ReadyPlanet.com


เป็นชู้ค่ะ


ตอนนี้ดิฉันถูกฟ้องในข้อหาเป็นชู้ค่ะเรื่องมีอยู่ว่า ดิฉนได้เข้ามาทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และได้รู้จักผู้ชายคนหนึ่ง ชื่อนาย ก.แล้วนายก.ก็มาจีบดิฉันมาตามอยู่ประมาณ2 เดือน โดยที่นาย ก. บอกว่าเลิกกับภรรยาแล้ว ดิฉันเลยยอมคบดูใจอยู่ก็เห็นว่าภรรยาเค้าไล่นาย ก. ออกจากบ้านจริง โดยรับรู้จากแม่นาย ก. และน้องสาวของนาย ก. ค่ะ ต่อมานายก. ก็ตกลงกับภรรยาของเค้าว่าจะหย่ากันเดือนมกราคม แต่ว่าภรรยาของเค้าผิดนัดไม่หย่าให้ เดือนมีนาคม แม่ของนายก .ได้ตกลงกับพ่อแม่ของดิฉันเรื่องการสู่ขอแต่งงานให้ถูกต้องตามประเพณี โดยที่เค้ายังไม่ได้หย่า หลังจากแต่งงานกันมาประมาณ 3 เดือนภรรยาของเค้าก็ฟ้องร้องดิฉันเป็นจำนวนเงิน 300000 บาทและเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรจากนาย ก. เดือนละ 15000 บาทพร้อมกับขอโบนัสอีกครึ่งหนึ่งประมาณ 60000 บาท จนกว่าลูกจะเรียนจบปริญญา ในกรณีนี้ ดิฉันที่เป็นภรรยานอกสมรสควรจะทำยังงัยดีค่ะเพราะว่าถูกหลอกเหมือนกันว่าเค้าเลิกกันแล้ว

1.ในกรณีมีใครเคยโดนเหมือนดิฉันบ้างค่ะแล้วศาลตัดสินให้เราต้องจ่ายมากไหมค่ะ

2.เค้ามีลูกด้วยกันหนึ่งคนโดยภรรยาหลวงเค้าได้ใช้ชื่อลูกและตัวเองเป็นคนฟ้องโดยมีลูกฟ้องพ่อเป็นโจทย์ที่ 1

3.เค้าฟ้องเรียกค่าเรียกดูแต่ว่าเค้าไม่ต้องการหย่า กฎหมายใหม่เค้าทำได้แล้วเหรอค่ะ

4.ภรรยาของเค้าไม่ได้ทำมาหากินอะไรเลยค่ะทั้งที่จบปริญญาตรีมา

5.เค้าอ้างว่านาย ก. ไม่ได้ส่งเสียค่าเลี้ยงดูบุตรและภรรยา แต่ว่าส่งบ้านที่ภรรยาหลวงอยู่เดือนละ 12000 บาทยังนี้ถือเป็นค่าเลี้ยงดูหรือเปล่าค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้ :: วันที่ลงประกาศ 2008-05-21 13:10:26


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1751340)

ตอบข้อ 1. ต้องจ่ายมากไหม?

ดูตัวอย่างนี้

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพลตรีทงพานธ์ ..... จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับพลตรีทงพานธ์ สามีโจทก์ ในทำนองชู้สาวโดยเข้าไปพักอาศัยอยู่กินอย่างสามีภริยาและเปิดเผยในบ้านหลังเดียวกันกับสามีโจทก์ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อน ขอให้จำเลยชำระค่าทดแทนจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวและไม่เคยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาว จำเลยไม่เคยพักอาศัยในบ้านเดียวกันกับสามีโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์เพียงเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ของจำเลยให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ข้อ 2. ใช้ชื่อลูกและตัวเองเป็นคนฟ้อง

สำหรับบุตรไม่สามารถทำได้ครับ แต่มารดาฟ้องเรียกแทนบุตรได้ ส่วนมารดาเรียกให้ตัวเองได้

มาตรา 1565 การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงบุตรหรือขอให้บุตรได้รับ การอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่า กล่าวตาม มาตรา 1562 แล้ว บิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

กฎหมายอนุญาตให้มารดาฟ้องเพื่อจ่ายให้ลูกได้ครับแต่ลูกเป็นโจทก์ฟ้องไม่ได้เป็นคดีอุทลุมตาม

มาตรา 1562 ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

ข้อ 3 เรียกค่าเลี้ยงดูแต่ไม่ต้องการหย่า

บุตรเรียกบิดาให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูได้โดยไม่ต้องให้บิดามารดาหย่ากันก็สามารถทำได้

มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควร แก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะ ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

เมื่อบิดามีหน้าที่และไม่ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดเขา(บุตร)ก็อาศัยอำนาจศาลบังคับได้ครับ

ส่วนมารดาก็สามารถเรียกได้แต่ศาลจะสั่งให้มากน้อยคงต้องอาศัยองค์ประกอบหลายด้าน โดยอาศัยอำนาจกฎหมายตาม

มาตรา 1461 สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและ ฐานะของตน

ข้อ 4. ภรรยาไม่ได้ทำมาหากิน

ถ้าภรรยามีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรก็อาจไม่ได้ทำงานก็ได้ แต่จะอาศัยแต่เงินได้ของสามีอย่างเดียวคงไม่พอใช้จ่าย

ข้อ 5 ส่งบ้านเดือนละ 12.000 บาท

ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าอุปการะเลี้ยงดูด้วยครับ

การที่ศาลจะสั่งให้ตามฟ้องเท่าใดนั้นต้องผู้ให้ด้วยครับว่าเขามีรายรับอย่างไร

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-05-21 20:43:29


ความคิดเห็นที่ 2 (1751987)

ขอบคุณมากค่ะคุณทนายลีนนท์

ดิฉันรู้สึกสบายใจขึ้นมามากเลยค่ะตอนแรกกังวลเพราะว่าเค้าเรียกเงินเยอะมากทั้งจากสามีและดิฉันเอง เพราะว่าเรามีค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนเยอะมากเลยค่ะ ก็กลัวว่าเราจะต้องเสียเงินมากพยายามหาดูกรณีตัวอย่างว่ามีใครเคยโดนบ้างและเค้าต้องจ่ายเยอะไหม

แล้วคุณทนายมีกรณีที่เค้ามาอยู่กินด้วยกันจริงๆเลยบ้างหรือเปล่าค่ะ

แล้วดิฉันมีวิธีไหนบ้างหรือเปล่าที่จะพูดให้ศาลตัดสินให้หย่าในครั้งเดียวกันเลย เพราะยังงัยเค้าก็กลับไปอยู่ด้วยกันไม่ได้อยู่แล้ว เค้าเคยทะเลาะกันถึงขั้นลงมืออยู่ครั้งหนึ่งค่ะ คือเรื่องว่าลูกมาเที่ยวกับพ่อแล้วพอกลับบ้านก็ไม่ยอมกลับแม่เค้าโมโหมากก็เลยกระฉากลูกไปแล้วก็เขย่าแรงๆ ผู้ชายโมโหก็เลยเข้าไปกระฉากแม่และเค้าก็ไปแจ้งความจับสามีเค้าว่าทำร้ายร่างกายเสียค่าปรับไป 500 ค่ะ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้ วันที่ตอบ 2008-05-22 12:59:45


ความคิดเห็นที่ 3 (1752633)

กรณีที่เขามาอยู่กินด้วยกันจริงๆ...

โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คุณเป็นบุคคลภายนอกไม่สามารถที่จะฟ้องหรือฟ้องแย้งให้ศาลพิพากษาให้สามีภริยาเขาหย่ากันได้(กรณีคุณถูกฟ้อง) ส่วนสามีเขาจะฟ้องขอหย่าได้ ถ้ามีเหตุหย่าตามที่กฎหมายกำหนดคือ

มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความ ผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่าย ที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ

อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่น ประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่ง นั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุก เกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามี ภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของ ศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตาม สมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอา สภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความ ประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่าย หนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วม ประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

ส่วนข้อเท็จจริงศาลพิจารณาแล้วจะเข้าเหตุหรือไม่เป็นเรื่องในรายละเอียดของคดีครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-05-23 04:55:02



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล