ReadyPlanet.com


สามี ภรรยา จะทำข้อตกลงแยกกันอยู่ชั่วคราวได้หรือไม่


เมื่อ สามี ภรรยา มีปากเสียงกัน อยากจะแยกกันอยู่สักระยะหนึ่ง  อย่างนี้ จะทำเป็นหนังสือตกลงกัน จะทำได้หรือไม่อย่างไร



ผู้ตั้งกระทู้ ภรรยา :: วันที่ลงประกาศ 2007-12-31 15:04:58


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615166)

สามีภริยาอาจทำข้อตกลงระหว่างกันเพื่อแยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราวได้   ข้อตกลงเช่นว่านี้ใช้บังคับได้   ในการทำข้อตกลงเพื่อแยกกันอยู่นี้สามีภริยาอาจทำข้อตกลงกันด้วยวาจาหรือโดยลายลักษณ์อักษรก็ได้   เมื่อสามีภริยาทำข้อตกลงแยกกันอยู่ต่างหากจากกันแล้วสามีภริยาต่างฝ่ายต่างหมดหน้าที่ที่จะต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป  แต่สถานะความเป็นสามีภริยายังคงมีอยู่  ยังไม่ถือว่าการสมรสสิ้นสุดลง   สามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจึงจะทำการสมรสใหม่ไม่ได้   ผลของข้อตกลงนี้มีเพียงทำให้การแยกกันอยู่นี้แม้จะเป็นเวลาเกิน   1   ปี  ก็ไม่ถือว่าเป็นการจงใจละทิ้งร้าง   คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงจะมาอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม มาตรา 1516 (4)  ไม่ได้  แต่ถ้าหากการตกลงแยกกันอยู่นี้เป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข และสามีภริยาได้แยกกันอยู่มาแล้วเป็นเวลาเกินสามปี   สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธฟ้องหย่าได้  ตามมาตรา  1516 (4) (4/2)

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนาย ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 0859604258 วันที่ตอบ 2008-01-01 10:44:17


ความคิดเห็นที่ 2 (1615167)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5627/2530

     

 

 

ป.พ.พ. มาตรา 1461, 1516, 1526, 1598/38

 

          ในคดีหย่า แม้โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันระหว่างพิจารณาแต่การที่ จำเลยจะมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์หรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาว่า มีเหตุแห่งการหย่าหรือไม่ และเหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของโจทก์ หรือไม่เมื่อโจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจละทิ้งร้างจำเลยอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์

          ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างที่สามีภริยาแยกกันอยู่นั้นฝ่ายที่มีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริต ชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่าย เมื่อโจทก์ จำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่ชั่วคราวโดยไม่ใช่ความผิดของจำเลย และจำเลยไม่มีอาชีพหรือรายได้เพียงพอโจทก์ซึ่งอุปการะเลี้ยงดูจำเลย มาตลอดและอยู่ในฐานะที่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูจำเลยได้จึงมี หน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูจำเลย

 

________________________________

 

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาจำเลยทะเลาะวิวาทกับโจทก์ จำเลยจึงขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านโจทก์ไปแล้วจำเลยไม่เคยกลับมาบ้าน และไม่เคยปฏิบัติฉันสามีภริยากับโจทก์อีก เป็นการจงใจละทิ้งร้างโจทก์ นับถึงวันฟ้องเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

          จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยออกจากบ้านโจทก์ไปอยู่บ้านบิดามารดาจำเลย เนื่องจากทะเลาะกับโจทก์ โจทก์ไล่จำเลยออกจากบ้านโจทก์ไม่เคยติดต่อกับจำเลยเป็นการจงใจละทิ้งร้างจำเลย เมื่อแยกกันอยู่จำเลยมิได้ประกอบอาชีพ ไม่มีรายได้และยากจนลงโจทก์ไม่เคยส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูโจทก์มีรายได้จากการขายกล้วยไม้มีกำไรสุทธิเดือนละประมาณ 20,000 บาทควรส่งค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยเดือนละ 6,000 บาท นับแต่วันแยกกันอยู่ถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 180,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์ให้มาอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่บ้านบิดามารดาจำเลย ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 180,000 บาท กับค่าอุปการะเลี้ยงดูต่อไปอีกเดือนละ 6,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งไปจนกว่าโจทก์มาอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย หากจำเลยต้องหย่ากับโจทก์ ให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยเดือนละ6,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่ หรือจ่ายครั้งเดียวเป็นเงิน 360,000 บาท

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่จำเลยแยกจากโจทก์ไปอยู่บ้านบิดามารดาจำเลยมิใช่ความผิดของโจทก์ แต่เป็นความสมัครใจของจำเลยเอง จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเลี้ยงชีพ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

          ก่อนสืบพยาน โจทก์จำเลยแถลงว่าพร้อมที่จะหย่ากันและสละประเด็นข้อพิพาทอื่น ขอให้วินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่าเมื่อโจทก์จำเลยหย่ากัน จำเลยมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์หรือไม่ เพียงใด

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนหย่าต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของฝ่ายที่ไม่ไป ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู 60,000 บาท ค่าเลี้ยงชีพ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 160,000 บาท คำขออื่นของจำเลยนอกจากนี้ให้ยก

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า เมื่อโจทก์จำเลยหย่ากันจำเลยมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเลี้ยงชีพได้จากโจทก์หรือไม่ เพียงใด

          สำหรับสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526 บัญญัติว่า "ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้" คดีนี้แม้โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันระหว่างพิจารณาแล้ว แต่การที่จำเลยจะมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์หรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาว่ามีเหตุแห่งการหย่าหรือไม่ และเหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของโจทก์หรือไม่ และศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจิงว่าตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าโจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจละทิ้งร้างจำเลยอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์

          ส่วนสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1461 วรรคสอง บัญญัติว่า "สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน" ดังนั้น ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าระหว่างที่จำเลยแยกกันอยู่กับโจทก์นั้น ต่างยังเป็นสามีภริยากันอยู่ ฝ่ายที่มีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริตชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่าย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากันอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายและแยกกันอยู่ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2523 ตลอดมา โจทก์จำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพียงชั่วคราว การแยกกันอยู่ครั้งนี้จึงไม่ใช่ความผิดของจำเลย โจทก์ซึ่งอุปการะเลี้ยงดูจำเลยมาตลอดจึงต้องทำหน้าที่นั้นต่อไปถ้าจำเลยยังไม่มีอาชีพหรือรายได้เพียงพอ ระหว่างแยกกันอยู่จำเลยไม่มีรายได้เพราะเงินที่จำเลยได้จากบิดาไม่ถือว่าเป็นรายได้ เนื่องจากไม่ใช่สิ่งที่จำเลยทำมาหาได้หรือได้จากการประกอบอาชีพของจำเลย ส่วนโจทก์มีรายได้สุทธิโดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 2,500 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์อยู่ในฐานะที่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูจำเลยได้เดือนละ 1,000 บาท โดยติดตั้งแต่วันแยกกันอยู่จนถึงวันฟ้องแย้งตามที่จำเลยฎีกาขอมาเท่าที่ศาลชั้นต้นให้คือเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน รวมเป็นเงิน 30,000 บาท

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลย 30,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

 

( ปชา วรธรรมพินิจ - จุนท์ จันทรวงศ์ - ถวิล ทองสว่างรัตน์ )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-01 10:48:00


ความคิดเห็นที่ 3 (1615168)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  780/2502

 

การที่โจทก์และจำเลยทำบันทึกมีข้อความว่าทั้งสองฝ่ายยืนยันจะไม่กลับไปคืนดีเป็นสามีภริยากันต่อไป   แสดงว่าทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจแยกกันอยู่  และเงินค่าเลี้ยงดูเดือนละ  200  บาท  ที่จำเลยขอนั้นปรากฏตามคำโจทก์ว่าโจทก์ได้ส่งให้จำเลยไม่ขาด   เห็นได้ว่าโจทก์เองก็ไม่ต้องการจะให้จำเลยมาอยู่ร่วมกับโจทก์   ดังนี้   โจทก์จะกลับมาฟ้องหย่าโดยอ้างว่าจำเลยมีเจตนาจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไม่ได้  โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอหย่าจำเลย

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-01 11:01:08


ความคิดเห็นที่ 4 (2379428)

บทความที่เกี่ยวข้อง

แยกไปอยู่โดยสุจริตจึงชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากสามี
ภริยาไม่มีอาชีพหรือรายได้ สามีซึ่งอุปการะเลี้ยงดูภริยาตลอดมาและอยู่ในฐานะที่สามารถอุปการะเลี้ยงดูได้จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู ส่วนภริยาซึ่งเป็นฝ่ายมีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริตจึงชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากสามี ภริยาย่อมมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากสามี
http://www.peesirilaw.com/การสิ้นสุดแห่งการสมรส/ค่าอุปการะเลี้ยงดูจากสามี.html

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนาย ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 0859604258 วันที่ตอบ 2013-06-30 12:49:53



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล