ReadyPlanet.com


การแบ่งทรัพย์สินหลังหย่าร้าง


 สามีกับภรรยาแต่งงานกันมาหลายสิบปี ทำมาหากินด้วยกันมีที่ดิน 2 แปลง แปลงที่หนึ่งได้มาจากการซื้อร่วมกันของทั้งสองคน แปลงที่สอง เป็นที่ดินอันเป็นมรดกของฝ่ายสามีซึ่งได้มาหลังจากที่แต่งงานแล้ว สามีนำความเดือดร้อนมาให้ โดยการเล่นการพนันโดยที่ฝ่ายภรรยาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ เลย ทำให้ต้องนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงเข้าจำนองกับธนาคาร โดยใช้ชื่อผู้กู้ร่วมกันอยากทราบว่า

 

1. หากมีการหย่าร้าง ภรรยาต้องรับภาระหนี้นั้นด้วยหรือไม่ หรือกำหนดให้สามีรับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียวได้หรือไม่ เพราะเหตุเกิดจากสามีกระทำ

2. การแบ่งทรัพย์สินจากการหย่า ภรรยามีสิทธิในที่ดินแปลงที่สองหรือไม่ อย่างไร

3. ระหว่างการขายทรัพย์สินเพื่อแบ่ง กับ การหย่า เหตุการณ์ไหนจะเกิดขึ้นก่อนกัน

4. หากฝ่ายภรรยามีที่ดินอันเป็นมรดกที่ได้รับมาหลังจากแต่งงานแล้ว สามีมีสิทธิในการได้รับส่วนแบ่งที่ดินนั้นด้วยหรือไม่ อย่างไร

 (เหตุแห่งการหย่าร้าง เนื่องจากฝ่ายสามีมีพฤติกรรมไม่ใฝ่ดี ติดการพนัน ทำให้ครอบครัวต้องพบเจอกับความลำบาก และต้องขายที่ดินส่วนหนึ่งไปแล้วด้วย) 



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้ก่อการดี :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-29 22:34:08


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2309362)

1. หากมีการหย่าร้าง ภรรยาต้องรับภาระหนี้นั้นด้วยหรือไม่ หรือกำหนดให้สามีรับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียวได้หรือไม่ เพราะเหตุเกิดจากสามีกระทำ

ตอบ - ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้ กับลูกหนี้นั้นต้องเป็นไปตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อคุณเป็นผู้กู้ร่วม คุณจึงเป็นลูกหนี้ร่วมโดยไม่ต้องคำนึงถึงเหตุแห่งการต้องมากู้ยืมงินนั้นเกิดจากผู้ใด แต่ในระหว่างสามีภริยา จะทำสัญญากันอย่างไรก็ได้แต่ไม่มีผลถึงเจ้าหนี้ ดังนั้นหากมีการผิดนัดตามสัญญากู้ยืมและจำนองคุณก็ไม่อาจอ้างสัญญาที่ทำกันเองมายันกับเจ้าหนี้เพื่อไม่ต้องชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ครับ

2. การแบ่งทรัพย์สินจากการหย่า ภรรยามีสิทธิในที่ดินแปลงที่สองหรือไม่ อย่างไร

ตอบ -  ข้อเท็จริงที่ให้มา สามีได้ที่ดินแปลงที่สอง มาโดยการรับมรดกจึงเป็นสินส่วนตัวของสามี ภริยาจึงไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินแปลงที่สองอันเป็นสินส่วนตัวของสามี

มาตรา 1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
(4) ที่เป็นของหมั้น

3. ระหว่างการขายทรัพย์สินเพื่อแบ่ง กับ การหย่า เหตุการณ์ไหนจะเกิดขึ้นก่อนกัน

ตอบ - การหย่ามีได้ 2 กรณีคือ 1. หย่าโดยความยินยอม  2. หย่าโดยคำพิพากษาของศาล

การหย่าโดยความยินยอม ก็ไปจดทะเบียนหย่ากันที่สำนักงานเขต/อำเภอ แล้วอาจตกลงกันเรื่องทรัพย์สินว่าจะแบ่งกันอย่างไรครับ เมื่อได้จดทะเบียนหย่าแล้ว หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวก็มีสิทธิฟ้องให้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าได้ครับ

การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลและฟ้องขอแบ่งสินสมรส เมื่อศาลชี้ขาดว่าฝ่ายใดควรได้แบ่งสินสมรสอย่างไร ก็จะชี้ขาดในคำพิพากษา ถ้าฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาก็สามารถขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ครับ

4. หากฝ่ายภรรยามีที่ดินอันเป็นมรดกที่ได้รับมาหลังจากแต่งงานแล้ว สามีมีสิทธิในการได้รับส่วนแบ่งที่ดินนั้นด้วยหรือไม่ อย่างไร

ตอบ - เมื่อได้รับมาจากการรับมรดก สามีไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินนั้น หลักเดียวกับคำตอบข้อ 2. ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-10-20 18:34:13


ความคิดเห็นที่ 2 (2309365)

ร้องขัดทรัพย์ว่าบ้านเป็นสินส่วนตัวไม่ใช่สินสมรส, ได้มาโดยการรับมรดก,
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2467/2549

 
          โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำยึดบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของผู้ร้องออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าบ้านเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องแต่ผู้เดียว มิใช่สินสมรสของจำเลยกับผู้ร้อง แม้ตามคำร้องขอจะมิได้อ้างว่าเป็นบ้านที่ผู้ร้องได้มาโดยการรับมรดกร่วมกับพี่น้องตามที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างมาในฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการอ้างถึงที่มาเพื่อแสดงให้เห็นว่าบ้านดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธินำยึดนั่นเอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในฎีกาได้ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นตามคำร้อง มิใช่เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

          บ้านที่โจทก์นำยึดออกขายทอดตลาดซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของผู้ร้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาโดยการรับมรดกร่วมกับทายาทอื่นของ ล. สิทธิของผู้ร้องในบ้านจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) มิใช่สินสมรสที่โจทก์จะมีสิทธินำยึดได้ และผู้ร้องในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งย่อมใช้สิทธิครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนได้ตามมาตรา 1359 จึงมีอำนาจร้องขัดทรัพย์
 
มาตรา 1359  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก แต่ในการเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนนั้น ท่านว่าต้องอยู่ในบังคับแห่งเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 302 แห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
(4) ที่เป็นของหมั้น
________________________________
 
          คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จเฉพาะดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 14,375 บาท ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้บังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 17014 ซึ่งมีชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ พร้อมบ้านเลขที่ 41 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึดมิใช่สินสมรสของจำเลยกับผู้ร้องแต่เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องแต่ผู้เดียวผู้ร้องได้มาโดยญาติและบิดามารดายกให้ โจทก์ไม่มีสิทธินำยึด ผู้ร้องกับจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้ว ขอให้มีคำสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด

          โจทก์ให้การว่า ที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรสของจำเลยกับผู้ร้องที่ได้มาระหว่างสมรส มิใช่สินส่วนตัวของผู้ร้อง จำเลยกับผู้ร้องจดทะเบียนหย่าหลังจากโจทก์นำยึดทรัพย์ดังกล่าวแล้วขอให้ยกคำร้องขอ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึด ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องในส่วนที่เกี่ยวกับบ้านที่โจทก์นำยึด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
          ผู้ร้องฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

          ศาลฎีกาวินิจฉัย พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า ขณะโจทก์นำยึดบ้านเลขที่ 41 ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ร.2 ผู้ร้องกับจำเลยยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน บ้านดังกล่าวปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 17014 ซึ่งเป็นที่ดินที่นายอุเทนพี่ผู้ร้องจดทะเบียนยกให้แก่ผู้ร้องตามสำเนาหนังสือให้ที่ดินเอกสารหมาย ร.4 และสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.5 ซึ่งโจทก์นำยึดไว้เช่นเดียวกัน ปัญหาเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 17014 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีคงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะบ้านเลขที่ 41 ซึ่งผู้ร้องฎีกาว่าเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง เพราะเป็นทรัพย์มรดกของนางเล็กที่ตกทอดแก่บุตร คือผู้ร้องและพี่น้องรวมหกคน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้ฎีกาของโจทก์เสียก่อนว่า ฎีกาของผู้ร้องเป็นฎีกาที่ต้องห้ามหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าบ้านเลขที่ 41 เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องแต่ผู้เดียว มิใช่สินสมรสของจำเลยกับผู้ร้อง แม้ตามคำร้องขอจะมิได้อ้างว่าเป็นบ้านที่ผู้ร้องได้มาโดยการรับมรดกร่วมกับพี่น้องตามที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างมาในฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการอ้างถึงที่มาเพื่อแสดงให้เห็นว่าบ้านดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธินำยึดนั่นเอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในฎีกาได้ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นตามคำร้อง หาใช่เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นดังที่โจทก์แก้ฎีกาไม่สำหรับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องนั้น ผู้ร้องนำสืบว่าเดิมบ้านเลขที่ 41 เป็นของนางเล็ก นางเล็กใช้เป็นที่อยู่อาศัยตลอดจนกระทั่งถึงแก่ความตายเมื่อปี 2540 โดยผู้ร้องมีตัวผู้ร้อง นายอุเทนและนางคนอง จำปา น้องผู้ร้องเป็นพยานเบิกความยืนยัน สอดคล้องกับสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ร.2 ซึ่งปรากฏว่ามีชื่อนางเล็กเป็นเจ้าบ้านและมีการบันทึกการตายของนางเล็กไว้ด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย ร.4 ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2541 ภายหลังที่นางเล็กถึงแก่ความตายไปแล้วว่า นายอุเทนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 17014 ให้แก่ผู้ร้อง จึงน่าเชื่อว่าบ้านเลขที่ 41 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของนางเล็กที่ตกทอดแก่บุตรทุกคนซึ่งเป็นทายาทและยังมิได้แบ่งปันกัน แม้นางคนองจะเบิกความว่า นางเล็กยกบ้านเลขที่ 41 ให้แก่ผู้ร้องแต่ผู้เดียว ก็ไม่อาจรับฟังว่าบ้านดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดก เพราะไม่ปรากฏว่านางเล็กให้บ้านแก่ผู้ร้องโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำให้การให้มีผลสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 เมื่อโจทก์มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมาจึงรับฟังได้ว่าบ้านเลขที่ 41 เป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาโดยการรับมรดกร่วมกับทายาทอื่นของนางเล็ก สิทธิของผู้ร้องในบ้านเลขที่ 41 จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) มิใช่สินสมรสที่โจทก์จะมีสิทธินำยึดได้ และผู้ร้องในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งย่อมใช้สิทธิครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์เพราะบ้านเลขที่ 41 ยังไม่ตกเป็นของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น?
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปล่อยบ้านที่โจทก์นำยึดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
 
 
( ชัชลิต ละเอียด - สมชัย จึงประเสริฐ - บุญรอด ตันประเสริฐ )
          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-20 18:57:26



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล