ReadyPlanet.com


(ชำระหนี้ตามอำเภอใจ)อยากนำดอกเบี้ยที่จ่ายให้เจ้าหนี้ไปแล้วร้อยละ 20 มาหักจากต้นเงิน


แม่ยืมเงินเจ้าหนี้มาร้อยละ 20 ต่อมาส่งดอกไม่ไหวเลยเลิกส่งต่อมาดิฉันไปคุยกับเจ้าหนี้ขอชดใช้เฉพาะต้นเงิน ทางเจ้าหนี้ภายหลังก็ยินยอมแล้ว อย่างนี้จะขอนำเงินที่จ่ายค่าดอกเบี้ยไปแล้วร้อยละ 20 ที่ผิดกฎหมายมาหักกับต้นเงินได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ ธิดา :: วันที่ลงประกาศ 2008-01-17 16:20:32


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615205)

การคิดดอกเบี้ยกฎหมายกำหนดไว้ไม่ให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 654 "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี"

ดังนั้นที่เจ้าหนี้ที่คุณแม่คุณกู้เงินมาและได้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือนนั้นจึงผิดกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะ แต่เป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนต้นเงินยังสมบูรณ์อยู่จึงต้องคืนต้นเงินให้แก่เจ้าหนี้ไป

นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฝ่าฝืนเป็นความผิดมีโทษทางอาญาไว้ด้วยคือ "

พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475

มาตรา 3            "บุคคลใด

(ก) ให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือ

(ข) ...............................................

(ค) ..............................................

ท่านว่าบุคคลนั้นมีความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

กรณีต่อไปก็คือ ดอกเบี้ยที่แม่ของคุณชำระให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้วนั้นจะเรียกคืนไม่ได้เพราะถือว่าได้ชำระไปโดยอำเภอใจเป็นการชำระที่ฝ่าฝืนกฎหมายครับ จึงเรียกคืนหรือนำมาหักต้นเงินอีกไม่ได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-18 13:17:30


ความคิดเห็นที่ 2 (1615206)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2167/2545

 

โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อจำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยความสมัครใจตามที่ตกลงกู้ยืมเงินกับโจทก์ จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 407 และ 411 จำเลยจะเรียกดอกเบี้ยคืนหรือนำมาหักชำระหนี้ต้นเงินหาได้ไม่

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2541 จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 30 เมษายน 2543 โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 227,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเคยกู้เงินโจทก์จำนวน 200,000 บาทโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ในวันกู้โจทก์หักดอกเบี้ยไว้จำนวน 6,000 บาท คงให้เงินจำเลยเพียง 194,000 บาท ส่วนข้อความในสัญญากู้ว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ทำปลอมขึ้น ภายหลังกู้เงินจำเลยจ่ายดอกเบี้ยไปจำนวน 80,000 บาท คงเป็นหนี้เฉพาะต้นเงิน114,000 บาท เหตุที่จำเลยงดผ่อนชำระเนื่องจากโจทก์คิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย และขู่บังคับให้จำเลยโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

 

        

  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท โดยตกลงคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวให้โจทก์แล้วเป็นเงินจำนวน 80,000 บาท คงมีประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจะนำเงินที่ชำระเป็นดอกเบี้ยดังกล่าวไปหักชำระหนี้ต้นเงินจากโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้การกระทำของโจทก์ที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 อันมีผลให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อจำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยความสมัครใจตามที่ตกลงกับโจทก์ไว้ จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 และ 411 จำเลยจะเรียกเงินดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวคืน หรือนำมาหักชำระหนี้ต้นเงิน200,000 บาท หาได้ไม่อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

 

          พิพากษายืน

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-18 13:26:18


ความคิดเห็นที่ 3 (1615207)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 "บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่"
ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-18 13:36:06


ความคิดเห็นที่ 4 (1615208)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411  "บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้ เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี  ท่านว่า บุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่"

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-18 13:38:16


ความคิดเห็นที่ 5 (1615209)

แม้ข้อตกลงในสัญญากู้ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจะตกเป็นโมฆะมีผลให้โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยตามสัญญาได้ก็ตาม แต่เมื่อเป็นหนี้เงินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้ดอกเบี้ยตามบทกฎหมายดังกล่าว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3053/2533

การที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากบ้านเดิมที่จังหวัดบุรีรัมย์แล้วไม่แจ้งแย้งเข้าบ้านตามที่แจ้งไว้ในกรุงเทพมหานคร จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยไปอยู่ที่ใด ทั้งยังได้ความว่า จำเลยแจ้งย้ายออกเฉพาะตัวจำเลยคนเดียว มิได้แจ้งย้ายครอบครัวไปด้วย แสดงว่าไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่ และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนา ต้องถือว่าจำเลยมีภูมิลำเนาครั้งสุดท้ายอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดบุรีรัมย์โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ได้ แม้ข้อตกลงในสัญญากู้ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจะตกเป็นโมฆะมีผลให้โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยตามสัญญาได้ก็ตาม แต่เมื่อเป็นหนี้เงินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้ดอกเบี้ยตามบทกฎหมายดังกล่าว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 จำเลยได้กู้เงินจากโจทก์จำนวน 79,000 บาท กำหนดชำระคืนวันที่ 22 มิถุนายน 2528 ครบกำหนดจำเลยไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 79,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน2528 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,525.89 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น80,525.89 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน79,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปีขัดต่อกฎหมายตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกดอกเบี้ยและสัญญากู้ท้ายฟ้องมิได้ปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องตามกฎหมายจะนำมาฟ้องร้องไม่ได้

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 79,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 22พฤษภาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 79,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยฎีกา

          ศาลวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้แจ้งย้ายภูมิลำเนาจากบ้านเลขที่ 109 หมู่ 1 ตำบลและอำเภอพุทพชไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ไปอยู่บ้านเลขที่ 3/1293 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2528 โจทก์ฟ้องวันที่ 24 กันยายน 2528หลังจากจำเลยย้ายภูมิลำเนา 1 เดือน จึงถือได้ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่ง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์นั้น ได้ความว่า ทนายโจทก์ไปยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเขตบางเขนขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวปรากฏว่าเจ้าหน้าที่หาเลขที่บ้าน 3/1293 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขนกรุงเทพมหานคร ที่จำเลยแจ้งประสงค์จะย้ายเข้าไปไม่พบ ทนายโจทก์จึงขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 3/1193/ หมู่ 6 ตำบลคลองสานอำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์ทราบจากนายสมชาย มันตาเสรีบุตรจำเลย ปรากฏว่าเป็นบ้านของนางสาววรรษมน มันตาเสรี บุตรสาวของจำเลย แต่ไม่มีชื่อจำเลยย้ายเข้า ซึ่งนายทะเบียนท้องถิ่นรับรองสำเนาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2528 เห็นว่า จำเลยแจ้งย้ายออกจากบ้านเดิมที่จังหวัดบุรีรัมย์แล้วไม่แจ้งย้ายเข้าบ้านที่แจ้งไว้ในกรุงเทพมหานคร จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยไปอยู่ที่ใดทั้งยังได้ความว่า จำเลยแจ้งย้ายออกเฉพาะตัวจำเลยคนเดียวมิได้แจ้งย้ายครอบครัวไปด้วย แสดงว่าไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่ และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนา ต้องถือว่าจำเลยมีภูมิลำเนาครั้งสุดท้ายอยู่ที่บ้านเลขที่ 109 หมู่ 1 ตำบลพุทไธสง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอศาลจังหวัดบุรีรัมย์ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลดังกล่าวได้

          จำเลยฎีกาว่า ข้อตกลงในสัญญากู้ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเมื่อจำเลยผิดนัดในอัตราสูงสุดของธนาคารเป็นโมฆะเพราะอัตราดอกเบี้ยของธนาคารสูงกว่าร้อยละสิบห้าต่อปีที่เอกชนผู้ให้กู้จะเรียกร้องเอาได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเลยนั้น เห็นว่า แม้ข้อตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ มีผลให้โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยตามสัญญาได้ก็ตาม แต่เมื่อเป็นหนี้เงินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 ให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีโจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้ดอกเบี้ยตามบทกฎหมายดังกล่าว

          พิพากษายืน

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-18 14:04:25


ความคิดเห็นที่ 6 (1615210)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

     ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด

    การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้"

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-18 14:09:15


ความคิดเห็นที่ 7 (2399433)

ชำระหนี้ตามอำเภอใจ(มาตรา 407),สัญญาหมั้นตกเป็นโมฆะ, ไม่ทราบว่าหญิงอายุไม่ครบ 17 ปี, ต้องคืนของหมั้นและสินสอด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2547
ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ 17 ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามมาตรา 412 และ 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามมาตรา 407 หาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนาย อ. และนางสาว บ. ทำบันทึกข้อตกลงภายหลังที่นาย อ. กับนางสาว บ. เลิกการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ว่าจำเลยตกลงจะคืนเงินสินสอดและของหมั้นแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&No=1222518

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-12 16:32:10



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล