ReadyPlanet.com


ไม่มีทางเข้าออกที่ดิน


ที่บ้านแฟนผมไม่มีทางเข้าออก ปัจจุบันอาศัยผ่านที่ดินของคนอื่นโดยเค้าให้พ่อเซ็นต์สัญญา ขอใช้ทางไว้ ผมเคยให้แม่ถามขอซื้อที่เพื่อทำถนนเข้าบ้านแต่เค้าบอกขายในราคาสูงมาก ผมไม่มีกำลังพอที่จะซื้อ ตอนนี้เวลาไปบ้านแฟนต้องจดรถไว้ที่ถนน(กลัวหายมาก) จริงแล้วที่บ้านติดคลองและคลองนั้นก็ทอดยาวมาถึงถนน และปัจจุบันก็ใช้เรือขนของซึ่งลำบากมาก ถ้าผมจะขอเปลี่ยนคลองเป็นถนนจะได้มัยครับโดยวางท่อเพื่อระบายน้ำแทนคิดว่าค่าใช้จ่ายน่าจะถูกกว่า ถ้าได้ผมต้องติดต่อใครครับแล้ว ขั้นตอนการขออย่างไรบ้างครับ


ผู้ตั้งกระทู้ รัตน์วรุณ :: วันที่ลงประกาศ 2008-05-09 18:45:23


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615383)

ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ ที่ดินแปลงนั้นก็มีสิทธิที่จะขอเปิดทางจำเป็นตามที่กฎหมายให้สิทธิไว้ครับ

มาตรา 1349 ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทาง สาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ ทางสาธารณะได้

ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเลหรือมีที่ชัน อันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรค ต้นบังคับ

ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะ ผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้

ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพื่อความ เสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหาย เพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปี ก็ได้

เมื่อคุณขอให้ศาลมีคำสั่งให้ที่ดินที่ล้อมอยู่เปิดทางจำเป็นให้คุณ คุณก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของที่ดินซึ่งศาลน่าจะช่วยไกล่เกลี่ยให้ครับ

ส่วนที่จะทำท่อเพื่อระบายน้ำโดยเปลี่ยนคลองเป็นถนนนั้นคงทำไม่ได้ครับ เพราะเป็นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-05-09 22:29:09


ความคิดเห็นที่ 2 (1615384)

ขอเปิดทางจำเป็น

ที่ดินตาบอดมีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมรอบอยู่ ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แม้ที่ดินตาบอดจะติดคลองสาธารณะแต่จากที่ดินตาบอดถึงคลองมีความกว้าง 7 เมตร โดยส่วนที่ติดคลองมีทางเดินความกว้าง 1 เมตรแต่ตลอดแนวส่วนที่ติดกับที่ดินตาบอดมีบ้านของประชาชนปลูกอยู่จึงไม่สามารถใช้เป็นทางไปสู่ทางสาธารณะได้ การเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยย่อมเหมาะที่สุด กรณีดังกล่าวถือได้ว่าที่ดินตาบอดดังกล่าวมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้จึงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยได้ การที่ขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นความกว้าง 6 เมตรนั้นจึงเกินความจำเป็นดังนั้นทางจำเป็นมีความกว้าง 3.5 เมตรจึงเหมาะสมแล้ว ให้จ่ายค่าใช้ทางแก่จำเลย 300,000 บาท

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3774/2549

 

ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงมีที่ดินของจำเลยและบุคคลอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ โจทก์จึงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง เนื่องจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงที่ถูกปิดล้อมทิศเหนือติดถนนคอนกรีตซึ่งอยู่บนที่ดินของจำเลย และมีรั้วคอนกรีตสูงประมาณ 1.5 เมตร กั้นตลอดแนว การเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยดังกล่าวย่อมเหมาะสมที่สุด เพราะเพียงแต่ทุบรั่วคอนกรีตออกเท่านั้น ก็จะมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้สะดวกที่สุด หากจะเปิดทางจำเป็นด้านที่ติดที่ดินของ ส. ก็ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากหนังสือข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมระหว่างจำเลยและ น. กับ ส. กำหนดไว้ว่า ทางภาระจำยอมที่จำเลยและ น. ยินยอมให้ ส. ใช้ผ่านนั้นให้ใช้เป็นทางผ่านเข้าที่ดินของ ส. เท่านั้น ด้านทิศตะวันออกที่ติดคลองเปรมประชากร มีชาวบ้านชุมชนแออัดปลูกบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินของกรมชลประทานตามแนวคลองติดรั้วคอนกรีตของโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางออกสู่ทางสาธารณะตามแนวคลองได้ โจทก์จึงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยได้

ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม กำหนดว่า ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยเปิดทางจำเป็นให้โจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยกว้าง 6 เมตร จึงเกินความจำเป็นที่โจทก์จะต้องใช้ เพราะโจทก์ฟ้องขอเปิดทางจำเป็นเพื่อให้โจทก์ใช้ทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเท่านั้น ศาลฎีกาให้จำเลยเปิดทางจำเป็นกว้าง 3.50 เมตร

ในกรณีทางจำเป็น โจทก์มีสิทธิใช้ทางได้โดยอำนาจของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 โดยไม่ต้องจดทะเบียน จำเลยจะฟ้องแย้งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมค่าภาษี กับค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนทางจำเป็นหาได้ไม่

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2068 ตำบลลาดยาว (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 2095 ตำบลลาดยาว อำเภอจตุจักร กรุงเทพมหานคร ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ทั้งสี่ด้านไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ที่ดินของจำเลยอยู่ติดที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงด้านทิศเหนือ มีลักษณะเป็นถนนมีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จำเป็นต้องผ่านที่ดินของจำเลยไปสู่ทางสาธารณะ ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางในที่ดินโฉนดเลขที่ 128706 ตำบลลาดยาว (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร กว้างแปลงละประมาณ 8 เมตร ยาวตลอดไปถึงถนนสาธารณะ โดยโจทก์ยินยอมจ่ายค่าผ่านทางให้จำเลยเป็นเงิน 100,000 บาท

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เดิมที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 2068 และ 2095 เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินที่ติดกับที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกโฉนดเลขที่ 113160 ตำบลลาดยาว อำเภอจตุจักร กรุงเทพมหานคร โจทก์ต้องฟ้องขอเปิดทางจำเป็นจากที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งเป็นที่ดินที่ได้แบ่งแยกออกไป ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงด้านทิศตะวันออกติดคลองสาธารณะ ซึ่งโจทก์สามารถใช้เป็นทางสัญจรได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หากโจทก์ต้องการให้จำเลยเปิดทางให้โจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยยาวตลอดไปถึงถนนสาธารณะ โจทก์ต้องใช้ค่าที่ดินให้จำเลยตารางวาละ 10,000 บาท ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงมีเนื้อที่ประมาณ 405 ตารางวา โจทก์จึงต้องใช้ค่าที่ดิน 4,050,000 บาท ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยเปิดทางตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าที่ดินแก่จำเลยในกรณีที่ต้องเปิดทางจำเป็นเป็นเงิน 1,000,000 บาท และให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมค่าภาษีกับค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนทางจำเป็น หากโจทก์ไม่ชดใช้ค่าที่ดินดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในการเปิดทางสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางจำเป็นให้โจทก์ผ่านที่ดินของจำเลย โฉนดเลขที่ 128706 ตำบลลาดยาว (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร โดยกำหนดความกว้าง 6 เมตร จากแนวเขตติดต่อระหว่างที่ดินของโจทก์ โฉนดเลขที่ 2068 ตำบลลาดยาว (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 2095 ตำบลบาดยาว อำเภอจตุจักร กรุงเทพมหานคร ด้านละ 3 เมตร ให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 300,000 บาท กับให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าภาษี และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจดทะเบียนทางจำเป็น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธิใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า เดิมที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 113160 ของนายสุปรีดี นิมิตรกุล สามารถออกสู่ถนนสาธารณะได้ โดยผ่านที่ดินของจำเลยที่เป็นภารยทรัพย์ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินได้เฉพาะบนที่ดินโฉนดเลขที่ 113160 ที่ได้แบ่งแยกและโอนกันโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อขอใช้ทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 128706 และที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกติดคลองชลประทานซึ่งเป็นทางสาธารณะตามกฎหมาย จึงไม่ใช่กรณีที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ เพียงแต่โจทก์ใช้คลองชลประทานซึ่งเป็นทางสาธารณะไม่สะดวกเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์ไม่เข้าองค์ประกอบตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 โจทก์จึงไม่มีสิทธิใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยได้นั้น โจทก์มีตัวโจทก์และนายสุปรีดีเบิกความเป็นพยานว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงมีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมรอบอยู่ ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ หากจะอาศัยคลองชลประทานเป็นทางสัญจรไปมาก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีชุมชนแออัดอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว และถ้าโจทก์จะต้องออกไปสู่ทางสาธารณะจะต้องอาศัยที่ดินของจำเลย เห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2543 ที่องค์คณะผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไปเผชิญสืบที่ดินพิพาทโดยมีคู่ความทั้งสองฝ่ายนำชี้ว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงทิศเหนือติดถนนคอนกรีตซึ่งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 128706 ของจำเลย มีรั้วคอนกรีตสูงประมาณ 1.5 เมตร กั้นตลอดแนว ทิศตะวันตกติดที่ดินโฉนดเลขที่ 113160 ของนายสุปรีดี มีรั้วสังกะสีสูงประมาณ 2 เมตร กั้นเป็นแนว ทิศใต้ติดที่ดินโฉนดเลขที่ 2642 และ 2641 ซึ่งเป็นที่ดินของผู้อื่น มีรั้วคอนกรีตของโจทก์สูงประมาณ 2 เมตร กั้นตลอดแนว ทางทิศตะวันออกติดคลองเปรมประชากร แต่ระหว่างที่ดินของโจทก์และคลองเปรมประชากรมีบ้านพักอาศัยเป็นชุมชนปลูกสร้างบนที่ดินของกรมชลประทานตลอดแนว มีรั้วคอนกรีตของโจทก์สูงประมาณ 2 เมตร กั้นตลอดแนวความกว้างระหว่างรั้วคอนกรีตของโจทก์ถึงคลองเปรมประชากรประมาณ 7 เมตร มีทางเดินกว้างประมาณ 1 เมตร ตลอดแนวคลอง ประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกดังกล่าวใช้เป็นทางเดินและทางรถจักรยานยนต์ ส่วนรถยนต์ไม่สามารถแล่นผ่านเข้าออกได้ จากที่ดินโจทก์ไม่สามารถเดินออกไปยังทางเท้าดังกล่าวได้เนื่องจากตลอดแนวรั้วมีบ้านปลูกอยู่ และทิศใต้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงดังกล่าวมีที่ดินของจำเลยและบุคคลอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ โจทก์จึงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง เนื่องจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงที่ถูกปิดล้อมทิศเหนือติดถนนคอนกรีตซึ่งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 128706 ของจำเลย และมีรั้วคอนกรีตสูงประมาณ 1.5 เมตร กั้นตลอดแนว การเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยดังกล่าวย่อมเหมาะสมที่สุด เพราะเพียงแต่ทุบรั้วคอนกรีตออกเท่านั้น ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงก็จะมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้สะดวกที่สุด หากจะเปิดทางจำเป็นด้านที่ติดที่ดินโฉนดเลขที่ 113160 ของนายสุปรีดีตามที่จำเลยฎีกานั้นก็ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากหนังสือข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมระหว่างจำเลยและนายสิน ผลช่วย กับนายสุปรีดี เอกสารหมาย จ.7 กำหนดไว้ว่า ทางภาระจำยอมที่จำเลยและนายสินยินยอมให้นายสุปรีดีใช้ผ่านนั้นให้ใช้เป็นทางผ่านเข้าที่ดินของนายสุปรีดีเท่านั้น โจทก์จึงไม่สามารถผ่านทางภาระจำยอมดังกล่าวได้ ส่วนที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกที่ติดคลองเปรมประชากรนั้น ปรากฏจากการเผชิญสืบที่ดินพิพาทขององค์คณะผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่ามีชาวบ้านชุมชนแออัดปลูกบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินของกรมชลประทานตามแนวคลองติดรั้วคอนกรีตของโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางออกสู่ทางสาธารณะตามแนวคลองได้ กรณีดังกล่าวถือได้ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ โจทก์จึงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยเปิดทางจำเป็นให้โจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยกว้าง 6 เมตร เกินความจำเป็นที่โจทก์จะต้องใช้และทำให้จำเลยเสียหายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ขอเปิดทางเพื่อทำประตูตั้วจากที่ดินของโจทก์ออกถนนของหมู่บ้านซึ่งเป็นของจำเลย ที่จัดไว้สำหรับผู้อาศัยในหมู่บ้านความกว้าง 6 เมตร เกือบเท่าความกว้างของถนนภายในหมู่บ้าน เมื่อเอาสภาพความเป็นอยู่และที่ตั้งแห่งทรัพย์แล้วเกินความจำเป็นแก่การใช้ ประตูรั้วบ้านไม่จำต้องให้รถสามารถสวนทางกันได้ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ถือว่าขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม การขอเปิดทางจำเป็นของโจทก์จะต้องทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยน้อยที่สุด จำเลยเห็นว่า ควรเปิดทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลง กว้างแปลงละ 1.75 เมตร รวมกันไม่เกิน 3.50 เมตรนั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม กำหนดว่า ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ในเสียหายแต่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยเปิดทางจำเป็นให้โจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยกว้าง 6 เมตร จึงเกินความจำเป็นที่โจทก์จะต้องใช้ เพราะโจทก์ฟ้องขอเปิดทางจำเป็นเพื่อให้โจทก์ใช้ทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้จำเลยเปิดทางจำเป็นกว้าง 3.50 เมตร ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ควรจ่ายค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการใช้ทางจำเป็นเพิ่มขึ้นจากที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์ได้ทางจำเป็นจะทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงราคาเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 750,000 บาท ปัจจุบันราคาประเมินตารางวาละ 50,000 บาท ทั้งที่ยังไม่มีทางออก เมื่อเปิดทางโจทก์ยังสามารถใช้ถนนเข้าออกภายในหมู่บ้านไม่ต้องลงทุนก่อสร้างถนนไปสู่ทางสาธารณะอีก จำเลยลงทุนทำถนนเป็นเงินหลายสิบล้านบาท ใช้ประโยชน์สำหรับผู้อาศัยในหมู่บ้านของจำเลยเท่านั้น และเมื่อเปรียบเทียบเงื่อนไขที่จำเลยทำไว้แก่นายปรีดีตามเอกสารหมาย จ.7 แล้ว การที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนจำนวน 1,000,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จ่ายเพียง 300,000 บาท นับว่าน้อยมาก ขอให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนให้แก่จำเลยเพิ่มขึ้นอีก 70,000 บาท (ที่ถูกน่าจะเป็น 700,000 บาท) นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยให้เหตุผลไว้อย่างละเอียดและชัดแจ้งแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาบังคับให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจดทะเบียนทางจำเป็นด้วยนั้น ในกรณีทางจำเป็น โจทก์มีสิทธิใช้ทางได้โดยอำนาจของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 โดยไม่ต้องจดทะเบียนและไม่ต้องบังคับตามคำขอบังคับในฟ้องแย้งของจำเลยข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยเปิดทางจำเป็นให้โจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 128706 ตำบลลาดยาว (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร กว้าง 3.50 เมตร จากแนวเขตติดต่อระหว่างที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 2068 ตำบลลาดยาว (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 2095 ตำบลลาดยาว อำเภอจตุจักร กรุงเทพมหานคร กว้างด้านละ 1.75 เมตร คำขอของจำเลยที่ให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าภาษี และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจดทะเบียนทางจำเป็นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-05-09 22:31:03


ความคิดเห็นที่ 3 (1615385)

อำนาจฟ้องเอาทางจำเป็นซึ่งโจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาย่อมหมดสิ้นไป

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามเปิดทางพิพาทเพื่อให้โจทก์ใช้เป็นทางผ่านออกสู่ทางสาธารณะโดยอ้างว่าที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินของจำเลยทั้งสามและที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ อันเป็นการอ้างสิทธิที่จะผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสามโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ซึ่งการที่โจทก์จะมีสิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ที่ดินของโจทก์จะต้องไม่มีทางออกถึงสาธารณะโดยทางอื่นได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมที่จะผ่านทางในที่ดินข้างเคียงแปลงอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วโจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินจำเลยทั้งสามเป็นทางจำเป็น เพื่อออกสู่ทางสาธารณะตามกฎหมาย อำนาจฟ้องเอาทางจำเป็นของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 ซึ่งโจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาย่อมหมดสิ้นไป เพราะไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะขอให้ศาลจะพิพากษาบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ต่อไป ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าขณะฟ้องโจทก์ไม่มีทางอื่นนอกจากทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะตามข้ออ้างของโจทก์หรือไม่ต่อไป ส่วนที่ได้ความว่าต่อมาโจทก์ได้แบ่งขายที่ดินส่วนที่ติดทางภาระจำยอมให้แก่บุคคลอื่นไป แม้จะเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ถูกปิดกั้นในการออกไปยังทางภาระจำยอมเพื่อออกสู่ทางสาธารณะก็ตาม แต่เหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ต่างจากเหตุที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องอันเป็นเรื่องนอกเหนือจากคำฟ้องโจทก์ โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเปิดทางจำเป็นเนื่องจากการแบ่งขายที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยอาศัยคำฟ้องเดิมหาได้ไม่ ส่วนโจทก์จะมีสิทธิตามกฎหมายในกรณีดังกล่าวอย่างไรก็เป็นข้อที่จะต้องว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวแม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( ธนัท วิรบุตร์ - สิทธิชัย รุ่งตระกูล - ประเสริฐ วิริยสิทธาวัฒน์ )

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2549)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-05-12 10:45:11



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล