ReadyPlanet.com


ช่วยผมหน่อยครับ ผมจะเล่นงานคนพวกนี้อย่างไรดี ผมทนไม่ไหวแล้ว


เฮ้อ.. ผมมีเรื่องหนักใจมากๆ มาปรึกษาหน่อยครับ
คือที่บ้าน มีรถสี่ห้าคัน เพราะคนในบ้านต้องใช้ พ่อ แม่ แล้วก็ผม พ่อผมเปิดร้านขายอาหารให้ โดยการเช่าเขา
แล้วเอารถมาจอดใว้สองคันบ้าง สามคันบ้าง เป็นตึกแถว
ห้องริมน่ะครับ ปํญหา เกิดที่ว่า แม่ค้าฟั่งข้างๆ ร้านผม
เอาบ้านผมไปนินทาว่าบ้านผมค้ายา เลยรวย เที่ยวบอกคนอื่นไปทั่วเลยอะครับ พ่อผมทำรับเหมาก่อสร้าง ทำงานได้กำไรก็เป็นหลักล้าน แต่ก่อนครอบครัวผมลำบาก
กว่าจะได้มาสบายอย่างทุกวันนี้ ผมต้องไปรับจ้าง ทาสี ก่อสร้าง แบกปูน ก่อฉาบ ทุกๆ อย่าง แบกห้ามกับพ่อ ห้องน้ำบ้านไหนตันก็ต้องไปทุบท่อ อุจจาระกับพ่อ เฮ้อ ผมพุดแล้วไม่รู้จะทำยังใง
พอช่วงนี้พ่อผมมีงานเยอะมาก จนมีเงินเหลือเก็บ
ก็ซื้อรถมือสองมา รวมกัยสี่คันยังไม่ถึงล้านเลยครับ
แล้วพวกแม่ค้าฝั่งตรงข้ามก็เริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ บางทีรถผมฝุ่นเกาะ มันก็แอบมาเขียนบนฝากระโปรงว่า จับเลย ประมาณว่าบ้านผมค้ายาจับเลย แม่ก็บอกผมว่าอย่าคิดมาก แม่ค้าก็ปากแบบนี้ ยังครับมันยังไม่จบ ยิ่งวันนี้
พวกเขานั่งจับกลุ่มคุยกัน พูดแบบให้ผมได้ยินว่า เนี่ยคนพร้อมแล้วนะ เดี๋ยวจะบุกเข้าไปค้นบ้าน สองคนคอยจับที่ประตูหน้าบ้าน รับรองว่าจะโดนชุดใหญ่ ผมงี้อึ้งเลยครับ
แต่ละคันพ่อผมครอบครองมาสี่ห้าปีแล้วทั้งนั้น แต่พวกเขาไม่สนใจหาว่าผมขายยาอย่างเดียวเลย ยิ่งช่วงนี้ตำรวจยัดยาอยู่ด้วยอะครับ แฟนผมเขาก็ท้องอยู่ แล้วตอนนี้ผมก็ไม่ได้ขายของแล้ว ให้เขาเช้งไปแล้ว เดือนมีนาผมก็ย้ายแล้วครับ แต่ปากของพวกเขาก็ไม่หยุด พยายามจะให้ผมเป็นคนขายยาให้ได้ ผมเป็นคนไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ทุกคืนผมนอนไม่หลับ บางคืนผมลองคิดย้อนกลับไปเวลาลำบากกับพ่อ แล้วมาโดนคนว่าแบบนี้ น้ำตามันจะไหลครับ แล้วผก็ห่วงแฟนผมมากด้วยเขากำลังท้อง ถ้าเพื่อผมโดนยัดยาขึ้นมาผมไม่อยากจะคิดสภาพ
เพื่อนๆ บางคนอาจจะไม่เชื่อผม แต่ผมขอบอกได้เลย
ผมไม่เคยคิดที่จะไปแตะต้องมัน ผมลำบากมาตั่งแต่เด็ก ผมจะไม่หาทางรวยแบบนั้น คนที่ทำงานมาตั่งแต่เด็กๆ จะรู้ครับ มีใครพอที่จะช่วยผมได้บ้างครับ พวกข้อกฏหมายอะไรแบบนี้ pantip เป็นที่พึ่งสุดท้ายของผมแล้วครับ ช่วยผมหน่อยนะครับ ตอนนี้ผมนอนไม่หลับเลย
0867226632 เบอร์ผมนะครับ บ้านผมอยู่ร้านโจ๊กบางกอกในซอยจรัญ 35 ครับ แถว tesco express ส่วนพวกแม่ค้า
ก็อยู่ข้างๆ family mark ครับ ขอบคุณครับที่อ่านและรับฝังผมมาตลอด สุดท้ายนี้ถ้าผมโดนยัดยาต้องติดคุก ผมจะส่งข่าวมาบอกนะครับ ขอบคุณมากครับเพื่อนๆ

 

ผมขอถามเพื่อนๆหน่อยนะครับ ว่าผมจะฟ้องคนพวกนี้ยังใงดี อยากให้พวกหเขารู้ว่าการที่เที่ยวไปบอกชาวบ้านว่า คนนี้ คนโน้น รวยได้เพราะขายยา บอกคนไปทั่วซอยเลยอะครับ ผมไม่รู้จะทำยังใง ช่วยแนะนำหน่อยครับ ว่าผมจะทำอะไรได้บ้าง มีขั้นตอนยังใง จริงๆ ผมไม่ใช่คนรวยอะไรมากมาย ช่วยบอกค่าใช้จ่ายให้ผมด้วยนะครับ
ขอบคุณเพื่อนๆ มากๆ ครับ เฮ้อเครียคครับ



ผู้ตั้งกระทู้ SERA :: วันที่ลงประกาศ 2008-03-09 22:42:39


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615282)

คนดีตกน้ำไม่ไหลตกไฟก็ไม่ไหม้  สุภาษิตโบราณว่าไว้

กินให้อิ่ม นอนมากๆ ทุกอย่างจะดีเอง

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-03-10 17:59:49


ความคิดเห็นที่ 2 (1615283)
มาตรา 393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-03-10 21:25:19


ความคิดเห็นที่ 3 (1615284)

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำ

ความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-03-10 21:26:58


ความคิดเห็นที่ 4 (1615285)

การทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ กฎหมายถือว่า เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่ง ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิด และถ้าหากการทำละเมิดนั้น เข้าองค์ประกอบของความผิดทางอาญาด้วย นอกจากผู้ทำละเมิดจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในทางแพ่งแล้ว ยังจะต้องรับผิดและรับโทษในทางอาญา จากการกระทำอันเดียวกันนั้นด้วย เช่น ทำให้ผู้อื่นตายโดยเจตนา เป็นการกระทำโดยละเมิดในทางแพ่ง ฐานทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมีความผิดทางอาญาฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 คดีแพ่งในลักษณะเช่นนี้กฎหมายเรียกว่า คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หรือภาษาทางกฎหมายโบราณเรียกว่า อาญาสินไหม

อย่างไรก็ดี การกระทำโดยละเมิด ไม่จำเป็นจะต้องเป็นความผิดทางอาญาเสมอไป เช่น การกระทำให้ผู้อื่น ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินโดยประมาทเลินเล่อ เป็นการกระทำโดยละเมิดในทางแพ่งแต่เพียงอย่างเดียว ผู้กระทำไม่มีความผิดในทางอาญา เพราะไม่มีความผิดทางอาญาฐานทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายโดยประมาท การกระทำโดยละเมิดในทางแพ่งกรณีเช่นนี้จึงไม่อาจเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาได้เลย เช่น ทำปืนลั่นโดยประมาทเลินเล่อกระสุนปืนไปโดนรถยนต์ผู้อื่นเสียหาย ผู้ที่ทำปืนลั่นโดยประมาท คงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของรถยนต์ ฐานที่ทำละเมิดในทางแพ่งเท่านั้น

แต่ถ้าทำปืนลั่นโดยประมาทถูกผู้อื่นบาดเจ็บ ผู้ที่ทำปืนลั่นโดยประมาทจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย ทั้งฐานละเมิดในทางแพ่ง และฐานทำโดยประมาทให้ผู้อื่นบาดเจ็บ หรือตายในทางอาญา การกระทำโดยละเมิดทางแพ่งกรณีเช่นนี้ เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

มีการกระทำโดยละเมิดในทางแพ่งอยู่อย่างหนึ่ง ที่บางกรณีเป็นความผิดอาญา บางกรณีไม่เป็นความผิดทางอาญา คือ การกระทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง หรือที่เรียกว่า หมิ่นประมาท

การหมิ่นประมาทผู้อื่นย่อมทำให้ผู้อื่นนั้นได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง จึงเป็นการกระทำโดยละเมิดในทางแพ่งเสมอ ไม่ว่าผู้หมิ่นประมาทจะกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ก็ตาม

การหมิ่นประมาทผู้อื่น ที่จะเป็นทั้งการกระทำโดยละเมิดในทางแพ่งและความผิดในทางอาญา ก็เฉพาะแต่ การหมิ่นประมาทที่ผู้กระทำกระทำโดยเจตนาเท่านั้น เพราะการทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงโดยไม่เจตนา ไม่เป็นความผิดในทางอาญา

จำเลยได้รับคำบอกกล่าวจากญาติของโจทก์ว่า โจทก์รักใคร่กับชายทางชู้สาว นอนกอดจูบและได้เสียกัน ต่อมามีผู้ถามจำเลยถึงเรื่องนี้ จำเลยก็เล่าข้อความตามที่ได้รับคำบอกเล่ามาให้ผู้นั้นฟังเช่นนี้ ถือว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 380/2503)

จำเลยถามนายประกอบว่า "พี่กอบ ได้ข่าวว่ามีอะไรกับติ๋มหรือเปล่า ถ้ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาว ก็ขอให้เลิกเสีย มันไม่ดี เพราะติ๋มก็มีผัวอยู่แล้ว" คำถามดังกล่าว เป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลย มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงอันน่าจะทำให้โจทก์ (ติ๋ม) เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แต่ประการใด จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกล่าวดังกล่าวต่อหน้าโจทก์ ย่อมไม่เป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า (คำพิพากษาฎีกาที่ 2180/2531)

การทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงที่เป็นละเมิดในทางแพ่งโดยผู้กระทำไม่จำต้องมีเจตนานั้น ได้แก่ การกระทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหาย แก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขา เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่า ข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรจะรู้ได้"

เมื่อการกระทำละเมิด ตามมาตรา 423 นี้ ผู้กระทำไม่จำต้องกระทำโดยเจตนา การกระทำละเมิดชนิดนี้ จึงเป็นการละเมิดที่อาจจะเป็นความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้กระทำเป็นสำคัญ กล่าวคือ ถ้าผู้กระทำทำละเมิดตามมาตรา 423 โดยเจตนา การกระทำนั้นย่อมเป็นความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาท

กรณีที่เป็นการกระทำละเมิดโดยไม่มีเจตนาใส่ความผู้อื่นเช่นนี้ การกระทำที่เป็นการละเมิดในทางแพ่ง ย่อมไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ฉะนั้นถ้าหากโจทก์ได้นำคดีที่จำเลยทำละเมิดต่อชื่อเสียง เกียรติคุณทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของโจทก์ไปฟ้องจำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญา แล้วศาลในคดีส่วนอาญาพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะเห็นว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้น จำเลยไม่มีเจตนาใส่ความโจทก์ ศาลในคดีส่วนแพ่งก็น่าจะนำ หลักในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ที่ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา มาใช้ไม่ได้

มีคนไปบอกหนังสือพิมพ์ว่าถูกธนาคารโกงเงินที่ฝากไว้กับธนาคาร เพราะธนาคารไม่ยอมให้ถอนเงินที่ฝากไว้ หนังสือพิมพ์เชื่อได้ลงข่าวแพร่หลายไปตามที่ได้รับคำบอกเล่านั้น ธนาคารย่อมได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณทางทำมาหาได้และทางเจริญของธนาคาร เพราะคงไม่มีลูกค้าคนใดติดต่อธุรกิจกับธนาคารที่ขี้โกงอีกต่อไป ทั้ง ๆ ที่ความจริงธนาคารไม่ยอมให้ลูกค้าถอนเงินจริง แต่ธนาคารอาจไม่ได้โกงลูกค้า เป็นเพราะลูกค้าเป็นหนี้ธนาคารอยู่ ธนาคารได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 เมื่อนำเงินฝาก ไปหักกลบลบหนี้ที่ลูกค้าเป็นหนี้ธนาคารอยู่ จนหนี้ของลูกค้าระงับไปแล้ว จึงไม่มีเงินฝากที่จะคืนให้ลูกค้าได้อีก

กรณีอย่างนี้คนที่บอกให้หนังสือพิมพ์ลงข่าว และหนังสือพิมพ์อาจไม่มีความผิดในทางอาญาฐานหมิ่นประมาท เพราะไม่มีเจตนาใส่ความธนาคาร แต่อาจจะต้องรับผิดในทางแพ่งฐานละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 423

ครับ ได้ข่าวอะไรมา ตรวจสอบเสียหน่อยก่อนจะเผยแพร่ข่าว ต่อ ๆ ไปก็น่าจะดี ชื่อเสียงของใครใครก็รักก็หวงแหน ไม่อยากให้ใครมาทำลายด้วยกันทั้งนั้น

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-03-10 21:54:36


ความคิดเห็นที่ 5 (1615286)

ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 326 ระบุถึงการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียงถูก ดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”


การหมิ่นประมาท ที่จะเป็นความผิดที่มีโทษ ทางอาญานั้น จะต้องมีการกระทำ ที่สำคัญ คือ “ใส่ความ” ความหมายที่ได้บัญญัติไว้ โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ให้ความหมายไว้ว่า พูดหาเหตุ หรือ กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับ ความเสียหาย ตามความหมายที่ชาวบ้านธรรมดาเข้าใจกัน ก็คือการใส่ความแก่กัน ว่าใส่ร้ายหรือแสดงข้อความที่ไม่เป็นความจริง แต่ข้อเท็จจริงตามกฏหมายข้อความที่กล่าวแก่บุคคลอื่นนั้นแม้ที่กล่าว
ออกไปนั้นเป็นความจริงก็ผิดกฎหมายมีโทษได้ การ “ใส่ความ” ในกฎหมายนั้นมิได้จำกัดแต่ว่าเอาเรื่องไม่จริง ไปแต่งความใส่ร้ายเขาแต่มุ่งการเอาข้อความไปว่ากล่าวเขา ต้องเป็นการยืนยัน ข้อเท็จจริงว่า เป็นข้อความแน่นอนเป็นเหตุให้ผู้อื่น เสียชื่อเสียงด้วยประการ ต่าง ๆ เช่น ดำบอกแดงว่า มีข่าวลือว่าขาว เป็นชู้กับเมียนายเขียว แม้ดำจะเชื่อว่า ไม่จริง หรือเป็นความจริงก็ตาม ดำก็ผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว การหมิ่นประมาทต้องเป็นการกล่าว “ใส่ความ” “ผู้อื่น” ต่อ “บุคคลที่สาม” ต้องมีบุคคลสามฝ่าย คือ 1. ผู้กล่าว 2. ผู้อื่น 3. บุคคลที่สาม เช่น ดำบอกแดงว่า แดงขโมยของเขียวไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะไม่มี บุคคลที่สาม แต่ถ้าดำบอกเหลืองว่า แดงขโมยของเขียว ดำผิดฐานหมิ่นประมาท แล้ว เพราะเหลืองเป็นบุคคลที่สาม เมื่อมีการกล่าว การใส่ความ บุคคลที่สามแล้ว ประการสุดท้ายที่จะ เป็นผิดฐานหมิ่นประมาทได้นั้น การใส่ความต้องทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียหาย ไม่ว่าจะเสียหายในชื่อเสียงถูกคนอื่นดูหมิ่น ถูกเกลียดชังก็ได้ สรุป ก็คือ จะเป็นผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องมีการกระทำดังนี้ 1. ใส่ความผู้อื่น 2. ต่อบุคคลที่สาม 3. ทำให้ผู้อื่นเสียหายในชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การใส่ความต้องมีผู้เสียหาย คือผู้ถูกใส่ความ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ ทางกฏหมายคือผู้อื่น ผู้อื่นนั้นต้องเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็ได้

นิติบุคคล คือ บุคคลตามกฏหมาย เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด วัด เป็นต้น บุคคลผู้ถูกหมิ่นประมาทถ้าเป็นคนธรรมดา ต้องเป็นผู้มีชีวิตอยู่ แต่ถ้าตายไปแล้วก็ผิดกฏหมายได้ จะได้กล่าวในลำดับต่อไป บุคคลที่ถูกดูหมิ่นประมาทต้องมีตัวตน ระบุไว้แน่นอนว่าเป็นใคร กลุ่มใด สามารถกำหนดตัวตนได้เป็นที่แน่นอน ถ้ากล่าวกว้างเกินไป ก็ไม่สามารเอาผิดฐานหมิ่นประมาทได้ เช่น หมิ่นประมาทคนนครปฐม คนราชบุรี เป็นการระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ไม่เป็นผิด

ตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลฎีกา
- การเขียนข้อความหมิ่นประมาทกำนันและปลัดอำเภอโดยไม่ระบุชื่อ ผู้อ่านบางคนรู้ว่าหมายความถึง บ.กำนันคนปัจจุบัน และ ป. ปลัดอำเภอ คนหนึ่งที่เกี่ยวข้องเรื่องนั้น ปลัดอำเภออีก 4 คน ไม่เกี่ยว ก็เป็น หมิ่นประมาท บ. และ ป. ไม่จำเป็นที่ผู้อ่านบางคน จะต้องรู้ว่าหมายความถึง บ. และ ป.
- ออกชื่อบุคคลในหนังสือพิมพ์ตอนแรกแต่ไม่ออกชื่อในตอนหลัง อาจอ่านประกอบกันเป็นหมิ่นประมาทบุคคลที่ออกชื่อในตอนแรก ก็ได้
- กล่าวว่า แพทย์ชายใจทราม ในโรงพยาบาลศิริราช หมายความถึง แพทย์ชายคนหนึ่งมิได้หมายความถึงแพทย์ทุกคน ไม่เป็นความผิดฐานนี้
- กล่าวถึงบุคคลในพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกในพรรคคนหนึ่ง ฟ้องไม่ได้ ในเมื่อไม่มีอะไรแสดงว่ากล่าวถึงผู้นั้นโดยเฉพาะ
- กล่าวว่าเทศมนตรีทุจริต แต่ในระยะ 1 ปี มีเทศมนตรีเปลี่ยนกัน มาแล้ว 7 ชุดยังเข้าใจไม่ได้ว่า หมายความถึง เทศมนตรีชุดปัจจุบัน 3 นาย
- กล่าวว่า ราษฏรบ้านกราดที่อพยพมา ล้วนเป็นคอมมิวนิสต์ ราษฏร มี 4,000 คน ไม่เข้าใจว่า หมายความถึงโจทก์ไม่เป็นหมิ่นประมาท แต่ถ้ากล่าวข้อความหมิ่นประมาทถึงแม้จะ กล่าวถึงคนเป็นกลุ่มเป็นพวก ก็ตามถ้าสามารถเป็นที่เข้าใจได้ว่า หมายถึง คนในกลุ่มในพวกนั้นทุกคนก็เป็น หมิ่นประมาทได้ แต่ต้องคำนึงถึงด้วยว่า คนในกลุ่มพวกดังกล่าว ต้องมีจำนวน ไม่มากเกินไป ถ้าจำนวนคนในกลุ่มพวกมีจำนวนมาก ๆ อาจทำให้เป็นที่เข้าใจ
ได้ว่าไม่หมายความถึงทุกคน ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท ดังตัวอย่างตาม คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น

ตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลฎีกา
- พูดหมิ่นประมาท “พระวัดนี้” หมายความว่า พระทั้งวัดซึ่งมี 6 รูป
- กล่าวว่า “ทนายความเมืองร้อยเอ็ดเป็นนกสองหัว” ซึ่งมีทนายความอยู่ 10 คน การใส่ความดังกล่าวมาแล้วข้างต้น คือ เป็นการแสดงข้อเท็จจริงอันหนึ่ง อันใดแม้เป็นความจริงก็ผิดได้ วิธีการใส่ความก็คือ แสดงข้อความให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ อาจเป็น พูด อ่านเขียน วาดภาพ แสดงท่าทาง ภาษามือ ใช้เครื่องหมายสัญญลักษณ์

ตัวอย่าง
- ดำวาดภาพแสดงข้อความว่าแดงเป็นคนไม่ดีให้เขียวดู เป็นหมิ่นประมาท
- ดำหมิ่นประมาทแดงโดยใช้ภาษามือกับเขียว เป็นหมิ่นประมาท
- ดำส่งกระดาษที่มีข้อความหมิ่นประมาทเขียวให้แดงอ่าน เป็นหมิ่นประมาท หรืออาจเป็นการแสดงออกโดยปิดประกาศหรือส่งจดหมาย พูดทางโทรศัพท์ ก็ได้ ข้อความที่ใส่ความนั้นต้องหมิ่นประมาทด้วยกล่าวคือโดยประการ
ที่น่าจะทำให้ผู้ถูกใส่ความนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังซึ่งลักษณะ ของการกระทำเป็นเพียง “น่าจะ” เท่านั้น ไม่ต้องให้ผู้รับฟัง หรือบุคคลที่สาม เกลียดชังผู้ถูกดูหมิ่น ก็ใช้ได้ ถือว่าผิดกฏหมายแม้บุคคลที่สาม จะไม่เชื่อข้อความ ก็ตาม ข้อความที่กล่าวจะผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาทั้งหมดรวม ๆกัน ถ้ารวมกัน ทั้งหมดแล้ว เป็นหมิ่นประมาทก็ผิด ไม่ใช่พิจารณาตอนใด ตอนหนึ่ง แต่คำกล่าวข้อความตอนต้นเป็นหมิ่นประมาทแล้ว แม้ตอนหลังจะไม่เป็น หมิ่นประมาทก็ผิด

ตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลฎีกา
- หนังสือพิมพ์ ลงข่าวอดีตกำนันถูกฟ้องศาล พิจารณาคดีขบถ แต่ลงรูปถ่ายและข้อความว่า “คนขายชาติอดีตกำนัน ย.” เมื่อถูกตีแผ่ เป็นลมกลางศาล ข้อความตอนนี้แยกเป็นคนละตอนต่างหากจากตอนแรก เป็นถ้อยคำของหนังสือพิมพ์เองอธิบายภาพว่า ย. ขายชาติซึ่งความจริง ย. เพียงแต่ถูกฟ้อง เป็นความผิด ตามมาตรา 326
- กล่าวถึงผู้พิพากษาว่า "ถ้ามันจะกินไข่ของเขาเข้าไป” หมายความว่า ผู้พิพากษารับสินบน ผิดฐานหมิ่นประมาท
- กล่าวว่า “นายกเทศมนตรีกินเนื้อ น. วันละ 8 กิโล” ผิดฐานหมิ่น ประมาท
- กล่าวว่า “คุณติดตะรางเรื่องอะไร” แสดงว่าต้องโทษจำคุกมาแล้ว ผิดฐานหมิ่นประมาท
-ข้อความในหนังสือพิมพ์ว่า “ท.เป็นสาวก้นแฉะ” บรรยายความในฟ้อง ด้วยว่าหมายความว่าชอบร่วมประเวณีกับชายทั่วไปจำเลย ให้การรับสารภาพ เป็นหมิ่นประมาท การกล่าวข้อความบางทีมองผิวเผิน อาจเข้าใจได้ว่าผิดกฏหมาย ฐานหมิ่นประมาท แต่จริง ๆ แล้วไม่ผิด ต้องผิดเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่น เป็นเพียง คำพูดไม่สุภาพ เป็นคำกล่าวลอย ๆ ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง พูดกล่าวในสิ่งที่ เป็นไปไม่ได้ คำด่าทั่วไป แม้เป็นไปในทางเสื่อมเสียทำให้ผู้ถูกด่าโกรธ โมโห เจ็บใจ ไม่เป็นหมิ่นประมาท ไม่ใช่ว่าถ้ามีการด่าก็ผิดฐานหมิ่นประมาท
(แต่อาจผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าได้)

ตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลฎีกา
- กล่าวว่า ทำไม่ชอบด้วยศีลธรรมไม่เป็นหมิ่นประมาท
- ว่า ประพฤติเลวทรามที่สุดทั้งการกระทำและคำพูด ไม่เป็นหมิ่นประมาท
- เป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้สึกต่ำไม่เป็นหมิ่นประมาท
- อย่าเอาไม้ไปแหย่ขี้ เป็นแต่คำเปรียบเทียบ ไม่สุภาพ
- กล่าวข้อความว่า เป็นผีปอบ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้คนบางกลุ่มจะ เชื่อ แต่ต้องถือตามความเข้าใจของคนทั่วไป ไม่เป็นหมิ่นประมาท แต่หากกล่าวว่า “เวลาผัวไม่อยู่ มีชู้ตั้งร้อยอันพันอัน” หมายความว่า
ประพฤติเลวทรามทางประเวณี ไม่ใช่กรณีกล่าวในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เป็นหมิ่นประมาท
- กล่าวว่า อ้าย*** อ้ายสัตว์ อ้ายชาติหมา เป็นคำด่า หมายความว่า เลวทราม ไม่ใช่ใส่ความหมิ่นประมาท
- กล่าวว่า พระเป็นจิ้งเหลือง คือสัตว์ห่มผ้าเหลือง เป็นดูหมิ่น ไม่ใช่หมิ่นประมาท ถ้าคำด่ามีการหมิ่นประมาทรวมไปด้วยก็ผิดกฏหมายหมิ่น ประมาทได้ เช่น
- ป. ข. ก. ด่ากัน ง. พี่ ก. เข้าช่วยด่า ป. ว่า “อีชาติดอกทอง คบกับ พี่กูที่ปากสระ ลูกของมึงคนหนึ่งเป็นลูกของผัวกู” เป็นหมิ่นประมาท
- ล. ด่า ส. ว่า “อีส่องทำชู้กับผัวกู” พ่อแม่มันคบกับสัตว์กับหมา เป็นคำด่ามีข้อความหมิ่นประมาทรวมอยู่ด้วย
- ด่ากับคนหนึ่ง แล้วเลยกล่าวไปถึงน้องของเขาว่ามีท้องรีดลูก เป็นหมิ่นประมาท
- ด่าว่า “อีดอกทอง อีหน้าด้าน กะหรี่เถื่อน พวกมึง 3 คน แม่ลูกเป็น กะหรี่เถื่อน ให้เขาเอา 3 คน 50 บาท มีเงินก็เอาได้ ไม่มีเงินก็เอาได้” เป็นหมิ่นประมาท
- มีคนบอก ส. ว่า พ. แอบดูเห็น ส. ร่วมประเวณีกับ ช. ส. ไปถาม พ. แล้ว พูดโต้ตอบเถียงกันว่าเห็นจริงหรือไม่ พ. พูดอีกว่ามึงเอากันจริง แล้ว ยังจะมาพาลหาเรื่องอีกดังนี้ พ. ไม่เพียงแต่ตอบคำถามของ ส. แต่เมื่อเถียง กันแล้ว ยังยืนยันอีก เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
- กล่าวในการทะเลาะโต้เถียงตอบโต้ย้อนซึ่งกันและกัน ไม่เป็นผู้เสียหาย ร้องทุกข์และฟ้องไม่ได้ การหมิ่นประมาท ต้องเป็นการใส่ความและมีพฤติกรรม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การเสียชื่อเสียง อาจหมายความว่าทำให้คนอื่น มองไปในทางไม่ดี ลดคุณค่า ความเชื่อถือ นับถือลง เช่น
- กล่าวว่า พระวัดนี้ดูหนัง เลวมาก บ้าผู้หญิง ไม่มีศีล เป็นหมิ่นประมาท ทำให้ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นความหมายตามธรรมดา ไม่ได้จำกัด แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง

ตัวอย่างตามพิพากษาศาลฎีกา
- ด. กล่าวว่า ย. เป็นคนโกงเอาสัญญาปลอมมาฟ้อง จะต้องฟ้อง ย. ให้ติดคุก เป็นหมิ่นประมาท
- กล่าวว่า ง. ใช้คนไปลักเสาและเป็นคนทนสาบาน เป็นหมิ่น ประมาท
- กล่าวว่า ผูเ้สียหายลักของจำเลยเป็นหมิ่นประมาท
- กล่าวว่าให้และรับสินบน เป็นหมิ่นประมาท
- ลงรูปถ่ายและข้อความหนังสือพิมพ์ ประกาศข้อหายักยอก ให้นำส่งสถานีตำรวจ แสดงว่าโจทก์ทุจริต จำเลยรู้ว่าโจทก์รับราชการ นำหมายจับ จับได้แน่นอน การโฆษณาเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เป็นประโยชน์แก่ ประชาชนแม้ตำรวจออกหมายจับตามที่จำเลยร้องทุกข์จริงก็เป็นผิดมาตรา 328
- ซ. ชี้หน้า ช. ว่า คนชาติชั่ว หากินเท่าไรก็ไม่เจริญ โกงเอาทรัพย์สมบัติ เป็นหมิ่นประมาท ข้อความบางข้อความเป็นการกล่าวลอย ๆ ไม่รุนแรง ไม่ทำให้ถูก เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังก็ไม่เป็นหมิ่นประมาท

ตัวอย่างตามคำพิากษาศาลฎีกา
- ช. นายอำเภอพูดว่า ง. ว่า,อีหน้าเลือด ไม่ปรานีคนจน ไม่เป็น หมิ่นประมาท
- กล่าวเป็นคำถามว่า พ. ถูกเรียกชื่อพระราชทานคืนไม่ใช่หรือ ไม่เป็นคำใส่ร้ายไม่เข้าใจได้ว่า ประพฤติไม่ดีอย่างไร หรือทำชั่วร้าย อย่างไร ไม่เป็นหมิ่นประมาท
- พูดว่าการกระทำขอ น. ไม่ชอบด้วยศีลธรรม ย่อมแล้วต่อการ กระทำนั้น หากไม่ระบุการกระทำเป็นการเลื่อนลอย ไม่รู้ว่าชั่วอย่างไร ไม่เป็นหมิ่นประมาท
- ฟ้องบรรยายว่า ซ. กล่าวว่า ซ. ได้มอบเงินให้ ป. 150 บาท ไปถวาย พระ แต่ความจริงไม่ได้มอบ ดังนี้เป็นแต่ ซ. กล่าวเท็จ ไม่กล่าวหมิ่นประมาท ป.
- เขียนจดหมายถึง ก. กล่าวว่า ข. ประพฤติเลวทรามที่สุดทั้งการกระทำ และคำพูดไม่ได้หมายความว่า ข.ลักทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ์ไม่เป็นหมิ่นประมาท
- พระธุดงค์เข้าไปอยู่ในป่า เจ้าอาวาสไล่ชาวบ้านพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง ล. กล่าวต่อหน้าประชาชนว่า “หลวงพ่อวัดนี้เอาประชาชนบังหน้าต่อต้านพระ ที่ป่าช้า” ไม่รุนแรงถึงเป็นหมิ่นประมาท
- ลงหนังสือพิมพ์ว่า อ. ไม่มีชื่อในทำเนียบนักข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถ้า อ. ไปอ้างที่ไหนว่า อ. เป็นนักข่าวให้แจ้งตำรวจจับได้เลย ไม่เป็นหมิ่นประมาท ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นหมิ่นประมาท
- ลงข้อความในหนังสือพิมพ์ว่า ไอ้เสี่ยวบ้ากาม หมายถึงโจทก์มักมาก ในวิสัยปุถุชนทั่วไป
- กล่าวหญิงมีสามีเป็นชู้กับชายอื่น
- กล่าวว่า พี่น้องร่วมบิดามารดาได้เสียกันจนมีครรภ์ต้องทำแท้ง
- กล่าวว่า พี่หร่ำ ระวังลูกสาวจะท้องโตหมายความว่าลูกสาวคบชู้สู่ชาย
- กล่าวว่า ข้าราชการหญิงเป็นกะหรี่ที่ดิน
- กล่าวว่ากำนันประพฤติตนไม่สมควรแก่หน้าที่ส่งเสริมลูกบ้านให้มีคดี อวดอ้างสนิทชิดชอบกับตุลาการและธุรการหลอกเอาเงินกินนอกกินเหนือ ทำให้ราษฎรเดือดร้อนอย่างแรง
- กล่าวว่ากำนันเกเร กำนันเกะกะ กำนันเป็นผู้ร้าย
- ว่ากรมอากาศยานเสียดายเครื่องบินยิ่งกว่าชีวิตมนุษย์
- ว่าสมเด็จพระสังฆราชสั่งสึกพระ อ. ก่อกรรมแก่พวกสามเณร ไม่รับ สามเณร ณ. ไว้ในอาวาส ไม่รับที่ดินเป็นธรณีสงฆ์ ประพฤติผิดหลักธรรม ผู้ใหญ่ ริษยา อาธรรม์ ถืออำนาจเป็น ธรรมไม่ละอายแก่บาป
- ว่าพระจับมือ กอด เอาหญิงนั่งตัก
- ว่าผู้พิพากษากินเลี้ยงฉลองกับผู้ชนะคดี ในเย็นวันที่ตอนตัดสินคดีนั้น หมายความในทำนองว่าพิพากษาคดีโดยไม่สุจริต
- ว่าปลัดอำเภอช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องรับโทษ ขู่พยานไม่ให้ยันผู้ต้องหา
- ว่านายอำเภอเป็นเสือผู้หญิงไปตรวจราชการเที่ยวเอาผู้หญิงเป็นเมีย
- ว่าตำรวจจับในข้อหามีไม้ขีดไฟผิดกฎหมายควบคุมแล้วเรียกเอาเงิน
- ว่าตำรวจสอบสวนไม่ยุติธรรม จดคำพยานไม่ตรง
- กล่าวว่า ข. ซึ่งเป็นข้าราชการโกงบ้านโกงเมือง
- ผู้สมัครรับเลือกตั้งออกแถลงการณ์ว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นนายก เทศมนตรี บริหารงานบกพร่องมากจนสมาชิกไม่สนับสนุน เทศมนตรี ลาออก ฐานะการเงินทรุดหนักเป็นเลศนัยให้เข้าใจในทางอกุศล มีมูลเป็น หมิ่นประมาท
- ว่าโจทก์ไม่อุทิศเวลาให้แก่ราชการมาสายเป็นประจำไม่ทำตามคำสั่ง ผู้บังคับบัญชา ทำให้ข้าราชการแตกความสามัคคี
- ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดประพฤติตนอย่างไร้ศีลธรรม มีส่วนพัวพันเป็น ผู้จ้างคนฆ่านักข่าวใช้อำนาจในทางที่ผิดเป็นหมิ่นประมาท
- ว่าหลบหนีเจ้าหนี้แสดงว่า ตั้งใจบิดพริ้วไม่ชำระหนี้ เป็นหมิ่นประมาท
- เจ้าหนี้ปิดประกาศว่า แจ้งความให้พี่น้องทั้งหลายทราบ ล. ติด 53 สตางค์ ติด 1 ปี...ขอให้คิดว่าอาย ดังนี้อาจทำให้เข้าใจว่า ล. เป็นคนที่เชื่อถือ ไม่ได้ แม้เป็นหนี้เล็กน้อยก็ปล่อยให้ค้างเป็นแรมปี เป็นหมิ่นประมาท
- หนังสือพิมพ์ลงข้อความว่า จ. ออกเช็คจ่ายเงิน 1 ล้านบาท ไม่มีเงิน ธนาคารงดจ่ายเงิน จ. เป็นนายกเทศมนตรี และทำการค้าเป็นหมิ่นประมาท เป็นที่เข้าใจว่า จ. ฐานะการเงินไม่น่าเชื่อถือ

ตัวอย่างที่ศาลได้เคยพิพากษาไว้ว่าไม่เป็นหมิ่นประมาท
- พูดว่า อ้ายครูชาติหมา สอนเด็กให้ต่อยกัน
- กล่าว่า ด ซึ่งเป็นครูประชาบาลเป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้สึกต่ำ เป็นการเลื่อนลอยไม่ทำให้เข้าใจว่าไม่ดีหรือต่ำอย่างไร
- กล่าวว่า “ไอ้ทนายกระจอก ทนายเฮงซวย” เป็นการพูดดูหมิ่น เหยียดหยาม ให้อับอายเจ็บใจ ไม่เป็นการใส่ความให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ไม่เป็นหมิ่นประมาท
- นายตำรวจกำลังเปรียบเทียบให้ ก. เสียค่าซ่อมรถที่ชนกัน ก. ว่า ผู้กองพูดอย่างนี้เอากฎหมายมาพูดไม่มีศีลธรรม
- บ.โกรธ ม. ผู้อำนวยการโรงพยายาลจึงว่าผู้อำนวยการคนนี้ ใครว่าดี เดี๋ยวนี้ดีแตกแล้ว ไปติดต่อคนไข้มาก็ไล่...ใจร้อยยังกับไฟ...ถึงเจ็บ ก็จะไม่มารักษาที่นี่” เป็นคำกล่าวที่ไม่สมควร ขาดคารวะ
- กล่าวว่า “นิคมเป็นตำรวจหมา ๆ บ่รู้จักอีหยังฯ”เป็นถ้อยคำไม่สุภาพ แต่ไม่ถึงทำให้เข้าใจว่าเป็นตำรวจเลวหรือ ไม่รับผิดชอบ ไม่เป็นหมิ่นประมาท
- ผู้รับจำนองขอให้คนอื่นช่วยไกล่เกลี่ยให้ผู้จำนองไถ่จำนองเพื่อไม่ต้อง ฟ้องคดี แม้จะกล่าวว่าได้เตือนแต่เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ไม่เป็นการใส่ความ
- ประกาศเตือนให้ลูกหนี้ชำระหนี้ปิดที่ร้านและบ้านลูกหนี้ ที่ตู้ยาม ตำรวจ เพราะไม่พบตัวลูกหนี้ ส่งทางไปรษณีย์ก็ไม่มีคนรับ
- ประกาศว่าโจทก์พ้นจากตำแหน่งประธานชมรมร้านขายยาแล้ว ถ้าผู้นี้ไปแอบอ้างชื่อชมรม ชมรมไม่รับผิดชอบ
- ลงหนังสือพิมพ์เป็นประกาศสำนักงานทนายความให้ลูกหนี้ใช้หนี้ ภายใน 7 วัน นำสืบไม่ได้ว่าแกล้งโดยไม่สุจริต หลังจากทวงหลายครั้ง ยังเกี่ยวจำนวนหนี้กันอยู่ เป็นการที่เจ้าหนี้มีสิทธิทำได้ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 284 ไม่เป็นหมิ่นประมาท

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-03-10 22:18:38


ความคิดเห็นที่ 6 (4319337)

 แบบเดียวกะผมเลย...แต่ผมไม่รวยไม่มีทองใส่ไม่ได้ใช้ชีวิตหรูหราอะไร..วันๆทำแต่ขนมขาย(ขายส่งที่ตลาดพวกข้าวเหนียวมูลข้าวปิ้ง)ใช้ชีวิตปกตินั่งห่อข้าวเหนียวนั่งปิ้งข้าวเหนียว..ทั้งวันทั้งคืนไม่มีวัยรุ่นเข้าออกหรือมาติดต่อซื้อขายใดๆ..แต่คนกับพูดกันว่าบ้านผมขายยาเห็นผมนั่งปิ้งข้าวเหนียวมันก็บอกกันว่านั่งขายม้า...ทั้งๆที่ไม่มีการติดต่อซื้อขายใดๆไม่มีใครมาหาไม่เคยมีประเภทแบบมาจอดรถเดินจกกะเป๋าเข้ามาแล้วตอนออกมองซ้ายมองขวาแล้วบิดออกอย่างรีบร้อน..อะไรพวกนี้เลย..ไม่มีจุดที่มองแล้วชวนน่าคิดน่าสงสัยเลยหรือมีการติดต่ออะไรพวกนี้เลย..ยิ่งตอนผมปิ้งข้าวเหนียวหรือตอนห่อถึงขั้นแอบย่องมองดูข้างรั่วมากันทุกวันทุกคืน(ผมตื่นตี1ปิ้งข้าวเหนียวเพื่อให้เสร็จทันตี3ครึ่งเพื่อนำออกไปขาย...5ทุ่มเที่ยงคืนมันมากันแล้ววันไหนผมสายถึงขั้นใช้หินปาหลังคาบ้านปรุกผม...ผมโมโหมากวิ่งออกไปแต่พวกนี้มันไววิ่งหลบวิ่งแอบมันเห็นเป็นของสนุกของพวกมันเลย

ผู้แสดงความคิดเห็น กอล์ฟ วันที่ตอบ 2019-07-19 19:09:51


ความคิดเห็นที่ 7 (4401352)

 แอบฟังโดยคนพูดไม่รู้ไม่เป็นการจงใจกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6681/2562
 
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 423 ไม่ได้บัญญัติว่าเป็นการกล่าวหรือไขข่าวต่อบุคคลที่สาม แต่การกล่าวหรือไขข่าวที่แพร่หลายได้ก็ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ การพูดคนเดียวไม่มีคนได้ยินย่อมไม่เป็นการกล่าวให้แพร่หลาย ดังนั้นถ้ามีคนแอบฟังโดยคนพูดไม่รู้ การพูดดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พ. เป็นผู้เริ่มต้นการตั้งโปรแกรมสนทนาผ่านบัญชีเฟสบุ๊ค เมสเซนเจอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้บริการส่งข้อความและข้อมูลมัลติมีเดียสนทนาโต้ตอบกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เข้าในระบบเพื่อพูดคุยกัน โปรแกรมสนทนาดังกล่าวเป็นแบบระบบปิดมีสมาชิกเพียง 3 คนคือจำเลยทั้งสองและ พ. บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปดูหรืออ่านข้อความสนทนาได้ การสนทนาดังกล่าวที่มีการพูดถึงโจทก์และพนักงานอื่นรวมอยู่ด้วยจึงเป็นการกล่าวที่จำเลยทั้งสองและ พ. ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันสนทนาร่วมกันโดย พ. เข้าร่วมสนทนากับจำเลยทั้งสองหลายครั้ง จึงมิใช่เป็นการที่จำเลยทั้งสองกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ส่วนการที่โจทก์แอบดูและอ่านข้อความสนทนาและนำไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นรับทราบเอง ย่อมไม่ทำให้การสนทนาระหว่างกลุ่มบุคคลทั้งสามเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายให้บุคคลอื่นรับทราบได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
 
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน 1 ฉบับ เป็นระยะเวลา 3 วัน ปิดประกาศโฆษณาภายในบริเวณที่ทำการสำนักงานและที่ทำการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัทสายการบิน ค. เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน
 
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งกล่าวหาว่าโจทก์ทำละเมิดลักลอบเข้าระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ
 
ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองเนื่องจากไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม
 
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
 
โจทก์อุทธรณ์
 
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
 
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
 
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ จำเลยทั้งสองและนางสาว พ. เป็นพนักงานของบริษัทสายการบิน ค. โจทก์มีตำแหน่งเป็นพนักงานต้อนรับภาคพื้นดิน นางสาว พ. มีหน้าที่อำนวยการโดยสารของบริษัททั้งขาเข้าขาออก และทำงานร่วมกับโจทก์ จำเลยทั้งสองเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์และนางสาว พ. โดยจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายการโดยสารมีหน้าที่ควบคุมดูแล ประสานงานให้สายการบินดำเนินการไปอย่างราบรื่น และลงนามในเอกสารการเงินแทนประธานบริษัท จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายการโดยสาร มีหน้าที่ช่วยควบคุมดูแลและประสานงานให้สายการบินดำเนินการไปอย่างราบรื่น นางสาว พ. เป็นผู้เริ่มต้นจัดโปรแกรมสนทนาผ่านบัญชีเฟสบุ๊ค เมสเซนเจอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้บริการส่งข้อความและข้อมูลมัลติมีเดียสนทนาโต้ตอบกันทางระบบอินเทอร์เน็ตเข้าในระบบเพื่อพูดคุยกันในเรื่องทั่วไป มีสมาชิกเพียง 3 คนเป็นบัญชีเฟสบุ๊คประเภทปิด ในการสนทนาผ่านบัญชีเฟสบุ๊คดังกล่าวไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์กลางของบริษัท บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าดูหรืออ่านข้อความสนทนาได้ หากใช้คอมพิวเตอร์กลางของบริษัทแล้วจะต้องใส่รหัส จึงจะสามารถใช้การสนทนาผ่านคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้ วันที่ 7 เมษายน 2558 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา ขณะที่โจทก์อยู่ที่ทำงานและใช้คอมพิวเตอร์ของบริษัทพบว่ามีการสนทนากันระหว่างจำเลยทั้งสองและนางสาว พ. ผ่านโปรแกรมเมสเซนเจอร์ที่นางสาว พ. เปิดโปรแกรมดังกล่าวค้างไว้และลืมปิด แล้วโจทก์มาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต่อ ตามคำฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 1 ส่งข้อความสนทนา 5 ครั้ง จำเลยที่ 2 ส่งข้อความสนทนา 2 ครั้ง วันที่ 30 กันยายน 2557 จำเลยที่ 1 ส่งข้อความว่า แหลจริง ๆ วันที่ 6 ธันวาคม 2557 ส่งข้อความว่า ไล่ออกดีไหม วันที่ 26 มกราคม 2558 ส่งข้อความว่า หน้าด้านอย่างเหลือเชื่อที่ซู้ด วันที่ 30 มีนาคม 2558 ส่งข้อความว่า กินฟรี ผู้ชายทุกคนอยากมาจีบหญิง KU เพราะรวยทุกคน แต่ขาดผู้ชาย นอนฟรี และวันเดียวกันนั้นส่งข้อความอีกครั้งว่า เก่งนะ พวกปากกัดตีนถีบ หลอกเอาเงินผู้ชาย ส่วนจำเลยที่ 2 ส่งข้อความวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ว่า 2 คนเนี่ย evaluate ยากจริง ๆ เพราะมันไม่มีอะไรดีเลย และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ส่งข้อความว่า ไม่ใช่เรื่องคนอื่นเราต้องเอาไว้ยันว่าเค้าไม่เคารพซุป
 
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 บัญญัติว่า "ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี ..." จะเห็นได้ว่าแม้บทมาตราดังกล่าวไม่ได้บัญญัติว่าเป็นการกล่าวหรือไขข่าวต่อบุคคลที่สาม แต่การกล่าวหรือไขข่าวที่แพร่หลายได้ก็ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ การพูดคนเดียวไม่มีคนได้ยินย่อมไม่เป็นการกล่าวให้แพร่หลาย ดังนั้นถ้ามีคนแอบฟังโดยคนพูดไม่รู้ การพูดดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจ กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาว พ. เป็นผู้เริ่มต้นการตั้งโปรแกรมสนทนาผ่านบัญชีเฟสบุ๊ค เมสเซนเจอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้บริการส่งข้อความและข้อมูลมัลติมีเดียสนทนาโต้ตอบกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เข้าในระบบเพื่อพูดคุยกัน โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์โต้แย้งว่าโปรแกรมสนทนาดังกล่าวเป็นแบบระบบปิดมีสมาชิกเพียง 3 คน คือจำเลยทั้งสองและนางสาว พ. บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปดูหรืออ่านข้อความสนทนาได้ การสนทนาดังกล่าวที่มีการพูดถึงโจทก์และพนักงานอื่นรวมอยู่ด้วยจึงเป็นการกล่าวที่จำเลยทั้งสองและนางสาว พ. ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันสนทนาร่วมกันโดยนางสาว พ. ก็เบิกความรับว่าเข้าร่วมสนทนากับจำเลยทั้งสองหลายครั้ง จึงมิใช่เป็นการที่จำเลยทั้งสองกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ส่วนการที่โจทก์แอบดูและอ่านข้อความสนทนาและนำไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นรับทราบเองย่อมไม่ทำให้การสนทนาระหว่างกลุ่มบุคคลทั้งสามเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายให้บุคคลอื่นรับทราบได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
 
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2020-09-26 11:04:08



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล