ReadyPlanet.com


ข้อพิพาทน้ำ


ที่บ้านผมเป็นที่สูง ที่ข้างบ้านเป็นที่ต่ำ เวลามีฝนตกลงมาน้ำก็จะไหลผ่านที่บ้านผมไปที่ข้างบ้านแล้วไหลลงทางน้ำต่อไป  แต่ตอนนี้ข้างบ้านนำดินมาถมที่จากหน้า-หลังบ้านทำให้ตอนเวลามีฝนตกลงมาน้ำได้ไหลเข้าท่วมบ้านของผม ( ระดับน้ำสูงเกินหัวเข่า ) ต้องไปเรียกเทศบาลมาช่วยสูบน้ำออก ข้าว-ของ-เครื่องใช้เสียหาย น้ำไม่สามารถไหลผ่านได้เหมือนเมื่อก่อนเพราะติดแนวคันดินที่ข้างบ้านถมขึ้น ผมทำหนังสือแจ้งถึงเจ้าของที่ 1ให้รื้อแนวคันดินที่ถมทั้งหมด หรือ 2ให้วางท่อระบายน้ำเวลาฝนตกลงมาน้ำจะได้ไม่ท่วมบ้านผมอีก แต่ข้างบ้านไม่ยอมทำตามที่ผมมีหนังสือแจ้งไปและบอกว่าเดี๋ยวจะเอาดินมาถมเพิ่มให้สูงขึ้มไปอีก     ผมอยากปรึกษาแนวทางปฎิบัติหลังจากที่ผมมีหนังสือแจ้งไปแล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ถ้าต้องการดำเนินคดีตามกฎหมาย ***และทรัพย์สินที่เสียหายจากน้ำท่วมนั้นผมสามารถเรียกค่าเสียหายย้อนหลังได้หรือไม่   ขอบคุณมากครับ



ผู้ตั้งกระทู้ B :: วันที่ลงประกาศ 2013-03-23 09:47:16


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2344126)

ถมดินทางระบายน้ำปิดกั้นการระบายน้ำ
ที่ดินที่เป็นที่ลุ่มอยู่ต่ำกว่าจำต้องรับน้ำไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูงมายังที่ดินของตน คดีนี้จำเลยใช้ดินกลบลำรางที่โจทก์เคยระบายน้ำลงสู่บึงน้ำสาธารณะมานาน 40 ปี แล้ว เมื่อจำเลยถมดินกลบลำรางทำให้น้ำท่วมที่นาของโจทก์ ทำให้น้ำที่ทางชลประทานได้เปิดให้ใช้สำหรับทำการเกษตรกรรมที่เคยระบายน้ำผ่านที่ดินของจำเลยไปสู่ทางสาธารณะไม่สามารถระบายน้ำไปสู่บึงน้ำได้ตามปกติ น้ำจึงท่วมทำความเสียหายให้แก่ที่ดินของโจทก์ จำเลยต้องขุดเปิดลำรางดังกล่าว

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1062/2537

   ที่ดินของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นที่ลุ่มอยู่ต่ำกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเจ็ด จำต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1339 วรรคแรกและจำต้องรับน้ำซึ่งไหลเพราะระบายจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตนเพราะก่อนหน้านี้น้ำจากบริเวณที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นที่สูงก็ได้ระบายไหลเข้ามาในที่ดินของจำเลยทั้งสองในบริเวณที่พิพาทตามธรรมดาอยู่แล้วดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1340 วรรคแรกแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อจำเลยทั้งสองใช้ดินกลบลำรางในที่พิพาทเป็นเหตุให้น้ำท่วมนาของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดจนได้รับความเดือดร้อนเสียหายเช่นนี้ โจทก์ทั้งสิบเจ็ดย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองทำที่พิพาทให้เป็นลำรางระบายน้ำตามเดิมได้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณทุ่งใหญ่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเพราะจำเลยทั้งสองใช้ดินกลบลำรางระบายน้ำซึ่งเป็นทางระบายน้ำที่ไหลจากบริเวณที่ดินโจทก์ทั้งสิบเจ็ดผ่านลำรางดังกล่าวไปสู่บึงน้ำสาธารณะมานาน 40 ถึง 50 ปีแล้ว เป็นทางภารจำยอม อันเป็นการบรรยายถึงสิทธิของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดที่จะใช้ลำรางระบายน้ำนั้นได้โดยไม่ให้จำเลยทั้งสองปิดกั้น ซึ่งในคดีแพ่งนั้นโจทก์ไม่จำเป็นจะต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นเพียงพอแล้ว ส่วนบทกฎหมายใดจะใช้บังคับแก่คดีย่อมเป็นหน้าที่ของศาลที่จะยกมาปรับแก่คดีเอง ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า กรณีเป็นเรื่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1339 วรรคแรก และมาตรา 1340 วรรคแรก ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าวได้ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ร่วมกันขุดเปิดลำรางก็ให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดดำเนินการเองโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นแทน ไม่ชอบด้วยวิธีการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบเจ็ดชอบที่จะขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้
 
มาตรา 1339  เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตน
น้ำไหลตามธรรมดามายังที่ดินต่ำ และจำเป็นแก่ที่ดินนั้นไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่สูงกว่าจะกันเอาไว้ได้เพียงที่จำเป็นแก่ที่ดินของตน
 
มาตรา 1340  เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลเพราะระบายจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตน ถ้าก่อนที่ระบายนั้นน้ำได้ไหลเข้ามาในที่ดินของตนตามธรรมดาอยู่แล้ว
ถ้าได้รับความเสียหายเพราะการระบายน้ำ ท่านว่าเจ้าของที่ดินต่ำอาจเรียกร้องให้เจ้าของที่ดินสูงทำทางระบายน้ำและออกค่าใช้จ่ายในการนั้น เพื่อระบายน้ำไปให้ตลอดที่ดินต่ำจนถึงทางน้ำ หรือท่อน้ำสาธารณะ ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิแห่งเจ้าของที่ดินต่ำในอันจะเรียกเอาค่าทดแทน
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่ตั้งอยู่ในท้องที่เดียวกับที่ดินของจำเลยทั้งสองโจทก์ทั้งสิบเจ็ดได้อาศัยที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นเส้นทางระบายน้ำผ่านมาตลอดระยะเวลากว่า 40 ถึง 50 ปี โดยจำเลยทั้งสองหาได้คัดค้านแต่อย่างใด ที่ดินบริเวณดังกล่าวของจำเลยทั้งสองจึงตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2528 จำเลยทั้งสองได้ดันดินถมบริเวณที่ใช้เป็นทางระบายน้ำปิดกั้นการระบายน้ำ ทำให้น้ำที่ทางชลประทานได้เปิดให้ใช้สำหรับทำการเกษตรกรรมที่เคยระบายน้ำผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองไปสู่ทางสาธารณะไม่สามารถระบายน้ำไปสู่บึงน้ำได้ตามปกติ น้ำจึงท่วมทำความเสียหายให้แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดและชาวบ้านนับจำนวนหลายร้อยไร่ ไม่สามารถทำการเพาะปลูกข้าวได้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินทั้ง 2 แปลงของจำเลยทั้งสอง แต่ละแปลงกว้าง 1 วา ยาว 194 เมตร ลึก 1 วาตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันขุดเปิดทางภารจำยอมซึ่งมีความกว้าง 2 วา ยาว 194 เมตร ลึก 1 วา หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถทำการขุดได้ด้วยตนเองหรือไม่ไปทำการขุด ให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นผู้กระทำการแทนโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

          จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดฟ้องว่าได้อาศัยที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นเส้นทางระบายน้ำผ่านมาตลอดระยะเวลา40 ถึง 50 ปี ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ความจริงแล้วเมื่อมีน้ำมากเกินความต้องการ โจทก์ทั้งสิบเจ็ดก็จะระบายน้ำลงสู่คลองส่งน้ำชลประทานราษฎร์ไหลลงสู่บึงไผ่แขก ที่ดินของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นภารจำยอม ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันขุดเปิดลำรางภารจำยอมตรงแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่มที่ 14 กว้างประมาณ 2 วา ยาวประมาณ 194 เมตรลึกประมาณ 1 วา โดยให้ลำรางอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองคนละครึ่งหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดดำเนินการเองโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นแทนและให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดหากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยทั้งสองฎีกา
          ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมนายฉุ่น พันธุ์มุข ทายาทของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่พิพาทนั้นเดิมเป็นลำรางระบายน้ำตามธรรมดาธรรมชาติจากพื้นที่บริเวณทุ่งใหญ่ลงสู่บึงไผ่แขก โดยที่ที่ดินของจำเลยทั้งสองตรงที่พิพาทเป็นที่ลุ่ม เมื่อถึงฤดูน้ำหรือฤดูทำนามีน้ำมากในพื้นที่บริเวณทุ่งใหญ่ น้ำก็จะไหลจากบริเวณทุ่งใหญ่ผ่านลำรางดังกล่าวในที่พิพาทลงสู่บึงไผ่แขกเป็นเช่นนี้มาหลายสิบปีแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่ดินของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นที่ลุ่มอยู่ต่ำกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเจ็ด จำต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1339 วรรคแรก และจำต้องรับน้ำซึ่งไหลเพราะระบายจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตน เพราะก่อนหน้านี้น้ำจากบริเวณที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นที่สูงก็ได้ระบายไหลเข้ามาในที่ดินของจำเลยทั้งสองในบริเวณที่พิพาทตามธรรมดาอยู่แล้วดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา1340 วรรคแรกแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อจำเลยทั้งสองใช้ดินกลบลำรางในที่พิพาทเป็นเหตุให้น้ำท่วมนาของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดจนได้รับความเดือดร้อนเสียหายเช่นนี้ โจทก์ทั้งสิบเจ็ดย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองทำที่พิพาทให้เป็นลำรางระบายน้ำตามเดิมได้ ซึ่งโจทก์ทั้งสิบเจ็ดได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงโดยได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นไว้ชัดเจนแล้วว่า โจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณทุ่งใหญ่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเพราะจำเลยทั้งสองใช้ดินกลบลำรางระบายน้ำซึ่งเป็นทางระบายน้ำที่ไหลจากบริเวณที่ดินโจทก์ทั้งสิบเจ็ดผ่านลำรางดังกล่าวไปสู่บึงน้ำสาธารณะมานาน 40 ถึง 50 ปีแล้ว เป็นทางภารจำยอม อันเป็นการบรรยายถึงสิทธิของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดที่จะใช้ลำรางระบายน้ำนั้นได้ โดยไม่ให้จำเลยทั้งสองปิดกั้น ซึ่งในคดีแพ่งนั้นโจทก์ไม่จำเป็นจะต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้างเพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้ว ส่วนบทกฎหมายใดจะใช้บังคับแก่คดีย่อมเป็นหน้าที่ของศาลที่จะยกมาปรับแก่คดีเอง ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า กรณีเป็นเรื่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1339 วรรคแรก และมาตรา 1340 วรรคแรกศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าวได้ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น

          ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ร่วมกันขุดเปิดลำรางก็ให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดดำเนินการเองโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นแทน นั้น ไม่ชอบด้วยวิธีการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบเจ็ดชอบที่จะขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้ และเมื่อกรณีมิใช่เรื่องภารจำยอมก็ไม่ต้องมีการจดทะเบียนภารจำยอม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดหากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองนั้นจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนภารจำยอม และคำขอที่ว่าหากจำเลยทั้งสองไม่สามารถขุดเปิดทางภารจำยอมด้วยตนเองได้ ให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นผู้กระทำแทนโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-03-23 11:54:32


ความคิดเห็นที่ 2 (2344131)

ขอให้ศาลบังคับจำเลยรื้อถอนคันดินกั้นทางน้ำออก
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4191/2530
 
          ที่ดินจำเลยอยู่ทางทิศใต้ติดต่อกับที่ดินโจทก์ และมีสภาพเป็นที่ต่ำกว่าที่ดินโจทก์ มีทางน้ำธรรมชาติกว้าง 3 เมตร ผ่านที่ดินโจทก์ไปสู่ที่ดินจำเลย การที่จำเลยทำคันดินกั้นทางน้ำนั้นแล้วฝัง่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้วไว้แทนในที่ดินจำเลย เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1339 วรรคแรก ที่บัญญัติให้เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตน เมื่อน้ำท่วมที่ดินโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำระบายไม่ทันถือได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยรื้อถอนคันดินกั้นทางน้ำออกและเรียกร้องค่าเสียหายได้

มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
 
มาตรา 1339  เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตน
น้ำไหลตามธรรมดามายังที่ดินต่ำ และจำเป็นแก่ที่ดินนั้นไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่สูงกว่าจะกันเอาไว้ได้เพียงที่จำเป็นแก่ที่ดินของตน
 
          โจทก์ฟ้องว่า นาของจำเลยอยู่ทางทิศใต้ของนาโจทก์มีทางน้ำไหลจากทิศเหนือผ่านนาโจทก์เข้าสู่นาจำเลย จำเลยปิดกั้นทางน้ำไหลในนาจำเลยทำให้น้ำท่วมนาโจทก์เสียหายขอให้จำเลยเปิดคันกั้นน้ำและใช้ค่าเสียหาย
          จำเลยให้การว่า จำเลยทำท่อระบายน้ำไว้แล้วไม่ได้ปิดกั้นไม่ให้น้ำไหล และน้ำไม่เคยท่วมนาโจทก์ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยเปิดคันกั้นน้ำ และให้ใช้ค่าเสียหาย

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของจำเลยอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินโจทก์ และมีสภาพเป็นที่ต่ำกว่าที่ดินของโจทก์น้ำจึงไหลจากที่ดินโจทก์ลงสู่ที่ดินของจำเลย จำเลยได้ทำคันดินกั้นทางน้ำไหลกว้าง ๓ เมตร แล้วฝังท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘ นิ้ว ไว้แทนในที่ดินของจำเลย......และทางน้ำไหลดังกล่าวเป็นทางน้ำไหลตามธรรมชาติ.......การที่จำเลยทำคันดินปิดกั้นทางน้ำไหลโดยใช้ท่อระบายน้ำขนาดเล็กเพียงท่อเดียวแทน ทำให้น้ำท่วมที่ดินโจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากน้ำระบายไม่ทันการกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๙ วรรคแรก ที่บัญญัติให้เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลธรรมดาจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตนรูปคดีจึงฟังได้ว่าจำเลย กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยรื้อถอนคันดินกั้นน้ำออกและเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ พยานจำเลยที่นำสืบว่าไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่มีเหตุผลรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้สำหรับค่าเสียหายนั้น จำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงมาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-03-23 12:30:14


ความคิดเห็นที่ 3 (2344136)

น้ำใช้แล้วหรือน้ำโสโครกจากที่ดินสูงไหลไปที่ดินต่ำ
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  412/2525

  น้ำใช้แล้วหรือน้ำโสโครกไม่อยู่ในความหมายของน้ำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1339, 1340 ซึ่งหมายความเฉพาะน้ำตามธรรมชาติ เช่นน้ำฝนเป็นต้น

มาตรา 1339  เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตน
น้ำไหลตามธรรมดามายังที่ดินต่ำ และจำเป็นแก่ที่ดินนั้นไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่สูงกว่าจะกันเอาไว้ได้เพียงที่จำเป็นแก่ที่ดินของตน
 
มาตรา 1340  เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลเพราะระบายจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตน ถ้าก่อนที่ระบายนั้นน้ำได้ไหลเข้ามาในที่ดินของตนตามธรรมดาอยู่แล้ว
ถ้าได้รับความเสียหายเพราะการระบายน้ำ ท่านว่าเจ้าของที่ดินต่ำอาจเรียกร้องให้เจ้าของที่ดินสูงทำทางระบายน้ำและออกค่าใช้จ่ายในการนั้น เพื่อระบายน้ำไปให้ตลอดที่ดินต่ำจนถึงทางน้ำ หรือท่อน้ำสาธารณะ ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิแห่งเจ้าของที่ดินต่ำในอันจะเรียกเอาค่าทดแทน
 
          โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และครอบครองบ้านในเขตเทศบาลตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของที่ดินด้านทิศตะวันออกของบ้านโจทก์ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เช่าที่ดินแปลงดังกล่าวจากจำเลยที่ ๒ ที่ดินอันเป็นที่ตั้งบ้านโจทก์มีระดับสูงกว่าที่ดินของจำเลยที่ ๒ น้ำจากบ้านโจทก์ระบายไหลผ่านที่ดินจำเลยที่ ๒ ไปสู่ทางน้ำทางทิศตะวันออกของที่ดินจำเลยที่ ๒ และเป็นเช่นนี้มาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว ครั้นเดือนมีนาคม ๒๕๒๐ จำเลยที่ ๑ ถมที่ดินแปลงที่เช่าจากจำเลยที่ ๒ สูงกว่าระดับบ้านโจทก์ ปิดทางระบายน้ำจากบ้านโจทก์ทางด้านทิศตะวันออก โจทก์จึงร่วมกันทำทางระบายน้ำเลียบด้านหลังบ้านซึ่งติดกับที่ดินจำเลยที่ ๒ ไปทางทิศใต้ ผ่านสุดเขตที่ดินจำเลยที่ ๒ ลงสู่ทางน้ำของเทศบาล ครั้นวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๒๐ จำเลยที่ ๑ บังอาจปิดกั้นทางระบายน้ำดังกล่าวทำให้โจทก์เดือดร้อน ขอให้พิพากษาบังคับห้ามจำเลยปิดกั้นทางระบายน้ำและจัดการทำให้สิ่งกีดขวางทางระบายน้ำหมดสิ้นไป หรือให้โจทก์จัดทำเองโดยจำเลยที่ ๑ เสียค่าใช้จ่าย

          จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เดิมที่ดินของจำเลยที่ ๒ กับที่ดินโจทก์มีระดับเสมอกัน ต่อมาโจทก์ถมดินในที่ดินของโจทก์ จึงทำให้ที่ดินของโจทก์มีระดับสูงกว่าที่ดินของจำเลยที่ ๒ กรณีไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๓๙ โจทก์สร้างอาคารฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง โดยไม่สร้างทางระบายน้ำจากอาคารโจทก์ลงไปทางระบายน้ำของเทศบาล ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ ๒ ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เดิมที่ดินจำเลยที่ ๒ กับที่ดินโจทก์มีพื้นที่ระดับเดียวกัน แต่โจทก์มาถมดินภายหลังจึงทำให้ที่ดินของโจทก์สูงกว่าที่ดินของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ไม่จำต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการระบายน้ำจากที่ดินโจทก์

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ที่ดินโจทก์สูงขึ้นเพราะการถมไม่ใช่สูงโดยธรรมชาติ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางระบายน้ำ พิพากษายกฟ้อง

          โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า น้ำที่โจท์ระบายเป็นน้ำที่ใช้แล้วหรือน้ำโสโครกไม่ใช่เป็นการระบายน้ำที่โจทก์ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น และไม่ใช่น้ำที่ไหลตามธรรมดาจากที่สูง จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๙ วรรคแรกและมาตรา ๑๓๔๐ มาปรับไม่ได้ พิพากษายืนในผล

          โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๙ และมาตรา ๑๓๔๐ แม้ที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดจะสูงกว่าที่ดินของจำเลยที่ ๒ โดยธรรมชาติแต่โจทก์ก็ไม่อาจขอให้จำเลยที่ ๒ เปิดทางระบายน้ำได้ เพราะกรณีที่เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลเพราะระบายจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตนตามมาตรา ๑๓๔๐ นั้น หมายถึงน้ำตามธรรมชาติเช่นน้ำฝนเป็นต้น หาใช่น้ำโสโครกดังเช่นกรณีของโจทก์ไม่
          พิพากษายืน

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-03-23 12:41:44


ความคิดเห็นที่ 4 (2344137)

เจ้าของที่ดินต่ำมีสิทธิจะเรียกร้องให้เจ้าของที่ดินสูงจัดการทำทางระบายน้ำเสียใหม่และมีสิทธิเรียกค่าทดแทน

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  428/2491

  เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาหรือเพราะระบายน้ำจากที่ดินสูงลงมาในที่ดินของตน ถ้าได้รับความเสียหายก็มีสิทธิจะเรียกร้องให้เจ้าของที่ดินสูงจัดการทำทางระบายน้ำเสียใหม่และมีสิทธิเรียกค่าทดแทน จะปิดกั้นทางน้ำไหลเสียโดยพละตนเองหาชอบไม่ และเมื่อปรากฏว่า การปิดกั้นทางน้ำไหลนั้นทำให้เจ้าของที่ดินสูง ได้รับความเสียหาย ตนก็ต้องรับผิด
 
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเอาดินปิดถมน้ำหรือลำคู มิให้น้ำซึ่งเกิดจากธรรมชาติในนาของโจทก์ไหลลงสู่ลำราง หรือลำคูที่โจทก์เคยใช้เสียสองแห่ง กระทำให้น้ำท่วมแช่ต้นข้าวและน้ำเซาะที่ดิน ต้นข้าวหลุดถอนได้รับความเสียหาย จึงขอให้จำเลยเปิดลำรางน้ำหรือลำคูให้ระบายน้ำจากนาโจทก์ไปตามลำคู เพื่อลงคลองต่อไป และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 700 บาท

          จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์มีทางระบายน้ำของโจทก์อยู่แล้วกลับปิดเสียให้น้ำมาลงทางนาจำเลยเป็นเหตุให้ต้นข้าวจำเลยเสียหาย จำเลยจึงปิดกั้นเสีย
          ศาลชั้นต้น เห็นว่าจำเลยกระทำโดยป้องกันโดยชอบให้ยกฟ้อง

          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยเปิดช่องระบายน้ำที่พิพาทตามเดิม และให้ใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาเห็นว่า โดยนัยแห่งมาตรา 1339 วรรคต้นและมาตรา 1340 เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาหรือเพราะระบายน้ำจากที่ดินสูงลงมาในที่ดินของตน ถ้าได้รับความเสียหาย ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้เจ้าของที่ดินสูงจัดการทำทางระบายน้ำเสียใหม่และมีสิทธิจะเรียกค่าทดแทน จะปิดกั้นทางน้ำไหลเสียโดยลำพังตนเองหาชอบไม่ เมื่อปรากฏว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยก็ต้องรับผิด จึงพิพากษายืน

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-03-23 12:46:05



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล