ReadyPlanet.com


ไฟไหม้บ้าน


สวัสดีครับ อาจารย์    คือว่าบ้านที่ผมอยู่ถูกไฟไหม้   บ้านผมเป็นตึก แถวสามชั้น    บ้านต้นเพลิงอยู่ห้องแรก

เจ้าของให้คนอื่นมาเช่าร้านทำผม  แล้วมีปัญหาทะเลาะกลับผู้เช่า   เขาเลยย้ายบ้านหนีตอนกลางคืน  เสร็จแล้วเอานำมันเบ็นซินราดแล้วจุดไฟเผา ไฟลามมาที่บ้านของผมกับบ้านข้างๆอีกสองห้อง   ไม่ทราบว่าผมจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของบ้านได้ไมหมครับ   เพราะตอนนี้เจ้าของบ้านเอาแต่นิ่เงียบไม่ทำอะไรเลย 



ผู้ตั้งกระทู้ ธีรยุทย :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-16 19:37:06


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2306973)

การจะฟ้องให้เขาต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ก็ต้องได้ข้อยุติว่าเขาเป็นผู้กระทำละเมิดครับ ดังนั้นคงต้องติดตามความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเหตุเกิดเพลิงไหมจากผู้ใด ถ้าเป็นเพราะผู้เช่าก็ต้องหาตัวผู้ที่วางเพลิงและต้องฟ้องผู้กระทำความผิดครับเพราะเจ้าของบ้านก็ถูกไฟไหม้บ้านเสียหายเหมือนกันครับ

มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-10-10 21:33:22


ความคิดเห็นที่ 2 (2307157)

 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6159/2551

 
          เมื่อทรัพย์ที่เช่าคือโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายทั้งหลัง สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 เมื่อทรัพย์ที่เช่าสูญหายหรือเสียหายไปโดยสิ้นเชิง จึงไม่สามารถที่จะส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าได้ ดังนั้น คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องจำเลยภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่า กระทำละเมิดเป็นเหตุให้โรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายถูกเพลิงไหม้ ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อปรากฏว่า คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งที่โจทก์ได้แต่งตั้งขึ้นได้ทำรายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งแจ้งแก่ผู้ว่าการของโจทก์ระบุว่า ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องในทางที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้และจะต้องรับผิดในทางแพ่ง แต่เห็นว่าจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ผิดสัญญาโดยทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เช่า จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าจะต้องส่งมอบโรงงานมาตรฐานที่เช่าจากโจทก์คืนในสภาพเรียบร้อยเมื่อคืนไม่ได้แล้วต้องชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี

          เหตุเกิดเพลิงไหม้โรงงานมาตรฐานของโจทก์ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ การที่จำเลยไม่ดูแลให้ดีทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิด เว้นแต่ว่าจำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เมื่อมิใช่เหตุสุดวิสัยและมิได้เกิดเพราะความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย จำเลยจึงปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่
 
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/30  อายุความนั้น  ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา 437  บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย

มาตรา 553  ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่านั้นเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย

มาตรา 563  คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้นท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า

มาตรา 567  ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปทั้งหมดไซร้ ท่านว่าสัญญาเช่าก็ย่อมระงับไปด้วย
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายอันเกิดแก่โรงงานของโจทก์จำนวน 2,773,220.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,564,828.02 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 จำเลยทำสัญญาเช่าโรงงานมาตรฐานในเขตอุตสาหกรรมส่งออกลาดกระบัง 2 หลัง เนื้อที่ 2,106 ตารางเมตร มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ถึง 31 ตุลาคม 2536 จำเลยได้ชำระเงิน 600,210 บาท ให้แก่โจทก์เป็นประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่าหรือแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ หากจำเลยมีหนี้ผูกพันต้องชำระให้แก่โจทก์ จำเลยยินยอมให้โจทก์หักเงินประกันชำระหนี้ได้หากชำระแล้วยังไม่พอก็ให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้จนครบ โจทก์ได้ส่งมอบโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังให้แก่จำเลยแล้ว วันที่ 7 มีนาคม 2536 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงงานมาตรฐานหลังที่ 2 เจ้าพนักงานของกองพิสูจน์หลักฐานได้ทำความเห็นว่า สาเหตุของเพลิงไหม้เกิดจากการอาร์คหรือสปาร์คของขั้วหลอดฟลูออเรสเซนต์กับขาหลอดของชุดหลอดฟลูออเรสเซนต์ทำให้เกิดการสะสมความร้อนจนพลาสติกขาหลอดหลอมละลายลุกติดเป็นเปลวไฟตกไปถูกกับวัตถุที่ไหม้ไฟได้ง่าย เช่น โฟมหรือกล่องกระดาษ ทำให้เกิดการลุกไหม้ขึ้น ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2536 เวลากลางวัน เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงงานมาตรฐานหลังที่ 1 เจ้าพนักงานของกองพิสูจน์หลักฐานทำความเห็นว่าสาเหตุเพลิงไหม้น่าจะเกิดจากการสะสมความร้อนในตัวพัดลมอันเนื่องมาจากความชำรุดตามสภาพการใช้งาน หรือเปิดใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ถึงจุดติดไฟแล้วตกลงไปลุกไหม้ทรัพย์สินใกล้เคียงจนได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่ง คณะกรรมการดังกล่าวสรุปความเห็นว่าจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ผิดสัญญาโดยทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เช่า จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ผู้แทนโจทก์ได้รับทราบรายงานดังกล่าววันที่ 19 กรกฎาคม 2537 และมีคำสั่งแจ้งให้จำเลยทราบพร้อมนำเงินประกันที่จำเลยวางไว้มาหักเป็นค่าเสียหาย

          มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ในเบื้องต้นต้องวินิจฉัยก่อนว่า โรงงานมาตรฐานของโจทก์ทั้งสองหลังได้รับความเสียหายเพียงใด โจทก์มีนายอำพล และนายอัมพร เบิกความว่าโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง เห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากสอดคล้องกับภาพถ่าย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ซึ่งจำเลยเองก็ยอมรับว่าได้ย้ายที่ทำการไปอยู่แห่งใหม่แล้ว เมื่อทรัพย์ที่เช่าคือโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังได้รับความเสียหายทั้งหลัง สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 เมื่อทรัพย์เช่าสูญหายหรือเสียหายไปโดยสิ้นเชิง จึงไม่สามารถที่จะส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าได้ ดังนั้น คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องจำเลยภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่า กระทำละเมิดเป็นเหตุให้โรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายถูกเพลิงไหม้ ดังนั้น โจทก์จะต้องฟ้องผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งที่โจทก์ได้แต่งตั้งขึ้นได้ทำรายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งแจ้งแก่ผู้ว่าการของโจทก์ระบุว่าไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องในทางที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้และจะต้องรับผิดในทางแพ่ง แต่เห็นว่าจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ผิดสัญญาโดยทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เช่า จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่า จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าจะต้องส่งมอบโรงงานมาตรฐานที่เช่าจากโจทก์คืนในสภาพเรียบร้อย เมื่อคืนไม่ได้แล้วต้องชดใช้ค่าเสียหายซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี โจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

          เนื่องจากศาลชั้นต้นได้สืบพยานคู่ความมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปโดยไม่ย้อนสำนวน มีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์มีร้อยตำรวจเอกกิตติ ซึ่งรับราชการอยู่กองพิสูจน์หลักฐานเบิกความว่า เหตุที่เกิดไฟไหม้โรงงานมาตรฐานของโจทก์หลังที่ 2 สืบเนื่องจากการหลอมละลายของขั้วหลอดไฟหรือการสปาร์ค สาเหตุมาจากการใส่ขั้วของหลอดดังกล่าวไม่แน่นหรือเกิดจากการใช้งานเป็นเวลานานทำให้พลาสติกที่ขั้วหลอดนั้นหลอมละลายเมื่อตกลงมาถูกวัสดุหรือกล่องกระดาษก็จะเกิดไฟลุกไหม้ และพันตำรวจตรีประสิทธิ์ รับราชการที่กองพิสูจน์หลักฐานเบิกความว่า เหตุที่เกิดเพลิงไหม้โรงงานมาตรฐานหลังที่ 1 ของโจทก์เกิดจากความร้อนสะสมที่ตัวมอเตอร์พัดลมจากการเปิดพัดลมไว้นาน ๆ หรือความชำรุดโดยสภาพของพัดลม เมื่อมีความร้อนมากๆ ทำให้ทรัพย์สินบริเวณใกล้เคียงเกิดไฟลุกไหม้ขึ้น เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์หลักฐานด้านการเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งได้เบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ ส่วนจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เหตุเกิดเพลิงไหม้เป็นไปดังที่พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความ เมื่อจำเลยเป็นครอบครองไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ การที่จำเลยไม่ดูแลให้ดีทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิด เว้นแต่ว่าจำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุดังกล่าวมิใช่เหตุสุดวิสัยมิได้เกิดเพราะความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย จำเลยจึงปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่

          มีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด โจทก์มีนางราตรีหัวหน้างานบัญชีบริหารซึ่งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้างานรักษาการบัญชีทรัพย์สินได้ตีราคาอาคารโรงงานมาตรฐานของโจทก์โดยอาศัยรายงานทรัพย์สิน ปี 2535 และ 2536 ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินโดยหักราคาซากและหักค่าเสื่อมราคาของแต่ละปีตามกฎกระทรวงการคลังแล้ว โจทก์ได้รับความเสียหาย 3,165,038.02 บาท ตามรายละเอียดการคำนวณมูลค่าโรงงานมาตรฐาน แต่เนื่องจากหลังจากไฟไหม้แล้วยังมีวัสดุที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้คือโครงสร้างซึ่งเป็นเหล็ก ซึ่งเดิมโจทก์ได้ประเมินราคาซากไว้ 410,549.02 บาท แต่ภายหลังกล่าวอ้างว่าไม่มีมูลค่า เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงสร้างเหล็กดังกล่าวสามารถนำไปขายได้ราคา จึงเห็นควรกำหนดราคาซากเท่ากับที่โจทก์เคยตีราคาไว้ เมื่อหักจากเงินประกันที่จำเลยมอบไว้แก่โจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดเป็นเงิน 2,154,279 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่สัญญาเช่าเลิกต่อกัน แต่โจทก์ขอนับแต่วันที่ 9 มกราคม 2540 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลัง จึงเห็นควรกำหนดให้ตามขอ”

          พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 2,154,279 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
 
 
( ศิริชัย วัฒนโยธิน - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล - กีรติ กาญจนรินทร์ )
 
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-11 15:52:39


ความคิดเห็นที่ 3 (2307158)

 

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1083/2533

 
          เหตุเพลิงใหม้ เกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 ในขณะปฏิบัติงานตามหน้าที่แม้พนักงานหรือคนงานผู้ทำละเมิดอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2และที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพนักงานหรือคนงานดังกล่าวต่างปฏิบัติงานให้จำเลยที่ 1 ด้วยกัน จึงอยู่ในฐานะนายงานกับคนงานเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนผิดในการออกคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานจนเกิดความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย แม้ไม่ได้ความว่าผู้ทำละเมิดเป็นใคร แต่เมื่อฟังได้ว่าผู้ทำละเมิดเป็นพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดในขณะปฏิบัติการงานของจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ที่รับมอบหมาย พนักงานดังกล่าวถือได้ว่าเป็นผู้แทนอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76.
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชนทั้งเป็นการครอบครองทรัพย์อันตรายโดยสภาพ จำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหัวหน้าเขตจำหน่ายบางกะปิ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกิจการและการปฏิบัติงานของสาขาเขตบางกระปิของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหัวหน้าเวรสาขาเดียวกัน มีหน้าที่ดูแลรักษา ควบคุมครอบครองตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2526 เวลา 12.30 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่อยู่ทำการตรวจตราตามหน้าที่ และเพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีอิฐทนไฟก่อเป็นกำแพงป้องกันไฟ เป็นเหตุให้เพลิงไหม้อาคารไม้ชั้นเดียวซึ่งเป็นที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ของจำเลยที่ 1 และปลูกอยู่ด้านหลังตึกแถวของโจทก์ทั้งสาม เพลิงได้ลุกลามไหม้ตึกแถวของโจทก์ทั้งสามตลอดจนทรัพย์สินในอาคารเสียหาย เป็นการละเมิดต่อโจทก์ในขณะที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นลูกจ้างและทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายเป็นเงิน 157,000 บาท 131,300 บาท และ109,300 บาท ตามลำดับ รวมค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 397,600บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 29,820 บาท รวมเป็นเงิน 427,420 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 397,600 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่มีหน้าที่ดังที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมบังคับบัญชาพนักงานของฝ่ายจำหน่ายที่ประจำอยู่เขตบางกะปิ เกี่ยวกับการรับคำขอใช้ไฟฟ้า การสำรวจสถานที่ใช้ไฟฟ้าและการติดตั้งไฟฟ้า มิได้มีหน้าที่ควบคุมรับผิดชอบพนักงานฝ่ายอื่นที่ประจำอยู่เขตบางกะปิ เพราะแต่ละฝ่ายมีหัวหน้าเขตประจำรับผิดชอบอยู่ และในวันเกิดเหตุเพลิงไหม้ตามฟ้อง จำเลยที่ 2ก็มิได้มาปฏิบัติงานแต่อย่างใด สำหรับจำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งช่างเทคนิคสายอากาศ 5 หมวดประมาณการ เขตจำหน่ายบางกะปิ ฝ่ายจำหน่าย มีหน้าที่ทำการประมาณราคาค่าใช้จ่ายรวมทั้งออกสำรวจและทำแผนที่สถานที่ของผู้ขอใช้ไฟฟ้ากับคำนวณการใช้กระแสไฟฟ้า เมื่อวันที่6 กุมภาพันธ์ 2526 จำเลยที่ 3 ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเวรแก้ไฟฟ้าขัดข้อง จึงได้มาปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานอื่น ๆ อีก 13 คน และได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่อาคารเก็บเครื่องมือและวัสดุจริง แต่อยู่คนละอาคารกับที่จำเลยที่ 3 ปฏิบัติงาน เพลิงเกิดลุกไหม้โดยไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นผู้ก่อหรือประมาททำให้เกิดเพลิงไหม้ จึงมิต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมิต้องรับผิดด้วยโจทก์ทั้งสามเสียหายไม่เกิน30,000 - 50,000 บาท

          จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย พิพากษายกฟ้อง
          โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ทั้งสามฎีกา
          ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุที่เกิดเพลิงไหม้คดีนี้เกิดจากพนักงานหรือคนงานคนใดคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 เข้าไปใช้ห้องเก็บของในอาคารที่เกิดเหตุในระหว่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ แล้วทิ้งวัตถุติดไฟไว้โดยความประมาทเลินเล่อจึงเกิดไหม้ลุกลามออกไปจนไหม้ตึกแถวของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าเขตจำหน่ายบางกะปิ และมีหน้าที่ควบคุมดูแลอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อยู่ด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าเวรแก้ไฟเสีย ซึ่งมาปฏิบัติงานในวันเกิดเหตุ และวินิจฉัยว่าแม้จำเลยที่ 2 จะมีหน้าที่ควบคุมดูแลอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ก็ตาม แต่ได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของนายประสิทธิ์ว่า จำเลยที่ 1เป็นผู้จัดให้มียามรักษาการณ์บริเวณการไฟฟ้านครหลวง เขตบางกะปิอยู่3 จุด คือประตูใหญ่ด้านหน้า อาคารที่ว่าการ และคลังพัสดุ ไม่ได้ความจากพยานของฝ่ายใดเลยว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องจัดเวรยามดูแลอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะวันเกิดเหตุก็เป็นวันหยุดงาน ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ตนไม่มีหน้าที่ต้องมาอยู่เวรยามหรือตรวจตราเจ้าหน้าที่และโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น แม้จะได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าเวรแก้ไฟเสียในวันเกิดเหตุ ก็ได้ความว่ามีหน้าที่เพียงจัดเวรพนักงานออกไปตรวจแก้ไฟฟ้าขัดข้างนอกที่ทำการ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการใช้อาคารที่เกิดเพลิงไหม้ด้วย ทั้งการใช้อาคารดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่พนักงานของจำเลยที่ 1ใช้กันเป็นประจำทั้งในวันเปิดทำการและวันหยุดดังที่ได้ความมาข้างต้นจึงถือได้ว่าการใช้อาคารที่เกิดเพลิงไหม้ในลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้เพื่อปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายกันตามปกติเป็นประจำจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนเช่นกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ และแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าผู้ทำละเมิดต่อโจทก์คือพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อในขณะปฏิบัติหน้าที่การงานของจำเลยที่ 1 ดังวินิจฉัยมาแล้ว และแม้พนักงานหรือคนงานเหล่านี้อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 และที่ 3แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และพนักงานหรือคนงานดังกล่าวต่างเป็นพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 และต่างปฏิบัติงานในหน้าที่ให้จำเลยที่ 1ด้วยกัน จึงอยู่ในฐานะนายงานกับคนงาน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 มีส่วนผิดในการออกคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานจนเกิดความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ตอ้งร่วมรับผิดด้วยส่วนจำเลยที่ 1 นั้น แม้จะไม่ได้ความว่าผู้ทำละเมิดเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ทำละเมิดเป็นพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1ได้ทำละเมิดในขณะปฏิบัติการงานของจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ที่รับมอบหมาย พนักงานหรือคนงานดังกล่าวถือได้ว่าเป็นผู้แทนอื่น ๆของจำเลยที่ 1 เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 1ก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ และฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายเป็นเงิน 99,150 บาท 64,000 บาท และ 43,500 บาทตามลำดับ

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 206,650 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2526จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาทค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 2 และที่ 3ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.
 
 
( มนู วงศ์แสงจันทร์ - เสริมพงศ์ วรยิ่งยง - ชุม สุกแสงเปล่ง )
 

          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-11 15:56:45



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล