ReadyPlanet.com


อ้างจ่ายเงินเดือนผิด ยักยอก ตาม มาตรา 352 วรรคสอง


หากลูกจ้างทำงานมาปี เศษ  มาวันหนึ่งได้รับแจ้งว่า เงินเดือนที่ได้รับ โดยที่บริษทเป็นผู้ชำระภาษีให้มาตลอด แต่จริงแล้ว บริษัท ไม่ออกภาษีให้ โดยที่สัญญาจ้าง ไม่ได้ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ออกภาษี

บริษัทมีสิทธิ์เรียกเงินส่วนต่างนี้คืนหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ กุศล :: วันที่ลงประกาศ 2008-06-03 17:52:23


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1763437)

 

พนักงานของธนาคารโจทก์ร่วมรับฝากเงินจากบริษัท ท. จำนวน 2,132,770 บาท เพื่อโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ของบริษัท ท.แต่พนักงานของโจทก์ร่วมป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผิดพลาดไปเป็นเลขที่บัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ธนาคารโจทก์ร่วม สำนักงานใหญ่ ต่อมาเมื่อจำเลยนำเงินฝากเข้าบัญชีในวันดังกล่าวจึงทราบว่ามีเงินมาเข้าบัญชีของจำเลยโดยการผิดพลาด จากนั้นจำเลยได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวในบัญชีของจำเลยไปจากธนาคารของโจทก์ร่วมสำนักงานใหญ่ โดยการปิดบัญชี การที่จำเลยได้ถอนเงินที่เข้าบัญชีผิดพลาดนั้นออกไปตั้งแต่ในขณะที่โจทก์ร่วมก็ยังไม่ทราบว่าเงินจำนวนนั้นไม่ใช่เป็นเงินของจำเลยก็ตามแม้จำเลยจะเป็นฝ่ายทราบแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยโจทก์ร่วมยังไม่ทราบว่าเงินจำนวน 2,132,770 บาท นั้นเข้าบัญชีของจำเลยผิดพลาดก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมีเจตนาทุจริตถอนเงินดังกล่าวไป และโจทก์ร่วมได้มอบเงินให้แก่จำเลยไปแล้วเช่นนี้ กรณีถือได้ว่าเงินจำนวน 2,132,770 บาท นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยเพราะโจทก์ร่วมได้ส่งมอบให้โดยสำคัญผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4442/2540)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-06-03 18:40:26


ความคิดเห็นที่ 2 (1763445)

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคสอง ให้จำเลยชดใช้เงินที่ยักยอกจำนวน2,132,770 บาท คืนแก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง จำคุก 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือนให้จำเลยชดใช้เงินที่ยักยอกจำนวน 2,132,770 บาท คืนแก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 โดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่13 ธันวาคม 2537 พนักงานของโจทก์ร่วม สาขาเพชรเกษม 33รับฝากเงินจากบริษัทไทยเยาฮาน จำกัด สาขาพิวเจอร์ปารค์พลาซ่าจำนวน 2,132,770 บาท เพื่อโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์เลขที่001-1-59255-4 ของบริษัทไทยเยาฮาน จำกัด สำนักงานใหญ่แต่พนักงานของโจทก์ร่วมป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผิดพลาดไปเป็นเลขที่ 001-1-59225-4 ซึ่งเป็นเลขที่บัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ธนาคารโจทก์ร่วม สำนักงานใหญ่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2537 จำเลยเปลี่ยนชื่อจากสุภาพรเป็นชื่นจิต และนำเงินฝากเข้าบัญชีในวันดังกล่าวจึงทราบว่ามีเงินเข้าบัญชีของจำเลยโดยการผิดพลาด ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2537 จำเลยได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวในบัญชีของจำเลยไปจากธนาคารของโจทก์ร่วม สำนักงานใหญ่โดยการปิดบัญชี

ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกามีว่า เงินจำนวน 2,132,770 บาทเป็นทรัพย์ที่ได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยพนักงานของโจทก์ร่วมเช่นนี้ เป็นการส่งมอบให้โดยสำคัญผิดตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า เงินจำนวน 2,132,770 บาท ปรากฏว่าเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2537 แล้ว โดยจำเลยทราบว่าเงินดังกล่าวเข้าบัญชีของจำเลยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2537 เพราะการป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผิดพลาด การที่จำเลยไถ่ถอนเงินที่เข้าบัญชีผิดพลาดออกไปตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2537ขณะนั้นโจทก์ร่วมเองก็ยังไม่ทราบว่าเงินจำนวนนั้นไม่ใช่เป็นเงินของจำเลยโดยเป็นของบริษัทไทยเยาฮาน จำกัดสาขาพวเจอร์ปาร์คพลาซ่า เพราะโจทก์ร่วมมาทราบเหตุในวันที่30 ธันวาคม 2537 โดยบริษัทไทยเยาฮาน จำกัดสาขาพิวเจอร์ปาร์คพลาซ่า ได้แจ้งให้โจทก์ร่วมทราบว่าเงินไม่ได้อยู่ในบัญชี ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่จำเลยได้ถอนเงินจำนวนนั้นไปแล้ว แม้จำเลยจะเป็นฝ่ายทราบแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าเงินจำนวน 2,132,770 บาท นั้นเข้าบัญชีของจำเลยผิดพลาด แต่เมื่อจำเลยมีเจตนาทุจริตถอนเงินดังกล่าวไป โดยโจทก์ร่วมได้มอบเงินให้แก่จำเลยไปแล้วเช่นนี้ กรณีถือได้ว่าเงินจำนวน 2,132,770 บาทนั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลย เพราะโจทก์ร่วมได้ส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยการป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผิดพลาด จึงย่อมเป็นการส่งมอบเงินให้โดยสำคัญผิดตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง แล้ว

พิพากษายืน

( ประกาศ บูรพางกูร - ปรีชา เฉลิมวณิชย์ - ธีระจิต ไชยาคำ )

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4442/2540)

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-06-03 18:49:13


ความคิดเห็นที่ 3 (1763456)

มาตรา 406 บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดีหรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา

มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์ สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียง กึ่งหนึ่ง

โดยปกตินะครับ ทางนายจ้างก็จะไม่จ่ายค่าภาษีเงินได้ให้ลูกจ้างอยู่แล้ว แต่ถ้าเขามีข้อตกลงในสัญญาจ้างว่าเขาจะเป็นผู้ออกให้ก็สามารถใช้บังคับได้ครับ

ตามที่เล่ามานั้นเห็นว่าเขาได้โอนเงินเดือนให้โดยที่ยังไม่ได้หักภาษี ที่จ่าย และเรียกให้ลูกจ้างคืนเงิน ดังนี้เห็นว่าเงินที่เกินไปหรือเงินภาษีที่ยังไม่ได้หักย่อมเป็นทรัพย์สินที่ผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด ลูกจ้างจึงต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่นายจ้าง

การกระทำความผิดอาญาจะต้องมีเจตนามาแต่แรก แต่เมื่อทางลูกจ้างไม่มีเจตนาจะเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปเป็นของตนเองโดยทุจริต จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับ

อย่างไรก็ตามในกรณีที่นายจ้างมีความผูกพันที่จะจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในเดือนต่อไป ทางนายจ้างอาจใช้สิทธิหักเงินจำนวนดังกล่าวจากเงินค่าจ้างของลูกจ้างได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-06-03 19:04:55


ความคิดเห็นที่ 4 (1763480)

หากลูกจ้างสำคัญผิด ว่าส่วนที่นายจ้างจ่ายภาษีให้ เป็นการตอบแทนที่มีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีมากกว่าเมื่อก่อนตกลงสัญญาจ้าง (แต่ไม่มีรายละเอียดระบุเป็นลายลักษณ์อักษร เพียงแต่ผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในองค์กร ครบวาระ และลูกจ้างได้ทำหน้าที่นี้แทน) ลูกจ้างจะพอที่จะยกประเด็นนี้มาเพื่อเจราจาต่อรองกับในจ้างสำหรับ ภาษีที่จ่ายให้ที่ผ่านมา ได้ไหมครับ

เพราะหากลูกจ้างอ้างเจตนาบริสุทธิ์และปฏิบัติหน้าที่เต็มที่เต็มความสามารถและสามารถพัฒนาปรับปรุงงผลดำเนินการบริษัท ได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมาถูกตั้งประเด็นการยักยอกหรือประพฤติทุจริต ทำให้รู้สึกเสื่อมเสียเช่นเดียวกัน

และท้ายที่สุดอาจจะขอตกลงกันใหม่สำหรับอัตราค่าจ้างใหม่ว่าจะเพิ่มขึ้น,ลงลงหรือยอมรับอัตราที่ลูกจ้างออกภาษีเองต่อไปให้เข้าใจตรงกัน

ขอความเห็นเพิ่มเติมด้วยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น กุศล วันที่ตอบ 2008-06-03 19:32:30


ความคิดเห็นที่ 5 (1763597)

(ขอเป็นความเห็นนะครับ)

กรณีลูกจ้างสำคัญผิดนั้นไม่มีกฎหมายรองรับที่จะอ้างไม่ต้องคืนทรัพย์ของนายจ้างที่ส่งมอบให้โดยสำคัญผิด

แต่ถ้าจะพิสูจน์ว่าการที่นายจ้างเสียภาษีให้นั้นไม่น่าจะเป็นการส่งมอบให้โดยสำคัญผิดซึ่งปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึงเป็นปีตามที่เล่ามา

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-06-03 21:44:53


ความคิดเห็นที่ 6 (1764976)

หากต้องการพิสูจน์ว่าไม่เป็นการส่งมอบโดยสำคัญผิด มากว่าปี รวมทั้งครบรอบชำระภาษีประจำปีไปแล้ว  พอจะมีวิธี หรือแนวทางพิสูจน์ อย่างไรหรือวิธีใดบ้างครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น กุศล วันที่ตอบ 2008-06-05 08:20:55


ความคิดเห็นที่ 7 (1765253)

คงต้องรอให้นายจ้างฟ้องมาก่อน แล้วเราต่อสู้ว่าโดยธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปนายจ้างก็จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อนายจ้างไม่ได้หักเป็นปี แสดงว่านายจ้างมีเจตนาให้ ส่วนศาลท่านจะเห็นเป็นประการใดก็ต้องเป็นไปตามนั้นครับผม

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-06-05 12:34:07


ความคิดเห็นที่ 8 (3598709)


ธนาคารจ่ายเงินให้ผู้ทรงเช็คไม่มีเงินในบัญชีของผู้สั่งจ่าย
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  22658/2555

พนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี     โจทก์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)     โจทก์ร่วม
นางสาว ร___________________     จำเลย
 
ป.อ. มาตรา 352 วรรคสอง
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียง กึ่งหนึ่ง
ป.พ.พ. มาตรา 904, 991
ป.วิ.อ. มาตรา 46
 
          ก. ออกเช็คสั่งให้ธนาคารโจทก์ร่วมจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือ จำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคารในขณะที่จำเลยเป็นผู้ถือเช็คดังกล่าว จำเลยจึงเป็นผู้มีเช็คไว้ในครอบครองในฐานเป็นผู้รับเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินตามเช็คได้ เมื่อเช็คถึงกำหนดจำเลยนำเช็คฝากเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารโจทก์ร่วมจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่ง ก. ผู้เคยค้ากับธนาคารโจทก์ร่วมให้แก่จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีเงินในบัญชีของ ก. เป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตาม (1) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 991 ซึ่งให้สิทธิแก่ธนาคารโจทก์ร่วมที่จะไม่จ่ายเงินตามเช็คได้โดยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เคยค้าหรือผู้สั่งจ่าย หรือธนาคารโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ได้ ซึ่งครั้งแรกธนาคารโจทก์ร่วมใช้สิทธิปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะดำเนินการทางบัญชีผิดพลาดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อจากพนักงานของธนาคารโจทก์ร่วม โดยธนาคารโจทก์ร่วมได้จ่ายเงินไปตามที่ ก. ออกเช็คสั่งจ่ายมา ถือว่าธนาคารโจทก์ร่วมใช้ดุลพินิจจ่ายเงินตามเช็คแล้วภายหลังจะอ้างว่าสั่งจ่ายโดยไม่มีเงินในบัญชีของ ก. พอที่จะจ่ายตามเช็คนั้น เพื่อนำมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดว่าเป็นการจ่ายเงินตามเช็คโอนเข้าบัญชีของจำเลยผู้ทรงเช็คโดยสุจริตโดยสำคัญผิดหาได้ไม่
 
________________________________
 
 
( นิยุต สุภัทรพาหิรผล - วิรุฬห์ แสงเทียน - ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี )
 
ศาลแขวงนนทบุรี - นายสนั่น สร้อยผา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายเมธี ประจงการ
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 0859604258 วันที่ตอบ 2014-03-26 16:27:02



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล