ReadyPlanet.com


การใช้อำนาจปกครองของบิดา มารดา


การใช้อำนาจปกครองของบิดามารดา และผู้แทนโดยชอบธรรมแตกต่างกันอย่างไร  แล้วบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้วต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาหรือไม่


ผู้ตั้งกระทู้ นิดา :: วันที่ลงประกาศ 2008-04-20 20:32:42


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1615335)

อำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อบุตรเป็นอำนาจธรรมชาติของบิดามารดานับแต่บุตรได้ถือกำเนิดเกิดมา เป็นอำนาจที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการเลี้ยงดูรักษาบุตรให้เจริญเติบโตต่อไปในภายภาคหน้า

มาตรา 1566 บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของ บิดามารดาอำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
(1) มารดาหรือบิดาตาย
(2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
(3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ ความสามารถ
(4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
(5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
(6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้

หลักกฎหมายตามมาตรา 1566 ข้างต้นกำหนดให้บิดาและมารดาทั้งสองคนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง แต่บุตรที่จะอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดาและมารดานั้นมีแต่เฉพาะบุตรที่เป็นผู้เยาว์เท่านั้น บุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้วไม่ว่าจะบรรลุนิติภาวะเพราะการสมรสเมื่ออายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะเพราะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ก็ตาม ได้พ้นสภาพผู้เยาว์ไปแล้วไม่ต้องอยู่ให้อำนาจปกครองของบิดาและมารดอีกต่อไป

สำหรับการใช้อำนาจปกครองนี้บิดาและมารดาคนใดคนหนึ่งมีสิทธิใช้อำนาจปกครองไปโดยลำพังโดยไม่ต้องใช้ร่วมกับอีกฝ่ายหนึ่ง

อำนาจปกครองบุตรของบิดาและมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสละให้แก่กันโดยเด็ดขาดไม่ได้

บิดาหรือมารดาจะตกลงกันมอบอำนาจปกครองบุตรให้แก่บุคคลภายนอกก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน   เว้นแต่จะเป็นการมอบหมายให้กระทำกิจการเฉกพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ในการฟ้องคดีแทนบุตร  บิดามารดาอาจมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทนตนได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-04-21 16:21:30


ความคิดเห็นที่ 2 (1615336)

ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรโดยอำนาจของกฎหมาย

มาตรา 1569 ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร ในกรณีที่บุตรถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ผู้ใช้อำนาจปกครอง ย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี

ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1569 ข้างต้น กล่าวคือ บิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง เป็นตัวแทนหรือผู้แทนบุตรโดยอำนาจแห่งกฎหมาย มีอำนาจทำการใดๆ แทนบุตร รวมทั้งทำนิติกรรมแทนบุตรด้วยการกระทำของผู้ใช้อำนาจปกครองผูกพันบุตร แม้บุตรจะมิได้รู้เห็นยินยอมในการนั้นก็ตามเช่น บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมเอกที่ดินของบุตรไปให้คนเช่าเป็นเวลา 1 ปี สัญญาเช่าที่ดินแปลงนี้ผูกพันบุตร แม้บุตรไม่รู้เห็นยินยอมในการเช่านั้นก็ตาม  การที่ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรในกิจการต่างๆ ของบุตร การเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมมีอยู่ตลอดไปจนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-04-21 16:34:20


ความคิดเห็นที่ 3 (1615337)

คำพิพากษาฎีกาที่ 2971/2544

 

ภาระหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 มิได้หมดสิ้นไปเมื่อมีการจดทะเบียนหย่า เมื่อบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ามิได้กล่าวว่าให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์หรือจำเลย กรณีต้องถือว่าโจทก์จำเลยต่างเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกันตามมาตรา 1566 วรรคหนึ่ง ส่วนมาตรา 1522 วรรคหนึ่งมีความหมายเพียงว่า ในการหย่าโดยความยินยอม สามีและภริยาอาจตกลงกันในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นจำนวนเท่าใด หากสามีและภริยามิได้กำหนดจำนวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ในบันทึกข้อตกลง ศาลก็ย่อมเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้ได้ตามสมควรตามมาตรา 1522 วรรคสอง บทกฎหมายดังกล่าวหาได้หมายความถึงขนาดที่ว่า เมื่อมิได้กำหนดให้จำเลยเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าแล้วจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

ข้อความตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ามีว่า "หย่าทั้งสองฝ่าย สาเหตุแห่งการหย่าเพราะทรรศนะไม่ตรงกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชาย ท.อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของมารดา" ข้อความดังกล่าวไม่ใช่ข้อตกลงเรื่องออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใดตามมาตรา 1522 วรรคหนึ่ง ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยออกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1522 วรรคสอง นอกจากนี้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า แม้เป็นสัญญาระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ก็มิได้ลบล้างหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ การที่โจทก์นำสืบถึงหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยซึ่งเป็นบิดา จึงมิใช่การนำสืบพยานบุคคลหักล้างหรือขัดแย้งกับพยานเอกสาร เมื่อโจทก์นำสืบได้ความชัดแจ้งและจำเลยเองก็ยอมรับว่า หลังจดทะเบียนการหย่าในปี 2537 จำเลยมิได้ให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ เนื่องจากจำเลยยืนยันว่าไม่เคยตกลงที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู โจทก์ก็เรียกให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังตั้งแต่ปี 2537 จนถึงวันฟ้องได้

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เดือนละ ๑๑,๐๐๐ บาท นับแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๓๗ จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยตกลงให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจำเลยต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ จำเลยจึงมิใช่ผู้ผิดสัญญา ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย ท. ผู้เยาว์ให้แก่โจทก์นับถึงวันฟ้องเป็นจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท และต่อไปให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙) เป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท ยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่โจทก์เดือนละ ๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙) จนกว่าเด็กชาย ท. ผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตร ๑ คน คือ เด็กชาย ท. ผู้เยาว์ ต่อมาโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่า คดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นแรกตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์หรือไม่ เห็นว่า ภาระหน้าที่สำคัญของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ ได้แก่ หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๔ และภาระหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้มิได้หมดสิ้นไป เมื่อมีการจดทะเบียนหย่า ตราบใดที่จำเลยยังมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้เป็นที่ยุติแล้วว่า ตามบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่ามิได้กล่าวว่า ให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์หรือจำเลย กรณีต้องถือว่าโจทก์จำเลยต่างเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกัน ตามมาตรา ๑๕๖๖ วรรคหนึ่ง ส่วนที่มาตรา ๑๕๒๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นจำนวนเงินเท่าใด" นั้น ก็มีความหมายเพียงว่า ในการหย่าโดยความยินยอม สามีและภริยาอาจตกลงกันในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นจำนวนเท่าใด หากสามีและภริยามิได้กำหนดจำนวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ในบันทึกข้อตกลง ศาลก็ย่อมเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้ได้ตามสมควร ตามมาตรา ๑๕๒๒ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด" ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวหาได้หมายความถึงขนาดที่ว่า เมื่อมิได้กำหนดให้จำเลยเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า จำเลยจะไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ดังที่จำเลยฎีกาโต้แย้งแต่อย่างใดไม่ เมื่อพิเคราะห์ข้อความตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าที่ว่า "คู่หย่าทั้งสองฝ่าย สาเหตุแห่งการหย่าเพราะทรรศนะไม่ตรงกัน มีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือ เด็กชาย ท. อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของมารดา" แล้ว เห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่ใช่ข้อตกลงเรื่องออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด ตามมาตรา ๑๕๒๒ วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยออกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ตามมาตรา ๑๕๒๒ วรรคสอง นอกจากนี้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า แม้เป็นสัญญาระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ก็มิได้ลบล้างหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ การที่โจทก์นำสืบถึงหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยซึ่งเป็นบิดา จึงมิใช่การนำสืบพยานบุคคลหักล้างหรือขัดแย้งกับพยานเอกสารดังกล่าวตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้แก่โจทก์นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์เรียกให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นปีที่โจทก์อ้างว่า จำเลยไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท นอกเหนือจากค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันฟ้องเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะได้หรือไม่ ข้อนี้ เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นแรกแล้วว่า หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ เป็นภาระหน้าที่อันสำคัญของจำเลยผู้เป็นบิดา ซึ่งมิได้สิ้นสุดลง หลังการจดทะเบียนหย่า แม้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ามิได้ระบุให้จำเลยเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ เป็นจำนวนเงินเท่าใด ศาลก็ย่อมกำหนดจำนวนเงินให้ได้ตามสมควร เมื่อโจทก์นำสืบได้ความชัดแจ้งและจำเลยเองก็ยอมรับว่า หลังจดทะเบียนการหย่าในปี ๒๕๓๗ จำเลยมิได้ให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ เนื่องจากจำเลยยืนยันว่าไม่เคยตกลงที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู โจทก์ก็เรียกให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ จนถึงวันฟ้องได้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่กำหนดให้ตามสมควรเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท เพราะทั้งโจทก์จำเลยต่างก็มีอาชีพเป็นหลักฐานมั่นคง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อีก ๘๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์นั้น ไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

 

พิพากษาแก้เป็นว่า บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-04-21 17:08:29


ความคิดเห็นที่ 4 (1615338)

คำพิพากษาฎีกาที่ 3484/2542

โจทก์เป็นภริยาจำเลยโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน คือเด็กหญิง ธ. ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1546 โจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ธ. ตามกฎหมาย แต่เพียงผู้เดียว ส่วนจำเลยเป็นบิดามิชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ การที่โจทก์ทำบันทึกระบุข้อความมอบผู้เยาว์ให้อยู่ในความปกครองของพี่สาวจำเลยจึงเป็นการตั้งผู้ปกครองกันเองย่อมไม่มีผล เพราะการตั้งผู้ปกครองตามกฎหมายจะมีได้เฉพาะด้วยคำสั่งศาลหรือบิดามารดาตกลงกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1566 (6) เท่านั้น ข้อความตามบันทึกดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดที่อยู่ของบุตรผู้เยาว์ให้อยู่กับพี่สาวจำเลยเท่านั้น และกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ผู้เป็นมารดาได้สละการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้บิดาหรือมารดาสามารถสละการใช้อำนาจปกครองให้แก่บุคคลอื่นได้ ทั้งมิใช่กรณีที่บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1566 (6) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นมารดายังเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์อยู่ จำเลยซึ่งเป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีหน้าที่ต้องส่งผู้เยาว์ให้แก่โจทก์

เมื่อจำเลยมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์โต้แย้งสิทธิ จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้เยาว์แต่ผู้เดียว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กหญิงธัญพร อายุ 1 ปีเศษ ต่อมาโจทก์จำเลยสมัครใจแยกทางกันโดยตกลงให้โจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ครั้งสุดท้ายจำเลยมารับผู้เยาว์ไปแล้วไม่นำมาคืนแก่โจทก์ โจทก์ติดตามทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยมอบผู้เยาว์คืน แก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยตกลงให้โจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ โจทก์เองเป็นฝ่ายทำบันทึกมอบบุตรผู้เยาว์ให้อยู่ในความปกครองของนางสาวอมรรัตน์ พี่จำเลยโดยจำเลยเป็นผู้เลี้ยงดูมาตลอดโจทก์ไม่มี ที่อยู่แน่นอน ไม่มีรายได้ ทั้งประพฤติตนไม่เหมาะสม ส่วนจำเลยมีรายได้ประจำสามารถส่งเสียบุตรผู้เยาว์ให้ได้รับ การศึกษา จึงเหมาะสมที่จะอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ขอให้พิพากษาให้ผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยแต่ผู้เดียวห้ามโจทก์เกี่ยวข้อง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้อง คำให้การ ฟ้องแย้ง และคำให้การแก้ฟ้องแย้งแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงชดชี้สองสถานและงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า ผู้เยาว์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีอำนาจ ปกครองผู้เยาว์แต่ผู้เดียว บันทึกมอบผู้เยาว์ให้อยู่ในความครอบครองและอุปการะเลี้ยงดูของนางสาวอมรรัตน์ เป็นเพียงการกำหนดที่อยู่ของผู้เยาว์ โจทก์จึงสามารถเรียกผู้เยาว์คืนจากนางสาวอมรรัตน์เพื่อกำหนดที่อยู่ใหม่ จำเลยมิใช่บิดาชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ ไม่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้ศาลพิพากษาให้ผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลย พิพากษาให้จำเลยมอบผู้เยาว์คืนแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งเด็กหญิงธัญพร บุตรผู้เยาว์ให้แก่โจทก์หรือไม่ และจำเลยมีอำนาจฟ้องแย้งให้ศาลมีคำพิพากษาให้เด็กหญิง ธัญพรอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวได้หรือไม่ คดีฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นภริยาจำเลยโดยมิได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน คือเด็กหญิงธัญพร ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1546 เช่นนี้โจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงธัญพรตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนจำเลยเป็นบิดามิชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีอำนาจปกครองเด็กหญิงธัญพร แม้โจทก์เป็นผู้ทำบันทึกระบุข้อความมอบเด็กหญิง ธัญพรให้อยู่ในความปกครองของนางสาวอมรรัตน์พี่จำเลยซึ่งเป็นการตั้งผู้ปกครองกันเองย่อมไม่มีผลแต่ประการใด เพราะการตั้งผู้ปกครองตามกฎหมายจะมีได้เฉพาะด้วยคำสั่งศาลหรือบิดามารดาตกลงกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (6) เท่านั้น ข้อความตามบันทึกดังกล่าวจึงเป็นเพียงการกำหนดที่อยู่ของบุตรผู้เยาว์ให้อยู่กับนางสาวอมรรัตน์และถือไม่ได้ว่าโจทก์ผู้เป็นมารดาได้สละการใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงธัญพรบุตรผู้เยาว์ของตนเพราะไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้บิดาหรือมารดาสามารถสละการใช้อำนาจปกครองให้แก่บุคคลอื่นได้ ทั้งมิใช่กรณีที่บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (6) เมื่อโจทก์ยังเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงธัญพร จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งเด็กหญิงธัญพรให้แก่โจทก์ แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ตามฟ้องแย้งของจำเลยว่า โจทก์ไม่มีที่อยู่ แน่นอน ไม่มีรายได้ ทั้งประพฤติตนไม่เหมาะสม ส่วนจำเลยมีรายได้ประจำสามารถส่งเสียเด็กหญิงธัญพรให้ได้รับ การศึกษา จึงเหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงธัญพรก็ตาม เมื่อจำเลยมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงธัญพรและไม่มีอำนาจปกครองเด็กหญิงธัญพรย่อมถือไม่ได้ว่า จำเลยถูกโต้แย้งสิทธิอันจะมีอำนาจฟ้องแย้งให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงธัญพรแต่ผู้เดียว

พิพากษายืน.

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-04-21 17:09:51


ความคิดเห็นที่ 5 (1615339)

คำพิพากษาฎีกาที่ 482/2537

ประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์มิได้บรรยายยืนยันข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาให้แน่นอนว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามตั๋วเงินหรือตามสัญญาฝากทรัพย์นั้นจำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การและศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับฝากเงินและลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้คืนเงินฝากแก่โจทก์ได้กระทำในฐานะตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตัวการ ฟ้องโจทก์จึงแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนโดยแต่งตั้งหรือเชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทน เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำเข้าสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 แม้บิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อยู่ใต้อำนาจปกครองของมารดาไม่ เมื่อมารดายังเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์จึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ตาม มาตรา 1569 มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด การกู้ยืมเงินหรือรับเงินออมจากประชาชนได้จะต้องปฏิบัติอยู่ในกำหนดกฎเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4,27 และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชน และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรืออาจเรียกได้ ลงวันที่14 กรกฎาคม 2524 ข้อ 2(2), ข้อ 3(1) การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์แล้วไม่ออกเอกสารการกู้ยืมหรือตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์และไม่ใช่เพื่อการพัฒนาหรือการเคหะ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ แต่ก็ไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับไว้จึงมิได้เป็นการสั่งจ่ายเช็คในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการรับฝากเงินจากโจทก์และจากบุคคลอื่นโดยทั่วไป การชำระดอกเบี้ยรายเดือนเป็นผลประโยชน์ตอบแทนทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตหลงเข้าใจได้ว่า การรับเงินฝากเงินเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ที่ทำได้ตามกฎหมายและอยู่ภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อรับฝากเงินเองโดยเชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทน จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันรับเอาผลการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยรับผิดคืนเงินที่รับฝากพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821ประกอบมาตรา 224 วรรคแรก ฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเพื่อการเคหะ จำเลยที่ 2 และที่ 3เคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้นำเงินจำนวน 100,000 บาท ไปฝากไว้กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน100,000 บาท ชำระหนี้เงินฝากให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นตัวการจำเลยทั้งสามผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 เป็นต้นมาเช็คครบกำหนดใช้เงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับเงินฝากคืน โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉย จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการกับจำเลยที่ 2และที่ 3 ในฐานะตัวแทนจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น124,166.60 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน124,166.60 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า นางวรวรรณ วุฒิประจักร์ จะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ทราบไม่รับรอง จำเลยที่ 1มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา รับฝากเงินจากประชาชนโดยจำเลยที่ 1 ต้องออกเอกสารการกู้ยืมเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ให้กู้ไว้เท่านั้น จำเลยที่ 1 จะรับฝากเงินจากประชาชนโดยออกเช็คให้ผู้ฝากเงินไว้หาได้ไม่ เพราะขัดต่อวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับฝากเงินตามฟ้องจากโจทก์จำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบหมายหรือเชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องหรือให้สัตยาบันในการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3รับฝากเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ให้แก่โจทก์นั้น จำเลยที่ 1ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์หรือได้รับประโยชน์จากเงินของโจทก์ แต่ไม่เคยตกลงที่จะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวให้แก่โจทก์หากฟังว่าโจทก์ต้องรับผิดก็ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาจำเลยที่ 2ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลชั้นต้นอนุญาต และจำเลยที่ 3 ขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์มิได้บรรยายยืนยันข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาให้แน่นอนว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามตั๋วเงินหรือตามสัญญาฝากทรัพย์นั้น ข้ออ้างตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การ และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้สำหรับปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์บรรยายฟ้องได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 มิได้บรรยายฟ้องแสดงโดยแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนโดยการแต่งตั้งหรือเชิด หรือจำเลยที่ 1 กระทำการอย่างใดที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 แต่งตั้งหรือเชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องแล้วว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับฝากเงินและลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้คืนเงินฝากแก่โจทก์ได้กระทำในฐานะตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตัวการฟ้องโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง แล้วส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นตัวแทนโดยแต่งตั้งหรือเชิด และจำเลยที่ 1 กระทำอย่างใดอันถือได้ว่า ได้แต่งตั้งหรือเชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทน เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำเข้าสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ส่วนปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า นางวรวรรณวุฒิประจักร์ มิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ เพราะนายบรรพตบิดาของโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ นายบรรพตจึงเป็นผู้แทนโดยชอบของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว นางวรวรรณจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์นั้นเห็นว่า โจทก์ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 แม้นายบรรพตบิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อยู่ใต้อำนาจปกครองของนางวรวรรณมารดาไม่ นางวรวรรณเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์จึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ตาม มาตรา 1569 มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับฝากเงินจากโจทก์ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1หรือในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 อันจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 จะกู้ยืมเงินหรือรับเงินออมจากประชาชนได้จะต้องปฏิบัติอยู่ในกำหนดกฎเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 27 และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชน และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรืออาจเรียกได้ ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2524ข้อ 2(2), ข้อ 3(1) เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์แล้วไม่ออกเอกสารการกู้ยืมหรือตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์และไม่ใช่เพื่อการพัฒนาการเคหะ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์แต่ก็ไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับไว้จึงมิได้เป็นการสั่งจ่ายเช็คในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการรับฝากเงินจากโจทก์และจากบุคคลอื่นโดยทั่วไป การชำระดอกเบี้ยรายเดือนเป็นผลประโยชน์ตอบแทนทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตหลงเข้าใจได้ว่า การรับเงินฝากเงินเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ที่ทำได้ตามกฎหมายและอยู่ภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อรับฝากเงินเอง โดยเชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนในการรับฝากเงินและสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมายจ.3 ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับเอาผลการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยชำระเงินที่รับฝากคืนให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 821 ประกอบมาตรา 224 วรรคแรก ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1ต้องร่วมรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีนั้นเห็นว่าฎีกาของโจทก์ข้อนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-04-21 17:11:31



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล