ReadyPlanet.com


บุตรบุญธรรม


 รบกวนสอบถามหน่อยค่ะ ถ้าไม่ได้จดเอกสารรับรองบุตร แล้วทีนี้บุตรคนนี้ไปกระทำความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน คือในความเข้าใจของดิฉัน ตามกฎหมายถือว่าไม่ใช่ผู้ปกครอง ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบกับสิ่งที่เขากระทำใช่ไหมค่ะ ถูกผิดช่วยแนะนำด้วยค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ รบกวนค่ะ :: วันที่ลงประกาศ 2013-02-03 16:08:18


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2332193)

บิดาไม่ได้รับรองบุตรต้องรับผิดชอบต่อบุตรผู้เยาว์ที่ไปทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกหรือไม่?

มารดา เป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายเสมอ

มาตรา 1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

คนที่รับเด็กมาเลี้ยงดูแต่ไม่ได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถือว่าเป็นผู้รับดูแลผู้เยาว์ตาม มาตรา 430 ต้องร่วมรับผิดครับ

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9184/2539

 
          จำเลยที่ 2 เป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้เยาว์ การที่จำเลยที่ 1 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่นจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 มาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ไม่ได้ แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ปกครองดูแลจำเลยที่ 1ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 มาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3ซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจในขณะที่จำเลยที่ 3 ขายของ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 แอบหยิบเอากุญแจไปใช้ขับรถยนต์จิ๊ปโดยประมาทชนรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการทำละเมิดต่อโจทก์
 

มาตรา 429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น
 
มาตรา 430  ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์และอยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาได้ขับรถยนต์จิ๊ปของจำเลยที่ 4 ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะแล้วเสียหลักชนกับรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายและเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวได้ซ่อมแซมเสียค่าใช้จ่ายไปจำนวน 150,000 บาท จำเลยที่ 2และที่ 3 ในฐานะบิดามารดาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์จิ๊ปต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวน 154,191.78 บาท พร้อมดอกเบี้ย

          จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเหตุแห่งการละเมิดทั้งหมดเกิดจากความประมาทของนายนิพนธ์บุญจันทร์ผู้ขับรถยนต์กระบะ จนเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกันจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทและไม่ได้อยู่ในความปกครองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ใช้ความระมัดระวังดีแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นคนบอกให้จำเลยที่ 3นำกุญแจรถจิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำละเมิดด้วยจึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินสมควรหากเสียหายก็ไม่เกิน 30,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
          จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง(วันที่ 24 มกราคม 2533) จะต้องไม่เกิน 4,191.78 บาทตามที่โจทก์ขอ จำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
          จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงและการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238, 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ 18 ปีเศษยังเป็นผู้เยาว์และเป็นบุตรอยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยที่ 2ที่ 3 ซึ่งเป็นสามีภรรยากันแต่มิได้จดทะเบียนสมรส โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 4 จ-7244 กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2532 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 1ได้ขับรถยนต์จิ๊ปหมายเลขทะเบียน น-5652 ชลบุรี ของจำเลยที่ 4ไปตามถนนสุขุมวิทจากอำเภอบ้านฉางมุ่งหน้าไปทางอำเภอเมืองระยองด้วยความเร็วสูงและประมาทล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่แล่นสวนทางมาและได้เกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ผ-0005 ชลบุรี ซึ่งแล่นสวนทางมาที่บริเวณหน้าวัดชากลูกหญ้า แล้วรถยนต์จิ๊ปเสียหลักและได้แล่นเข้าชนรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้ซึ่งแล่นตามหลังรถยนต์กระบะได้รับความเสียหาย มีปัญหาที่จะรับวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ในปัญหาแรกคือ ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 430 มาใช้บังคับให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ การที่จำเลยที่ 1 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่น จะนำมาตรา 429 มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ไม่ได้ แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ปกครองดูแลจำเลยที่ 1ต้องนำมาตรา 430 มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2ศาลอุทธรณ์จึงนำมาตรา 430 มาใช้บังคับให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ได้โดยชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
          ปัญหาสุดท้าย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตามสมควรหรือไม่ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 หรือการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3เคยยอมโดยปริยายให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปที่ไร่ที่กิ่งอำเภอวังจันทร์ ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เคยว่ากล่าวตักเตือนจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการนำข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในสำนวนมาวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ และจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตามสมควรแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้นเห็นว่า จากพยานหลักฐานในคดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 และที่ 3เคยยอมโดยปริยายให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปที่ไร่ที่กิ่งอำเภอวังจันทร์ โดยไม่เคยว่ากล่าวตักเตือนจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงมาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนนี้ใหม่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(3)(ก), 247โดยเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้บอกจำเลยที่ 3 ให้นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 และได้ความจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถไม่ค่อยเป็นไม่สามารถขับรถยนต์ออกถนนใหญ่ได้ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ทราบดีและยังทราบว่าจำเลยที่ 1เคยขับรถยนต์ไปที่ไร่ที่กิ่งอำเภอวังจันทร์ด้วย จากข้อเท็จจริงดังได้ความตามที่วินิจฉัยแล้วข้างต้นเห็นว่า ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ควรจะเก็บกุญแจรถยนต์จิ๊ปไว้ในที่ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำออกไปใช้ได้ การที่จำเลยที่ 2ให้จำเลยที่ 3 นำกุญแจรถยนต์จิ๊ปไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินในร้านขายของของจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจในขณะที่จำเลยที่ 3ขายของ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 แอบหยิบเอากุญแจไปใช้ขับรถยนต์จิ๊ปโดยประมาทชนรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 บุตรผู้เยาว์ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการทำละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"
          พิพากษายืน
 
 
( พรชัย สมรรถเวช - สถิตย์ ไพเราะ - สมคิด ไตรโสรัส )
 
 

          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2013-02-04 21:17:41



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล