ReadyPlanet.com


ค่าเลี้ยงดูบุตร (เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร)


ขอถามท่านทนายครับว่า "ข้อความว่าในสัญญาไกล่เกลี่ย ตกลงว่าผมจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรจนจบปริญญาตรีหรือก่อนปริญญาตรีหากบุตรไม่ประสงค์จะเรียนต่อ" ปัจจุบันบุตรอายุ 19 ปีเรียนชั้น ปวส. แล้วสอบเข้าทำงานได้รับราชการมีเงินเดือนประจำ ดังนั้นขอถามท่านดังนี้ครับ
1.ผมต้องส่งค่าเลี้ยงดูบุตรต่อไปจนบรรลุนิติภาวะครบ 20 ปีบริบูรณ์ ถูกต้องไหมครับไม่ว่าจะเรียนหรือไม่เรียนต่อ 

ขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงครับ
 



ผู้ตั้งกระทู้ bird :: วันที่ลงประกาศ 2012-06-06 01:59:59


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2283494)

หน้าที่ของบิดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จนกว่าจะมีอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคุณได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลแล้วย่อมผูกพันตามคำพิพากษาตามยอมครับ ตอบคำถามคุณว่าต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนอายุ 20 ปี ครับ

มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควร แก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะ ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-06-29 18:27:47


ความคิดเห็นที่ 2 (2283498)

ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7108/2551

มาตรา 296 ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคน ต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น เป็นอันจะเรียก เอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร ลูกหนี้คนอื่น ๆ ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใด เจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้ คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป

มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควร แก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะ ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

มาตรา 1598/38 ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่าง บิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้เมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะ เลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่ เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและ พฤติการณ์แห่งกรณี

มาตรา 1598/39 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู อีกก็ได้
ในกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะเหตุแต่เพียง อีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ในขณะนั้น หาก พฤติการณ์รายได้ หรือฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป และพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควร ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ผู้เรียกร้องอาจร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลง คำสั่งในคดีนั้นใหม่ได้

 
          ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า บิดาและมารดามีหน้าที่ร่วมกันในการให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะทำนองเป็นลูกหนี้ร่วมกัน หาใช่เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวไม่ ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 การกำหนดความรับผิดเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายดังกล่าวอาจกำหนดโดยนิติกรรมสัญญาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถึงแม้โจทก์และจำเลยจะแยกกันอยู่และโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยกับโจทก์ก็ตาม เมื่อมิได้ตกลงกันให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเพื่อแบ่งส่วนตามความรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดชำระค่าค่าเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มีทรัพย์สินมากกว่าและโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยเพื่อปฏิเสธที่จะไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ แม้จำเลยจะได้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ดังที่จำเลยอ้างก็เป็นเรื่องให้การศึกษาซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าอุปการะเลี้ยงดู จำเลยก็จะนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเห็นสมควรเป็นจำนวนเพียงใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดโดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 ทั้งศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลังได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39

          ทุนทรัพย์ที่จะนำมาคำนวณในการชำระค่าขึ้นศาลแต่ละชั้นศาลตามตาราง 1 (1) ท้าย ป.วิ.พ. ต้องเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในแต่ละชั้นศาล ส่วนทุนทรัพย์หรือจำนวนเงินที่จะต้องชำระหลังจากวันฟ้องในศาลชั้นต้นเป็นหนี้ในอนาคตไม่ถือเป็นทุนทรัพย์ที่จะนำมาคิดคำนวณเพื่อชำระค่าขึ้นศาล เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์คนละ 8,000 บาท ต่อเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้เป็นการพิพากษาให้ชำระหนี้ในอนาคตจึงไม่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาที่จะนำมาคิดคำนวณเป็นค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ การที่จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่าไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นระยะเวลาในอนาคตที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ก็ไม่ต้องด้วยตาราง 1 (4) ท้าย ป.วิ.พ. เพราะกรณีตามตาราง 1 (4) เป็นกรณีที่ขอให้ชำระ ดังนั้น อุทธรณ์และฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องชำระค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (2) (ก) คือ 200 บาท เท่านั้น แต่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาเกินมา เห็นสมควรคืนค่าขึ้นส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลย
 
          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลย ให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองอยู่กับโจทก์แต่เพียงผู้เดียว ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรทั้งสองจะเรียนจบชั้นอุดมศึกษา และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์ คนละ 8,000 บาท ต่อเดือนนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 สิงหาคม 2545) จนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2529 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กหญิงปีย์วรา และเด็กชายวารมาฆ ระหว่างอยู่กินด้วยกันโจทก์และจำเลยมีปัญหาขัดแย้งและทัศนคติไม่ตรงกัน เคยมีปากเสียงและทะเลาะกัน ระหว่างปี 2539 ถึงปี 2542 โจทก์ได้ออกจากบ้านพักอาศัยไปอยู่ที่อื่นตามลำพัง ต่อมาปี 2545 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ออกจากบ้านไปพักอาศัยอยู่ที่อื่นอีกครั้งโดยพาบุตรทั้งสองไปด้วย และคดีเป็นยุติว่าไม่มีเหตุหย่าตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยไม่จำต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองหรือไม่เพียงใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าบิดาและมารดามีหน้าที่ร่วมกันในการให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะทำนองเป็นลูกหนี้ร่วมกันหาใช่เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวไม่ ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 296 การกำหนดความรับผิดเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายดังกล่าวอาจกำหนดโดยนิติกรรม สัญญาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถึงแม้โจทก์และจำเลยจะแยกกันอยู่และโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยกับโจทก์ก็ตาม เมื่อมิได้ตกลงกันให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 296 จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดชำระค่าเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มีทรัพย์สินมากกว่าและโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยเพื่อปฏิเสธที่จะไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ แม้จำเลยจะได้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียนดังที่จำเลยอ้างก็เป็นเรื่องให้การศึกษาซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าอุปการะเลี้ยงดู จำเลยก็จะนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเห็นสมควรเป็นจำนวนเพียงใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดโดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 ทั้งศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลังได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/39 ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอายุ 14 ปี และ 10 ปี อยู่ระหว่างการศึกษาเล่าเรียนย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ และระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอายุ 19 ปีเศษ และ 16 ปีเศษ โดยบุตรผู้เยาว์คนโตกำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย โจทก์และจำเลยต่างมีรายได้ประจำโดยโจทก์เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับเงินเดือน เดือนละประมาณ 37,000 บาท ส่วนจำเลยมีเงินเดือน เดือนละประมาณ 60,000 บาท ประกอบกับระหว่างที่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่อาศัยกับโจทก์นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้แก่โจทก์เลย ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนละเดือนละ 8,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏตามฎีกาของจำเลยว่า บุตรผู้เยาว์คนเล็กคือ นายวารมาฆ ได้กลับมาอยู่อาศัยกับจำเลยแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 โดยมีหนังสือของ นายวารมาฆ ยืนยันว่าได้มาอยู่กับจำเลยแล้ว ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับในคำแก้ฎีกาโดยไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน จึงถือว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนไปตามมาตรา 1598/39 สมควรที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู นายวารมาฆ แก่โจทก์ นับแต่เดือนมีนาคม 2550 เป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
          อนึ่งทุนทรัพย์ที่จะนำมาคำนวณในการชำระค่าขึ้นศาลแต่ละชั้นศาลตามตาราง 1 (1) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในแต่ละชั้นศาล ส่วนทุนทรัพย์หรือจำนวนเงินที่จะต้องชำระหลังจากวันฟ้องในศาลชั้นต้นเป็นหนี้ในอนาคตไม่ถือเป็นทุนทรัพย์ที่จะนำมาคิดคำนวณเพื่อชำระค่าขึ้นศาล คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์คนละ 8,000 บาท ต่อเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ เป็นการพิพากษาให้ชำระหนี้ในอนาคตจึงไม่มีจำนวนทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาที่จะนำมาคิดคำนวณเป็นค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ การที่จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่าไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นระยะเวลาในอนาคตตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ก็ไม่ต้องด้วยตาราง 1 (4) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพราะกรณีตามตาราง 1 (4) เป็นกรณีที่ขอให้ชำระ ดังนั้น อุทธรณ์และฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องชำระค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (2) (ก) คือ 200 บาท เท่านั้น แต่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกามาจำนวน 22,560 บาท และ 35,100 บาท ตามลำดับ จึงเกินมา เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลย”

          พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดู นายวารมาฆ บุตรผู้เยาว์คนเล็กนับแต่เดือนมีนาคม 2550 จำเลยไม่ต้องชำระ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาจำนวน 22,360 บาท และ 34,900 บาท ตามลำดับแก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
 
 
( กีรติ กาญจนรินทร์ - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล - สิริรัตน์ จันทรา )
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-06-29 18:52:41


ความคิดเห็นที่ 3 (2283499)

ค่าอุปการะเลี้ยงดู - บุตรบุญธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  899/2535

มาตรา 1598/38 ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่าง บิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้เมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะ เลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่ เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและ พฤติการณ์แห่งกรณี

มาตรา 1598/28 บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตร ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ในกรณีเช่นนี้ ให้บิดามารดาโดยกำเนิด หมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว
ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับ โดยอนุโลม

          โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้านายทะเบียนว่า จำเลยจะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เป็นรายเดือน จำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าว แม้ภายหลังที่ยื่นฟ้องแล้วโจทก์จะได้ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของสามีใหม่ แต่บุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่เกิดมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1578/28 โจทก์ยังคงมีอำนาจฟ้อง
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กหญิงณัฐวัณน์ อิงคตานุวัฒน์ ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้านายทะเบียนเขตพระโขนงว่า จำเลยจะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท และยกบ้านเลขที่ 53/7 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 65785 ซึ่งเป็นสินสมรสให้โจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 65785 พร้อมบ้านเลขที่ 53/7ให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

          จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยนัดให้จำเลยไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้าน และมิได้ตกลงจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้โจทก์จำเลยมิได้กระทำการใดเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2528 จนกว่าเด็กหญิงณัฐวัณน์ อิงคตานุวัฒน์ จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หรือบรรลุนิติภาวะ และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 65785 พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 53/7 ให้โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเพิ่งทราบในภายหลังว่าเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2530 (ที่ถูกวันที่ 18 มิถุนายน2530) โจทก์ได้ยกเด็กหญิงณัฐวัณน์ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากโจทก์กับจำเลยให้เป็นบุตรบุญธรรมของนายกิตติ มิตรศรัทธาสามีใหม่ของโจทก์ปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฎีกา ดังนั้น นับแต่วันจดทะเบียนดังกล่าวอำนาจปกครองบุตรจึงตกแก่นายกิตติผู้รับบุตรบุญธรรม โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตามฟ้อง และโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องดังฎีกาของจำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้จำเลยก็อ้างอิงปัญหานี้ในชั้นฎีกาได้และศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามสำเนาทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมท้ายฎีกาของจำเลยปรากฏว่านายกิตติจดทะเบียนรับเด็กหญิงณัฐวัณน์เป็นบุตรบุญธรรมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2530 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้วอีกทั้งบุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/28 ด้วย ดังนั้นการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวหามีผลทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ ฎีกาของจำเลยในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน
  

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-06-29 19:01:00


ความคิดเห็นที่ 4 (2283501)

บุตรผู้เยาว์อายุ 15 ปี ฟ้องให้รับรองเด็กเป็นบุตรและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2268/2533


มาตรา 1562 ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

มาตรา 1556 การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็น ผู้เยาว์ ถ้าเด็กมีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการ อาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็กก็ได้

เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องได้ รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

ในกรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่ วันบรรลุนิติภาวะ

ในกรณีที่เด็กตายในระหว่างที่เด็กนั้นยังมีสิทธิฟ้องคดี ขอให้รับเด็กเป็นบุตรอยู่ ผู้สืบสันดานของเด็กจะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก็ได้ถ้า ผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรมาก่อนวันที่ เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ เด็กนั้นตาย ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็น บุตรภายหลังที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายใน หนึ่งปีนับแต่วันที่รู้เหตุดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ต้องไม่พ้นสิบปีนับแต่วันที่ เด็กนั้นตาย
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่ผู้สืบสันดานของเด็ก เป็นผู้เยาว์ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ป.พ.พ. มาตรา 1556, 1562
 
          ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสอง ให้อำนาจเด็กฟ้องคดีให้รับรองเด็กเป็นบุตรได้เองโดยเฉพาะ ขณะยื่นฟ้องเด็กซึ่งเป็นโจทก์ก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย คดีของโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุมไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 ส่วนฟ้องของโจทก์ในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งเป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้ว และเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตร โจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูด้วย.
 
          โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่จำเลยรับรองแล้ว ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะบรรลุนิติภาวะ
          จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยเป็นสามีภรรยากับมาดาโจทก์ ไม่เคยให้ความอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์และมารดาโจทก์ โจทก์จึงมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินควร ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นบุตรของจำเลยซึ่งเกิดจากนางตุ๊กตา เพิ่มพูนธนะวงศ์ ให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรภายในกำหนด30 วัน ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท จนกว่าโจทก์จะบรรลุนิติภาวะ
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์เป็นบุตรของจำเลยหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยได้หรือไม่เพียงใด โจทก์มีนางตุ๊กตาเพิ่มพูนธนะวงศ์ เป็นพยานเบิกความ พยานรู้จักกับจำเลยตั้งแต่ปี2507 ขณะนั้นพยานมีอาชีพเป็นหญิงพาร์ตเนอร์อยู่ที่นครถ้ำไนท์คลับวังบูรพา กรุงเทพมหานคร จำเลยเป็นผู้จัดการบริษัทจานนิลวอร์ จำกัดหลังจากพยานรู้จักกับจำเลยและได้เสียกับจำเลยแล้วประมาณ 6 เดือนจึงพากันไปร่วมอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยไปเช่าบ้านอยู่ที่ด้านหลังบริษัทเคี่ยงหงวน จำกัด ถนนสุรวงศ์ หลังจากนั้นพยานก็เลิกทำงานที่ไนท์คลับ พยานทำหน้าที่เป็นแม่บ้านให้จำเลยอย่างเดียวตลอดมาเช่าบ้านหลังแรกได้ประมาณ 4 เดือน ก็ย้ายไปเช่าตึกแถว 3 ชั้นอยู่ที่ซอยเซนต์หลุยส์ 3 จำเลยให้ค่าใช้จ่ายในครอบครัวสัปดาห์ละ500 บาท ต่อมาปี 2511 พยานคลอดบุตรที่เกิดกับจำเลย 1 คน คือโจทก์คดีนี้ที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน จำเลยให้ความรักใคร่เอ็นดุโจทก์ เป็นที่รู้กันโดยเปิดเผยแก่เพื่อนบ้านว่าจำเลยเป็นสามีพยานและเป็นบิดาโจทก์ เห็นว่า จำเลยกับนางตุ๊กตาพยานซึ่งเป็นมารดาโจทก์รู้จักกันมาก่อนเป็นเวลานานโดยพยานทำงานเป็นหญิงพาร์ตเนอร์อยู่ที่นครถ้ำไนท์คลับ จำเลยก็เบิกความรับว่ารู้จักกับมารดาโจทก์มาประมาณ 20 ปี จำเลยไปเที่ยวที่ไนท์คลับดังกล่าวและเคยพามารดาโจทก์ไปร่วมหลับนอนด้วย เมื่อมารดาโจทก์คลอดบุตรคือตัวโจทก์แล้วได้มีการแจ้งในใบสูติบัตรว่า บิดาโจทก์ชื่อประชาอันเป็นชื่อของจำเลยและแจ้งนามสกุลโจทก์ว่า "สิกวานิช" อันเป็นนามสกุลของจำเลยปรากฏตามใบสูติบัตรเอกสารหมาย จ.1 เอกสารดังกล่าวนายสมศักดิ์ตันบุตร เจ้าพนักงานปกครองเขตบางรักซึ่งเป็นพยานจำเลยเบิกความเจือสมคำพยานโจทก์ว่า เอกสารหมาย จ.1 เป็นใบสูติบัตรแจ้งการเกิดจากโรงพยาบาลตามระเบียบของทางราชการผู้แจ้งจะต้องนำหลักฐานทางทะเบียนของมารดาเด็กและบิดาเด็กไปแสดงเพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ลงทะเบียนได้ถูกต้อง หลักฐานดังกล่าวได้แก่บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านลักษณะการแจ้งเกิดที่บ้านกับที่โรงพยาบาลไม่แตกต่างกัน ใช้เอกสารอย่างเดียวกันแสดงว่าการแจ้งเกิดตามใบสูติบัตรของโจทก์ดังกล่าวมีหลักฐานการแจ้งเกิดตามระเบียบโดยถูกต้องบ่งชี้โดยแน่ชัดว่าจำเลยเป็นบิดาของโจทก์จริง และเมื่อโจทก์เจริญเติบโตขึ้นเข้ารับการศึกษา จำเลยก็ได้ให้ความอุปการะชำระค่าเล่าเรียนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่โจทก์โดยมอบให้นายจงรักศรีหงศ์ ทนายความเป็นผู้มาชำระแทน ในข้อนี้นายจงรักพยานจำเลยก็เบิกความรับว่าให้ค่าเล่าเรียนแก่โจทก์จริง แต่บ่ายเบี่ยงว่าให้ในฐานะส่วนตัวเป็นการช่วยเหลือสงสารโจทก์ ทั้งจำเลยยังเคยแสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อโจทก์ฉันบิดากับบุตร โดยอุ้มโจทก์ด้วยความรักใคร่เอ็นดูปรากฏตามภายถ่ายหมาย จ.5 จ.6 ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่าผู้ชายที่อุ้มเด็กในภาพนั้นคือจำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจโทบัญญัติ ศรีสมบูรณ์ และพันตำรวจโทชวลิต เกตานนท์ เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า ขณะพยานรับราชการอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวางมารดาโจทก์และตัวโจทก์มาพบพยานขอให้เรียกจำเลยมาตกลงเรื่องค่าเลี้ยงดูโจทก์ จำเลยให้ทนายความมาตกลงแทนโดยยินยิมจะให้ค่าเลี้ยงดูบุตรแก่มารดาโจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท พยานโจทก์ดังกล่าวเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไม่มีส่วนได้เสียในคดี ไม่มีเหตุระแวงว่าจะเบิกความช่วยเหลือโจทก์ คำเบิกความของพยานจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกับมารดาโจทก์ไม่เคยมีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาโดยอ้างว่ามารดาโจทก์มีอาชีพที่จะไปหลับนอนกับชายที่มาเที่ยว เห็นว่า ในชั้นพิจารณาจำเลยก็ยอมรับว่าเคยหลับนอนกับมารดาโจทก์ แม้จำเลยจะอ้างว่าใช้ถุงยางอนามัยก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆรับฟังไม่ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีภรรยาถูกต้องตามกฎหมายและมีบุตร 3 คน ไม่อาจที่จะมาอยู่กินกับมารดาโจทก์ได้นั้น เห็นว่าชายที่มีภรรยาโดยถูกต้องตามกฎกมาย ก็อาจมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นจนเกิดบุตรด้วยกันได้ อันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวเลื่อนลอย รับฟังไม่ได้เช่นกัน ศาลฎีกาเห็นว่าคำพยานโจทก์มีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานจำเลย เชื่อว่าจำเลยและนางตุ๊กตามารดาโจทก์ได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งมารดาโจทก์อาจตั้งครรภ์ได้ และมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าโจทก์เป็นบุตรจำเลย โจทก์จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555(5) (7) ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ข้อพิจารณาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยได้หรือไม่เพียงใด ในประการแรกที่ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยซึ่งเป็นบิดาหรือไม่นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1556 วรรค 2 ได้บัญญัติไว้แล้วว่า "เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม" แสดงว่ากฎหมายให้อำนาจเด็กฟ้องคดีให้รับรองเด็กเป็นบุตรได้เองโดยเฉพาะ อีกทั้งขณะยื่นฟ้องโจทก์ก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย คดีของโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุม ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1562 และดังนั้นฟ้องของโจทก์ในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้วและเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตรนั่นเอง โจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีในประการหลังด้วย และปัญหาต่อไปที่ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 บัญญัติว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ศาล่างทั้งสองกำหนดให้นั้นสูงเกิดสมควร เห็นว่า โจทก์กำลังศึกษาเล่าเรียน จำเป็นต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการศึกษา ทั้งค่าครองชีพในปัจจุบันก็สูงขึ้นมาก เมื่อนำรายได้ของจำเลยซึ่งจำเลยสามารถให้ได้มาพิจารณาประกอบ ค่าอุปการะเลี้ยงดู ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์เดือนละ 3,000 บาท จนกว่าโจทก์จะบรรลุนิติภาวะนั้นนับว่าเหมาะสมแล้วฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรภายในกำหนด 30 วัน ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ไม่ชอบ เพราะตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพ.ศ. 2478 มาตรา 20 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้ว เพื่อให้บันทึกในทะเบียนเท่านั้น ประกอบกับโจทก์มิได้มีคำขอบังคับดังกล่าวมาในคำฟ้อง จึงเป็นกรณีที่พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142วรรคแรก

          พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนที่บังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรนั้นให้ยกเสีย ค่าทนายความชั้นฎีกาเป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.
 
 
( พินิจ ฉิมพาลี - พนม พ่วงภิญโญ - มนู วงศ์แสงจันทร์ )
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-06-29 19:27:26


ความคิดเห็นที่ 5 (2283630)

ถ้าเกิดในกรณีที่ฝ่ายบิดาได้ร่วมตกลงกับฝ่ายมารดาซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูบุตร โดยกำหนดส่งค่าเลี้ยงดูบุตรจนบุตรอายุครบ 3 ปี โดยมีการทำสํญญากันเอง ตามนี้ ฝ่ายมารดาจะสามารถยื่นขอค่าเลี้ยงดู ในภายหลัง ได้หรือไม่ แล้วมีผลทางกฏหมาย หรือไม่อย่างไร และสัญญาที่จัดทำขึ้นเองสามารถใช้ในเชิงกฏหมายได้หรือไม่

ผู้แสดงความคิดเห็น Katu วันที่ตอบ 2012-06-30 14:30:41


ความคิดเห็นที่ 6 (2283716)

ตอบ ผู้ถามชื่อ katu ความเห็นที่ 5

หน้าที่ของบิดา มารดา ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนอายุ 20 ปี แม้ไม่ได้ทำสัญญากันไว้ก็สามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ แต่หากทำสัญญากันว่าจะอุปการะเลี้ยงดูกันเป็นจำนวนเงินเท่าใด ก็จะทำคู่สัญญาผูกพันกันตามที่ได้ตกลงแต่ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น จะตกลงกันว่า ขอส่งเสียเพียงบุตรอายุ 3 ปี ทำไม่ได้ เพราะกฎหมายรับรองให้อุปการะเลี้ยงดูบุตรจนกว่าจะครบ 20 ปี

สรุป ตอบตามคำถามว่า สัญญาที่ทำกันเองและไม่ฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามกฎหมายก็ใช้บังคับได้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-07-01 08:23:28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล