ReadyPlanet.com


สินส่วนตัวหรือสินสมรส


สวัสดีค่ะ ดิฉันอยากจะเรียนถามว่า สามีที่เป็นชาวต่างชาติ ( เยอรมัน )แต่งงานกับภรรยาคนไทย หลังจากแต่งงานได้สองเดือน ชาวต่างชาติได้รับเงินก้อนหนึ่งจากบิดา โดยระบุชื่อสามีเพียงคนเดียวไม่ใช่ของขวัญแต่งงาน ซึ่งเป็นเงินส่วนหนึ่งของมรดกที่จะได้รับ บิดาของต่างชาติจะให้ลูกทั้งห้าคนเท่าๆกันในทุกๆ 10 ปี ซึ่งเป็นการเลี่ยงภาษี แต่ถูกต้องตามกฏหมาย ในการเลี่ยงภาษีในประเทศเยอรมันในกรณีนี้ ต้องเป็นบุตรเพียงผู้เดียวที่รับมรดก ไม่รวมคู่สมรส

หลังจากสามีได้รับเงินมรดก ก็นำเงินมาซื้อบ้านสองหลัง และรถยนต์หนึ่งคัน แต่เป็นชื่อภรรยาทั้งหมด เพราะตามกฏหมายต่างชาติไม่มีสิทธิ์ครอบครอง สามีภรรยาอยู่ด้วยกันมาจน 8 ปี ได้ตกลงแยกกันอยู่เป็นเวลาสองปีแล้วและตกลงจะหย่ากันภายหลัง ตอนนี้ภรรยาไม่ยอมแบ่งทรัพย์สินให้สามี สามีจึงฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากภรรยา

ในกรณีนี้สามี (นายอิงโก)อ้างว่าบ้านสองหลังและรถยนต์เป็นสินส่วนตัว เพราะได้นำเงินที่ได้รับมรดกมาซื้อ

ภรรยาก็ได้อ้างว่าเป็นสินสมรส เพราะได้รับเงินหลังจากแต่งงานแล้ว

จึงอยากจะเรียนถามว่าเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสค่ะ ดิฉันได้แนบเอกสารที่สามีได้รับจากบิดามาให้พิจารณาดังนี้ค่ะ ( แปลจากภาษาเยอรมัน )

เมื่อวันที่ 17  ธันวาคม 2544

ถึง อิงโกที่รัก

โดยการกระทำนี้ ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ทราบว่า วันนี้ข้าพเจ้าได้โอนเงินเป็นจำนวนดอยท์เชอ มาร์ค 392,486.19 เข้าบัญชีของคุณหมายเลขที่ 0085374081 ที่ธนาคารดอยท์เชอ อโพเธเคอร์และแอร์ชเทอะ เพื่อเป็นของขวัญ

เงินจำนวนนี้ได้ฝากประจำตามรายงานที่แนบใว้ให้ โดยมีวันสิ้นสุดต่างกัน ข้าพเจ้าหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์จากเงินตามเหมาะสม

ลงสายมือชื่อ

บิดา 

 



ผู้ตั้งกระทู้ อำไพ :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-07 11:44:07


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2304333)

ทรัพย์สินที่เป็นเงินที่นายอิงโก้ได้รับมาจากบิดาระหว่างที่สมรสแล้วเป็นการได้มาระหว่างโดยการให้โดยเสน่หาจึงเป็นสินส่วนตัวของนายอิงโก้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 แม้ได้เปลี่ยนเป็นบ้านและรถยนต์แล้วก็ถือว่ายังเป็นสินส่วนตัว เพราะสินส่วนตัวนั้นถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่น หรือซื้อทรัพย์สินอื่นมา ทรัพย์สินอื่นนั้นเป็นสินส่วนตัวตาม มาตรา 1472 ดังนั้นจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 1474 ที่ระบุว่า มาตรา 1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน (1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

มาตรา 1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
(4) ที่เป็นของหมั้น

มาตรา 1472  สินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว
สินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินอื่นหรือเงินมาทดแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว
 
มาตรา 1473  สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ
 
มาตรา 1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-09-29 09:40:19


ความคิดเห็นที่ 2 (2304335)

ถือโฉนดที่ดินแทนคนต่างด้าว
มาตรา 806  ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2690 - 2691/2538

 
ป.พ.พ. มาตรา 806
ป.ที่ดิน มาตรา 86, 94
 
          การที่โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทแทน การกระทำดังกล่าวแม้จะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่มาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ฉะนั้น การได้มาซึ่งที่ดินของโจทก์จึงไม่เสียเปล่าทั้งหมดยังมีผลตามกฎหมายอยู่ จำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต การที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทแทนตนเป็นเวลานานจนจำเลยที่ 1 ไปขอออกใบแทนโฉนดแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ต่อธนาคารจนธนาคารเร่งรัดหนี้ และต่อมาจำเลยที่ 2 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียสิทธิของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของโจทก์และได้ขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนของโจทก์ได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806
 
________________________________
 
          คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกนายทอง สุริยบูรพกูล เป็นโจทก์ นายสมฤทธิ์หรือสัมฤทธิ์สุริยบูรพกูล เป็นจำเลยที่ 1 นางสาวสมจิตต์ หรือมณฑนาบุญศศิวิมล เป็นจำเลยที่ 2 และนายพงษ์ศักดิ์ ตามธีรนนท์เป็นจำเลยที่ 3

          สำนวนแรกโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 769 จำเลยที่ 1 บิดาของจำเลยที่ 2ได้ปลูกเพิง 1 หลัง ในที่ดินของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนเพิงเก็บสินค้าพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท

          จำเลยที่ 1 สำนวนแรกให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าว แต่ให้จำเลยที่ 2ลงชื่อแทน แล้วต่อมาจำเลยที่ 2 และโจทก์ฉ้อฉลจำเลยที่ 1 โดยโอนที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
          สำนวนหลังโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นคนต่างด้าวได้ซื้อที่ดินพิพาทโดยให้ลงชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทน ต่อมาจำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อฉลโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนทั้งหมดของที่ดินพิพาท และให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ มิฉะนั้นได้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม

          จำเลยที่ 1 สำนวนหลังขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาและต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1

          จำเลยที่ 2 สำนวนหลังให้การว่า โจทก์เป็นคนต่างด้าวไม่มีสิทธิซื้อที่ดิน โจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และโอนขายแก่จำเลยที่ 3 โดยสุจริตขอให้ยกฟ้อง
          จำเลยที่ 3 สำนวนหลังให้การว่า ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนกับจดทะเบียนการโอนโดยสุจริตขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 (จำเลยทั้งสองในสำนวนแรก) รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 3 (โจทก์ในสำนวนแรก) คือโฉนดที่ดินเลขที่ 769 ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 3 เดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 2,000 บาท คำขอของจำเลยที่ 3 ในสำนวนคดีแรก นอกจากนี้ให้ยก และพิพากษายกฟ้องโจทก์ในสำนวนหลัง

          โจทก์อุทธรณ์
          ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นายสมศักดิ์ สุริยบูรพกูลทายาทของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนคดีแรก และพิพากษากลับสำนวนคดีหลังให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาททั้งหมดระหว่างจำเลยทั้งสาม

          จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของโจทก์ ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายที่ดินตกเป็นโมฆะ การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทแทนจึงเกิดขึ้นไม่ได้ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวแม้จะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่ มาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ฉะนั้น การได้มาซึ่งที่ดินของโจทก์จึงไม่เสียเปล่าทั้งหมด ยังมีผลตามกฎหมายอยู่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต การที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทแทนตนเป็นเวลานานจนจำเลยที่ 1 ไปขอออกใบแทนโฉนดแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด จนธนาคารเร่งรัดหนี้ และต่อมาจำเลยที่ 2ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของโจทก์และได้ขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนของโจทก์ได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทได้

          พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนหลัง ให้โจทก์ (หรือจำเลยที่ 1ในสำนวนคดีแรก) รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 3(หรือโจทก์ในสำนวนคดีแรก) เดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษาคำขอของจำเลยที่ 3 นอกจากนี้ให้ยก
 
 
( สถิตย์ ไพเราะ - พรชัย สมรรถเวช - สมคิด ไตรโสรัส )
 
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-09-29 09:50:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล