ReadyPlanet.com


การเรียกค่าเลี้ยงชีพหลังการหย่า


ถ้าภริยาฟ้องหย่าสามีและศาลพิพากษาให้หย่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้หรือไม่


ผู้ตั้งกระทู้ พี :: วันที่ลงประกาศ 2008-03-16 10:40:53


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615301)

มาตรา 1526 ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรส ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่าง สมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่า เลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39,มาตรา 1598/40 และ มาตรา 1598/41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น

ถ้าการหย่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงก็สามารถเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ครับ และการเรียกค่าเลี้ยงชีพต้องเรียกมาในเวลาฟ้องหรือถูกฟ้องหย่าโดยทำเป็นฟ้องแย้งครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-03-16 15:08:18


ความคิดเห็นที่ 2 (1615302)

เรียกค่าเลี้ยงชีพเพราะการหย่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง

 

ในกรณีขอให้สามีจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่ตนได้ต่อเมื่อศาลได้พิพากษาให้หย่าขาดจากกัน แต่กรณีนี้ศาลไม่ได้พิพากษาให้หย่าขาดจากกันจึงไม่อาจบังคับให้สามีรับผิดชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่ภริยาตามคำขอท้ายฟ้องแย้งได้ ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้บุตรผู้เยาว์อยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดาหรือมารดาได้ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้สามีภริยาหย่าขาดกันหรือไม่ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2550

 

แม้คำฟ้องแย้งจะมีข้อความระบุว่า หากศาลให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยและค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ก็ตาม แต่จำเลยให้การต่อสู้คดีและบรรยายคำฟ้องแย้งมาแต่แรกว่า เหตุหย่ามิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นฝ่ายออกจากบ้าน ละทิ้งไม่ดูแล ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งอยู่ในระหว่างศึกษาเล่าเรียน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามคำฟ้องแย้งของจำเลยว่าไม่ประสงค์จะหย่ากับโจทก์ แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ซึ่งโจทก์ในฐานะบิดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดจากกันแล้วหรือไม่ ทั้งย่อมเป็นเหตุผลอันสมควรให้ศาลมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่แก่จำเลยผู้เป็นมารดาฝ่ายเดียวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันหรือไม่เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจการปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินขอ

แม้จำเลยให้การและบรรยายคำฟ้องแย้งตอนแรกว่า โจทก์ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยเป็นทำนองว่าโจทก์ในฐานะสามีไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเป็นภริยา เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของสามีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง กำหนดก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำฟ้องแย้งของจำเลยแต่แรกจนถึงคำขอท้ายฟ้องแย้งโดยตลอดทั้งหมดแล้ว ได้ใจความตามที่บรรยายว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นสามีฝ่ายเดียว การฟ้องหย่าของโจทก์ทำให้จำเลยยากจนลง หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้จำเลยเป็นรายเดือน ซึ่งตรงตามหลักเกณฑ์เรื่องค่าเลี้ยงชีพที่ ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในกรณีที่มีการหย่าแล้วจะทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง ถือไม่ได้ว่าจำเลยฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน จึงไม่อาจบังคับให้โจทก์รับผิดชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยตามคำขอท้ายฟ้องแย้งได้

 

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การพร้อมฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยเป็นรายเดือน เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง และจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท ต่อคนนับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ และให้จำเลยป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้ถอนอำนาจปกครองนางสาววิลิปดาของโจทก์ ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผูเยาว์เพียงแต่ผู้เดียว ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูนางสาววิชุดา เดือนละ 20,000 บาท นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 จนถึงเดือนเมษายน 2546 ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูนางสาววิลิปดาผู้เยาว์ เดือนละ 20,000 บาท นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 จนกว่านางสาววิลิปดาจะบรรลุนิติภาวะและให้โจทก์ชำระค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย เดือนละ 20,000 บาท นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไป ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรคนโตนับแต่วันฟ้องแย้งเดือนละ 8,000 บาท เป็นต้นไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ และชำระแก่บุตรคนเล็กเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนครบอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ หลังจากนั้นให้ชำระเดือนละ 8,000 บาท จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ คำขอค่าเลี้ยงชีพให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเป็นคำพิพากษาเกินคำขอตามฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้คำฟ้องแย้งจะมีข้อความระบุว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยและค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ก็ตาม แต่จำเลยให้การต่อสู้คดีและบรรยายคำฟ้องแย้งมาแต่แรกว่า เหตุหย่ามิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นฝ่ายออกจากบ้านละทิ้งไม่ดูแลไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งอยู่ในระหว่างศึกษาเล่าเรียน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามคำฟ้องแย้งของจำเลยว่าไม่ประสงค์จะหย่ากับโจทก์ แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ซึ่งโจทก์ในฐานะบิดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดกันแล้วหรือไม่ ทั้งย่อมเป็นเหตุผลอันสมควรให้ศาลมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แก่จำเลยผู้เป็นมารดาฝ่ายเดียวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดกันหรือไม่เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรผู้เยาว์ การที่ศาลอุทธรณ์อุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจการปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินขอ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์อุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายกคำขอที่ให้โจทก์ชำระค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยให้การและบรรยายคำฟ้องแย้งตอนแรกว่า โจทก์ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยเป็นทำนองว่า โจทก์ในฐานะสามีไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเป็นภริยา เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของสามีตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง กำหนดก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำฟ้องแย้งของจำเลยแต่แรกจนถึงคำขอท้ายฟ้องแย้งโดยตลอดทั้งหมดแล้ว ได้ใจความตามที่บรรยายว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นสามีฝ่ายเดียว การฟ้องหย่าของโจทก์ทำให้จำเลยยากจนลง หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยเป็นรายเดือน ซึ่งตรงตามหลักเกณฑ์เรื่องค่าเลี้ยงชีพที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในกรณีที่มีการหย่าแล้วจะทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง ถือไม่ได้ว่าจำเลยฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน จึงไม่อาจบังคับให้โจทก์รับผิดชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยตามคำขอท้ายฟ้องแย้งได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์อุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในส่วนนี้ชอบแล้ว

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-03-16 15:09:48


ความคิดเห็นที่ 3 (4313251)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2561

 
โจทก์ฟ้องจำเลยขอหย่า ขอแบ่งสินสมรส ขอถอนอำนาจปกครองจำเลย และขอให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยยินยอมที่จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว การที่โจทก์จะเรียกให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนได้นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ครบหลักเกณฑ์ 3 ประการว่า เหตุแห่งการหย่าในคดีนี้เป็นความผิดของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว การหย่านั้นทำให้โจทก์ยากจนลงเพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่และโจทก์จะต้องฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพมาในคดีฟ้องหย่า เมื่อคดีนี้โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระหว่างพิจารณาโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย จึงไม่มีประเด็นฟ้องหย่าต่อศาลให้วินิจฉัย และไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายใด จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 เมื่อมิได้ตกลงกันไว้ในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ ย่อมไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมาเรียกค่าเลี้ยงชีพได้
ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ วันที่ตอบ 2019-06-15 15:53:05



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล