ReadyPlanet.com


แม่เราถูกลูกเขยขโมยบัญชี+บัตรประชาชาไปเบิกเงินจะทำไงดีค่ะ


ช่วยแนะนำด้วยค่ะ เรื่องมีอยู่ว่า

พ่อกับแม่อยู่บ้านกัน2ตายาย เนื่องจากไม่ปลื้มลูกเขยคนนี้ เพราะมีเหตุเงินหายอยู่บ่อยๆ  และจนสุดท้ายสร้อยทองหายไป1บาท พ่อแม่จึงให้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ซึ่งพี่สาวกับพี่เขยก็ไปซึ้อบ้านอยู่ห่างกันเป็น10กิโลเมตร

แต่เหตุการณ์เงินแม่หายบ่อยๆก็ยังมีอยู่ และสัญนิฐานว่าเป็นพี่เขยเอาไป แต่ไม่เคยมีหลักฐานจับได้คาหนังคาเขา  ล่าสุดสมุดเงินฝากกับบัตรประชาชนแม่หายไป เมื่อไปสอบถามที่ธนาคารได้ความว่าพี่เขยเป็นคนลงชื่อเบิกเงิน จำนวน 60,000 บาท แม่ก็ขอหลักฐานใบเบิกเงินนั้นมา พี่เขยถึงยอมจำนนด้วยหลักฐาน

จนถึงตอนนี้ก็ผ่านไปเกือบ2สัปดาห์ตอนนี้ก็ยังไม่ได้เอาเงินมาคืนเลย จะทำอย่างไรต่อไปดีค่ะช่วยแนะนำด้วย

ขอบคุณมากค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ สุ :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-20 13:01:04


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2307196)

การที่พี่เขยนำบัตรประชาชนของแม่ไปเบิกเงิน ทางธนาคารไม่น่าจะยอมให้เบิกถอนได้นะครับ เรื่องนี้ให้ข้อเท็จจริงมายังไม่มากพอ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการลงชื่อแม่โดยแม่ไม่รู้เห็นในการกระทำนั้นถือเป็นการปลอมเอกสารมีโทษทางอาญา และฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ด้วย แนะนำให้ไปแจ้งความดำเนินคดีโดยเร็วก่อนที่เงินจะถูกยักย้ายถ่ายเทไปยังบุคคลอื่นครับ

มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-10-11 17:27:40


ความคิดเห็นที่ 2 (2307202)

 

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7658/2549

 
          ตามข้อตกลงในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ระหว่างโจทก์กับธนาคารจำเลยกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ถอนเงินแต่เพียงผู้เดียว เมื่อจำเลยเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นไปย่อมเป็นการผิดจากข้อตกลงดังกล่าว การที่จำเลยถือเอาสมุดคู่ฝากและใบถอนเงินประกอบกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยเป็นหลักฐานให้บุคคลที่มาถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ไปย่อมไม่เป็นการใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอสมกับฐานะของผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ทั้งลายมือชื่อของผู้ถอนเงินในใบถอนเงินนั้นไม่มีลายมือชื่อของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์
 
มาตรา 672  ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน
อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบ
จำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดั่งว่านั้น
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และรับฝากเงินจากบุคคลทั่วไปและจำเลยมีสาขาดำเนินกิจการอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งสาขาสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม โจทก์เป็นผู้ฝากเงินไว้กับจำเลยโดยเปิดบัญชีเงินฝากประจำที่สำนักงานสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 เลขที่บัญชี 709-2-23876-5 พร้อมมอบตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ไว้แก่พนักงานของจำเลยประจำสาขานี้ซึ่งเป็นตัวแทนผู้รับฝากเงิน เพื่อใช้ในการตรวจสอบลายมือชื่อเมื่อมีการขอเบิกถอนเงินต่อไปในภายหน้า โจทก์นำเงินเข้าฝากไว้ในบัญชีดังกล่าวตลอดมาจนถึงเดือนธันวาคม 2542 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีรวมทั้งสิ้น 14,099.89 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2542 โจทก์พบว่าสมุดเงินฝากตามบัญชีของโจทก์สูญหายไป จึงแจ้งพนักงานของจำเลยออกสมุดเงินฝากเล่มใหม่และขอตรวจสอบยอดเงินในบัญชี จึงทราบว่ามีผู้ลักเอาสมุดเงินฝากของโจทก์ไปแสดงต่อพนักงานตัวแทนผู้รับฝากเงินของจำเลยและปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในใบถอนเงินแล้ว ถอนเงินออกจากบัญชีโจทก์ไปตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2542 เป็นเงิน 400,000 บาท คงเหลือเงินอยู่ในบัญชี 14,099.89 บาท เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากพนักงานซึ่งเป็นตัวแทนในการรับฝากและถอนเงินของจำเลยยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของเงินฝากถอนเงินไปโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ทำการตรวจสอบลายมือชื่อผู้ถอนเงิน และไม่ตรวจสอบหลักฐานประจำตัวบุคคลให้แน่ชัดว่าผู้ถอนเป็นบุคคลเดียวกับโจทก์หรือไม่ จึงต้องรับผิดชำระเงิน 400,000 บาท คืนโจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธ โดยแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2543 จนถึงวันฟ้อง คิดเป็นดอกเบี้ย 8,824 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 408,824 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

           จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกค้าจำเลยสาขาสมุทรสงคราม ประเภทบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 709-2-23876-5 โดยโจทก์ขอเปิดบัญชีกับจำเลยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 ยินยอมที่จะปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยและได้มอบตัวอย่างลายมือชื่อในการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าว ระบุเงื่อนไขในการสั่งจ่ายว่า เจ้าของบัญชีลงลายมือชื่อสั่งจ่ายแต่เพียงผู้เดียวให้ไว้แก่จำเลย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2542 มีบุคคลนำสมุดคู่ฝากของโจทก์พร้อมด้วยใบถอนเงินฝากซึ่งระบุชื่อโจทก์ เลขที่บัญชีและจำนวนเงินที่ถอน 400,000 บาท มีลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้รับเงินและช่องเจ้าของบัญชีมาขอถอนเงินจากจำเลยสาขาสมุทรสงคราม 400,000 บาท จำเลยโดยสุจริตได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบการจ่ายเงินให้แก่บุคคลผู้นำสมุดคู่ฝากและใบสำคัญในการถอนเงินมาเบิกเงินจากจำเลยได้ตรวจดูลายมือชื่อในใบถอนเงินเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อที่โจทก์ได้มอบไว้ ปรากฏว่ามีลักษณะลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน จำเลยเชื่อโดยสุจริตเชื่อว่าบุคคลนั้นเป็นตัวโจทก์จริงจึงจ่ายเงิน 400,000 บาท ตามที่ขอถอนให้แก่บุคคลนั้นไปซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงานของจำเลยโจทก์ร่วมกับบุคคลภายนอกฉ้อฉลจำเลยโดยให้บุคคลภายนอกนำสมุดคู่ฝากของโจทก์พร้อมด้วยใบถอนเงินซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ และนำมาถอนเงิน 400,000 บาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง

           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กรกฎาคม 2543) ต้องไม่เกิน 8,824 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

           จำเลยอุทธรณ์
           ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 8,000 บาท แทนโจทก์

           จำเลยฎีกา
           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับจำเลย สาขาสมุทรสงคราม ประเภทบัญชีเงินฝากประจำ บัญชีเลขที่ 709-2-23876-5 โดยให้ตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ไว้เพื่อการเบิกถอนเงินจากบัญชีและมีเงื่อนไขให้โจทก์เป็นผู้ถอนเงินแต่เพียงผู้เดียว จำเลยได้มอบสมุดคู่ฝากของบัญชีเงินฝากนั้นแก่โจทก์เพื่อประกอบการถอนเงินจากบัญชีโจทก์มีเงินฝากอยู่ในบัญชีดังกล่าว 400,000 บาทเศษ ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม 2542 มีบุคคลอื่นปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในใบถอนเงินพร้อมทั้งใช้สมุดคู่ฝากดังกล่าวถอนเงินไปจากบัญชี 400,000 บาท ที่จำเลยฎีกาทำนองว่าโจทก์ไม่ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาสมุดคู่ฝาก ทำให้บุคคลอื่นนำสมุดคู่ฝากไปถอนเงิน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น จำเลยคงให้การต่อสู้แต่เพียงว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับการถอนเงินแล้วและเชื่อโดยสุจริตว่า บุคคลที่มาถอนเงินคือตัวโจทก์ จึงจ่ายเงินให้ไป โจทก์ร่วมกับบุคคลภายนอกฉ้อฉลจำเลยโดยให้บุคคลภายนอกนำสมุดคู่ฝากพร้อมใบถอนเงินที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้มาถอนเงินไป จำเลยไม่ต้องรับผิดเท่านั้น ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาวินิจฉัยเพียงข้อเดียวว่า จำเลยประมาทเลินเล่อในการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาในปัญหานี้อ้างว่าตามระเบียบปฏิบัติงานของจำเลย การเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของลูกค้าในกรณีที่ลูกค้ามาเบิกถอนเงินด้วยตนเองไม่ต้องแสดงหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน เว้นแต่บุคคลที่มาถอนเงินมีพฤติการณ์หรือมีเหตุอันควรให้สงสัย นางสาววิภาวรรณหรือชมภู่ คงรักษา พนักงานของจำเลยได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้วเชื่อโดยสุจริตว่า บุคคลที่นำสมุดคู่ฝากมาเบิกเงินเป็นตัวโจทก์จึงอนุมัติให้จ่ายเงินได้ เป็นการใช้ความระมัดระวังเพียงพอแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิด เห็นว่า ตามข้อตกลงในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ถอนเงินแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นไปย่อมเป็นการผิดจากข้อตกลงดังกล่าว นางสาววิภาวรรณพยานโจทก์และพยานจำเลยซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยทำหน้าที่เบิกจ่ายเงินหน้าเคาน์เตอร์ในวันที่มีการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของโจทก์ยังเบิกความว่าพยานเพิ่งรู้จักโจทก์เมื่อโจทก์มาติดต่อพยานเกี่ยวกับเรื่องสมุดเงินฝากของโจทก์หายไปและเงินในบัญชีของโจทก์สูญหายเป็นเงิน 400,000 บาท ซึ่งแสดงว่าในวันที่มีการเบิกจ่ายเงินไปจากบัญชีของโจทก์ในครั้งนี้ พยานไม่รู้จักตัวโจทก์และไม่ได้ตรวจสอบบัตรประชาชนของผู้ขอเบิกเงินเสียก่อน ในกรณีเช่นนี้พยานซึ่งพนักงานของจำเลยและจำเลยในฐานะผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ย่อมต้องใช้ความระมัดระวังตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อนว่า บุคคลที่มาขอเบิกเงินจากบัญชีฝากของโจทก์คือตัวโจทก์โดยอาจขอดูบัตรแสดงตัวของบุคคลดังกล่าว ซึ่งอาจได้แก่บัตรประจำตัวประชาชน การที่จำเลยถือเอาสมุดคู่ฝากและใบถอนเงินประกอบกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยเป็นหลักฐานให้บุคคลดังกล่าวถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ไปย่อมไม่เป็นการใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอสมกับฐานะของผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ทั้งยังได้ความว่า ลายมือชื่อของผู้ถอนเงินในใบถอนเงินนั้นไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์แต่อย่างใด นอกจากนี้ตามระเบียบปฏิบัติงานของจำเลยเกี่ยวกับการถอนเงินฝากประจำ ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับพนักงานของจำเลยก็กำหนดแต่เพียงว่าผู้ฝากหรือเจ้าของบัญชีต้องมาถอนเงินด้วยตนเองแล้วให้พนักงานของจำเลยตรวจรายงานในใบถอนเงินและการลงลายมือชื่อของเจ้าของบัญชีให้เรียบร้อยปรากฏตามคู่มือและระเบียบปฏิบัติงานเอกสารหมาย ล.4 มิได้กำหนดว่าการที่ลายมือชื่อของผู้ขอเบิกเงินในใบเบิกเงินเหมือนหรือคล้ายกับตัวอย่างลายมือชื่อของผู้ฝากหรือเจ้าของบัญชีแล้วให้ถือว่าบุคคลผู้มาขอเบิกเงินเป็นผู้ฝากเงินหรือเจ้าของบัญชีด้วยโดยไม่ต้องตรวจดูบัตรประจำตัวประชาชนดังที่จำเลยอ้าง ดังนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
           พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 4,000 บาท แทนโจทก์.
 
 
( นินนาท สาครรัตน์ - จรัส พวงมณี - สถิตย์ ทาวุฒิ )
 
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-11 17:44:28


ความคิดเห็นที่ 3 (2307227)

ปลอมและใช้ใบถอนเงินฝากปลอม

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8204/2543

 
          การที่จำเลยปลอมและใช้ใบถอนเงินฝากปลอม กับปลอมและใช้สมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากปลอมถอนเงินเกินกว่าจำนวนที่จำเลยได้รับมอบฉันทะแล้วยักยอกเอาเงินส่วนที่เกินไป ก็เพื่อเจตนาจะยักยอกเงินส่วนที่เกินจากธนาคารและแสดงต่อผู้เสียหายนั่นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมหรือเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลอมใบถอนเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาย่อยเกาะพงัน อันเป็นเอกสารสิทธิ ซึ่งสำนักงานสุขาภิบาลเกาะพงันผู้เสียหายมอบฉันทะให้จำเลยนำไปเบิกถอนเงิน โดยจำเลยกรอกข้อความแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนว่า "ขอถอนเงินฝากจำนวนหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นแปดพันสี่ร้อยหกสิบห้าบาทถ้วน - ๑๗๘,๔๖๕ บาท" ซึ่งความจริงแล้วผู้เสียหายมอบฉันทะให้จำเลยถอนเงินเพียง ๘,๔๖๕ บาท และจำเลยใช้เอกสารดังกล่าวแสดงต่อพนักงานของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาย่อยเกาะพงัน เพื่อขอเบิกเงิน ๑๗๘,๔๖๕ บาท หลังจากนั้นจำเลยปลอมสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝาก อันเป็นเอกสารสิทธิซึ่งธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาย่อยเกาะพงัน ได้มอบให้ผู้เสียหายไว้ โดยกรอกข้อความเพิ่มเติมบางส่วนในรายการบัญชี "ถอน - ๑๗๘,๔๖๕.๐๐ บาท คงเหลือ ๔๐๙,๘๘๘.๐๐ บาท" และใช้สมุดคู่ฝากบัญชีดังกล่าวแสดงต่อผู้เสียหาย แล้วจำเลยได้เบียดบังเงินจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท ของผู้เสียหายเป็นของตนโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ ,๒๖๕ , ๒๖๘ , ๓๕๒ , ๙๑
          จำเลยให้การรับสารภาพ

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ , ๒๖๘ , ๓๕๒ วรรคแรก จำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอม ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานใช้ใบถอนเงินฝากปลอม จำคุก ๑ ปี ฐานใช้สมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากปลอม จำคุก ๑ ปี ฐานยักยอก จำคุก ๑ ปี รวมจำคุก ๓ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน

          จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ
          ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยปลอมใบถอนเงินฝากแล้วนำไปใช้แสดงต่อธนาคารเพื่อถอนเงินเกินกว่าที่ตนได้รับมอบฉันทะ แล้วยักยอกเอาเงินของผู้เสียหายส่วนที่เกินไปนั้น เป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง แม้จะปรากฏว่าจำเลยชดใช้เงินให้ผู้เสียหายเต็มจำนวนที่ยักยอกไปก็ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง การที่จำเลยปลอมและใช้ใบถอนเงินฝากปลอม กับปลอมและใช้สมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากปลอมก็เพื่อเจตนาที่จะยักยอกเงินจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท ของผู้เสียหายนั่นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมา ๓ กระทงนั้น ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

          พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทและบางบทมีโทษเท่ากัน เห็นสมควรลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุก ๑ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๘.
 
 
( วิเทพ ศิริพากย์ - มงคล ทับเที่ยง - ปุญพัฒน์ อิทธิธรรมวินิจ )
 
ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี - นายนวพงษ์ บุญสิทธิ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นางนพวรรณ อินทรัมพรรย์
 

          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-11 20:14:28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล