ReadyPlanet.com


ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ


ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ  เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกจากลูกหนี้ได้มากน้อยเพียงใด และอย่างไร


ผู้ตั้งกระทู้ PP :: วันที่ลงประกาศ 2008-01-10 11:35:03


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615187)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7. "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเลี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้งให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึงต่อปี"

มาตรา 654  "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี"

มาตรา 383  "ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน  ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้  ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป"

 

กรณีศึกษา ความหมายของดอกเบี้ย และดอกเบี้ยเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลแขวงปทุมวัน
คดีหมายเลขดำที่ ม.๓๓๕๗/๒๕๔๖
คดีหมายเลขแดงที่ ม.๒๓๕๓/๒๕๔๗
วันที่ ๒๓ เดือน สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗
บริษัท จ.จำกัด โจทก์ นาย พ. จำเลย
แพ่ง ยืม (สินเชื่อเพื่อคนรุ่นใหม่)
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้ซึ่งโจทก์ใช้ชื่อว่า “สินเชื่อเพื่อคนรุ่นใหม่” จำนวน ๓๗,๙๙๓.๕๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๒๙,๑๔๗.๒๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์แถลงขอส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยาน เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอน อีกทั้งจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ จึงอนุญาตให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานได้ โจทก์อ้างส่งเอกสารรวม ๑๒ ฉบับ ศาลหมาย จ.๑ ถึง จ.๑๒ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๔ จำเลยตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ใช้ชื่อว่า “สินเชื่อเพื่อคนรุ่นใหม่” โดยตกลงว่าจะปฏิบัติและยินยอมตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัญญาให้สินเชื่อทุกประการ โจทก์อนุมัติเงินกู้แก่จำเลยเป็นเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ในการรับเงินดังกล่าว โจทก์นำเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยเป็นเงินจำนวน ๔๒,๕๐๐ บาท และถือว่าจำเลยได้รับเงินกู้นับตั้งแต่วันที่โจทก์นำเงินเข้าบัญชีดังกล่าว จำเลยตกลงชำระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
๑. ค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ ร้อยละ ๕ ของวงเงินกู้ ทั้งนี้ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ บาท โดยโจทก์จะหักค่าธรรมเนียมสี่วนนี้จากต้นเงินกู้ที่จะจ่ายให้แก่จำเลย
๒. ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินร้อยละ ๑.๙ ต่อเดือน
๓. ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี ของยอดเงินกู้ คิดเฉพาะเดือนแรก
๔. ค่าปรับชำระหนี้ล่าช้าจำนวน ๑๕๐ บาท ต่องวดต่อเดือน
๕. ค่าปรับเช็คคืนจำนวน ๒๐๐ บาท ในกรณีที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค
๖. ค่าปรับหักบัญชีไม่ผ่านจำนวน ๑๐๐ บาท ในกรณีที่ผู้กู้แจ้งความประสงค์ให้หักเงินบัญชีธนาคาร
จำเลยตกลงชำระคืนต้นเงินดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน และค่าใช้จ่ายต่างๆให้แก่โจทก์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๖๗,๕๑๐.๙๖ บาท โดยผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน งวดละ ๓,๗๕๐.๖๑ บาท รวม ๑๘ งวด ภายหลังที่กู้ยืม จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา โดยจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เพียง ๙ งวด เป็นเงินจำนวน ๓๓,๙๓๔.๘๙ บาท โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเป็นหนี้อีกต่อไป จึงมีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วแต่ยังคงเพิกเฉย ซึ่งยอดหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๖ จำเลยเป็นหนี้ต้นเงินจำนวน ๒๙,๑๔๗.๒๗ บาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจำนวน ๔,๔๒๘.๘๐ บาท ค่าปรับจำนวน ๔๑๖.๗๑ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๓,๙๙๒.๗๘ บาท
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้โดยชอบแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยตามสัญญาแก่โจทก์ คงมีปัญหาว่า โจทก์มีสิทธิคิดค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ยกับจำเลยได้เพียงใด เห็นว่า ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายของคำว่า “ดอกเบี้ย” ว่าเป็นค่าตอบแทนที่บุคคลหนึ่งต้องใช้ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เพื่อการที่ได้ใช้เงินของบุคคลนั้น หรือเพื่อทดแทนการไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้อง ดังนี้ เมื่อจำเลยกู้เงินโจทก์แล้วโจทก์คิดค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ในอัตราร้อยละ ๕ ของวงเงินกู้ และยังคิดค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในอัตราร้อยละ ๑.๙ ต่อเดือน ค่าธรรมเนียมทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นค่าตอบแทนมีลักษณะทำนองเดียวกับดอกเบี้ย และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยที่โจทก์คิดในอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี ของยอดเงินกู้ คิดเฉพาะเดือนแรก จะมีอัตราเกินกว่าอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕ ดังนั้น ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นโมฆะทั้งหมด โจทก์มีสิทธิเรียกได้เฉพาะต้นเงินคืนจากจำเลยเท่านั้น แต่เนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง และตามสำเนาใบแจ้งยอดบัญชี เอกสารหมาย จ.๘ ระบุให้จำเลยชำระหนี้งวดแรกภายในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๔ และจำเลยได้ชำระหนี้รวม ๙ งวด จึงถือว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ในวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๕ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์นำเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลย เป็นเงินจำนวน ๔๒,๕๐๐ บาท และจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๓๓,๙๓๔.๘๙ บาท จำเลยคงค้างต้นเงินโจทก์จำนวน ๘,๕๖๕.๑๑ บาท
พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๘,๕๖๕.๑๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๕ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๖๐๐ บาท/.

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-10 17:50:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล