ReadyPlanet.com


การขายฝาก ผู้ขายฝากมิได้กำหนดค่าสินไถ่ไว้


ผู้ขายฝากมิได้กำหนดค่าสินไถ่ไว้    จำนวนเงินที่ต้องนำมาไถ่ต้องเป็นจำนวนเท่าใด

ขอไถ่ที่ดินที่ขายฝากภายในกำหนดเวลาตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้ไถ่ จะทำอย่างไร

บันทึกข้อตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ มิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ผลจะเป็นอย่างไร



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้ขายฝาก :: วันที่ลงประกาศ 2008-01-17 18:53:40


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615211)

ในกรณีที่ไม่ได้มีการกำหนดสินไถ่กันไว้ในสัญญา ย่อมถือเอาราคาที่ขายฝากเป็นจำนวนสินไถ่ที่จะขอไถ่คืนทรัพย์ที่ขายฝากกันได้

เมื่อถึงกำหนดที่จะไถ่ทรัพย์สินแต่ผู้รับขายฝากหรือผู้รับไถ่ไม่ยอมให้ไถ่แล้ว ผู้ไถ่หรือผู้ขายฝากมีสิทธิที่จะนำเงินสินไถ่ไปวางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์(หรือเงิน)ที่ได้วางไว้ได้

การขยายระยะเวลาไถ่นั้นสามารถกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 496 แต่เมื่อขยายแล้วหลายครั้งกำหนดเวลาไถ่รวมกันต้องไม่เกิน 10 ปีครับ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-18 14:27:00


ความคิดเห็นที่ 2 (1615212)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086 - 2087/2550

สัญญาขายฝากที่ดินที่โจทก์ผู้ซื้อฝากทำกับจำเลยผู้ขายฝากมิได้กำหนดค่าสินไถ่ไว้ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากตามราคาที่ขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคแรก หากจำเลยมีเงินไถ่ที่ดินที่ขายฝากภายในกำหนดเวลาตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้ไถ่ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากด้วยการนำเงินสินไถ่ไปวางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าที่ดินที่ขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 วรรคแรก

บันทึกข้อตกลงที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นหลักฐานว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยไถ่ที่ดินที่ขายฝากหลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ถือได้ว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ แม้มิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็มีผลบังคับให้ผูกพันโจทก์ผู้รับไถ่ซึ่งลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 เมื่อสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่มิได้กำหนดเวลาไว้ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 494 กล่าวคือ จำเลยย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินขายฝากภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาขายฝาก เมื่อจำเลยฟ้องขอไถ่ที่ดินที่ขายฝากจากโจทก์ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาขายฝาก จำเลยจึงมีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากจากโจทก์

เมื่อจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่ขายฝากหลังจากทำสัญญาขายฝากให้โจทก์แล้วโดยโจทก์ยินยอมและโจทก์ทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ที่ดินที่ขายฝากให้จำเลย การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินที่ขายฝากต่อไปหลังจากครบกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาเดิมจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-18 14:30:07


ความคิดเห็นที่ 3 (1615213)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491

"อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ  โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้"

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-18 14:35:09


ความคิดเห็นที่ 4 (1615214)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 492

"ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี

    ในกรณีที่ได้วางทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง  ให้เจ้าพนักงานของสำนักงานวางทรัพย์แจ้งให้ผู้รับไถ่ทราบถึงการวางทรัพย์โดยพลัน  โดยผู้ไถ่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 333 วรรคสาม"

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-18 14:44:06


ความคิดเห็นที่ 5 (1615215)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 333

"การวางทรัพย์นั้นต้องวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบล ที่จะต้องชำระหนี้

     ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับเฉพาะการในเรื่องสำนักงานวางทรัพย์  เมื่อบุคคลผู้ชำระหนี้ร้องขอศาลจะต้องกำหนดสำนักงานวางทรัพย์ และตั้งแต่งผู้พิทักษ์ทรัพย์ที่วางนั้นขึ้น

    ผู้วางต้องบอกกล่าวให้เจ้าหนี้ทราบการที่ได้วางทรัพย์นั้นโดยพลัน"

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-18 14:50:14



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล