ReadyPlanet.com


ที่ดิน สปก 4-01 ข้าราชการมีสิทธิ์ได้สิทธิ์หรือไม่ครับ?


เรียน สำนักงานกฎหมายพีศิริ ผมขอถามเกี่ยวกับที่ดิน สปก 4-01 ดังนี้ครับผม 

ข้อ 1. ที่ดิน สปก.4-01 เป็นของผม(ผมไม่ได้รับราชการ) แต่เมียผมรับราชการ ไม่มีลูก เห็นเค้าบอกว่าที่ดิน สปก4-01 ข้าราชการไม่มีสิทธิ์ครอบครอง 
1.1 ถามว่า ถ้าผมตายไป เมียผมที่เป็นข้าราชการจะได้รับมรดก สปก4-01หรือไม่ครับ (ผมจดทะเบียนสมรสถูกต้องครับ) 
1.2 ถ้าเมียผมได้รับมรดกตามสิทธิ์ จะต้องดำเนินการอย่างไรครับ 
1.3 ถ้าเมียผมไม่ได้รับมรดก จะต้องทำอย่างไร ถึงจะได้รับครับ 

ข้อ 2. จากคำถามข้อ 1. หากเมียผมไม่สิทธิ์ ได้รับ แล้วใครจะได้รับมรดก สปก 4-01 ครับ 
2.1 หากผมรับหลานมาเป็นบุตรบุญธรรม แล้วเขียนพินัยกรรมยกที่ดิน สปก 4-01 จะได้ไหมครับ? 
ผมขอถามแค่นี้ก่อนนเครับ ขอขอบคุณมากครับ 

ขอแสดงความนับถือ



ผู้ตั้งกระทู้ สมชาย :: วันที่ลงประกาศ 2012-07-30 13:51:59


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2298183)

1.1 ถามว่า ถ้าผมตายไป เมียผมที่เป็นข้าราชการจะได้รับมรดก สปก4-01หรือไม่ครับ (ผมจดทะเบียนสมรสถูกต้องครับ) 

ตอบ -  ข้าราชการไม่มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน สปก. ครับ

ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่
      1. เกษตรกร ซึ่งเกษตรกรตามความหมายของกฎหมายปฏิรูปที่ดิน หมายถึง
            1.1 ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยพิจารณาจากการใช้เวลาส่วนใหญ่ในรอบปี เพื่อประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่นนั้น
            1.2 ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม บรรดาซึ่งไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง 3 ประเภท คือ
                  (1) ผู้ยากจน
                  (2) ผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม
                  (3) ผู้เป็นบุตรของเกษตรกร
            ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเป็นเกษตรกร ที่กำหนดไว้ใน พระราชกฤษฎีกา
      2. สถาบันเกษตรกร หมายความว่า กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

1.3 ถ้าเมียผมไม่ได้รับมรดก จะต้องทำอย่างไร ถึงจะได้รับครับ 

ตอบ - ต้องลาออกจากการเป็นข้าราชการไปไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมก่อนที่คุณจะเสียชีวิตครับ

 

ข้อ 2. จากคำถามข้อ 1. หากเมียผมไม่สิทธิ์ ได้รับ แล้วใครจะได้รับมรดก สปก 4-01 ครับ 

ตอบ - สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะดำเนินการจัดสรรที่ดินแปลงที่เคยเป็นของคุณแก่บุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติต่อไปครับ


2.1 หากผมรับหลานมาเป็นบุตรบุญธรรม แล้วเขียนพินัยกรรมยกที่ดิน สปก 4-01 จะได้ไหมครับ? 

ตอบ - ที่ดิน สปก. ผู้มีชื่อไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และการที่จะมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ได้จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นที่ดิน สปก. ไม่สามารถนำไปทำพินัยกรรมยกให้ผู้ใดก็ได้ แต่หากมีบุตรบุญธรรมก็สามารถตกทอดไปถึงบุตรบุญธรรมได้ แต่ต้องไม่ขาดคุณสมบัติครับ

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2012-09-02 17:30:23


ความคิดเห็นที่ 2 (2298189)

 

การจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

      ส.ป.ก. ได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 โดยอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 โดยการนำที่ดินของรัฐ และที่ดินที่จัดซื้อจากเอกชนนำมาจัดให้กับเกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ ได้เข้าทำประโยชน์ เช่า หรือเช่าซื้อ โดยในการจัดที่ดินดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ได้ออกระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ตามระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2538 และกำหนดให้การคัดเลือกเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินในแต่ละท้องที่ อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด
นอกจากนี้ตามมาตรา 30 กำหนดให้ ส.ป.ก. มีอำนาจจัดที่ดินให้สถาบันเกษตรกร โดยจัดให้เช่าได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.)กำหนด ตามจำนวนที่ดินที่ คปก. เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประเภท และลักษณะการดำเนินงานของสถาบันเกษตรกรนั้นๆ

1. ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน
      ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่
      1. เกษตรกร ซึ่งเกษตรกรตามความหมายของกฎหมายปฏิรูปที่ดิน หมายถึง
            1.1 ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยพิจารณาจากการใช้เวลาส่วนใหญ่ในรอบปี เพื่อประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่นนั้น
            1.2 ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม บรรดาซึ่งไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง 3 ประเภท คือ
                  (1) ผู้ยากจน
                  (2) ผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม
                  (3) ผู้เป็นบุตรของเกษตรกร
            ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเป็นเกษตรกร ที่กำหนดไว้ใน พระราชกฤษฎีกา
      2. สถาบันเกษตรกร หมายความว่า กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

2. ขนาดของที่ดินที่จัดให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร
      พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 มาตรา 30 กำหนดให้ ส.ป.ก. มีอำนาจจัดที่ดินให้เกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด ตามขนาดการถือครองในที่ดิน ดังนี้
      1. จำนวนที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ สำหรับเกษตรกร และบุคคลในครอบรัวเดียวกัน เพื่อใช้ประกอบเกษตรกรรม
      2 จำนวนที่ดินไม่เกิน 100 ไร่ สำหรับเกษตรกร และบุคคลในครอบรัวเดียวกัน เพื่อใช้ประกอบเกษตรกรรม ประเภทเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ
      3. จำนวนตามที่คณะกรรมการฯ เห็นสมควรสำหรับสถาบันเกษตรกร
      4. ถ้าเป็นที่ดินของรัฐ และมีเกษตรกรถือครองอยู่แล้วเกินจำนวนที่กำหนด ก่อนเวลาที่คณะกรรมการฯ กำหนด (พ.ศ. 2524) จัดให้ตามจำนวนที่เกษตรกรถือครองได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100 ไร่ (มาตรา 30 วรรคสาม)

3. ขั้นตอนการประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน
      เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด มีมติเห็นชอบตามสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ส.ป.ก. จังหวัด) เสนอให้ดำเนินการจัดเกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมท้องที่ใด คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดจะออกประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่ ส.ป.ก. กำหนด ระยะเวลาการให้เกษตรกรยื่นคำร้องฯ ต้องไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้ามีเหตุสมควรคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด อาจประกาศให้ขยายระยะเวลาตามความจำเป็นได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 90 วัน (ระเบียบคัดเลือกฯ ข้อ 5 วรรคหนึ่ง)
ประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน จะต้องปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ ศาลากลางจังหวัด สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการกำนันแห่งท้องที่ และที่ชุมชนในท้องที่ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ หรือจะประกาศทางสื่อมวลชนอื่นด้วยก็ได้
ข้อยกเว้นกรณีไม่ต้องประกาศให้ยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์
ในกรณีที่ที่ดินที่จะจัดให้มีจำกัด และมีเกษตรกรซึ่งเป็นผู้เช่าอยู่ขณะโอนกรรมสิทธิ์เป็นของ ส.ป.ก. หรือมีเกษตรผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนขอรับที่ดินทำกินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ครั้งที่ 2/2534 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2534 ไว้แล้ว ให้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรดังกล่าวต่อไปโดยไม่ต้องประกาศฯ และสำหรับผู้ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนไว้แล้วให้ได้รับการยกเว้นการยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ (ระเบียบคัดเลือก ข้อ 5 วรรคสาม)

4. คุณสมบัติเกษตรกรผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เกษตรกรผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
      (1) มีสัญชาติไทย
      (2) บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว
      (3) มีความประพฤติดี และซื่อสัตย์สุจริต
      (4) มีร่างสมบูรณ์ ขยันขันแข็งและสามารถประกอบการเกษตรได้
      (5) ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
      (6) ไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อย แต่ไม่เพียงพอต่อการประกอบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ
      (7) เป็นผู้ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำหนด

5 ขั้นตอนการยื่นคำร้องตามประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด
      เมื่อมีประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว เกษตรกรที่ประสงค์จะขอรับการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามประกาศฯ ดังกล่าว จะต้องมายื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามแบบที่ ส.ป.ก. กำหนด ณ สถานที่ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำหนด พร้อมทั้งแนบหลักฐานเอกสาร ดังนี้
      (1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
      (2) สำเนาทะเบียนบ้าน

6. การสอบสวนสิทธิ และกระจายสิทธิ
      เกษตรกรที่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตาม ประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด เรื่องให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. จังหวัด เมื่อได้รับคำร้องฯ แล้วจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องฯ พร้อมทั้งสอบสวนสิทธิการถือครอง และการทำประโยชน์ในที่ดิน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ดังนี้
      (1) ประวัติเบื้องต้นของเกษตรกร
      (2) จำนวนที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมที่มีอยู่ของครอบครัว รวมทั้งตรวจสอบการได้รับการจัดที่ดินจากหน่วยงานอื่นใดของรัฐ (ระเบียบคัดเลือก ข้อ 10 วรรคหนึ่ง)
      (3) ลักษณะ วิธีการ ผลผลิต รายได้จากการประกอบเกษตรกรรม
      (4) วิธีการได้ที่ดินมา

7. ขั้นตอนการคัดเลือกเกษตรกร
      7.1 เกษตรกรที่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เมื่อเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติ ของผู้ยื่นคำร้องฯ พร้อมทั้งสอบสวนสิทธิการ ถือครองแปลงที่ดินและการทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด จะจัดทำบัญชีคัดเลือกเกษตรกร เพื่อนำ เสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาคัดเลือกและจัดที่ดินให้กับเกษตรกรต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด อาจพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือกเกษตรกรระดับอำเภอ ขึ้นมาเพื่อพิจารณาในเบื้องต้นก่อน นำเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเพื่อพิจารณาก็ได้ (ระเบียบคัดเลือก ข้อ 12)
      7.2 หลักเกณฑ์การพิจารณาเกษตรกรผู้จะได้รับการคัดเลือก จะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
      (1) เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินของรัฐ หรือเกษตรกรผู้เช่าที่ดินที่นำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และเป็นผู้ทำกินในที่ดินนั้น
      (2) เกษตรกรผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนขอรับที่ดินทำกินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
      (3) เกษตรกรอื่นตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจารณากำหนด
      ทั้งนี้ ให้อำนาจคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด เป็นผู้พิจารณาในการจัดลำดับเกษตรกรที่จะจัดที่ดินให้ (ระเบียบคัดเลือก ข้อ 8)

8. การประกาศผลการคัดเลือก
      8.1 เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ได้พิจารณา และมีมติคัดเลือกเกษตรกร และจัดที่ดินให้เข้าทำประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกและได้รับการจัดที่ดินดังกล่าว โดยปิดประกาศรายชื่อเกษตรกรไว้ในที่เปิดเผย ณ ศาลากลางจังหวัด สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการกำนันแห่งท้องที่ และที่ชุมชนในท้องที่ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ
      8.2 ในกรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด มีมติไม่คัดเลือกให้ผู้ยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินฯ ได้รับการจัดที่ดิน หรือในกรณีที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากการคัดเลือกและการจัดที่ดินตามประกาศผลการคัดเลือกดังกล่าว ในข้อ 8.1 ผู้ยื่นคำร้องฯ หรือผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว สามารถใช้สิทธิทางศาลปกครองได้
.
9. การมอบหนังสือรับมอบที่ดิน
      เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกและได้รับการจัดที่ดินตามประกาศผลการคัดเลือกดังกล่าว ส.ป.ก. จะนัดมอบแปลงที่ดิน และมอบหนังสือรับมอบที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับการคัดเลือก ตามระเบียบ คปก. ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 ข้อ 5 โดยให้เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกและได้รับการจัดที่ดิน ลงลายมือชื่อในหนังสือรับมอบที่ดินไว้เป็นหลักฐาน ตามแบบที่ ส.ป.ก. กำหนด ( แบบ ส.ป.ก 4-28 ก.)

10. การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
      เกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดิน และได้รับหนังสือรับมอบที่ดินจาก สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดแล้ว ในกรณีที่ดินที่ได้รับเป็นประเภทที่ดินของรัฐ ส.ป.ก. จะออก หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ข) ให้กับเกษตรกร (ระเบียบ คปก. ว่าด้วย การออก แก้ไขเพิ่มเติม เพิกถอน และออกใบแทนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2540)
สำหรับในกรณีที่ดินที่ได้รับ เป็นประเภทที่เอกชนที่ ส.ป.ก. ได้มาโดยการจัดซื้อหรือเวนคืน ส.ป.ก. จะจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน ( ส.ป.ก. 4-14 ก) หรือ สัญญาเช่าซื้อที่ดิน (ส.ป.ก. 4-18 ข) กับเกษตรกร


 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-09-02 18:17:33


ความคิดเห็นที่ 3 (2302277)

ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ยังคงเป็นป่าตาม พ.ร.บ. ป่าไม้
การที่นายสะอาดได้ที่ดินที่มีเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ก. มาไม่อาจถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่นตาม ป.ที่ดินจึงยังมิได้มีบุคคลได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดิน และยังคงเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484  การที่จำเลยที่ 1 ตัดฟันโค่นไม้ประดู่อันเป็นไม่หวงห้ามประเภท ก. ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ก. ของนายสะอาดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงมีความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8371/2551

พนักงานอัยการจังหวัดอุตรดิตถ์     โจทก์

 
          พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ได้มาก็เพื่อนำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มิได้มุ่งหมายให้ ส.ป.ก. มีกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อที่ดินพิพาทเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติเป็นที่ดินของรัฐ แม้ถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติอันเนื่องจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) ก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของที่ดิน วัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์ในที่ดินและเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ในที่ดินจากกรมป่าไม้เป็น ส.ป.ก. โดยให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 36 ทวิ ยังคงเป็นที่ดินของรัฐตาม ป.ดิน มาตรา 2 ไม่อาจถือได้ว่า ส.ป.ก. เป็นบุคคลผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมายอื่นตาม ป.ที่ดิน มาตรา 3 (2) ที่ดินพิพาทจึงไม่มีบุคคลใดมาตามกฎหมายที่ดิน การที่ ส.ป.ก. ออกเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ก. ให้แก่เกษตรกรจึงเป็นเพียงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเท่านั้นไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของที่ดินนั้น

          การที่ ส. ได้ที่ดินที่มีเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ก. มาไม่อาจถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่นตาม ป.ที่ดิน มาตรา 3 (2) จึงยังมิได้มีบุคคลได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดิน และยังคงเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) การที่จำเลยที่ 1 ตัดฟันโค่นไม้ประดู่อันเป็นไม่หวงห้ามประเภท ก. ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ก. ของ ส. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงมีความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
ป.พ.พ.
มาตรา 1336  ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ป.ที่ดิน

มาตรา 2 ที่ดินซึ่งมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ให้ถือว่าเป็นของรัฐ
มาตรา 3 บุคคลย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามบทกฎหมาย ก่อนวันที่ประมวลกฎหมาย นี้ใช้บังคับ หรือได้มาซึ่งโฉนดที่ดินตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้
(2) ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการ ครองชีพหรือกฎหมายอื่น


พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
มาตรา 26 เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฎิรูปที่ดินใช้บังคับใน ท้องที่ใดแล้ว
 (1) ถ้าในเขตปฎิรูปที่ดินนั้นมีที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับ พลเมืองใช้ร่วมกันแต่พลเมืองเลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือได้เปลี่ยนแปลง สภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันก็ดี หรือพลเมืองยังใช้ ประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่หรือยังไม่เปลี่ยนสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมือง ใช้ร่วมกันเมื่อได้จัดที่ดินแปลงอื่นให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทน โดยคณะกรรมการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ดี ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฎิรูป ที่ดินนั้นมีผล เป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดิน ดังกล่าวโดยมิต้องดำเนินการถอนสภาพตามประมวลกฎหมายที่ดิน และให้ ส.ป.ก.มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้
 (2) ถ้าในเขตปฎิรูปที่ดินนั้นมีที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ได้สงวนหรือหวง ห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการ เมื่อกระทรวงการคลังได้ให้ความ ยินยอมแล้วให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฎิรูปที่ดินนั้นมีผลเป็นการถอนสภาพ การเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับที่ดินดังกล่าวโดยมิต้องดำเนินการ ถอนสภาพตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุและให้ ส.ป.ก.มีอำนาจนำที่ดินนั้นมา ใช้ในการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้
 (3) ถ้าในเขตปฎิรูปที่ดินนั้นมีที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่ง เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็น ของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดินและที่ดินนั้นอยู่นอกเขตป่าไม้ถาวร ตามมติคณะรัฐมนตรีให้ ส.ป.ก.มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฎิรูปที่ดินเพื่อ เกษตรกรรมได้
 (4) ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ ดำเนินการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก.จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรม ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฎิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวน แห่งชาติ
 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม(4) ให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราช บัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และมีอำนาจในการให้เช่าที่ดินอันเป็นป่าสงวนแห่ง ชาติดังกล่าวได้ และให้ค่าเช่าที่ได้มาตกเป็นของกองทุนการปฎิรูปที่ดินเพื่อ เกษตรกรรม

มาตรา 36ทวิ บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก.ได้มา ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ ในการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ และให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิเพื่อใช้ในการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินมีอำนาจออกหนังสือแสดง สิทธิในที่ดินเกี่ยวกับที่ดินของ ส.ป.ก.ตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามที่ ส.ป.ก. ร้องขอ

พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484
มาตรา 11 ผู้ใดทำไม้ หรือเจาะ หรือสับ หรือเผา หรือทำ อันตรายด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้าม ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือได้รับสัมปทานตามความในพระราชบัญญัตินี้ และต้องปฏิบัติ ตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงหรือในการอนุญาต
 การอนุญาตนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้ว จะอนุญาตให้ผูกขาดโดยให้ผู้ได้รับอนุญาตเสียเงินค่าผูกขาดให้แก่รัฐบาลตาม จำนวนที่รัฐมนตรีกำหนดก็ได้
 การอนุญาตโดยวิธีผูกขาดหรือให้สัมปทานสำหรับการทำไม้ฟืนหรือไม้ เผาถ่านไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้กระทำได้เฉพาะในเขตป่าที่ห่างไกล และกันดาร หรือเฉพาะการทำไม้ชนิดที่มีค่าหรือหายาก
 การพิจารณาคำขออนุญาตผูกขาดหรือสัมปทานตามความในวรรคก่อน ให้กระทำโดยคณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง

มาตรา 73 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 มาตรา 31 หรือ มาตรา 48 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 ในกรณีความผิดตาม มาตรา นี้ ถ้าการกระทำผิดนั้นเกี่ยวกับ
 (1) ไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. หรือ
 (2) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง รวมกันเกินยี่สิบต้น หรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร หรือไม้ ที่ได้แปรรูปแล้วรวมปริมาตรไม้เกินสองลูกบาศก์เมตร
 ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับ ตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองแสนบาท
 
          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2545 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันทำไม้โดยการตัด ฟัน โค่นล้มไม้ประดู่อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ที่มีและขึ้นอยู่ในป่าท้ายหมู่บ้านป่าสัก ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าด้วยเกียงพาและป่าน้ำไคร้ แล้วตัดออกเป็นท่อน ๆ เพื่อแปรรูปและชักลากออกจากป่าต่อไป อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และโดยไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองร่วมกันแปรรูปไม้ประดู่ท่อนดังกล่าว โดยการเลื่อนออกเป็นแผ่น ได้ไม้ประดู่แปรรูปจำนวน 11 แผ่น ปริมาตร 0.18 ลูกบาศก์เมตร ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ประดู่อันยังมิได้แปรรูปจำนวน 10 ท่อน ปริมาตร 0.32 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย เหตุเกิดที่ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 11, 47, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และริบของกลาง

          จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท คำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย คืนไม้ประดู่ที่ไม่ได้แปรรูป 10 ท่อน และไม้ประดู่แปรรูป 11 ท่อน กับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-0321 อุตรดิตถ์ ของกลาง แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ตัด ฟัน โค่นล้มไม้ประดู่อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ก. ของนายสะอาดซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวและอยู่ในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามสำเนา ส.ป.ก. 4-01 ก. เอกสารหมาย ล.1 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า เอกสาร ส.ป.ก. 4-01 มิใช่หลักฐานแสดงถึงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่นตามความหมายของมาตรา 3 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินที่นายสะอาดครอบครองอยู่จึงยังเป็นป่า การตัดฟันและโค่นไม้ประดู่ในที่ดิน ส.ป.ก. จึงถือว่าเป็นการทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ ปัญหาดังกล่าว พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ และให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ได้มาก็เพื่อนำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมิได้มุ่งหมายให้ ส.ป.ก. มีกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิ์ใช้สอย จำหน่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เมื่อที่ดินพิพาทเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติเป็นที่ดินของรัฐ แม้ถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติอันเนื่องจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) ก็ตาม ก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของที่ดิน วัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ในที่ดินจากกรมป่าไม้เป็น ส.ป.ก. โดยให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 36 ทวิ ที่ดินพิพาทยังคงเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 ไม่อาจถือได้ว่า ส.ป.ก. เป็นบุคคลผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมายอื่นตามความหมายของประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 3 (2) ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินที่มิได้มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน การที่ ส.ป.ก. ออก เอกสาร ส.ป.ก. 4-01 จัดสรรในที่ดินของรัฐให้แก่เกษตรกรจึงเป็นเพียงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสถานนะทางกฎหมายของที่ดินนั้น ดังนั้นที่นายสะอาดได้ที่ดินที่มีเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ก. ตามเอกสารหมาย ล.1 ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่นตามที่บัญญัติในมาตรา 3 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินดังกล่าวจึงยังมิได้มีบุคคลได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดิน และยังคงเป็นป่าตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ การที่จำเลยที่ 1 ตัดฟันโค่นไม้ประดู่อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ก. ของนายสะอาดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามาเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 73 วรรคหนึ่ง ให้บังคับโทษจำเลยที่ 1 และริบของกลางไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-09-20 09:49:27


ความคิดเห็นที่ 4 (2302285)

ซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 การที่ผู้ขายให้ผู้ซื้อเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดิน ส.ป.ก. เช่นเดียวกัน มิฉะนั้นก่อให้เกิดการเลี่ยงกฎหมาย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-09-20 10:23:47



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล