ReadyPlanet.com


เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกได้หรือไม่


เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะเป็นผ้มีส่วนได้เสียได้หรือไม่หากกองมรดกนั้นมีทายาทโดยธรรมสามารถทำหน้าที่ได้อยู่แล้ว มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องใช้อ้างอิงหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ ณรงค์ :: วันที่ลงประกาศ 2008-05-21 17:38:49


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1751365)

คดีสืบเนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของนายศรายุทธ์  ผู้ตาย

 

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายโดยเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตาย ซึ่งได้ยื่นฟ้องผู้ร้องในฐานะภริยาผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายไว้แล้ว ผู้ร้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมในการที่จะได้รับตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ศาลชั้นต้นพิจารณาคำคัดค้านแล้วมีคำสั่งว่า เนื่องจากผู้ตายมีทายาทที่ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้คัดค้านชอบที่จะเรียกให้ทายาทของผู้ตายชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ยกคำคัดค้าน

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำคัดค้านต่อศาลหรือไม่ และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำคัดค้านโดยไม่ไต่สวนเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เจ้าหนี้กองมรดกที่จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 นั้น ต้องเป็นกรณีที่กองมรดกไม่มีทายาทและผู้จัดการมรดก เพราะหากไม่มีทายาทหรือผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดเจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้เลย แต่เมื่อกองมรดกมีทายาทร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแล้วก็จะมีตัวทายาทที่จะต้องรับผิดชำระหนี้จากกองมรดกให้แก่เจ้าหนี้ได้ ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว จึงย่อมต้องมีผู้รับผิดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ไม่กระทบถึงส่วนได้เสียของผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่มีสิทธิคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำคัดค้านโดยไม่ไต่สวนคำคัดค้านนั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

หมายเหตุ

ปัญหาในคดีก็คือเจ้าหนี้กองมรดกจะมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้หรือไม่เพียงใด เมื่อผู้ตายหรือลูกหนี้มีภริยาชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมและมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายอยู่แล้ว (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599,1603 และ 1629) ดูแล้วออกจะไม่มีปัญหาสลับซับซ้อนแต่ก็มีกรณีศึกษาและถกเถียงกันมาโดยตลอด จนถึงคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้แล้วคงได้ข้อยุติหรือแนวทางการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้าหนี้กองมรดกต่อไป น่าจะไม่ต้องเสียเวลาเช่นคดีนี้อีกซึ่งมีการอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาจนครบสามศาล และอาจต้องไปเริ่มต้นกันใหม่โดยฟ้องทายาทของผู้ตายให้ต้องรับผิดในฐานะของทายาทโดยธรรมต่อไป หรืออาจหมดสิทธิเพราะคดีขาดอายุความแล้วก็ได้ เนื่องจากกรณีเจ้าหนี้ของกองมรดกนั้นถูกบังคับว่าถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1994/2540 และ 4996/2544)

กรณีที่ตั้งเป็นปัญหาไว้ว่า เจ้าหนี้กองมรดกจะมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้หรือไม่เพียงใดนั้น เดิมศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าเจ้าหนี้กองมรดกมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 267/2524 และ 118/2525) สำหรับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 267/2524 เป็นเรื่องกู้ยืมเงิน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ตายยังมีทายาทอยู่ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยความตอนหนึ่งว่าคดีนี้ผู้ตายยังมีทายาทอยู่ ถึงแม้ไม่มีผู้จัดการมรดกผู้ร้องก็สามารถฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ได้โดยฟ้องทายาท แต่ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์สินในกองมรดกโดยตรง จึงร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกไม่ได้ เหตุผลที่ศาลฎีกาให้ไว้นั้น ความสำคัญน่าจะอยู่ตรงที่คดีนี้ผู้ตายมีทายาทอยู่แล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ได้ระบุว่าผู้ที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ได้แก่ ทายาทผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อผู้ตายมีทายาทอยู่ ส่วนเจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องให้ทายาทรับผิดได้อยู่แล้ว หรือจะฟ้องผู้จัดการมรดกก็ได้จึงวินิจฉัยเช่นนั้น ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2525 ปรากฏว่าผู้ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกมิได้เป็นทายาทของผู้ตายหากแต่เป็นผู้จัดการศพ และได้ออกเงินทดรองเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพของผู้ตาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีของผู้ร้องแม้จะเป็นผู้จัดการศพอันจะถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใด ๆ ในการจัดการทำศพนั้นก็ตามก็เป็นเพียงในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิเหนือกองมรดกชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา 253(2) ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1650 เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการที่จะใช้สิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 คดีนี้ไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกหรือผู้ตายมีทายาทหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีทายาท มรดกของผู้ตายย่อมตกทอดแก่แผ่นดิน แต่ทั้งนี้ต้องชำระหนี้ก่อนมรดกแก่เจ้าหนี้ก่อน (มาตรา 1753)มีปัญหาว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระหนี้กองมรดก กรณีเช่นนี้ เจ้าหนี้ก็อาจร้องขอให้อัยการดำเนินการให้เพราะตามมาตรา 1713 เปิดช่องทางให้ทำได้อยู่แล้วส่วนอัยการจะดำเนินการอย่างไรย่อมเป็นไปตามบทกฎหมายเฉพาะของอัยการและระเบียบทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่นคดีนี้เคยมีมาแล้วแต่เป็นกรณีผู้ตายมีทายาทและผู้จัดการมรดกอยู่แล้ว จึงวินิจฉัยว่าเจ้าหนี้กองมรดกเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ มิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1098/2523) อนึ่ง ความในมาตรา 1649และมาตรา 1650 นั้นอาจทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกกับการดำเนินการในการจัดการศพว่าเป็นเรื่องของผู้จัดการมรดก หรือการที่ผู้ใดจัดการศพของผู้ตายแล้วจะต้องถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามความในมาตรา 1713 ความสำคัญน่าจะต้องเป็นเจ้าหนี้กองมรดกมากกว่า

คดีต่อมาเกิดขึ้นและขึ้นสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2531 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า กองมรดกที่ไม่มีทายาทนั้นแม้มรดกจะตกทอดแก่แผ่นดิน แผ่นดินก็มิใช่ทายาท เจ้าหนี้ไม่อาจบังคับชำระหนี้ได้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้นและหากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใด เจ้าหนี้ไม่มีทางได้รับชำระหนี้ได้เลย การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมีผู้จัดการมรดก ในกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ ส่วนปัญหาที่ว่าสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่นั้นแม้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้กองมรดกซึ่งตามปกติแล้วย่อมมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกแต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีผู้มีส่วนได้เสียอื่นอีก และพนักงานอัยการมิได้คัดค้าน จึงสมควรตั้งผู้จัดการมรดกได้

คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2531(ประชุมใหญ่) ได้วางหลักกฎหมายหรือเป็นคำตอบว่าเจ้าหนี้กองมรดกที่ไม่มีทายาทเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกตามมาตรา 1713 สามารถร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ ส่วนเจ้าหนี้นั้นจะสมควรเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เป็นเรื่องที่ศาลต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาอีกชั้นหนึ่งต่อไป แต่สำหรับคดีนี้ศาลฎีกามีคำสั่งตั้งเจ้าหนี้เป็นผู้จัดการมรดกโดยมีเหตุประการหนึ่งว่า ไม่ปรากฏว่ามีผู้มีส่วนได้เสียอื่นอีกและพนักงานอัยการมิได้คัดค้านแสดงให้เห็นกรณีผู้ตายไม่มีทายาทซึ่งกองมรดกของผู้ตายตกทอดแก่แผ่นดินตามความในมาตรา 1753 นั้น พนักงานอัยการซึ่งเป็นผู้มีอำนาจร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกตามความในมาตรา 1713 นั้นย่อมร้องคัดค้านได้ก็เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีเมื่อมรดกของผู้ตายตกทอดแก่แผ่นดินตามมาตรา 1753 ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงก็คือแผ่นดิน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กระทรวงการคลัง น่าจะเป็นผู้รับผิดชอบในการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินยิ่งกว่า เพราะเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกเป็นผู้จัดการมรดกเสียเองอาจทำเพื่อประโยชน์ตนเองและดำเนินการใดไม่ชอบเป็นผลเสียหายแก่แผ่นดินได้เช่นเมื่อได้รับชำระหนี้ตนเองเสร็จก็อาจปล่อยปละละเลยไม่ติดตามเอาทรัพย์สินของกองมรดกเพื่อส่งมอบให้แก่กระทรวงการคลังต่อไป

มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่ากรณีเจ้าหนี้ตายโดยไม่มีทายาท ดังนี้ ลูกหนี้จะมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้หรือไม่เพียงใด มีตัวอย่างคดีพอเทียบเคียงได้คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5840/2541 เป็นเรื่องผู้รับจำนำตายโดยไม่มีทายาท แล้วผู้จำนำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ดังนี้ ผู้รับจำนำตายโดยไม่มีทายาท กองมรดกของผู้รับจำนำย่อมตกแก่แผ่นดินแต่แผ่นดินไม่ใช่ทายาท ผู้รับจำนำจึงไม่สามารถไถ่ถอนได้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น และตราบใดยังไม่มีผู้จัดการมรดกการจำนำก็ไม่มีทางไถ่ถอนจำนำได้เลย การที่ผู้มีสิทธิไถ่ถอนจำนำจะได้ไถ่ถอนจำนำจากกองมรดกจึงขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมีผู้จัดการมรดก ในกรณีนี้จึงต้องถือว่าผู้ซึ่งมีสิทธิไถ่ถอนจำนำเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกได้ คดีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้เป็นหนี้กองมรดกไม่มีทายาท ซึ่งศาลฎีกาได้วางหลักกฎหมายว่าลูกหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 1713 ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ และขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้

สรุปแล้ว กรณีผู้ตายซึ่งอาจเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้บุคคลอื่น ไม่มีทายาทในขณะตายศาลฎีกาได้วางหลักกฎหมายว่าเจ้าหนี้ของผู้ตายก็ดี ลูกหนี้ของผู้ตายก็ดีถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้มีการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้หรือรับชำระหนี้จากลูกหนี้ต่อไป ขอให้ศึกษารายละเอียดจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2531(ประชุมใหญ่) และ5850/2541 โดยตรงด้วย โดยเฉพาะกรณีลูกหนี้ที่ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยขอให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการไถ่ถอนจำนำ แต่ถ้าหากเป็นลูกหนี้ทั่วไปยังไม่ปรากฏมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งก็น่าจะนำไปเทียบเคียงโดยอนุโลมได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือว่าหลังจากจัดการชำระหนี้ตนเองเสร็จในฐานะเจ้าหนี้หรือใช้สิทธิไถ่ถอนเสร็จในฐานะลูกหนี้แล้ว ผู้จัดการมรดกยังจะต้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกต่อไปหรือไม่ เพราะหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามกฎหมายนั้นมีหน้าที่จัดการมรดกจนแล้วเสร็จคือรวบรวมทรัพย์มรดกชำระหนี้กองมรดกติดตามลูกหนี้กองมรดก และแบ่งปันมรดกแก่ทายาทจนเสร็จ แต่กรณีไม่มีทายาทก็จะต้องดำเนินการโอนหรือมอบทรัพย์สินให้แก่หน่วยงานของรัฐต่อไป จึงมีข้อที่น่าเป็นห่วงว่าผู้จัดการมรดกเหล่านี้จะดำเนินการดังกล่าวนี้หรือไม่ และจะกระทำโดยสุจริตหรือชอบหรือไม่เพียงใดเป็นข้อที่น่าคิด ดังนั้น กรณีตั้งผู้จัดการมรดกลักษณะเช่นนี้ ศาลคงต้องระมัดระวังในการตั้งเป็นพิเศษ และน่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมเช่นให้รายงานศาลเป็นระยะและที่สุดก็จะต้องมีคำสั่งให้ผู้จัดการมรดกดำเนินการประสานงานกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐด้วยเพราะมรดกของผู้ตายนั้นตกเป็นของแผ่นดินแล้วภายใต้เงื่อนไขในมาตรา 1753 เท่านั้นศาลไม่น่าจะมีคำสั่งเหมือนเช่นคดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีทั่วไปที่ถือปฏิบัติกันอยู่

สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาตามหัวข้อหมายเหตุ ดังได้กล่าวมาแต่แรกแล้วว่ากรณีที่กองมรดกมีทายาทอยู่แล้ว มีปัญหาว่าเจ้าหนี้กองมรดกเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกหรือไม่ และศาลฎีกาได้วินิจฉัยยืนยันหลักการเดิมเกี่ยวแก่เจ้าหนี้กองมรดกในเรื่องการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกไว้อย่างไรบ้าง ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าภริยาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เจ้าหนี้ของผู้ตายยื่นคำคัดค้านว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายโดยเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตายซึ่งได้ยื่นฟ้องผู้ร้องในฐานะภริยาผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายไว้แล้ว ขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกและยกคำร้องของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาคำคัดค้านแล้วมีคำสั่งยกคำคัดค้าน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัดค้านฎีกา ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยวางหลักการที่สำคัญไว้ 2 ประการ แม้ว่าจะมีแนวเดิมมาแล้วก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้น่าจะถือว่าเป็นการวางหลักการยืนยันตามหลักการเดิมให้มีน้ำหนักในอันที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป จึงใคร่ขอกล่าวถึงคำวินิจฉัยโดยสรุป ดังนี้

(1) เจ้าหนี้กองมรดกที่จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 นั้น ต้องเป็นกรณีที่กองมรดกไม่มีทายาทและผู้จัดการมรดก เพราะหากไม่มีทายาทหรือผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดเจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้เลย

(2) ถ้ากองมรดกมีทายาทร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแล้วก็จะมีตัวทายาทที่จะต้องรับผิดชำระหนี้จากกองมรดกแก่เจ้าหนี้ได้ โดยดำเนินการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จึงไม่กระทบกระเทือนต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้กองมรดกเจ้าหนี้กองมรดกจึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก

เพื่อความเข้าใจแนวคิดของศาลฎีกาเกี่ยวกับเจ้าหนี้กองมรดกที่มีทายาทและไม่มีทายาท ขอให้ศึกษาและทำความเข้าใจคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1098/2523,267/2524,118/2525,1694/2531 และ 4840/2541 จะทำให้ทราบขอบข่ายของคำว่าผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 กรณีเจ้าหนี้และลูกหนี้ของกองมรดกว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่เพียงใด ซึ่งจะเป็แนวทางปฏิบัติในการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อไป

ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5008/2545 นี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อสรุปที่ดีของคำอธิบายเรื่องเจ้าหนี้กองมรดกว่า จะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย กล่าวคือ เจ้าหนี้กองมรดกจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ต้องเป็นกรณีที่กองมรดกไม่มีทายาทและผู้จัดการมรดก แต่เมื่อเจ้ามรดกมีทายาทร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกย่อมมีตัวทายาทต้องรับผิดชำระหนี้กองมรดกให้แก่เจ้าหนี้ได้ จึงไม่กระทบถึงส่วนได้เสียของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่มีสิทธิคัดค้านการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้อื่นและไม่อาจขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-05-21 21:26:24


ความคิดเห็นที่ 2 (1751366)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5008/2545

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-05-21 21:28:35



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล