ReadyPlanet.com


หย่ากันมา11ปีกว่าจะขอแบ่งสินสมรสได้หรือเปล่า


ดิฉันหย่ากีบสามีเก่ามา11ปีกว่าแล้ว (มีบุตรด้วยกัน 1 คน )ในบันทึกการหย่า รุบุไม่มีทรัพย์สิน และบุตรอยู่ในความอุปการะของฝ่ายชาย แต่ดิฉันมีโฉนดที่ดินอยู่1แปลง เป็นชื่อของดิฉันซึ่งซื้อมาหลังจากสมรสได้ไม่นานนัก จึงเป็นนามสกุลของสามีเก่าเมื่อหย่ากันเสร็จแล้ว สามีเก่าเขาเก็บโฉนดผืนนี้ไว้ไม่ยอมให้ดิฉันเอาไปด้วย ( หย่ากัน พ.ศ.2539 ) ปัจจุบันที่ดินผืนนี้โดนเวรคืน ดิฉันจึงพึ่งจะได้โฉนดผืนนี้กลับมา เพราะต้องเอาไปทำสัญญากับ รฟม. และในคราวเดียวกันก็ได้เปลี่ยนนามสกุลในโฉนดเป็นนามสกุลของสามีใหม่ จึงอยากทราบว่า

1.สามีเก่ามีสิทธิแบ่งสินสมรสนี้หรือเปล่าเมื่อหย่ากันเกินกว่า10ปีแล้ว

2.สามีคนเก่าสามมารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบตรหรือไม่ เมื่อเกินกว่าห้าปีแล้วหลังจากหย่ากัน



ผู้ตั้งกระทู้ สุวรรณา :: วันที่ลงประกาศ 2008-03-24 13:28:08


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615315)

คำถาม*1.สามีเก่ามีสิทธิแบ่งสินสมรสนี้หรือเปล่าเมื่อหย่ากันเกินกว่า10ปีแล้ว

ตอบว่า ต้องฟ้องภายในสิบปีนับแต่วันที่จดทะเบียนหย่าครับ

ที่บันทึกหลังการหย่าระบุว่าไม่มีทรัพย์สินที่จะแบ่งย่อมมีความหมายว่าเขาสละสิทธิ์ในทรัพย์สินอันเกี่ยวกับสินสมรสแล้ว จึงไม่น่ามีปัญหาสำหรับคุณครับ

2.สามีคนเก่าสามมารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบตรหรือไม่ เมื่อเกินกว่าห้าปีแล้วหลังจากหย่ากัน

อายุความห้าปีสำหรับเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นไม่ได้เริ่มนับตั้งแต่วันจดทะเบียนหย่าแต่นับจากวันที่ตนมีสิทธิเรียกได้ เช่นบิดาหรือมารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรร่วมกันเมื่อคุณหย่า11 ปี และตอนหย่านั้นบุตรอายุ 11 ปีคุณ(มารดา) มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าอุปการะนับแต่บุตรอายุได้ 11 ปี ถึง ก่อนบุตรมีอายุ ครบ 20 ปี ดังนั้นหน้าที่ของคุณต้องจ่ายค่าอุปการะ อีก 9 ปีนับแต่วันหย่า

อายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บุตรมีสิทธิคือบุตรอายุ 11-15 ปี

แต่นับตั้งแต่วันที่บุตรอายุ 16 -19 ปี 11 เดือน(ก่อนบรรลุนิติภาวะ) อีก 4 ปีหลังนั้นเด็กก็ยังมีสิทธิรับค่าอุปการะนั้นอยู่และยังไม่ขาดอายุความ 5 ปีเพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน

สรุปบุตรเรียกให้มารดาจ่ายค่าอุปการะได้แต่นับต่อเนื่องได้ไม่เกิน 5 ปีและก่อนอายุครบ 20 ปีครับ

เนื่องจากกว่าไม่ทราบว่าตอนคุณจดทะเบียนหย่านั้นบุตรคุณมีอายุเท่าใดจึงยกตัวอย่างข้างต้นเท่านั้นครับ หากไม่เข้าใจหรือยังไม่กระจ่างก็ถามเข้ามาใหม่นะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-03-24 17:37:02


ความคิดเห็นที่ 2 (1615317)

ค่าอุปการะเลี้ยงดู

บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์เสมือนเป็นลูกหนี้ร่วมกัน หลังจากหย่าขาดจากกันแล้ว กรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเงินนั้นจากอีกฝ่ายหนึ่งได้แม้บุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม แต่การเรียกร้องเงินดังกล่าวนี้มีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2697/2548

บทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 เป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างกันได้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูมีบทบัญญัติมาตรา 1565 ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวแล้วยังกำหนดให้บิดาหรือมารดาสามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าวได้เองด้วย

บทบัญญัติมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 296

โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่มิได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ฝ่ายเดียวจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่ได้ออกไปก่อนนับแต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตามมาตรา 229 (3) แม้ขณะยื่นฟ้องนั้นบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา 1522

การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไปซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าอุปการเลี้ยงดูบุตรจำนวน 2,358,010 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้แก่โจทก์จำนวน 356,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสามคนแก่โจทก์จำนวน 178,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยเคยเป็นภริยาและสามีกันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน ต่อมาจำเลยได้ฟ้องโจทก์ขอหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน คดีถึงที่สุดแล้วแต่ขณะนั้นบุตรทั้งสามยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า มาตรา 1598/38 บัญญัติให้สิทธิบุตรฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาได้ โดยจะต้องให้พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการตามมาตรา 1562 บิดาหรือมารดาไม่สามารถฟ้องเรียกเอาจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ด้วยตนเองนั้น เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 เป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างกันได้เท่านั้น แต่สำหรับการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้น มีบทบัญญัติมาตรา 1565 บัญญัติไว้เป็นกรณีเฉพาะว่า นอกจากบุตรจะให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา 1562 ได้แล้ว ยังกำหนดให้บิดาหรือมารดาก็สามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าวเองได้ด้วย นอกจากนี้มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันเป็นลูกหนี้ร่วมกันซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 296 และแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าโจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้ว โดยตกลงกันให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของโจทก์ เมื่อมิได้ตกลงกันว่าโจทก์จะเป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ได้ออกไปก่อนนับแต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตามมาตรา 229 (3) ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา 1522 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า อำนาจปกครองของโจทก์จำเลยย่อมหมดสิ้นลงเมื่อบุตรทั้งสามบรรลุนิติภาวะ ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสามหลังจากที่บุตรทั้งสามบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินในระหว่างผู้เยาว์กับผู้ใช้อำนาจปกครอง เมื่อฟ้องเกินกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่อำนาจปกครองสิ้นไป คดีย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1581 นั้น เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคแรก บัญญัติให้บิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ฉะนั้นหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จึงย่อมมีอยู่แก่บิดามารดาตลอดไป จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ และถือว่าบิดามารดาเป็นลูกหนี้ร่วมกันซึ่งต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งอาจกำหนดโดยนิติกรรมสัญญาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจึงเป็นการฟ้องเรียกเอาค่าใช้จ่ายที่จำเป็นที่บุตรผู้เยาว์จะพึงได้รับจากบิดามารดาเพื่อการเลี้ยงชีพให้บุตรสามารถมีชีวิตดำรงอยู่ได้ตลอดไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ และรวมถึงค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรผู้เยาว์ด้วย ซึ่งมีอายุความ 5 ปี นับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไปเพียงฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ตนได้ชำระเงินไปซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12 กรณีมิใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินในระหว่างผู้เยาว์กับผู้ใช้อำนาจปกครอง ซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1581

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจำนวน 76,602 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
(1) ดอกเบี้ยค้างชำระ
...
(4) เงินค้างจ่ายคือเงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
(5)...

มาตรา 1522 ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอมให้ทำความตกลงกัน ไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภริยาทั้งสองฝ่ายหรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด

ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด

มาตรา 1581 คดีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินในระหว่างผู้เยาว์กับผู้ใช้อำนาจปกครองนั้น ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อำนาจปกครองสิ้นไป

ถ้าอำนาจปกครองสิ้นไปขณะบุตรยังเป็นผู้เยาว์อยู่ให้เริ่มนับอายุความในวรรคหนึ่งตั้งแต่เวลาที่ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะหรือเมื่อมีผู้แทนโดยชอบธรรมขึ้นใหม่

มาตรา 1598/38 ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้เมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี

มาตรา 1562 ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควร แก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะ ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

มาตรา 1565 การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงบุตรหรือขอให้บุตรได้รับ การอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา 1562 แล้ว บิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-03-24 17:49:38



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล