ReadyPlanet.com


อยากทราบว่า ผู้ปกครองพาเด็กไปทำแท้ง(สถานที่ถูกกฏหมาย) ผิดหรือไม่


ขอรบกวนถาม

1. ผู้ปกครอง พาลูกไปทำแท้ง (อายุระหว่าง 15 - 17ปี) โดยการยินยอมทั้งพ่อแม่ฝ่ายชาย-หญิง รวมทั้งเด็ก  ผิดกฏหมายหรือเปล่าค่ะ ผู้ปกครองมีความผิดหรือเปล่าค่ะ ถ้าสถานที่ที่ทำถูกกฏหมายค่ะ

 

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้น้อย :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-24 04:01:14


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2307445)

คนอุ้มท้องหรือมีครรภ์ทำให้ตนเองแท้งลูกโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ผู้ปกครองเป็นผู้สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกต้องได้รับโทษ 2 ใน 3 ครับ สำหรับที่ทำการถูกกฎหมายคงไม่มีหรอกครับ เว้นแต่แพทย์เห็นว่า---(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงที่มีครรภ์ (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจาก ถูกข่มขืนกระทำชำเรา แพทย์ไม่มีความผิด

มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้ง จำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

มาตรา 303 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้อง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาท ถึงสี่หมื่นบาท

มาตรา 304 ผู้ใดเพียงแต่พยายามกระทำความผิดตาม มาตรา 301 หรือ มาตรา 302 วรรคแรก ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวใน มาตรา 301 และ มาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์และ
(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ
(2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือ มาตรา 284
ผู้กระทำไม่มีความผิด

 

 

ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกให้ผู้อื่นแท้งลูก

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6443/2545

พนักงานอัยการจังหวัดกระบี่
     โจทก์

 
ป.อ. มาตรา 86, 302
ป.วิ.อ. มาตรา 192
 
          จำเลยที่ 1 และที่ 2 พาผู้เสียหายขึ้นรถกระบะจากบ้านพักของผู้เสียหายไปให้หญิงไม่ทราบชื่อทำแท้งโดยผู้เสียหายยินยอม ในระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 นั่งขวางประตูบ้านอยู่ด้วย เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 302 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 ซึ่งแม้โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรานี้ศาลก็ลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายเพราะการทำให้หญิงแท้งลูกไม่ว่าหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติเป็นความผิดทั้งนั้น
 
 
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้หญิงคนหนึ่งไม่ทราบชื่อทำให้นางสาวปราณี วังพล ผู้เสียหายแท้งลูกโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 303 กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3157/2540 ของศาลชั้นต้น
          จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86, 83 ลงโทษจำคุกคนละ 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 2 มีว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นทำให้ผู้เสียหายแท้งลูกโดยผู้เสียหายยินยอมตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม2540 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราที่บ้านของจำเลยที่ 1 จนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง โดยจำเลยที่ 1 พูดขู่ว่าหากเอาเรื่องไปบอกคนอื่นจะถูกฆ่า ต่อมาประมาณ 6 ถึง 7 วัน ผู้เสียหายได้เล่าให้นางปราณี บุตรแขก ญาติผู้เสียหายฟัง ประมาณวันที่ 17 ถึง 26 พฤษภาคม 2540 รอบประจำเดือนของผู้เสียหายไม่มาตามปกติ ผู้เสียหายเข้าใจว่าตั้งครรภ์จึงไปเล่าให้นางปราณีฟังอีก เมื่อวันที่ 27พฤษภาคม 2540 นางปราณีได้พาผู้เสียหายไปตรวจที่สถานีอนามัยบ้านช่องพลี เจ้าหน้าที่อนามัยยืนยันว่าผู้เสียหายตั้งครรภ์ กลับบ้านแล้วผู้เสียหายได้เล่าให้พี่ชายผู้เสียหายฟังพี่ชายผู้เสียหายโกรธมาก ผู้เสียหายจึงหนีไปอยู่บ้านบิดาอดีตสามีผู้เสียหาย จากนั้นนางปราณีได้แจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าจะอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้เสียหาย โดยทำให้ถูกต้องตามประเพณีของศาสนาอิสลาม แต่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม ครั้นวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 เวลาประมาณ 6 นาฬิกาจำเลยทั้งสามมาหาผู้เสียหายที่บ้าน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกว่าจะมารับไปทำพิธีแต่งงานตามประเพณีของศาสนาอิสลาม ผู้เสียหายเชื่อจึงขึ้นรถกระบะไปกับจำเลยทั้งสามโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ ระหว่างทางจำเลยที่ 3 บอกให้ผู้เสียหายไปทำแท้งลูกเสียก่อนเพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบ หลังจากจำเลยที่ 3 ลงจากรถที่ตลาดเหนือคลองแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พาผู้เสียหายไปบ้านไม้ชั้นเดียวหลังหนึ่งซึ่งผู้เสียหายเข้าใจว่าอยู่ที่จังหวัดตรัง ที่บ้านหลังดังกล่าวมีหญิงคนหนึ่งอายุ 40 ปีเศษเป็นคนทำแท้งโดยใช้ตะขอใส่เข้าไปในช่องคลอดของผู้เสียหายแล้วเขย่า ๆ โดยมีหญิงวัยรุ่น 2 คน ช่วยกันจับขาของผู้เสียหายไว้ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที ระหว่างนั้นมีจำเลยที่ 1 นั่งขวางประตูบ้านไว้ เห็นว่า แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความเพียงปากเดียว แต่ก็เบิกความสมเหตุผลมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เมื่อพิจารณาประกอบรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุว่าผู้เสียหายมีแผลถลอกใหม่ที่บริเวณช่องคลอดทางด้านล่างปากมดลูกเปิดแสดงว่าผู้เสียหายผ่านการทำแท้ง อาจจะเป็นไปได้ว่าผ่านการทำแท้งเพราะมีบาดแผลถลอกใหม่เกิดขึ้นที่เกิดจากมีการสอดใส่วัตถุเข้าไปในช่องคลอด เอกสารดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยแพทย์ประจำโรงพยาบาลกระบี่ผู้ตรวจร่างกายผู้เสียหาย ตามที่ร้อยตำรวจเอกสุเมธปานคงพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นพยานโจทก์เป็นผู้นำส่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ปฏิเสธความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวเชื่อว่าในวันเกิดเหตุหญิงไม่ทราบชื่อกับพวกอีก 2 คนทำให้ผู้เสียหายแท้งลูก ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบอ้างว่าเพียงแต่ร่วมกันพาผู้เสียหายซึ่งมีอาการปวดท้องไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลห้วยยอด จังหวัดตรัง ตรวจร่างกายนั้นขัดต่อเหตุผลเนื่องจากจำเลยที่ 1 อ้างว่าในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะไปทำงานขับรถไถรับจ้างตามปกติแต่กลับพาจำเลยที่ 2 ไปรับผู้เสียหายไปตรวจร่างกาย เป็นพิรุธ พยานจำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 พาผู้เสียหายขึ้นรถกระบะจากบ้านพักของผู้เสียหายไปให้หญิงไม่ทราบชื่อกับพวกอีก 2 คน ทำให้ผู้เสียหายแท้งลูกโดยผู้เสียหายยินยอม ในระหว่างการทำแท้งนั้น จำเลยที่ 1 นั่งขวางประตูบ้านอยู่ด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดในการที่ผู้อื่นทำแท้งผู้เสียหายจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 ซึ่งแม้โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรานี้ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาศาลก็ย่อมลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายเพราะการทำให้หญิงแท้งลูกไม่ว่าหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติเป็นความผิดทั้งนั้น หากแต่กำหนดโทษหนักเบาต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน
 
 
( จรูญวิทย์ ทองสอน - ประสพสุข บุญเดช - จรัส พวงมณี )
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-10-12 20:15:59


ความคิดเห็นที่ 2 (4256808)

ข้อสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ ๗๐ ปีการศึกษา ๒๕๖๐  

       ข้อ ๖.  นายแพทย์สมชายแอบทำแท้งแก่หญิงที่ตั้งครรภ์โดยทั่วไป ต่อมาวันหนึ่งนางสาวสด ที่ตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืนขอร้องให้นายแพทย์สมชายทำแท้ง จึงรับทำแท้งให้ แต่เนื่องจากการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคส่วนตัวของนางสาวสด แม้นายแพทยสมชายจะใช้ความระมัดระวังแล้ว นางสาวสดก็ยังถึงแก่ความตายเพราะการทำแท้ง นายกล้ามน้องชายนายแพทย์สมชายทราบว่านายสอดแอบเหฌ็นการทำแท้งดังกล่าวเกรงว่านายสอดจะนำเรื่องที่เห็นไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจ จึงแอบเข้าไปในเรือนแพของนายสอดที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและข่มขู่ส่งเสียงเอะอะว่าถ้าเอาเรื่องที่เห็นไปเล่าให้ผู้ใดฟังจะฆ่าให้ตาย นายสอดแกล้งรับปากนายกล้ามจึงกลับไป

          ให้วินิจฉัยว่า นายแพทย์สมชายและนายกล้ามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่
 
ธงคำตอบ
 
          นายแพทย์สมชายไม่มีความผิดฐานทำให้หญิงแท้งลูกเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตายเพราะเป็นการทำแท้งเนื่องจากนางสาวสดถูกข่มขืนและยินยอมให้ทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ (๒)
          ส่วนนายกล้ามเข้าไปอยู่ในเรือนแพอันเป็นที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นเคหสถานของนายสอดแล้วข่มขู่ส่งเสียงเอะอะนายสอดว่าถ้านำเรื่องที่เกิดขึ้นไปเล่าให้ผู้ใดฟังจะฆ่าให้ตาย เป็นการข่มขืนใจว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตของนายสอด เพื่อให้นายสอดไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด จึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพ เมื่อการรับปากของนายสอดมิใช่เกิดจากความกลัว จึงเป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๘๐ 
          การที่นายกล้ามเข้าไปในเรือนแพอันเป็นเคหสถานของนายสอด ข่มขู่และส่งเสียงเอะอะเป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุอันสมควร นายกล้ามมีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔ อีกบทหนึ่งด้วย การเข้าไปในเรือนแพ  แม้เป็นการรบกวนการครอบครอง  แต่เรือนแพมิใช่อสังหาริมทรัพย์ นายกล้ามจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา ๓๖๒        
ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 0859604258 วันที่ตอบ 2018-06-08 20:00:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล