ReadyPlanet.com


ข้อบังคับการทำงาน


บริษัทฯต้องการเปลี่ยนแปลงวันยุดเป็นรายไตรมาส (เดิม ทำงานวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.00-17.00 น.)

ไตรมาสที่ 1 ให้พนักงานทำงานวันจันทร์-วันศุกร์  เวลา 8.00-17.00 น.

ไตรมาสที่ 2,3,4 ให้พนักงานทำงานวันจันทร์-้เสาร์ เวลา 8.00-17.00 น.

ไม่ทราบว่าบริษัท สามารถทำการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว เป็นรายไตรมาสได้หรือไม่ค่ะ หรือว่าต้องประกาศครั้งเดียวและ ขัดกับกม.แรงงานข้อไหนบ้างหรือไม่?



ผู้ตั้งกระทู้ วรรณ :: วันที่ลงประกาศ 2012-12-12 11:21:34


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2320702)

ขัดต่อ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ 2518

มาตรา 20 เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้าง ทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้าง แรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-12-13 07:21:09


ความคิดเห็นที่ 2 (2320703)

แก้ไขข้อบังคับทำให้สิทธิของลูกจ้างลดลง

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2541/2533

 
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 1
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 4, 5, 10
 
          วัตถุประสงค์ของจำเลยตามที่ปรากฏเห็นได้ในตัวว่าเป็นการแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ เป็นการแปล กฎหมาย ไม่ใช่ข้อเท็จจริงศาลแรงงานกลางไม่ต้องฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 31 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2519 ซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวโจทก์มีสิทธิได้รับทั้งเงินจากกองทุนสงเคราะห์และค่าชดเชย ต่อมาจำเลยได้ปรับปรุงข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ใหม่เป็นฉบับที่ 24 พ.ศ. 2525 ซึ่งกำหนดว่าพนักงานที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับนี้ทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามข้อบังคับเดิมลดลงไป เมื่อจำเลยแก้ไขข้อบังคับโดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วย จึงไม่ผูกพันโจทก์ สิทธิของโจทก์ในเรื่องเงินกองทุนสงเคราะห์จึงต้องบังคับตามฉบับที่ 31(ข้อบังคับทั้งสองฉบับมิได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง).
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ต่อมาวันที่ 11 สิงหาคม2532 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ขณะโจทก์เป็นพนักงานของจำเลย จำเลยมีข้อบังคับฉบับที่ 31 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2519 ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์เมื่อพ้นจากตำแหน่งตามข้อ 7(2) และข้อ 8 ต่อมาจำเลยออกข้อบังคับฉบับที่ 24 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2525 เป็นการตัดสิทธิของพนักงาน ข้อบังคับฉบับที่ 24 จึงไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์ทั้งสิ้น 110,240 บาท ได้ทวงถามแล้วแต่จำเลยจ่ายไม่ครบขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์จำนวน 45,244.39 บาท พร้อมดอกเบี้ย

          จำเลยให้การว่า กิจการของจำเลยไม่ได้มีวัตถุประสงค์แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ จึงไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ข้อบังคับฉบับที่ 31 ถูกยกเลิกและใช้ข้อบังคับฉบับที่ 24 ที่กำหนดขึ้นใหม่ ซึ่งไม่ตัดสิทธิโจทก์แต่ประการใด เมื่อคำนวณหักค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ไปแล้วโจทก์คงมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์เพียง 64,995.61 บาทซึ่งจำเลยจ่ายให้ครบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

          วันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า ข้อบังคับฉบับที่ 31 และฉบับที่ 24 ตามฟ้อง มิได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องแต่จำเลยกำหนดขึ้นเองทั้งสองฉบับ

          ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ข้อบังคับจำเลยฉบับที่ 24 ไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 45,244.39 บาทพร้อมดอกเบี้ย

          จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า วัตถุประสงค์ของจำเลยที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 6 นั้นเห็นได้อยู่ในตัวว่าเป็นการแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในทางเศรษฐศาสตร์มาให้ความเห็น เพราะเป็นเรื่องการแปล กฎหมายไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานต้องฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ และปรากฏว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 31 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นฉบับเดิมใช้บังคับ ต่อมาจำเลยได้ปรับปรุงข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ใหม่ คือฉบับที่ 24 โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ ตามข้อบังคับเดิมคือฉบับที่ 31 นั้น พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่พ้นจากตำแหน่งเพราะถูกเลิกจ้าง ลาออกหรือตาย ก็มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์และเงินจากกองทุนสงเคราะห์นี้มิใช่ค่าชดเชยเพราะมีหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายแตกต่างไปจากค่าชดเชย ดังนั้น ตามข้อบังคับเดิมนอกจากโจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิจะได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ด้วย โดย มิต้องนำค่าชดเชยมาหักจากเงินที่จะได้รับจากกองทุนสงเคราะห์ตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ฉบับเดิม ส่วนข้อบังคับฉบับที่ 24 ที่จำเลยแก้ไขใหม่นั้นกำหนดว่า พนักงานที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับนี้ เว้นแต่ค่าชดเชย ที่มีสิทธิได้รับนั้นมีจำนวนต่ำกว่าเงินสงเคราะห์ก็ จะจ่ายเพิ่มให้เท่าจำนวนที่ต่ำกว่านั้น ซึ่งหมายความว่า หากค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมายมีจำนวนมากกว่าหรือเท่ากับเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับนี้ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เลย เห็นได้ว่าข้อบังคับฉบับที่ 24 ที่จำเลยแก้ไขใหม่นั้นทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามข้อบังคับเดิมลดลงไป เมื่อจำเลยแก้ไขโดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วยจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ สิทธิของโจทก์ในเรื่องเงินกองทุนสงเคราะห์จึงต้องใช้บังคับตามข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่31 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2519 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ส่วนที่ขาดแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
          พิพากษายืน.
 
 
( อุดม เฟื่องฟุ้ง - เคียง บุญเพิ่ม - ปรีชา ธนานันท์ )
 
 

          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-12-13 07:26:06



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล