ReadyPlanet.com


คดีพิพาทในทรัพย์สิน ฟ้องขับไล่ อ้างครอบครองปรปักษ์


 เรียนสอบถามค่ะ

บ้านและที่ดินที่ดิฉันและครอบครัวอาศัยอยู่ เดิมทีเป็นของแม่ที่ซื้อไว้ให้ลูกๆอยู่ แม่มีลูก 4 คน โดยซื้อบ้านและที่ดินนี้ไว้ในชื่อลูกคนที่ 1, ต่องมาโอนเปลื่ยนชื่อให้กับลูกคนที่ 2, และสุดท้ายโอนให้เป็นชื่อของลูกคนที่ 4 (นางนก)โดยที่ดิฉันเป็นลูกคนที่ 3 ซึ่งไม่มีชื่อในโฉนด แต่ก่อนแม่เสียชีวิตแม่ได้อนุญาติให้ดิฉันและครอบครัวย้ายเข้ามาอาศันในบ้านหลังนี้ โดยกล่าวด้วยวาจาว่าจะยกให้ โดยที่นางนกที่มีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดนี้ ไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ และดิชั้นและครอบครัวได้อาศัยอยูที่บ้านนี้มากว่า 30 ปี

ต่อมาหลังจากแม่เสียชีวิตมากว่า 25 ปี นางนกเดือดร้อนเงินจึงนำบ้านหลังนี้ไปขายโดยไม่บอกกล่าวดิฉันและครอบครัว โดยขายให้กับนางไกร (โจทก์) ในราคาถูกกว่าราคาซื้อขายทั่วไป โดยที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อก็ไม่เคยเข้ามาดูสภาพบ้านก่อนซื้อ หลังจากซื้อแล้วโจทก์จึงมาฟ้องขับไล่ดิฉันและครอบครัวให้ออกจากบ้าน เรียนสอบถามว่า

1. ดิฉันสามารถยกเรื่องการครอบครองปรปักษ์ขึ้นมาต่อสู้ได้หรือไม่

2. ดิฉันสามารถยกเรื่องที่โจทก์ซื้อทรัพย์สินพิพาทนี้มาโดยมีเจตนาไม่สุจริตได้หรือไม่

3. คดีนี้ดิฉันและครอบครัวมีข้อเสียเปรียบโจทก์/มีสิทธ์แพ้-ชนะคดีมากน้อยแค่ไหนคะ

ขอบพระคุณมากค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ nick :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-09 17:09:11


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2304423)

1. ดิฉันสามารถยกเรื่องการครอบครองปรปักษ์ขึ้นมาต่อสู้ได้หรือไม่

ตอบ - การครอบครองปรปักษ์จะต้องมีสาระสำคัญอยู่ที่การครอบครองบ้านและที่ดินนั้น อย่างเป็นเจ้าของ ต้องไม่เข้ามาอยู่โดยอาศัยสิทธิของผู้ใด แต่ตามข้อเท็จจริงที่ให้มานั้นคุณบอกว่าแม่ได้อนุญาตให้คุณและครอบครัวย้ายเข้ามาอาศัยในบ้านหลังนี้ ซึ่งมีความหมายว่า ถ้าแม่ไม่อนุญาตคุณก็คงเข้ามาอยู่ไม่ได้ หรือคงไม่เข้ามาเองแน่ ๆ ลักษณะการครอบครองดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองแทนแม่ซึ่งคุณอ้างว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริง การครอบครองในลักษณะดังกล่าวไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้

2. ดิฉันสามารถยกเรื่องที่โจทก์ซื้อทรัพย์สินพิพาทนี้มาโดยมีเจตนาไม่สุจริตได้หรือไม่

ตอบ- การซื้อทรัพย์สินโดยไม่สุจริตก็ไม่ทำให้สิทธิในการครอบครองของคุณต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นคุณแก่คุณมากนัก เพราะคุณต้องตั้งรูปคดีเสียก่อนว่าเมื่อไม่มีการครอบครองปรปักษ์แล้วคุณจะอ้างสิทธิอะไรยันผู้รับโอนหรือผู้ซื้อได้ หากจะอ้างว่าเป็นมรดกของมารดาก็อาจมีปัญหาว่าอายุความมรดก 1 ปี และ 10 ปี ได้ล่วงเลยเวลามานานแล้ว และเหตุใดทายาทอื่น ๆ ที่เคยมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามที่คุณอ้างจึงไม่ออกมาโวยวายเรียกเอาส่วนของพวกเขา หรือหากคุณจะอ้างว่าแม่ยกให้คุณ ในประเด็นนี้ยังมองไม่ออกว่าคุณจะพิสูจน์ให้ศาลเชื่อโดยวิธีใด คงไม่ง่ายแน่ ๆ ครับ

3. คดีนี้ดิฉันและครอบครัวมีข้อเสียเปรียบโจทก์/มีสิทธ์แพ้-ชนะคดีมากน้อยแค่ไหนคะ

ตอบ - ขอตอบแบบเอาใจคุณนิดหนึ่งก็ตอบว่า คุณมีโอกาสแพ้คดีสูงนะครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-09-29 17:34:49


ความคิดเห็นที่ 2 (2304467)

ยึดถือที่ดินเพื่อตนกับมีชื่อในทะเบียนสิทธิใดดีกว่า?
บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครองเป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครองจึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 กล่าวคือถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3558/2553
 
          ป.พ.พ. มาตรา 1373 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นของโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยทั้งสอง ที่จำเลยทั้งสองอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1367 ที่บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครองนั้น มาตรา 1367 เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครองจึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว

มาตรา 1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา 1373  ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
 
________________________________
 
โจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวและห้ามเกี่ยวข้องอีก กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 30,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปและส่งมอบที่ดินคืนโจทก์    
  
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ขอให้ยกฟ้อง และขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในส่วนที่จำเลยทั้งสองครอบครองโดยการครอบครองปรปักษ์ ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แบ่งแยกส่วนที่จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ออกจากที่ดินแปลงใหญ่และออกโฉนดที่ดินใหม่โดยใส่ชื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ห้ามโจทก์เกี่ยวข้อง

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นางล้วนไม่ได้ยกที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 76 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้อาศัยและช่วยดูแลเก็บผลประโยชน์ให้นางล้วนและนางสาวบรรจง จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตจากนางล้วนให้อยู่อาศัยในบ้านและช่วยดูแลกิจการโรงภาพยนตร์ของนางล้วนเท่านั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ยึดถือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเพื่อตน การปรับปรุงโรงภาพยนตร์นั้นจำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะตัวแทนของนางล้วน เมื่อนางล้วนถึงแก่ความตายจำเลยทั้งสองอาศัยอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทในฐานะผู้อาศัย และโจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองอาศัยอยู่และดูแลเก็บผลประโยชน์แทนและช่วยนางสาวบรรจงซึ่งเป็นอัมพาตเก็บผลประโยชน์แทนโจทก์ตลอดมา จำเลยทั้งสองไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์กับพวกไม่ได้ปลอมพินัยกรรมของนางล้วน และจำเลยทั้งสองก็ไม่เคยกล่าวอ้างหรือคัดค้านว่าพินัยกรรมของนางล้วนเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้องแย้ง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองโดยให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 1 โรงภาพยนตร์และบ้านพักคนงาน ซึ่งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 76 เลขที่ดิน 17 ตำบลประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมือง ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 40,000 บาท แทนโจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งให้เป็นพับ

          จำเลยทั้งสองฎีกา
          ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นายประเสริฐพันธุ์ ผู้จัดการมรดกของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน และจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้นางสาวปิยะนุช ทายาทของจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 76 ตำบลประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างได้แก่โรงภาพยนตร์ บ้านพักและห้องแถว ที่อยู่บนที่ดินทั้งหมดเป็นของนางล้วน นางล้วนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2519 ต่อมานายกัมพลยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางล้วน ตามพินัยกรรม ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2512 และศาลมีคำสั่งตั้งนายกำพลเป็นผู้จัดการมรดกของนางล้วนเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2520 ต่อมาในปี 2529 นายกัมพลในฐานะผู้จัดการมรดกของนางล้วนได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนางล้วนตามข้อกำหนดในพินัยกรรม จำเลยที่ 1 เป็นหลานของขุนประจวบสมบูรณ์สามีนางล้วน อาศัยอยู่กับนางล้วนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อจำเลยที่ 1 สมรสกับจำเลยที่ 2 จึงแยกไปอาศัยและประกอบอาชีพอยู่ที่อื่น ต่อมาจึงได้กลับมาพักอาศัยอยู่กับนางล้วนอีกครั้งหนึ่งและประกอบอาชีพเกี่ยวกับฉายภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินพิพาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นของโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยทั้งสอง ที่จำเลยทั้งสองอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ที่บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครองนั้น เห็นว่า มาตรา 1367 เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครองจึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสอง ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองว่า ประมาณปี 2509 นางล้วนขอให้จำเลยที่ 1 กลับมาอยู่กับนางล้วนเพื่อดูแลนางล้วนและทำหน้าที่เก็บผลประโยชน์จากทรัพย์สินต่าง ๆ ให้แก่นางล้วน เนื่องจากนางสาวบรรจงซึ่งเป็นหลานของขุนประจวบสมบูรณ์และเป็นผู้ดูแลนางล้วนอยู่ป่วยเป็นอัมพาต จำเลยที่ 1 จึงกลับมาอยู่กับนางล้วน โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้กลับมาอยู่ด้วย ต่อมาในปี 2514 นางล้วนเห็นใจที่จำเลยที่ 1 ต้องแยกกันอยู่กับจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 5 ปี และเพื่อตอบแทนที่จำเลยที่ 1 ดูแลนางล้วนและนางสาวบรรจง จึงยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาท และที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 78 ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามเพื่อปรับปรุงโรงลิเกเป็นโรงภาพยนตร์ และที่จอดรถจักรยานและจักรยานยนต์ การพูดยกให้ดังกล่าวกระทำต่อหน้านางสาวบรรจง จำเลยทั้งสองใช้เงินส่วนตัวปรับปรุงโรงลิเกเป็นโรงภาพยนตร์ เป็นเงิน 500,000 บาท ปรับปรุงบ้านใช้เป็นที่อยู่อาศัย และรื้อห้องแถวบางส่วนในที่ดินโฉนดเลขที่ 78 ทำเป็นที่จอดรถจักรยานและรถจักรยานยนต์ แล้วครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทมาโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาโดยตลอดเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ส่วนโจทก์มีโจทก์และนายกัมพล  เบิกความว่า นางล้วนให้จำเลยทั้งสองเข้ามาอยู่อาศัยและดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์แทนนางล้วนเพื่อเป็นการตอบแทนที่จำเลยที่ 1 มาช่วยนางสาวบรรจงเก็บผลประโยชน์ จากทรัพย์สินของนางล้วนให้แก่นางล้วน นางล้วนและขุนประจวบสมบูรณ์ไม่มีบุตร และได้นำโจทก์ซึ่งเป็นบุตรของนางร่ายพี่สาวนางล้วนมาอุปการะเลี้ยงดูตั้งแต่โจทก์ยังเป็นเด็ก ต่อมาจึงได้จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรม นางล้วนทำพินิยกรรม ยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมานายกัมพลในฐานะผู้จัดการมรดกของนางล้วนจึงจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้แก่โจทก์ เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีแต่พยานบุคคลที่เป็นญาติ และเป็นบุคคลใกล้ชิดกับจำเลยทั้งสองได้แก่นางสาวปิยะนุช  นายปริญญา นางศิลา  และพลเรือตรีประกิจ มาเบิกความสนับสนุน แต่หลังจากที่นางล้วนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2519 จำเลยทั้งสองซึ่งอ้างว่านางล้วนยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง กลับไม่ดำเนินการอย่างใดเลยเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาท เมื่อนายกัมพลยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางล้วน จนกระทั่งศาลมีคำสั่งตั้งนายกัมพลเป็นผู้จัดการมรดกของนางล้วนเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2520 จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ไปคัดค้านว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดก โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ยังเบิกความรับว่าทราบเรื่องที่นายกัมพลร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนางล้วนแต่ไม่ได้คัดค้าน นอกจากนี้นางสาวบรรจง ซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างว่าอยู่ด้วยในขณะที่นางล้วนพูดยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยทั้งสองกลับเขียนจดหมายลงวันที่ 22 มีนาคม 2520 ส่งบัญชีทรัพย์สินของนางล้วนให้แก่นายกัมพล โดยระบุว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 76 และสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งโรงภาพยนตร์เป็นทรัพย์มรดกของนางล้วน หากนางล้วนยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองจริง นางสาวบรรจงซึ่งเป็นหลานของขุนประจวบสมบูรณ์ สามีนางล้วน และเป็นญาติใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 โดยมารดาจำเลยที่ 1 และนางสาวบรรจงเป็นพี่น้องกันก็น่าจะแจ้งให้นายกัมพลรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ในปี 2536 เมื่อโจทก์ประสงค์จะนำที่ดินโฉนดเลขที่ 76 ไปปลูกสร้างอาคารพาณิชย์และนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดแบ่งแยกที่ดิน ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด จนสามารถดำเนินการรังวัดได้แล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังมีการปักป้ายและตั้งสำนักงานขายอยู่ใกล้กับโรงภาพยนตร์ประจวบรามาอีกด้วย ดังนั้น ตามพฤติการณ์ดังกล่าว จึงไม่น่าเชื่อว่านางล้วนยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระเงินค่ารื้อโรงลิเกทำเป็นโรงภาพยนตร์ชำระค่าซ่อมแซมบ้านและไม่ได้จ่ายเงินค่าเช่าหรือค่าตอบแทนเกี่ยวกับกิจการโรงภาพยนตร์ให้แก่นางล้วนนั้น หากจะเป็นจริงก็อาจจะเป็นเพราะจำเลยที่ 1 เป็นหลานของขุนประจวบสมบูรณ์สามีนางล้วน เคยอาศัยอยู่กับนางล้วนมาก่อน และเป็นผู้ดูแลและเก็บผลประโยชน์ให้นางล้วน ยังรับฟังไม่ได้ว่านางล้วนยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง ดังนั้น การครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการครอบครองแทนนางล้วนแม้จะนานเพียงใด จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าพินัยกรรม เป็นพินัยกรรรมปลอมนั้น หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งนายกัมพลเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 78 ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทในคดีนี้เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 545/2528 ของศาลชั้นต้น นายกัมพลในฐานะผู้จัดการมรดกของนางล้วนยื่นคำคัดค้านและอ้างพินัยกรรมของนางล้วนเป็นพยาน จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าเป็นพินัยกรรมปลอมแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 ยังเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้แบ่งผลประโยชน์ให้แก่ผู้มีสิทธิรับมรดกของนางล้วนตามพินัยกรรมออกเป็น 5 ส่วน สอดคล้องกับข้อกำหนดในพินัยกรรมที่จำเลยทั้งสองอ้างก็มีรายละเอียดในทำนองเดียวกันทั้งยังมีบางส่วนที่ระบุว่าเป็นส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งน่าจะเป็นผลประโยชน์ที่เก็บได้จากที่ดินโฉนดเลขที่ 76 นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นบุตรบุญธรรมของนางล้วน หากไม่มีพินัยกรรม ทรัพย์มรดกของนางล้วนจะตกได้แก่โจทก์ทั้งหมดในฐานะทายาทโดยธรรม จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องปลอมพินัยกรรมเพื่อให้ตนเองเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด ที่จำเลยทั้งสองนำสืบถึงลายมือชื่อของนางล้วนในพินัยกรรมว่าไม่เหมือนกับลายมือชื่อของนางล้วนในเอกสารอื่นที่นางล้วนเคยลงลายมือชื่อไว้ และอ้างว่าผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์แล้วว่าเป็นลายมือชื่อปลอมนั้นเป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถรับฟังเป็นยุติได้ว่าลายมือชื่อของนางล้วนในพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อปลอม ซึ่งเมื่อนำมาชั่งน้ำหนักกับพยานหลักฐานอื่นตามที่ได้วินิจฉัยไปแล้ว แม้ผู้เชี่ยวชาญจะมีความเห็นดังกล่าวก็ยังรับฟังไม่ได้ว่าลายมือชื่อนางล้วนในพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อปลอม ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องสืบพยานตามที่จำเลยทั้งสองขอระบุพยานเพิ่มเติม ลงวันที่ 26 มกราคม 2542 ที่อ้างว่าพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม และผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์แล้วว่าลายมือชื่อนางล้วนในพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อปลอม

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์เสียหายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาท จำเลยทั้งสองไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทได้ โจทก์จึงได้รับความเสียหายมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 30,000 บาท แทนโจทก์
 
 
( สุริยง ลิ้มสถิรานันท์ - สนอง เล่าศรีวรกต - ประทีป ดุลพินิจธรรมา )
 
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-09-29 21:38:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล