นสินสอดส่วนที่เหลือ ไม่มีอะไรต้องรับผิดชอบหญิงคู่หมั้นแล้ว และฝ่ายชายก็ออกจากบ้านคู่หมั้นไปอยู่กินกับหญิงชู้ทันที และได้ไปสู่ขอหญิงชู้หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ และมีกำหนดแต่งงานในเดือน ก.ค นี้ ฝ่ายหญิงคู่หมั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ไหมค่ะ ไม่แน่ใจว่ากรณีที่วันที่หมั้นไม่ได้ระบุวันแต่งหรือจดทะเบียน จะเป็นโมฆะไหม แต่หลังจากนั้นจึงมีพูดคุยกันเองของคุ่หมั้นแต่ก็ยังไม่ได้กำหนดวันหรือหาฤกษ์ที่แน่นอน แต่การที่หญิงคู่หมั้นยินยอมร่วมผ่อนรถ และเอาชื่อไปกู้ไฟแนนท์ เพราะฝ่ายชายสัญญาว่าจะไว้ใช้ในช่วงเตรียมงานสมรสและเพื่อสร้างครอบครัวในอนาคต จะแสดงว่าทั้งคู่ต้องการจะแต่งงานและจดทะเบียนสมรสกันในอนาคตไหม



ผู้ตั้งกระทู้ สิริ :: วันที่ลงประกาศ 2012-06-15 10:16:39


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2284601)

สัญญาหมั้นต้องมีของหมั้น ไม่ปรากฏว่า ในวันหมั้นมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่กันจึงไม่แน่ใจว่ามีการหมั้นถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ แต่หากจะให้รวบรัดเป็นว่า มีสัญญาหมั้น ผมเห็นว่า การที่มีการหมั้นไม่มีกำหนดวันจดทะเบียนสมรส แต่กลับอยู่กินฉันสามีภริยาถึง 3 - 4 ปี น่าจะถือว่าคู่หมั้นไม่มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนสมรสต่อกัน ข้ออ้างต่าง ๆ ไม่พอฟังสนับสนุนว่ามีความตั้งใจที่จะไปจดทะเบียนสมรสกันในวันที่แน่นอน และที่สำคัญ การฟ้องเรียกค่าทดแทนจากการผิดสัญญาหมั้นต้องฟ้องภายใน หกเดือนนับแต่วันผิดสัญญาหมั้น จากพฤติการณ์น่าจะพ้นหกเดือนนับแต่ผิดสัญญาหมั้นไปแล้วครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-07-04 21:48:51


ความคิดเห็นที่ 2 (2284611)

ขณะสู่ขอไม่มีการตกลงเรื่องจดทะเบียนสมรส
 
ชายคู่หมั้นไปแจ้งความว่าหญิงหลอกลวงตนโดยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วยทั้งที่เวลาสู่ขอกันไม่มีการตกลงเช่นนั้น จึงถือไม่ได้ว่ากรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทำให้ชายคู่หมั้นไม่สมควรสมรสกับหญิง เพราะตามพฤติการณ์แสดงว่าต่างมิได้ยึดถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่จะได้อยู่กินด้วยกันตามประเพณีเท่านั้น จึงไม่อาจกล่าวโทษได้ว่า การที่มิได้ไปจดทะเบียนสมรสเกิดจากความผิดของฝ่ายใด ดังนั้น กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของหญิงคู่หมั้น หญิงคู่หมั้นจึงมิได้ผิดสัญญาหมั้น ชายคู่หมั้นไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกสินสอดและของหมั้นคืนจากหญิงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1366/2552

มาตรา 1437  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง

สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้

ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 412 ถึง มาตรา ๔๑๘ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา 1442  ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย


          การที่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีเรื่องทะเลาะกันทั้งๆ ที่โจทก์กับจำเลยได้จัดงานแต่งงานใหญ่โต มีแขกไปในงานมากมายและโจทก์กับจำเลยก็ได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันแล้ว ซึ่งการเลิกรากันก็ทำให้เป็นที่อับอายและเสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียงของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นหญิง ทั้งโจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาเป็นไปโดยไม่ราบรื่น เพราะต่างต้องแยกกันทำงานคนละจังหวัด แทนที่โจทก์จะพยายามทำความเข้าใจกับจำเลยให้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันตามสภาพแต่โจทก์กลับไปแจ้งความว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์โดยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วยทั้งที่เวลาสู่ขอกันไม่มีการตกลงเช่นนั้น จึงถือไม่ได้ว่ากรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทำให้โจทก์ไม่สมควรสมรสกับจำเลย เพราะตามพฤติการณ์แสดงว่าต่างมิได้ยึดถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่จะได้อยู่กินด้วยกันตามประเพณีเท่านั้น จึงไม่อาจกล่าวโทษได้ว่า การที่มิได้ไปจดทะเบียนสมรสเกิดจากความผิดของฝ่ายใด ดังนั้น กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงมิได้ผิดสัญญาหมั้น โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกสินสอดและของหมั้นคืนจากจำเลยได้
________________________________

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันนำสร้อยคอทองคำ 2 เส้น น้ำหนักเส้นละ 4 บาท สร้อยข้อมือทองคำ 1 เส้น น้ำหนัก 2 บาท และแหวนทองคำ 2 วง น้ำหนัก 2 สลึง คืนให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 100,000 บาท และคืนสินสอดเป็นเงินจำนวน 239,800 บาท กับชำระค่าเสียหายในการเตรียมการสมรสจำนวน 24,900 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 364,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การเกินกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การ และมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 คืนสร้อยคอทองคำ 2 เส้นน้ำหนักเส้นละ 4 บาท และสร้อยข้อมือทองคำ 1 เส้น น้ำหนัก 2 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 92,000 บาท และเงินจำนวน 139,800 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 231,800 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท คำขอเรื่องค่าทดแทนให้ยก

          จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน มีบ้านอยู่ห่างกันไม่ถึง 1 กิโลเมตร เมื่อปลายปี 2545 จำเลยที่ 1 ไปเที่ยวงานปีใหม่ที่บ้านโจทก์หลังจากนั้นได้ติดต่อพูดคุยกันทางโทรศัพท์และเกิดชอบพอกัน โจทก์จึงให้มารดาของโจทก์ไปสู่ขอจำเลยที่ 1 จากจำเลยที่ 2 โดยตกลงให้สินสอดแก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 100,000 บาท และให้ของหมั้นเป็นสร้อยคอทองคำ 2 เส้น น้ำหนักเส้นละ 4 บาท และสร้อยข้อมือทองคำ 1 เส้น น้ำหนัก 2 บาท แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ยังให้เงินอีกจำนวน 130,800 บาท เพื่อชำระหนี้แก่บุคคลอื่นแทนจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2546 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำพิธีสู่ขอและหมั้นกัน โดยจัดพิธีแต่งงานในวันเดียวกันที่บ้านจำเลยที่ 2 โดยจัดเลี้ยงแขกที่มาในงานด้วยโต๊ะจีนจำนวน 100 โต๊ะ ภายหลังแต่งงานโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้อยู่กินฉันสามีภริยาที่บ้านจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 3 วัน แต่คืนแรกมีเพื่อนของน้องชายจำเลยที่ 1 นอนอยู่ในห้องด้วย โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศและเพิ่งมีสัมพันธ์ทางเพศกันในคืนที่สอง หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ไปพักอาศัยอยู่ที่ห้องเช่าของจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้างอยูที่บริษัทมินิแบร์ จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเพศสัมพันธ์กันในคืนนั้น แต่วันต่อมาน้องชายจำเลยที่ 1 กับเพื่อนไปร่วมพักอยู่ด้วย โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีก โจทก์ได้พักอยู่ที่ห้องเช่าของจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 4 วัน จึงเดินทางกลับไปทำงานที่จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมาโจทก์โทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้พูดคุยกันเหมือนเดิม และจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ไปหาโจทก์ โจทก์ได้ไปหาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกว่าจะไปทำงานต่างประเทศ ครั้นเดือนพฤษภาคม 2546 โจทก์ไปหาจำเลยที่ 1 ที่ห้องเช่า ไม่พบจำเลยที่ 1 โจทก์จึงกลับบ้านที่จังหวัดชัยนาทและไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาหมั้นกับโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้จัดงานแต่งงานใหญ่โต มีแขกไปในงานมากมาย และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็ได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันแล้ว ซึ่งโจทก์เองก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ขณะสู่ขอไม่มีการตกลงเรื่องจดทะเบียนสมรส และไม่ได้ความว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้วางแผนดำเนินชีวิตคู่กันแต่อย่างใด เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างทำงานอยู่คนละจังหวัด การใช้ชีวิตคู่ต่างจะต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปหากัน หากจำเลยที่ 1 มีเจตนาหลอกลวงจริง จำเลยที่ 1 ก็น่าจะบ่างเบี่ยงไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ ทั้งการเลิกรากันก็ทำให้เป็นที่อับอายและเสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียงของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นหญิง การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้วางแผนการครองชีวิตคู่ไว้แต่แรกทำให้การอยู่กินฉันสามีภริยาเป็นไปโดยไม่ราบรื่น แทนที่โจทก์จะพยายามทำความเข้าใจกับจำเลยที่ 1 ให้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันตามสภาพที่ต่างต้องแยกกันทำงานคนละจังหวัดแต่โจทก์กลับไปแจ้งความว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์โดยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งที่เวลาสู่ขอไม่มีการตกลงเช่นนั้น การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีเรื่องทะเลาะกัน จึงถือไม่ได้ว่ากรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทำให้โจทก์ไม่สมควรสมรสกับจำเลยที่ 1 เพราะต่างมิได้ยึดถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่จะได้อยู่กินด้วยกันตามประเพณีเท่านั้น จึงมิอาจกล่าวโทษได้ว่าการที่มิได้ไปจดทะเบียนสมรสเกิดจากความผิดของฝ่ายใด ดังนั้น กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองจึงมิได้ผิดสัญญาหมั้น โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกร้องสินสอดและของหมั้นคืนจากจำเลยทั้งสองได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”

          พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ


( เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ - นพวรรณ อินทรัมพรรย์ - สิริรัตน์ จันทรา )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-07-04 22:19:31


ความคิดเห็นที่ 3 (2284619)

การบอกเลิกสัญญาหมั้นมิใช่เพราะมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8738/2551

          โจทก์ที่ 1 เป็นคู่หมั้น โจทก์ที่ 2 เป็นมารดาโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสามฐานผิดสัญญาหมั้น ซึ่งเป็นคดีมิใช่เกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน

          แม้การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและฟ้องซ้อนจะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความสามารถยกขึ้นว่ากล่าวภายหลังได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง ก็ตาม แต่จะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้จากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากพยานนอกเรื่องนอกประเด็น ไม่เกี่ยวกับคู่ความที่จะต้องนำสืบหรือมีข้อกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเพื่อใช้ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ได้

          จำเลยที่ 2 เป็นมารดาของจำเลยที่ 1 มาร่วมเจรจาและรับรู้วันประกอบพิธีหมั้น อันเป็นธรรมเนียมประเพณีไทยที่ต้องมีผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายมารับรู้การหมั้น ถือว่า จำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญาหมั้นรายนี้แล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 ถือเป็นญาติผู้ใหญ่ที่มาร่วมเป็นสักขีพยานเพื่อเป็นเกียรติแก่การหมั้นเท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงมิใช่คู่สัญญาในการหมั้นครั้งนี้แต่อย่างใด

          เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถอนหมั้นกันเมื่อใดแต่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ได้แจ้งเรื่องถอนหมั้นให้ประธานในพิธีหมั้นทราบแล้ว ก็ถือว่า โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้มีการถอนหมั้นกันอย่างเป็นทางการในวันที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ที่ 2 ทราบ

          เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2546 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องเพราะฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่อยู่ในเขตอำนาจโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นฟ้องใหม่ยังศาลที่มีเขตอำนาจ ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ทั้งสองจึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ คดีโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 ที่ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด
________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

          จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท และใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ที่ถูกโจทก์ทั้งสอง) โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

          โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้หมั้นโจทก์ที่ 1 ด้วยแหวนเพชร 1 วง ราคา 240,000 บาท โดยตกลงจะแต่งงานกันภายหลังจากโจทก์ที่ 1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ถอนหมั้นโจทก์ที่ 1 โดยคดีนี้โจทก์ที่ 1 อ้างว่าการผิดสัญญาหมั้นของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายแก่กายและชื่อเสียงและจากการจัดการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ จึงเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายเป็นเงินรวม 2,802,800 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 เรียกค่าเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงเป็นเงิน 197,200 บาท แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองต่างเกิดจากการผิดสัญญาหมั้น แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท และใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ที่ 2 ฎีกา ขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และให้ชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 2 และทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ที่ 2 ไม่เกินสองแสนบาททั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ฎีกาดังกล่าวเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 และฎีกาของจำเลยที่ 1 ในส่วนของโจทก์ที่ 2 มานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

          คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่เห็นควรวินิจฉัยเป็นข้อแรกว่า การดำเนินคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและเป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 411/2546 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสามมิได้ยกปัญหาข้อกฎหมายนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การและไม่นำสืบถึงคดีดังกล่าวเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความสามารถยกขึ้นว่ากล่าวภายหลังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ก็ตาม แต่ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะยกขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง จะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากพยานนอกเรื่องนอกประเด็นไม่เกี่ยวกับคู่ความที่จะนำสืบหรือมีข้อกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตามบทมาตราดังกล่าวมิได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคู่สัญญาหมั้นด้วยหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 รับจำเลยที่ 2 ไปที่บ้านโจทก์ที่ 2 เพื่อไปรับฟังเรื่องที่จำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 1 จะหมั้นกันและโจทก์ที่ 2 พูดกับจำเลยที่ 2 ว่า ให้จำเลยที่ 2 พาผู้ใหญ่ฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาในงานโดยคาดคั้นว่าถึงอย่างไรก็ต้องไปหาผู้ใหญ่มาเป็นเกียรติในงานหมั้นต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2542 โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ประกอบพิธีหมั้น โดยจำเลยที่ 2 ไปงานหมั้น และมีจำเลยที่ 3 อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 ไปร่วมงานโดยเดินทางด้วยเครื่องบินจากจังหวัดเชียงใหม่ และกลับจังหวัดเชียงใหม่ในตอนเย็นวันเดียวกัน เห็นว่า การหมั้นเป็นสัญญาซึ่งฝ่ายชายทำกับฝ่ายหญิงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อชายกับหญิงจะทำการสมรสกัน การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 1 ไปร่วมเจรจาที่บ้านโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาโจทก์ที่ 1 และรับรู้วันประกอบพิธีหมั้น ทั้งไปร่วมงานหมั้นในฐานะมารดาจำเลยที่ 1 อันเป็นธรรมเนียมประเพณีไทยที่ต้องมีผู้ใหญ่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงรับรู้การหมั้น ดังนั้น จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญาหมั้นรายนี้แล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 คงเป็นญาติผู้ใหญ่มาร่วมเป็นสักขีพยานเพื่อเป็นเกียรติแก่พิธีหมั้นเท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงมิใช่คู่สัญญาหมั้นแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 จึงฟังขึ้นแต่บางส่วน

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า เหตุแห่งการผิดสัญญาหมั้นเกิดจากโจทก์ที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างว่า เหตุที่บอกเลิกสัญญาหมั้นเพราะมีเหตุสำคัญอันเกิดจากโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 เคยชวนให้จำเลยที่ 1 มีกิจกรรมทางเพศและชอบจับอวัยวะเพศของจำเลยที่ 1 ปลุกอารมณ์จนสำเร็จความใคร่ ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 แคลงใจว่า โจทก์ที่ 1 จะใช่สาวบริสุทธิ์หรือไม่ ซึ่งโจทก์ที่ 1 ยังสบประมาทจำเลยที่ 1 ว่า บ่มิไก๊ และว่าจำเลยที่ 1 เป็นพวกรักร่วมเพศ นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ไม่ให้ความเคารพจำเลยที่ 2 และว่าเป็นผู้ใหญ่ไม่มีความยุติธรรม ทั้งเรียกขานจำเลยที่ 2 ว่าแม่ศรี ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้จำเลยที่ 2 เมื่อต้องเลือกระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเลือกจำเลยที่ 2 เห็นว่า โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นคู่หมั้นกัน ย่อมมีความผูกพันสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกันยิ่งกว่าธรรมดา อีกทั้งจำเลยที่ 1 ไปค้างที่บ้านโจทก์ทั้งสองหลายครั้ง และโจทก์ที่ 1 ก็ไปค้างที่คอนโดมิเนียมของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้วจึงเลื่อนลอยไม่สมเหตุสมผลและไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาหมั้นของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เพราะมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่โจทก์ที่ 1 หญิงคู่หมั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์ที่ 1 สมควรได้ค่าทดแทนหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1440 บัญญัติว่า ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้ (1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น (2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร (3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส ฯลฯ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ระหว่างหมั้นโจทก์ที่ 1 กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นกำลังใจสำคัญในการสนับสนุนการศึกษา การถอนหมั้นย่อมเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้โจทก์ที่ 1 ต้องอับอายเสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียงทั้งยังเป็นสาเหตุให้โจทก์ที่ 1 ไม่สำเร็จการศึกษาอันมีผลต่ออนาคตของโจทก์ที่ 1 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อสุดท้ายตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกามีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีเรื่องทะเลาะกันอยู่เสมอ ซึ่งจำเลยที่ 1 มักจะพูดเรื่องถอนหมั้น แต่หลังจากนั้นก็กลับมาคืนดีกันดังเดิม เมื่อเดือนธันวาคม 2542 โจทก์ที่ 1 ก็ไปช่วยงานศพของบิดาจำเลยที่ 1 เดือนพฤศจิกายน 2543 จำเลยที่ 1 ยังเป็นช่างภาพในงานแต่งงานน้องชายโจทก์ที่ 1 และเดือนพฤษภาคม 2544 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังพาโจทก์ที่ 1 ไปเยี่ยมจำเลยที่ 3 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่แน่ชัดว่ามีการถอนหมั้นกันจริงจังหรือไม่ จนกระทั่งวันที่ 25 มกราคม 2545 จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ได้แจ้งเรื่องถอนหมั้นให้นาวาอากาศโททินกร ซึ่งเป็นประธานในพิธีหมั้นทราบแล้ว ดังนี้ กรณีต้องถือว่า โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ได้มีการถอนหมั้นกันอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2545 ซึ่งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2545 โจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2546 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะยื่นคำฟ้องใหม่ยังศาลที่มีเขตอำนาจ ต่อมาโจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลหรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ดังนั้น การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดอายุความตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวแล้ว คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฎีกาของโจทก์ที่ 2 และฎีกาของจำเลยที่ 1 ในส่วนของโจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาสำหรับโจทก์ที่ 2 ทั้งหมด และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 เฉพาะในส่วนของโจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ - สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ - สิริรัตน์ จันทรา )

 
                 

ผู้แสดงความคิดเห็น / วันที่ตอบ 2012-07-04 22:36:43


ความคิดเห็นที่ 4 (2284626)

ผิดสัญญาหมั้น เรียกค่าเสียหายแก่กายหรือชื่อเสียง อายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4905/2543
 
 
มาตรา 1437  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง

สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้

ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 412 ถึงมาตรา 418 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 1447/1  สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา 1439 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น

สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา 1444 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันรู้หรือควรรู้ถึงการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้บอกเลิกสัญญาหมั้น แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันกระทำการดังกล่าว

สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา 1445 และมาตรา 1446 ให้มีอายุความหกเดือน นับแต่วันที่ชายหรือหญิงคู่หมั้นรู้หรือควรรู้ถึงการกระทำของผู้อื่นอันจะเป็นเหตุให้เรียกค่าทดแทน และรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าทดแทนนั้น แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ผู้อื่นนั้นได้กระทำการดังกล่าว


          พฤติการณ์ที่จำเลยซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชรมอบให้โจทก์ตลอดจนการจองสถานที่จัดงานพิธีสมรสและพิมพ์บัตรเชิญงานสมรสรวมทั้งการติดต่อผู้ใหญ่ให้มาเป็นเจ้าภาพในงานพิธีสมรส ล้วนส่อแสดงว่าจำเลยประสงค์จะสมรสกับโจทก์ การให้แหวนกันดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการหมั้นและเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะมีการสมรสกันในเวลาต่อมาแม้การหมั้นจะมิได้จัดพิธีตามประเพณีหรือมีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยานก็เป็นการหมั้นโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยไปสมรสกับ น. โดยมิได้สมรสกับโจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น

           โจทก์จำเลยกำหนดจัดงานพิธีสมรสกันในวันที่ 11 พฤศจิกายน2537 แต่พอถึงเวลาดังกล่าวไม่มีการจัดงานพิธีสมรส แต่โจทก์และจำเลยก็ยังมีความประสงค์ที่จะสมรสกันอยู่เพียงแต่มีการเลื่อนไป โดยทั้งสองยังมีความสัมพันธ์กันด้วยดีตลอดมา ในช่วงนั้นยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้น แต่ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 จำเลยจัดงานพิธีสมรสกับ น. ต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้นกับโจทก์นับแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

           ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 200,000 บาทโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องจำนวนค่าเสียหายเป็นอันยุติ การที่ศาลอุทธรณ์ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยแล้วกำหนดให้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพิ่มขึ้นเกินกว่า200,000 บาท จึงไม่ชอบ
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนกันยายน 2536 จำเลยทำสัญญาหมั้นกับโจทก์โดยมอบแหวนเรือนทองฝังเพชร 1 วงแก่โจทก์ เป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับโจทก์ หลังจากโจทก์กับจำเลยหมั้นกันแล้ว โจทก์เชื่อว่าโจทก์และจำเลยจะได้สมรสกัน โจทก์จึงยอมให้จำเลยมีความสัมพันธ์กับโจทก์ถึงขั้นร่วมประเวณีกัน และแสดงออกจนเพื่อนบ้านและบุคคลทั่วไปในบริเวณที่พักเข้าใจว่าโจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน โจทก์และจำเลยกำหนดจะจัดพิธีสมรสในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 แต่กำหนดการดังกล่าวต้องเลื่อนออกไป ต่อมาจำเลยผิดสัญญาหมั้นไปสมรสกับหญิงอื่นเมื่อวันที่ 19พฤศจิกายน 2539 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่กายและชื่อเสียงโดยโจทก์มีญาติพี่น้องและครอบครัวที่มีเกียรติยศ โจทก์จบการศึกษาระดับปริญญาโท รับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เป็นอาจารย์พิเศษในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ อาจารย์พิเศษคณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และมีตำแหน่งหน้าที่พิเศษอีกมากมาย โจทก์คิดค่าเสียหายแก่กายและชื่อเสียงเป็นเงิน 2,000,000 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์


          จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยหมั้นกับโจทก์ โจทก์ซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชรตามฟ้องให้แก่ตนเอง จำเลยไม่เคยสัญญาว่าจะจัดพิธีสมรสกับโจทก์กำหนดการพิธีมงคลสมรส โจทก์กำหนดขึ้นเองและบังคับให้จำเลยทำการสมรส แต่โจทก์ยกเลิกกำหนดการดังกล่าว มิใช่เลื่อนออกไป โจทก์กับจำเลยไม่เคยมีความสัมพันธ์ถึงขั้นร่วมประเวณี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย หากจำเลยผิดสัญญาหมั้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายค่าเสียหายก็ไม่เกิน 20,000 บาท โจทก์ฟ้องคดีเกิน 6 เดือนนับแต่วันถัดจากวันที่โจทก์กำหนดจะทำการสมรสกับจำเลย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ไม่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ทำการหมั้น วันเวลาและสถานที่ที่จะทำการสมรส รวมทั้งรายละเอียดความเสียหายแก่กายและชื่อเสียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมอีกทั้งโจทก์ไม่บอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเสียหาย จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทดแทนค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทดแทนความเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท
          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยต่างทำงานอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ด้วยกัน และรู้จักกันตั้งแต่ปี 2523 เมื่อต้นเดือนกันยายน 2536 จำเลยร่วมไปกับโจทก์เพื่อซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชร 1 วง ราคา 4,000 บาท ซึ่งแหวนวงดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ต่อมามีการกำหนดการสมรสกันในวันที่ 11พฤศจิกายน 2537 แต่เมื่อถึงกำหนดโจทก์จำเลยมิได้มีการสมรสกันตามกำหนดดังกล่าว ต่อมาจำเลยจัดงานพิธีสมรสกับพันโททันตแพทย์หญิงนวลเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 ปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนกันยายน 2536 จำเลยตกลงหมั้นโจทก์โดยมอบแหวนเรือนทองฝังเพชรให้แก่โจทก์ 1 วง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับโจทก์ต่อไปในอนาคต กำหนดจัดพิธีสมรสในวันที่ 11 พฤศจิกายน2537 แต่มีการเลื่อนไป จนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 จำเลยกลับเข้าสู่พิธีสมรสกับหญิงอื่นเป็นการผิดสัญญาหมั้น โจทก์เชื่อว่าจำเลยจะทำการสมรสกับโจทก์ในอนาคตจึงยอมให้โจทก์มีความสัมพันธ์ถึงขั้นร่วมประเวณีการที่จำเลยผิดสัญญาหมั้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงขอเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 2,000,000 บาท เห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยหมั้นโจทก์และผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ในปัญหานี้โจทก์เบิกความว่า โจทก์และจำเลยเป็นคนรักกัน จำเลยขอหมั้นโจทก์โดยจำเลยพาโจทก์ไปซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชร แล้วมอบให้โจทก์ที่ร้านที่ซื้อ จำเลยพูดว่า "ผมจองคุณแล้วนะ ผมเป็นเจ้าของคุณแล้วนะ"การหมั้นมิได้จัดทำพิธีตามประเพณีเนื่องจากจำเลยอ้างว่ายังตกลงกับมารดาของจำเลยยังไม่ได้ หลังจากนั้นก็มีการกำหนดวันทำพิธีสมรสจำเลยได้มาสู่ขอโจทก์กับมารดาโจทก์ มีการจองสถานที่จัดงานทำพิธีสมรสที่ภัตตาคารบ้านคุณหลวง พิมพ์บัตรเชิญงานสมรสปรากฏตามเอกสารหมายจ.8 จ.9 จ.5 และ จ.6 ในการที่จะจัดทำพิธีสมรสครั้งนี้ จำเลยไปเรียนเชิญศาสตราจารย์ปุระชัย  ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ขณะนั้นให้เป็นเจ้าภาพและประธานในพิธีมารดาโจทก์นำบัตรเชิญงานสมรสไปแจกให้แก่บรรดาญาติของโจทก์แต่เมื่อถึงกำหนดวันจัดงานทำพิธีสมรส จำเลยขอเลื่อนออกไปโดยบอกกับโจทก์ว่า มารดาจำเลยไม่สบาย แต่ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539จำเลยทำการสมรสกับพันโททันตแพทย์หญิงนวล ซึ่งโจทก์มีศาสตราจารย์ปุระชัย  มาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าจำเลยมาพบพยานและแจ้งความประสงค์ว่าจะขอให้พยานเป็นเจ้าภาพในพิธีสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยจำเลยอ้างว่าจะไม่มีปัญหากับทางญาติผู้ใหญ่ของจำเลย ในที่สุดเมื่อพูดคุยกันแล้วพยานก็ไม่ขัดข้องที่จะเป็นเจ้าภาพให้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางสาววิมลรัตน์ ซึ่งเป็นน้องสาวโจทก์มาเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากโจทก์และจำเลยหมั้นกันแล้ว จำเลยมาที่บ้านโจทก์ จำเลยบอกให้โจทก์หยิบแหวนหมั้นออกมาให้บุคคลในครอบครัวของโจทก์ดู โดยจำเลยพูดว่าหมั้นกับโจทก์แล้วจากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารมานำสืบประกอบกัน อีกทั้งจำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่าจำเลยไปบอกกับบิดามารดาของจำเลยว่าจะจัดงานพิธีมงคลสมรสกับโจทก์ประมาณเดือนกันยายน 2537 และนางอารีย์  มารดาจำเลยซึ่งเป็นพยานจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์จำเลยมาที่บ้านของจำเลยเพื่อขออนุญาตจัดพิธีสมรส แต่พยานไม่อนุญาต ซึ่งคำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวเป็นการเจือสมกับข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่า เมื่อมีการหมั้นกันแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยก็เตรียมที่จะจัดงานสมรสกัน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักที่จะรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์ที่จำเลยซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชรมอบให้โจทก์ก็ดี ตลอดจนการจองสถานที่จัดงานพิธีสมรสและพิมพ์บัตรเชิญงานสมรสก็ดี รวมทั้งการติดต่อผู้ใหญ่ให้มาเป็นเจ้าภาพในงานพิธีสมรสก็ดี ล้วนส่อแสดงว่าจำเลยประสงค์จะสมรสกับโจทก์ การให้แหวนกันดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการหมั้นและเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะมีการสมรสกันในเวลาต่อมาแม้การหมั้นจะมิได้จัดพิธีตามประเพณีหรือมีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยานก็ตาม ก็เป็นการหมั้นโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อมีการหมั้นระหว่างโจทก์และจำเลยแล้ว จำเลยกลับไปสมรสกับพันโททันตแพทย์หญิงนวลโดยมิได้สมรสกับโจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ในปัญหานี้เห็นว่า โจทก์จำเลยกำหนดจัดงานพิธีสมรสกันในวันที่ 11พฤศจิกายน 2537 แต่พอถึงเวลาดังกล่าวไม่มีการจัดงานพิธีสมรสในเรื่องนี้ได้ความจากคำเบิกความของศาสตราจารย์ปุระชัยว่าได้สอบถามจำเลยแล้วจำเลยบอกขอเลื่อนเนื่องจากมารดาจำเลยป่วยไม่อยากให้มารดาจำเลยสะเทือนใจ และจำเลยยืนยันว่ายังรักโจทก์อยู่ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า จำเลยเพียงแต่ขอเลื่อนไปเพื่อไปทำความเข้าใจกับมารดาของจำเลย หลังจากนั้นโจทก์จำเลยก็ยังมีความสัมพันธ์กันเหมือนเดิมจึงเห็นได้ว่าแม้จะมิได้มีการสมรสกันในวันที่กำหนด แต่โจทก์และจำเลยก็ยังมีความประสงค์ที่จะสมรสกันอยู่เพียงแต่มีการเลื่อนไปเท่านั้น โดยทั้งสองยังมีความสัมพันธ์กันด้วยดีตลอดมา ในช่วงนั้นยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้น แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 จำเลยจัดงานพิธีสมรสกับพันโททันตแพทย์หญิงนวล จึงต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้นกับโจทก์นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาไม่เกิน6 เดือน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1447/1 วรรคหนึ่ง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่าศาลอุทธรณ์มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพิ่มจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 200,000 บาทแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องจำนวนค่าเสียหายสำหรับโจทก์จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่เกิน 200,000 บาท การที่ศาลอุทธรณ์ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยแล้วกำหนดให้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพิ่มขึ้นเกินกว่า200,000 บาท ทั้งที่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่าค่าเสียหายโจทก์มีเพียงใดในข้อนี้โจทก์นำสืบว่าหลังจากมีการหมั้นกันแล้ว โจทก์มีความมั่นใจว่าจะได้สมรสกับจำเลยจึงยอมให้จำเลยมีเพศสัมพันธ์มาตลอด โจทก์มีการศึกษาระดับปริญญาโทและเป็นข้าราชการระดับ 6 เป็นอาจารย์พิเศษคณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษโรงเรียนนายร้อยตำรวจ การที่จำเลยทอดทิ้งโจทก์ไปสมรสกับหญิงอื่นเช่นนี้ทำให้บุคคลอื่นมองว่าโจทก์ประพฤติไม่ดี ถูกตั้งข้อรังเกียจหากโจทก์จะทำการสมรสใหม่ และถูกมองว่าโจทก์เป็นเพียงนางบำเรอของจำเลยเท่านั้นเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง วงศ์ตระกูล และฐานทางสังคมของโจทก์อีกทั้งเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานของโจทก์อีกด้วยซึ่งจำเลยนำสืบหักล้างในข้อนี้ไม่ได้ เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน"


          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( สุเมธ ตังคจิวางกูร - สมพล สัตยาอภิธาน - วิชา มหาคุณ )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น / วันที่ตอบ 2012-07-04 23:03:53



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล