ReadyPlanet.com


การยึดทรัพย์จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา


การไปยึดทรัพย์ลูกหนี้ นั้นถ้าในบ้านของลูกหนี้ ในบ้านไม่มีคนอยู่ ต้องทำอย่างไร สามารถทำลายประตูเข้าไปได้หรือไม่


ผู้ตั้งกระทู้ เจ้าหนี้ :: วันที่ลงประกาศ 2008-01-08 16:21:23


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615181)

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา  279

"เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดี แต่ในระหว่างพระอาทิตยขึ้นและพระอาทิตย์ตกในวันทำการงานปกติ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินโดยได้รับอนุญาตจากศาล

        ในการที่จะดำเนินการบังคับคดี  เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจเท่าที่มีความจำเป็นเพื่อที่จะค้นสถานที่ใดๆ อันเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ปกครองอยู่ เช่น บ้านที่อยู่  คลังสินค้า  โรงงาน และ ร้านค้าขายทั้งมีอำนาจที่จะยึดและตรวจสมุด  บัญชี หรือแผ่นกระดาษและกระทำการใดๆ ตามสมควร เพื่อเปิดสถานที่ หรือบ้านที่อยู่หรือโรงเรือนดังกล่าวแล้วรวมทั้งตู้นิรภัย  ตู้หรือที่เก็บของอื่น ๆ

     ถ้ามีผู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อดำเนินการบังคับคดีจนได้

 

จากหลักกฎหมายดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะกระทำการใดๆ อันสมควรที่จะให้เปิดสถานที่นั้นๆ ได้ตามสมควร

ดังนั้นการทำลายกุญแจบ้านเพื่อเปิดประตูจึงถือว่าเป็นการกระทำตามสมควรเพื่อเปิดสถานที่

แม้ลูกหนี้ไม่อยู่ก็สามารถกระทำได้ แต่ต้องบันทึกรายการทรัพย์สินต่อหน้าพยาน

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-10 00:27:10


ความคิดเห็นที่ 2 (1615182)
 เมื่อมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่2มีทรัพย์สินอื่นซึ่งโจทก์สามารถนำยึดมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้อยู่ภายในบ้านของจำเลยที่2ผู้แทนโจทก์ก็ควรขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา279วรรคสองโดยดำเนินการตามความจำเป็นเพื่อค้นบ้านของจำเลยที่2และกระทำการใดๆตามสมควรเพื่อเปิดบ้านดังกล่าวซึ่งถ้ามีผู้ขัดขวางเจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถจะร้องขอความช่วยเหลือจากพนักงานตำรวจเพื่อดำเนินการบังคับคดีจนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา279วรรคสามแต่ผู้แทนโจทก์ก็ไม่ได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการเช่นนั้นกลับแถลงขอยืนยันให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวของจำเลยที่2โดยแถลงว่าจำเลยที่2ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากที่ดินและบ้านดังกล่าวการที่โจทก์โดยผู้แทนโจทก์นำยึดที่ดินและบ้านของจำเลยที่2เช่นนั้นจึงถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่2เกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดีโจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่2ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา284วรรคสองและต้องรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีในการยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในส่วนที่เกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่2ต้องรับผิดต่อโจทก์

 

________________________________

 

          คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 28,938 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองไม่ปฎิบัติตามคำบังคับ นางสาวสุภัทรา คงเจริญ ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน พร้อมบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยนางสาวสุภัทราแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากที่ดินและบ้านดังกล่าวเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินเป็นเงิน 1,260,000 บาทและประเมินราคาบ้านเป็นเงิน 100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น1,360,000 บาท

          จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินอื่นซึ่งมีราคาพอชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมอยู่ในที่ดินและบ้านเลขที่ดังกล่าวอย่างเปิดเผยเป็นจำนวนมาก แต่โจทก์ไม่ยอมนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินเหล่านั้นกลับนำยึดที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าว โดยทราบดีว่าทรัพย์ที่ยึดมีราคาเกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีหลายสิบเท่าขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีและสั่งถอนการยึดทรัพย์

          โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าโจทก์ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2โดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่อ ขอให้ยกคำร้อง

          ระหว่างไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และโจทก์แถลงขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามเอกสารในสำนวนรวมทั้งภาพถ่ายและเอกสารที่จำเลยที่ 2 และโจทก์ส่งต่อศาลเท่านั้นโดยทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยานต่อไป

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง

          จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ถอนการบังคับคดีให้จำเลยที่ 2เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์ในราคาทรัพย์ที่ปลอดจำนอง

          จำเลยที่ 2 ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงข้อเดียวว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีราคาสูงกว่าจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินอื่นซึ่งมีราคาพอแก่การที่จะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ โจทก์จึงเป็นฝ่ายต้องชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์หรือไม่ในปัญหานี้ เมื่อได้ความว่าที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้นั้นธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้รับจำนองไว้เป็นจำนวนเงินถึง 1,750,000บาท จึงน่าเชื่อว่าที่ดินและบ้านดังกล่าวของจำเลยที่ 2 มีราคาสูงกว่าที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้รับจำนองไว้ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าที่ดินและบ้านดังกล่าวของจำเลยที่ 2 มีราคาสูงกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินไว้เป็นราคารวมทั้งสิ้นเพียง1,360,000 บาทมาก ที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงมีราคาสูงกว่าหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หลายสิบเท่า ที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินและบ้านดังกล่าวของจำเลยที่ 2 นั้น ปรากฎจากสำเนารายงานเจ้าหน้าที่เอกสารหมาย ค.1 ว่าเมื่อผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยังที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่พบจำเลยที่ 2 พบหญิงชราอยู่ในบ้าน ประตูหน้าบ้านปิดใส่กุญแจและมีสุนัขพันธุ์ต่างประเทศอยู่หลายตัว ผู้แทนโจทก์แถลงว่าไม่มีทรัพย์สินอื่นใดของจำเลยที่ 2นอกจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว และยืนยันนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าการยึดที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 2 เกิดขึ้นจากการยืนยันของผู้แทนโจทก์ว่าไม่มีทรัพย์สินอื่นใดของจำเลยที่ 2 นอกจากที่ดินและบ้านดังกล่าว แต่กลับปรากฎจากภาพถ่ายหมาย ร.3 รวม 8 ภาพ ซึ่งเป็นภาพถ่ายบ้านของจำเลยที่ 2ที่ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ว่า บ้านดังกล่าวเป็นบ้านตึกสองชั้นขนาดใหญ่อยู่ในสภาพดีมีโรงรถซึ่งตามภาพถ่ายดังกล่าวปรากฏว่ามีรถยนต์จอดอยู่ถึง 3 คัน และที่ตัวบ้านดังกล่าวมีเครื่องปรับอากาศติดอยู่เห็นได้ชัด จำเลยที่ 2 เป็นหนี้ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนเล็กน้อยเพียงไม่ถึง 60,000 บาท จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าภายในบ้านของจำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์สามารถนำยึดมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดที่ดินและบ้านดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีราคามากกว่าหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หลายสิบเท่า ซึ่งเมื่อมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินอื่นซึ่งโจทก์สามารถนำยึดมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้อยู่ภายในบ้านของจำเลยที่ 2 เช่นนั้นแล้วผู้แทนโจทก์ก็ควรจะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีตามมาตรา 279 วรรคสอง โดยดำเนินการตามความจำเป็นเพื่อค้นบ้านของจำเลยที่ 2 และกระทำการใด ๆ ตามสมควรเพื่อเปิดบ้านดังกล่าวซึ่งถ้ามีผู้ขัดขวางเจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถจะร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อดำเนินการบังคับคดีจนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 279 วรรคสามแต่ผู้แทนโจทก์ก็ไม่ได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการเช่นนั้นกลับแถลงขอยืนยันให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวของจำเลยที่ 2 โดยแถลงว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากที่ดินและบ้านดังกล่าว การที่โจทก์โดยผู้แทนโจทก์นำยึดที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 2 เช่นนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดีโจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 วรรคสองและต้องรับผิดใช้ค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีในการยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในส่วนที่เกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังขึ้น"

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์ตามจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 2 ต้องใช้ให้แก่โจทก์และให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์ในส่วนที่เหลือทั้งหมด

 

 

( อัครวิทย์ สุมาวงศ์ - ก้าน อันนานนท์ - อำนวย หมวดเมือง )

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-01-10 00:39:27


ความคิดเห็นที่ 3 (1615183)
ขอขอบพระคุณ เป็นอย่างสูง แก่ผู้ให้คำแนะนำ  ให้ความคิดเห็น  เพื่อ เป็นแนวทางแก่คนที่ตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้  ขอให้ได้บุญกุศลมาก ๆ
ผู้แสดงความคิดเห็น คนมีชะตากรรมเช่นนี้ วันที่ตอบ 2008-01-15 23:42:47


ความคิดเห็นที่ 4 (2065948)

หลังจากศาลตัดสินแล้วให้ยึดทรัพย์เรามีเวลาการดำเนินการกี่วัน

ผู้แสดงความคิดเห็น เด็กชร. วันที่ตอบ 2010-05-19 11:25:02



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล