ReadyPlanet.com


เรื่องที่ดินมรดกปู่เสียชีวิตแล้วและยกที่ดินให้พ่อ พ่อและแม่เสียแต่ยังไม่ได้โอนชื่อมรดก


 เรียนท่านทนาย

รบกวนสอบถามเรื่องที่ดินมรดกสำหรับผู้ที่เสียชีวิตแล้ว

ที่ดินยังเป็น นส3 ปู่เสียชีวิตแล้วและมีลูกสามคน ปู่ไม่ได้ทำพินัยกรรมแต่เป็นที่ทราบกันว่ายกที่ดินให้พ่อของผม

พ่อเสียชีวิตพร้อมแม่ พ่อมีลูกสองคนคือผมและพี่ชาย 

ตอนนี้ต้องการทำการแบ่งมรดกต้องจัดการอย่างไรครับ

สามารถดำเนินการจัดผู้จัดการมรดกโดยร้องต่อศาลที่กรุงเทพได้ไหม (ที่ดิน อยู่ที่ สงขลา) เนื่องจากผมอยู่ที่กรุงเพท ทางป้าและน้า ยินยอมให้ผมเป็นผู้จัดการมรดก

 

แล้วน้ากับ ป้า และพี่ต้องมา กทม ไหม?

รบกวนด้วยนะครับ



ผู้ตั้งกระทู้ เก่ง :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-28 09:40:45


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2308949)

ที่ดิน น.ส. 3 เป็นทรัพย์ของปู่ เมื่อปู่ถึงแก่ความตาย ที่ดินเป็นมรดกของปู่ที่ตกได้แก่ บุตรของปู่ 3 คน คนละส่วนเท่า ๆ กันครับ เนื่องจากปู่ไม่ได้ทำพินัยกรรม แม้จะเป็นที่ทราบกันในบรรดาทายาทอื่นหรือผู้ใกล้ชิด แต่สายตายกฎหมายยังไม่ตัดสิทธิของพี่น้องอื่นอีก 2 คน เว้นแต่พี่น้องอื่น อีกสองคนทำหนังสือสละมรดกครับ เมื่อได้มีการสละมรดกแล้วทำให้ขาดจากความเป็นทายาทของปู่ และทรัพย์มรดกย่อมตกได้แก่พ่อคุณแต่เพียงผู้เดียว เมื่อพ่อคุณถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกของพ่อก็ตกได้แก่ทายาทของพ่อ คือตกได้แก่คุณและพี่ชาย การจัดการมรดกของปู่และของพ่อจะต้องตั้งผู้จัดการมรดกครับ คือตั้งผู้จัดการมรดกของปู่และของพ่อไปในคราวเดียวกันก็ได้ครับ คำถามว่าจะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกที่กรุงเทพฯ ได้หรือไม่ ?  กฎหมายบัญญัติเขตอำนาจศาลให้ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต้องยื่นต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาในขณะถึงแก่ความตาย ดังนั้นจึงต้องขึ้นอยู่กับทะเบียนบ้านของผู้ตายว่าอยู่ที่ไหนขณะถึงแก่ความตายครับ

 มาตรา 4จัตวา คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่ เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย
ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อ ศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-10-18 17:07:00


ความคิดเห็นที่ 2 (2308951)

เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาสองแห่ง
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  661/2550

 
พระภิกษุ พ. มีถิ่นที่อยู่ 2 แห่ง คือที่วัดหัวป่าและวัดผู้คัดค้าน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 38 ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น จึงต้องถือว่าวัดหัวป่าเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุเพิ่มแห่งหนึ่งด้วย ผู้ร้องในฐานะเป็นพนักงานอัยการย่อมมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง
 
มาตรา 4จัตวา คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่ เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย
ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อ ศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล
________________________________
 
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้รับคำร้องจากนายพ่วง คงจันทร์ ไวยาวัจกร ของวัดหัวป่า ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ว่าพระภิกษุเพิ่ม คุณวโร ได้ถึงแก่มรณภาพขณะเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวป่า ก่อนมรณภาพพระภิกษุเพิ่ม มีภูมิลำเนาอยู่ที่วัดหัวป่า คดีมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์สินของพระภิกษุเพิ่ม ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งนายพ่วงให้เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเพิ่ม ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอนี้

          ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า วัดหัวป่าไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะได้รับทรัพย์สินอันเป็นมรดกของพระภิกษุเพิ่ม คุณวโร เพราะพระภิกษุเพิ่มไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่วัดหัวป่า แต่พระภิกษุเพิ่มมีภูมิลำเนาอยู่ที่วัดของผู้คัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายพ่วง คงจันทร์ เป็นผู้จัดการทรัพย์สิน (ที่ถูก เป็นผู้จัดการมรดก) ของพระภิกษุเพิ่ม คุณวโร ซึ่งถึงแก่มรณภาพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

          ผู้คัดค้านอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนั้นให้เป็นพับ

          ผู้คัดค้านฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ?พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยว่า นายพ่วง คงจันทร์ ไม่ได้เป็นไวยาวัจกรของวัดหัวป่าโดยชอบด้วยกฎหมาย พระภิกษุเพิ่มมิใช่เจ้าอาวาสของวัดหัวป่า และวัดหัวป่าไม่มีสิทธิได้รับมรดกของพระภิกษุเพิ่ม เนื่องจากวัดหัวป่าไม่ใช่ภูมิลำเนาของพระภิกษุเพิ่มนั้น เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกรายนี้โดยได้รับคำร้องจากนายพ่วง ไวยาวัจกร ของวัดหัวป่า การโต้แย้งของผู้คัดค้านจึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านโต้แย้งอำนาจยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ร้องอันเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ความว่า พระภิกษุเพิ่มอุปสมบทที่วัดหัวป่าเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2499 ตามหนังสือสุทธิประจำตัวพระภิกษุเอกสารหมาย ร.4 ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2514 พระภิกษุเพิ่มได้ย้ายไปอยู่ที่วัดผู้คัดค้านเพราะประสงค์จะศึกษาต่อ โดยพระภิกษุเพิ่มเดินทางไปมาระหว่างวัดทั้งสองแห่งจนกระทั่งวันที่ 1 เมษายน 2540 เจ้าคณะจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้พระภิกษุเพิ่มเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวป่าตามตราตั้งเจ้าอาวาสเอกสารหมาย ร.3 พระภิกษุเพิ่มเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหลายแห่งตลอดมา จนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามใบมรณบัตรเอกสารหมาย ร.5 มีทรัพย์มรดกเป็นเงินฝากที่ธนาคารออมสินสาขาระโนด จังหวัดสงขลา จำนวน 200,233.73 บาท และเงินฝากที่ธนาคารออมสิน สาขาพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการจำนวน 939,986.09 บาท ดังนี้ เห็นได้ว่าพระภิกษุเพิ่มมีถิ่นที่อยู่ 2 แห่ง คือที่วัดหัวป่าและวัดผู้คัดค้าน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น จึงต้องถือว่าวัดหัวป่าเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุเพิ่มแห่งหนึ่งด้วย เมื่อปรากฏว่า พระภิกษุเพิ่มมีทรัพย์มรดกและมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ผู้ร้องในฐานะเป็นพนักงานอัยการย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 และที่ผู้ร้องขอให้แต่งตั้งนายพ่วง คงจันทร์ เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเพิ่มนั้น เห็นว่า นายพ่วงเป็นไวยาวัจกรของวัดหัวป่า และไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1718 นายพ่วงจึงเป็นผู้สมควรที่จะจัดการมรดกรายนี้ ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยไม่ยกคำคัดค้านและสั่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งไม่ถูกต้อง เห็นสมควรแก้ไข?
          พิพากษาแก้เป็นว่าให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ยกคำคัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
 

( เกษม วีรวงศ์ - พีรพล พิชยวัฒน์ - ฐานันท์ วรรณโกวิท )
 
 

          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-18 17:10:28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล