ReadyPlanet.com


สามีโอนขายที่ดิน โดยไม่ได้รับความยินยอมของภรรยา จะเรียกคืนได้หรือไม่


สามีได้ซื้อที่ดินและใส่ชื่อสามีคนเดียว ต่อมาได้ขายที่ดินที่สามีซื้อมาระหว่างจดทะเบียนสมรสกัน โดยไม่ได้รับความยินยอมของภรรยา ทางภรรยาจะขอเรียกคืนที่ดินได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ นิภาพร :: วันที่ลงประกาศ 2007-12-27 14:33:32


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615155)

1. ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ไม่ว่าจะได้ใส่ชื่อใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็เป็นสินสมรส  แต่ในกรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์ใดจะเป็นสินสมรสหรือไม่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

2. เมื่อคู่สมรสกระทำการดังต่อไปนี้ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสคือ

**2.1  ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ  จำนอง  ปลดจำนอง  หรือโอนสิทธิจำนอง  ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือ สังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

**2.2  ก่อตั้ง  หรือ  กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม  สิทธิอาศัย  สิทธิเหนือพื้นดิน  สิทธิเก็บกิน  หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

**2.3  ให้เช่าอสังหาริมทรพย์เกินสามปี

**2.4  ให้กู้ยืมเงิน

**2.5  ให้โดยเสน่หา

**2.6  ประนีประนอมยอมความ

**2.7  มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

**2.8  นำทรพัย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

3.  การขายสินสมรส คู่สมรสจะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476  ถ้าคู่สมรสฝ่าฝืนอีกฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องต่อศาลขอให้ศาลเพิกถอนการโอนขายดังกล่าวได้ แต่จะต้องกระทำการฟ้องร้องภายในหนึ่งปี  นับแต่วันที่ได้รู้เหตุที่จะฟ้องร้องนั้น หรือ ไม่เกิน 10 ปี แต่กรณีที่คู่สมรสให้สัตยาบันแก่การขายนั้น

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2007-12-30 01:21:42


ความคิดเห็นที่ 2 (1615156)

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภรรยากัน จดทะเบียนสมรสเมื่อปี 2523 ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสที่ต้องจัดการร่วมกันจำเลยนำที่ดินและบ้านพิพาทไปขายฝากให้แก่โจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้องเป็นการจัดการสินสมรสที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จึงเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับในส่วนของผู้ร้องครึ่งหนึ่งโจทก์ต้องคืนให้แก่ผู้ร้องทั้งหมดหรืออย่างน้อยครึ่งหนึ่ง จึงเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จึงร้องสอดเข้ามาเพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ให้เพิกถอนสัญญาขายฝาก ให้ที่ดินและบ้านพิพาทกลับคืนมาเป็นของผู้ร้อง

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-01 11:34:06


ความคิดเห็นที่ 3 (1615157)

คำพิพากษาฎีกาที่  1940/2546

โจทก์ฟ้องว่า  โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่  48 หมู่ที่  5  ตำบลท่าศาลา  อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี  เนื้อที่  1  ไร่  2  งาน  28  ตารางวา  พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้เลขที่  3/4  หมู่ที่  8 ตำบลนิคม  อำเภอเมืองลพบุรี  จังหวัดลพบุรี  ซึ่งซื้อฝากมาจากจำเลยและพ้นกำหนดไถ่ถอนแล้ว จำเลยขออาศัยอยู่ได้ระยะหนึ่ง  โจทก์เรียกให้จำเลยมาทำสัญญา  แต่จำเลยไม่ยอมทำโจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านของโจทก์  แต่จำเลยเพิกเฉย  ขอให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านของโจทก์

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภรรยากัน จดทะเบียนสมรสเมื่อปี 2523 ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสที่ต้องจัดการร่วมกันจำเลยนำที่ดินและบ้านพิพาทไปขายฝากให้แก่โจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้องเป็นการจัดการสินสมรสที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จึงเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับในส่วนของผู้ร้องครึ่งหนึ่งโจทก์ต้องคืนให้แก่ผู้ร้องทั้งหมดหรืออย่างน้อยครึ่งหนึ่ง จึงเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จึงร้องสอดเข้ามาเพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ให้เพิกถอนสัญญาขายฝาก ให้ที่ดินและบ้านพิพาทกลับคืนมาเป็นของผู้ร้อง

   ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) จึงไม่รับคำร้อง คืนค่าขึ้นศาลให้ผู้ร้องทั้งหมด

    ผู้ร้องสอดอุทธรณ์

   ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

  ผู้ร้องสอดฎีกา

  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินและบ้าน แม้ศาลจะพิพากษาให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารก็จะไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องสอดในฐานะคู่สมรสในกรณีการขายฝากของโจทก์จำเลยตามที่ผู้ร้องสอดอ้างสิทธิของผู้ร้องสอดจะมีอยู่เพียงใดก็คงมีอยู่เพียงนั้น กรณีตามคำร้องของผู้ร้องสอด จึงมิใช่เป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องสอดไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องสอดฟังไม่ขึ้น"

           พิพากษายืน

หมายเหตุ 

   ในการดำเนินคดีแพ่ง นอกจากโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่ความโดยตรงแล้ว บุคคลภายนอกอาจเข้ามาในคดีได้ด้วยการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57 สำหรับคดีที่หมายเหตุนี้ ผู้ร้องสอดขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ตามคำร้อง ผู้ร้องเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ถูกโจทก์ฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินและบ้านที่ขายฝากแก่โจทก์ และพ้นกำหนดไถ่ถอนแล้ว ในการขายฝากที่ดินและบ้านดังกล่าวซึ่งเป็นสินสมรส ผู้ร้องไม่ได้ให้ความยินยอม หากเป็นจริงตามคำร้องย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 ที่สามีและภริยาต้องจัดการทรัพย์สินร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ตามมาตรา 1480 และข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยขายฝากที่ดินทั้งแปลงพร้อมบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว หาใช่ขายฝากเฉพาะส่วนของตนเองไม่ ดังนั้น จึงกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องโดยตรง ผู้ร้องจึงน่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียเพราะต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทในส่วนของตนไปด้วย

   มีข้อพิจารณาว่า ข้อวินิจฉัยตามคำพิพากษาฎีกาคดีนี้พอจะเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2540 ที่วินิจฉัยในทำนองเดียวกันหรือไม่ ซึ่งคำพิพากษาฎีกาคดีดังกล่าวเป็นกรณีโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาเช่า และโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้ร้องสอดอ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวบางส่วนจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าหากศาลพิพากษาขับไล่จำเลย ย่อมไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดมีสิทธิในที่ดินอยู่เพียงใดก็คงมีอยู่อย่างนั้น ผู้ร้องสอดจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดี จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีสิทธิที่จะร้องสอดเข้ามาในคดี แต่คดีนี้จำเลยซึ่งเป็นภริยาของผู้ร้องสอดนำที่ดินและบ้านสินสมรสไปขายฝากแก่โจทก์ แล้วไม่ไถ่ถอนภายในกำหนดเวลาขายฝาก โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลย ผู้ร้องสอดจึงร้องสอดเข้ามาในคดี ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินและบ้านในส่วนของตน เห็นได้ชัดว่าคดีนี้มิใช่กรณีฟ้องขับไล่ออกจากที่เช่า ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าและผู้เช่าผิดสัญญาเช่า ซึ่งผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาแล้ว โดยไม่มีประเด็นเรื่องการขายฝากไม่ชอบเช่นคดีนี้ ข้อเท็จจริงจึงไม่เหมือนกันและไม่ตรงกัน น่าจะนำมาเทียบเคียงและวินิจฉัยในแนวเดียวกันไม่ได้

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่พอจะเทียบเคียงกับคดีนี้น่าจะได้แก่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 172/2520 ซึ่งเป็นการฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท และผู้ร้องยื่นคำร้องว่าที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้างบนที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3129/2524 ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องเป็นภริยาจำเลย ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรส ผู้ร้องมีส่วนเป็นเจ้าของครึ่งหนึ่ง จำเลยนำไปขายฝากโดยผู้ร้องไม่ทราบผู้ร้องจึงขอเข้ามาเป็นจำเลยเพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าผู้ร้องตั้งสิทธิเข้ามาในคดีในฐานะคู่ความฝ่ายที่สามและเป็นปฏิปักษ์แก่ทั้งโจทก์และจำเลย หาใช่เข้ามาเพียงเป็นจำเลยต่อสู้คดีกับโจทก์โดยเฉพาะไม่ถือได้ว่าเป็นการร้องเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) ผู้ร้องมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีได้ ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีที่หมายเหตุนี้ตรงกับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาแล้ว คำร้องของผู้ร้องสอดจึงน่าจะเป็นกรณีที่ถือได้ว่าผู้ร้องสอดเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1)

           สุวรรณตระการพันธุ์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-01 11:53:21



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล