ReadyPlanet.com


ที่ดินมีชื่อหลายคน


 สอบถามค่ะ ที่ดินที่บ้านเป็นมรดกของตากับยายที่เสียไปแล้วค่ะ แล้วแม่(พี่คนโต)กับน้องอีกสองคนทำเรื่องรับมรดกที่ดินมาเป็นชื่อของทั้งสามคนแต่ยังไม่ได้แบ่งแยกเป็นสัดส่วน แล้วพอดีน้องคนกลางได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นไม่ได้ติดต่อกันมาเป็นสิบปีแล้วส่วนแม่กับน้องคนเล็กยังอาศัยอยู่บนที่ดินนั้นอยู่ ไม่ทราบว่าถ้าหากจะแบ่งที่ดินเป็นสัดส่วนจะต้องทำยังไงบ้างค่ะ (กรณีที่ติดต่อน้องคนกลางไม่ได้เลย) แล้วถ้าหากแม่กับน้องคนเล็กตาย ดิฉันจะสามารถอ้างสิทธิ์ในการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินผืนนี้ได้ไหมคะ  แล้วจะหาทางออกได้ยังไงดีรบกวนขอคำแนะนำด้วยคะ



ผู้ตั้งกระทู้ กัน :: วันที่ลงประกาศ 2013-04-26 21:56:47


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2353342)

ที่ดินมีชื่อถือกรรมสิทธิ์สามคน น้องคนกลางแม้ย้ายไปอยู่ที่อื่นก็สามารถตรวจสอบทะเบียนบ้านและส่งหนังสือแจ้งให้มาแบ่งแยกโฉนดกันได้ไม่น่าจะยุ่งยาก การอ้างการครอบครองปรปักษ์มีปัจจัยหลายอย่างที่จะต้องพิจารณา ไม่ใช่พิจารณาแต่เพียงว่าเราครอบครองที่ดินนั้นมาเกิน 10 ปี แล้วเพียงอย่างเดียว เพราะการครอบครองที่ดินในลักษณะครอบครองแทน แม้จะครอบครอง 100 ปี ก็ไม่เริ่มนับการครอบครองปรปักษ์ เว้นแต่จะทำหนังสือบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินนั้นเป็นการยึดถือเพื่อตน จึงจะเริ่มนับ 1 ได้

มาตรา 1381  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-04-28 18:30:54


ความคิดเห็นที่ 2 (2358758)

ครอบครองปรปักษ์มีปัจจัยหลายอย่าง
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5415/2537

 
           การให้การต่อสู้ว่าครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์เป็นข้ออ้างที่เป็นการรอนสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น ดังนั้นข้ออ้างจะต้องชัดแจ้งตามเกณฑ์ที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 กล่าวคือ นอกจากจะต้องอ้างว่าได้ครอบครองโดยสงบและเปิดเผยแล้ว ยังจะต้องอ้างว่าโดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีแล้วด้วย ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ เมื่อจำเลยให้การแต่เพียงว่าได้ครอบครองที่พิพาทโดยสงบและเปิดเผย โดยมิได้อ้างว่าด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวในคดีการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 ได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทและปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนโจทก์มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นศาลฎีกาได้
 
________________________________
 
          โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ 9046 โจทก์ทั้งสามเพิ่งทราบว่าจำเลยทั้งสามกับพวกได้บุกรุกเข้ามาปลูกตึกแถว เลขที่ 855/2ในที่ดินของโจทก์ทั้งสามเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2528 โจทก์ทั้งสามได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมรื้อถอน การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสาม ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ซึ่งหากให้เช่า แล้วจะได้ค่าเช่าเดือนละ 4,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนตึกแถวเลขที่ 855/2 กับสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆออกไปจากที่ดินดังกล่าวของโจทก์ทั้งสามพร้อมทั้งทำให้ที่ดินเป็นไปตามเดิม ให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องอีกต่อไป และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 22,000 บาท กับค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเป็นรายเดือนเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะรื้อถอนตึกแถวเลขที่ 855/2 กับสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสาม

          จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา
          จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาซื้อขายตึกแถวเลขที่ 855/2 พร้อมที่ดินพิพาทจากนายเจริญ พรหมศร เมื่อวันที่17 มีนาคม 2517 ปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 ก่อนและขณะทำสัญญาซื้อขายนายเจริญแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบว่ามิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่พิพาทให้ปลูกสร้างตึกแถวเลขที่ 855/2 ในที่ดินและเจ้าของที่ดินได้สัญญากับผู้ขายว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ จำเลยที่ 3 จึงทำสัญญาซื้อขายและได้ย้ายเข้าอยู่ในตึกแถวเลขที่ 855/2 นับแต่วันทำสัญญาโดยสงบและเปิดเผย โจทก์ทั้งสามไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยที่ 3รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จำเลยที่ 3 ได้สิทธิตามสัญญาซื้อขายมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน โจทก์ทั้งสามยินยอมโดยนิตินัยให้จำเลยที่ 3 เข้าอยู่อาศัยโดยเปิดเผย ขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัดเจริญเขตสถาปัตย์ ที่ 1นายเจริญ พรหมศร ที่ 2 ผู้ร้องสอดร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
          โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ทั้งสามฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาโจทก์ทั้งสามในข้อกฎหมายที่ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทหรือไม่เสียก่อน โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้ามาปลูกตึกแถวเลขที่ 855/2 ในที่พิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสาม ขอให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนตึกแถวห้องดังกล่าวออกไปจากที่พิพาท และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 3ให้การต่อสู้มีใจความเป็นสำคัญว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้บุกรุกที่พิพาทหากแต่จำเลยที่ 3 ซื้อตึกแถวเลขที่ 855/2 พร้อมที่พิพาทจากจำเลยร่วมที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยจำเลยร่วมที่ 2ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินให้ปลูกสร้างตึกแถวดังกล่าวแล้วเจ้าของที่ดินให้สัญญาว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทแก่ผู้ซื้อหลังจากซื้อแล้ว จำเลยที่ 3 ได้ครอบครองที่พิพาทโดยสงบเปิดเผย ขอให้ยกฟ้องมีปัญหาว่าคำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวถือได้หรือไม่ว่าจำเลยที่ 3ให้การต่อสู้ว่าได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การให้การต่อสู้ว่าครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์เป็นข้ออ้างที่เป็นการรอนสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น ดังนั้นข้ออ้างจะต้องชัดแจ้งตามเกณฑ์ที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ที่ว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวซึ่งนอกจากจะต้องอ้างว่าได้ครอบครองโดยสงบและเปิดเผยแล้วยังจะต้องอ้างว่าโดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีแล้วด้วย ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ แต่จำเลยให้การอ้างแต่เพียงว่า ได้ครอบครองที่พิพาทโดยสงบและเปิดเผย โดยมิได้อ้างว่าด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีแล้วมาด้วยดังนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวนี้ในคดี ที่ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันว่าจำเลยที่ 3ได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท แม้โจทก์ทั้งสามจะมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นศาลอุทธรณ์ แต่ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นศาลฎีกาได้ ฎีกาโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น สำหรับปัญหาตามฎีกาโจทก์ทั้งสามที่ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนตึกแถวเลขที่ 855/2กับสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสามหรือไม่และค่าเสียหายมีเพียงใดนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลทั้งสองวินิจฉัยเสียก่อน เนื่องจากผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองอาจเกี่ยวโยงไปถึงสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาคดีนี้ต่อไปอีก"
          พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
 
 
( นาม ยิ้มแย้ม - สุวรรณ ตระการพันธุ์ - สุรินทร์ นาควิเชียร )
 
 
หมายเหตุ
          (1) คำให้การของจำเลยในคดีความถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาอย่างหนึ่ง แม้จะไม่ถือว่าเป็นนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 และในการตีความแสดงเจตนาให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร (มาตรา 171)ก็ตาม แต่การแสดงเจตนาที่ได้แสดงออกก็ต้องครบถ้วนตรงกับเจตนาอันซ่อนเร้นอยู่ในใจของผู้แสดง (มาตรา 154)
          (2) คำให้การของจำเลยในคดีนี้อ้างแต่เพียงว่าได้ครอบครองที่พิพาทโดยสงบและเปิดเผย มิได้อ้างว่าด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีแล้วมาด้วย ศาลฎีกาถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์เจตนาเป็นเจ้าของตลอดเวลาสิบปีด้วย
          (3) แต่ที่ศาลฎีกาว่านอกจากจะต้องอ้างว่าได้ครอบครองโดยสงบและเปิดเผยแล้ว ยังจะต้องอ้างว่าโดยเจตนาเป็นเจ้าของ ฯลฯ ด้วยนั้นแม้จะไม่อ้างถึงขนาด ดังนี้โดยอ้างแต่เพียงว่าได้ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ เมื่อตีความแสดงเจตนาโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามมาตรา 171 ดังกล่าวแล้วก็พอถือได้ว่าได้อ้างว่าเจตนาเป็นเจ้าของเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1382แล้ว เพราะการได้ครอบครองปรปักษ์ (adversarypossession) จนได้กรรมสิทธิ์ ก็หมายความว่าได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์นั่นเอง
           ไพจิตรปุญญพันธุ์
 

http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538626998&Ntype=9

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2013-05-19 12:54:57



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล