ReadyPlanet.com


จะย้ายทะเบียนบ้านลูกครับ ผมต้องการใช้ทะเบียนบ้านของลูกครับ


คือ ผมกับแฟน ไม่ได้แต่งงานกันครับ มีลูก อยู่ 1 คน  ทะเบียนบ้านลูกผม ไปอยู่บ้านย่าของแฟน แล้วเรา 2 คนก็มีปัญหากับทางบ้านย่า  ผมกับแฟนและลูก จึงย้าย มาอยู่บ้านผม ไม่นานแฟนผมก็ไปทำงานต่างจังหวัด ผมเลี้ยงลูกคนเดียว  แล้วต่อมา ผมกับแฟนก็มีปัญหากัน เพราะแฟนผมไม่เคยสนใจลูกเลย ไม่คิดจะกลับมาดูลูก ไม่ส่งเงินให้ลูก สักบาท  ผมจะย้ายทะเบียนบ้านของลูกผม ซึ่งเดิมที อยู่บ้าน ย่า ของแฟน จะให้ย้ายเขามาอยู่บ้านผม แต่ย่าเขาไม่ยอมครับ ผมควรจะทำยังไงดีครับ ผมกลัวว่าถ้าจะเอาเรื่อง กลัวว่าผมจะเสียลูกไปเพราะผมเป็นผู้ชาย ผมต้องการใช้ทะเบียนบ้านของลูกครับ เพราะมันจำเป็นมาก  ในการจะทำเรื่องย้ายจะทำได้ยังไงครับ ในเมื่อเจ้าบ้านไม่ยอม



ผู้ตั้งกระทู้ บาส :: วันที่ลงประกาศ 2013-06-16 15:15:27


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2375672)

การย้ายทะเบียนบ้านออก ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าบ้านก็สามารถทำได้ครับ แต่ในขณะที่เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ การจัดการในเรื่องนี้ต้องกระทำโดยผู้แทนโดยชอบธรรมครับ คือบิดา มารดา

แต่ตามที่ให้ข้อเท็จจริงมาข้างต้นนั้น คุณไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับแฟนคุณ ดังนั้นทำให้คุณเป็นเพียงบิดานอกกฎหมายของบุตรเท่านั้นครับ การที่จะทำให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก็ต้องเป็นไปตาม มาตรา 1547 ที่คัดลอกมาให้ดูด้านล่างนี้ กล่าวคือในกรณีของคุณก็ควรยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่ง หรือคำพิพากษาก็ได้ ผมจึงแนะนำให้ไปติดต่อสำนักงานเขต หรืออำเภอ เพื่อแสดงความจำนงค์จดทะเบียนรับรองบุตร หากมารดา เด็ก ปฏิเสธ หรือไม่ให้ความยินยอมก็ต้องฟ้องศาลต่อไปครับ เมื่อศาลมีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของคุณ ๆ ก็จะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ที่สามารถย้ายทะเบียนของบุตรออกจากทะเบียนบ้านของย่าของแฟนได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าบ้านนะครับ

มาตรา 1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
 
มาตรา 1547  เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

มาตรา 1548  บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก
ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-06-23 14:10:46



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล