ReadyPlanet.com


การกระทำโดยสำคัญผิดในตัวบุคคล กับ การกระทำโดยพลาด ต่างกันอย่างไร


การกระทำโดยสำคัญผิดในตัวบุคคล  กับ การกระทำโดยพลาด มีความแตกต่างกันอย่างไร


ผู้ตั้งกระทู้ นักศึกษา :: วันที่ลงประกาศ 2008-06-04 09:35:40


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1763955)

มาตรา 61 ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัว ว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

 

ความสำคัญผิดตามมาตรา 61 เป็นเรื่องสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งแม้จะกระทำต่อบุคคลใดก็เป็นผิดทั้งนั้น

ตัวอย่าง

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ใช้มีดอีโต้เป็นอาวุธฟันศีรษะผู้เสียหาย1 ครั้งอย่างแรง โดยจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย โดยไตร่ตรองไว้ก่อนจำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายหลบได้ทันและใช้มือปัดป้องไว้ จำเลยจึงฟันถูกระหว่างง่ามนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ของผู้เสียหายจนเกือบขาดผู้เสียหายได้รับการรักษาจากแพทย์ทันท่วงทีจึงไม่ถึงแก่ความตายดังเจตนาของจำเลยเพียงได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288, 289

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8) วางโทษจำคุก 4 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาประกอบกับจำเลยได้ใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายบางส่วนอันเป็นการบรรเทาผลร้าย และจำเลยได้มอบตัวต่อเจ้าพนักงาน มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา 80, 52(1) ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาประกอบกับจำเลยได้ใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายบางส่วนเป็นการบรรเทาผลร้ายและจำเลยได้มอบตัวต่อเจ้าพนักงานมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78เมื่อเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปีตามมาตรา 53คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 25 ปี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ปัญหานี้จำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงโดยรับว่าจำเลยใช้มีดอีโต้เป็นอาวุธฟันผู้เสียหายหนึ่งครั้งเพียงแต่เท้าความว่า จำเลยเคยให้การในชั้นสอบสวนว่า ตั้งใจจะทำร้ายนายเครือ อ่อนจิ๋ว ซึ่งมีสาเหตุกันมาก่อนจึงพอจะอนุมานได้ว่า เหตุที่จำเลยฟันผู้เสียหายเป็นการทำร้ายโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นนายเครือ อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันต้องรับฟังเป็นยุติว่า มีดอีโต้ที่จำเลยใช้เป็นอาวุธฟันผู้เสียหายมีขนาดตามคำฟ้องกล่าวคือใบมีดกว้าง 2.5 นิ้ว ยาวตลอดด้าม 18 นิ้ว ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่โคนนิ้วหัวแม่มือซ้ายเกือบขาดเหลือหนังติดประมาณ 3 เซนติเมตรกระดูกโคนนิ้วหัวแม่มือซ้ายหัก ผู้เสียหายถูกทำร้ายขณะที่ลงจากบันไดเรือนของนายทวน อ่อนจิ๋ว ถึงพื้นดินแล้ว พร้อมกับนายเครือโดยจำเลยกรากเข้ามาฟันตรงบริเวณศีรษะของผู้เสียหายในขณะนั้นแต่ผู้เสียหายยกมือซ้ายขึ้นรับจนได้รับบาดเจ็บดังกล่าว ส่วนเหตุการณ์ก่อนที่มีการทำร้ายเกิดขึ้น ได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายและจำเลยร่วมวงดื่มสุรากับนายทวน นายเครือและนายบำเพ็ญในระหว่างนั้นมีเหตุวิวาทชกต่อยกันระหว่างนายเครือกับจำเลยทำให้จำเลยถูกนายเครือขึ้นเข่าจนทรุดลงกับพื้นข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ผู้เสียหายไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย เหตุที่จำเลยฟันทำร้ายผู้เสียหายเชื่อว่าเนื่องจากเป็นการเข้าใจผิดของจำเลยว่าผู้เสียหายเป็นนายเครือ ซึ่งมีเหตุวิวาทกันในระหว่างร่วมวงดื่มสุราก่อนนั้น แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยจะยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ต้องถือว่าจำเลยมีเจตนาที่จะกระทำต่อนายเครือเช่นใด ก็ต้องรับผิดในผลของการกระทำที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายเช่นนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 61 ส่วนการกระทำของจำเลยนั้นพิจารณาแล้ว มีเหตุผลให้เชื่อว่า หลังจากวิวาทชกต่อยกับนายเครือ จำเลยย่อมจะคุมแค้นนายเครือผู้เป็นต้นเหตุทำร้ายขึ้นเข่าถูกบริเวณข้างลำตัวของจำเลยจนทรุดลงกับพื้น นอกจากนี้ในระหว่างร่วมวงสุรากันนายเครือยังกีดกันมิให้จำเลยดื่มสุราและสูบบุหรี่อีกด้วย การกระทำของนายเครือคงจะสร้างความไม่พอใจให้แก่จำเลยมาก ดังจะเห็นได้จากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยว่าขณะนั้นจำเลยมึนเมาสุราและโมโหนายเครือจึงคิดจะดักทำร้ายนายเครือ ได้หาไม้เพื่อตีทำร้ายแต่ไปพบมีดอีโต้ที่หลังบ้านเสียก่อน ดังนี้ จะเห็นว่าอาวุธที่จำเลยใช้ทำร้ายก็เป็นการหยิบฉวยเอาตามอารมณ์โกรธของจำเลยในขณะนั้น และเป็นมีดที่อยู่ในบ้านเรือนของนายทวน หาใช่อาวุธที่ตระเตรียมการมาล่วงหน้าไม่ การดักทำร้ายก็ตรงเข้าไปฟันผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าเป็นนายเครือในขณะที่ผู้เสียหายและนายเครือลงมาจากเรือนพร้อมกัน การเงื้อมีดขึ้นฟันผู้เสียหายมีลักษณะฟันลงไปตรง ๆ ที่ตัวผู้เสียหาย มิได้เลือกตำแหน่งร่างกายที่เจตนาเจาะจงทำร้ายว่าเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายโดยเฉพาะ ทั้งการฟันทำร้ายก็ฟันเพียงครั้งเดียวไม่ได้ซ้ำเติมอีก พฤติการณ์เหล่านี้เชื่อว่า จำเลยมีเจตนาเพียงที่จะทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น ที่ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บง่ามมือซ้ายฉีกเกือบขาด อาจเป็นเพราะร่างกายในส่วนนั้นไม่มีส่วนแข็งหรือกระดูกที่ป้องกันคมมีดได้ดี เมื่อคำนึงว่าสาเหตุที่เป็นมูลจูงใจให้จำเลยทำร้ายผู้เสียหายซึ่งจำเลยเข้าใจว่าเป็นนายเครือ เป็นสาเหตุเล็กน้อยที่ปกติเกิดขึ้นเสมอในวงสุรา จึงเห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยต้องรับผิดเพียงข้อหาทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสดังที่ศาลชั้นต้นปรับบทและลงโทษมาเท่านั้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

( สุชาติ สุขสุมิตร - นำชัย สุนทรพินิจกิจ - เธียรไท สุนทรนันท )

 

มาตรา 60 ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการ กระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดย เจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น...

 

ต้องการทำร้ายคนหนึ่ง แต่ผลที่ตนกระทำนั้นพลาดไปโดนอีกคนหนึ่งที่ตนไม่ได้ตั้งใจและผู้ที่ได้รับผลไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ

ตัวอย่าง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาซึ่งโจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้เถียงเป็นอย่างอื่นฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยมีและพาอาวุธปืนลูกซองสั้นของกลางซึ่งเป็นอาวุธปืนไม่มีทะเบียนติดตัวไปที่วิทยาลัยเทคนิคตรังที่เกิดเหตุ และจำเลยใช้อาวุธปืนกระบอกดังกล่าวยิง 1 นัด กระสุนปืนที่จำเลยลั่นไกยิงดังกล่าวถูกนางสุรีย์ พุทธาพิพัฒน์ นางสาวสุภาพร สีรักษ์ นางสาวศิริวรรณ คะเณ นางสาวนุชนภา สมาธิ นางสาววีรนุช เหมือนทอง นางสาวอลิสา คงจันทร์ และนางสาวอุจฉราวดี เต็มสังข์ ได้รับอันตรายแก่กาย คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยามฆ่าตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายสิริ ด้วงผุด พยานโจทก์ซึ่งเป็นคู่วิวาทกับจำเลยเบิกความว่าก่อนเกิดเหตุพยานทราบจากเพื่อนชื่อนายสินชัย แก้วกำเนิด ว่ามีเรื่องชกต่อยกับจำเลยเรื่องแย่งจีบผู้หญิงกัน และจำเลยพูดว่าพบเด็กช่างเชื่อมที่ไหนจะชกต่อย วันเกิดเหตุพยานกับเพื่อนประมาณ 10 คน ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนช่างเชื่อมนั่งอยู่ที่โรงอาหารของวิทยาลัยเทคนิคตรัง เห็นจำเลยกับเพื่อนเดินผ่านมา พยานจึงเดินเข้าไปถามเพื่อนของจำเลยว่าใครเป็นคนพูดว่า พบเด็กช่างเชื่อมแล้วจะชกพยานถามย้ำอยู่ 2 ครั้ง เพื่อนของจำเลยไม่ตอบ แต่จำเลยซึ่งยืนอยู่ข้างๆ ร้องตอบว่า “กูพูดเอง” พยานจึงชกปากจำเลย 1 ครั้ง จำเลยใช้กระเป๋าเอกสารลักษณะเป็นกระเป๋าเจมส์บอนด์ที่ถืออยู่ในมือฟาดมาที่ศีรษะพยาน 1 ครั้ง พยานถูกฟาดเซถอยหลังมาเพื่อนของพยานที่นั่งอยู่ก็กรูกันเข้าไปจะทำร้ายจำเลย จำเลยวิ่งหนีไประหว่างอาคาร 2 กับห้องสมุด พวกของพยานวิ่งตามไป ส่วนพยานยังยืนอยู่ที่เดิมเนื่องจากมีเลือดไหลที่หู ระหว่างนั้นพยานได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัดจากทางที่จำเลยวิ่งหนีไป กับโจทก์มีนายคลี่ ขวดทอง เพื่อนนักศึกษาแผนกเดียวกับจำเลยพยานอีกปากหนึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความสนับสนุนว่า ก่อนเกิดเหตุพยานเดินออกจากห้องเรียนพร้อมจำเลยกับเพื่อนอีก 3 ถึง 4 คน เพื่อเปลี่ยนห้องเรียน เมื่อเดินมาถึงที่เกิดเหตุพบนายสิริกับพวกประมาณ 30 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาแผนกช่างเชื่อม นายสิริเดินมาดึงข้อมือจำเลยพาไปที่ข้างแท็งก์น้ำหลังอาคารเรียน 2 พยานกับพวกจึงพากันเดินตามไปถึงบริเวณหลังแท็งก์น้ำ นายสิริชกต่อยจำเลยและมีเพื่อนของนายสิริประมาณ 20 คน ถือมีด เหล็กแป๊บ และไม้บรรทัดเหล็ก กรูเข้ามาเพื่อจะทำร้ายจำเลย จำเลยวิ่งหนีไปทางหน้าวิทยาลัยซึ่งเป็นสนามบาสเกตบอล เมื่อวิ่งไปประมาณ 100 เมตร พยานเห็นจำเลยชักอาวุธปืนลูกซองสั้นออกมายิงสวนมาทางนายสิริกับพวกจำนวน 1 นัด กระสุนปืนถูกนักศึกษาหญิงที่นั่งอยู่ในโรงอาหารดังนี้ เห็นว่า แม้ตามคำเบิกความของนายสิริซึ่งเป็นคู่วิวาทกับจำเลยโดยตรงจะยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่าจำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองพกสั้นของกลางยิงในลักษณะอย่างไร เพราะพยานบ่ายเบี่ยงเลี่ยงละความจริงอ้างว่ามิได้วิ่งไล่ตามไปทำร้ายจำเลยด้วยก็ตาม แต่ตามคำเบิกความของนายคลี่ ประจักษ์พยานโจทก์อีกปากหนึ่งได้เบิกความถึงลักษณะการใช้อาวุธปืนยิงของจำเลยไว้ชัดเจนว่า พยานเห็นจำเลยชักอาวุธปืนลูกซองพกสั้นของกลางออกมายิงสวนไปทางนายสิริกับพวกที่วิ่งไล่ตามทำร้ายจำเลยจำนวน 1 นัด คำเบิกความของนายคลี่จึงชอบด้วยเหตุผลมีน้ำหนักเชื่อถือได้อย่างสนิทใจเพราะนอกจากจะมีรายละเอียดของลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสมเหตุผลแล้ว ลักษณะการยิงตามคำเบิกความของพยานที่ระบุว่า จำเลยใช้ปืนยิงสวนมาทางนายสิริกับพวกที่วิ่งไล่ตามทำร้ายจำเลยก็สอดคล้องกับวิถีกระสุนปืนที่เมื่อพลาดไม่ถูกนายสิริกับพวก ย่อมมีโอกาสที่ลูกปรายของกระสุนปืนลูกซองจะกระจายออกไปถูกนักศึกษาหญิงหลายคนที่ยืนหรือนั่งอยู่ในบริเวณนั้นได้ ซึ่งนับว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักเชื่อถือได้มากกว่าข้อนำสืบแก้ตัวของจำเลยที่อ้างว่ายิงขึ้นฟ้าเป็นการขู่ ทั้งนี้เพราะหากข้อที่จำเลยนำสืบรับข้อเท็จจริงว่าได้ใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นของกลางยิง 1 นัดจริง แต่เป็นการยิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่พวกของนายสิริลูกปรายกระสุนที่จำเลยยิงก็ต้องกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า ไม่มีโอกาสที่จะกระจายพลาดไปถูกนักศึกษาหญิงหลายคนซึ่งขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งที่เป็นระนาบเดียวกับจำเลยได้เลย ข้อนำสืบของจำเลยที่ขัดแย้งต่อวิถีกระสุนอันควรจะเป็นจึงขัดต่อเหตุผล ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงเชื่อตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นของกลางยิงสวนมาทางนายสิริกับพวก แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกนักศึกษาหญิงหลายคนตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยเพียงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 60 อันเป็นการปรับบทลงโทษจำเลยเฉพาะต่อผลของการกระทำโดยพลาดที่เกิดแก่นักศึกษาหญิงผู้เสียหายทุกคนเท่านั้น โดยหาได้ปรับบทลงโทษจำเลยในการกระทำที่จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงสวนมาทางนายสิริกับพวกซึ่งเป็นความผิดฐานพยายามฆ่านายสิริกับพวกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ด้วยนั้น ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อมาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาว่า เมื่อนายสิริถามในเชิงบังคับขู่เข็ญให้ตอบว่าใครเป็นคนพูดว่าพบเด็กช่างเชื่อมแล้วจะชกจำเลยจึงตอบในเชิงตัดรำคาญว่า “กูเอง” โดยจำเลยมิได้มีเจตนาสมัครใจวิวาทกับนายสิรินั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยพาอาวุธปืนลูกซองสั้นติดตัวมาด้วยในขณะเกิดเหตุ ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้แสดงให้เห็นเจตนาในเบื้องต้นแล้วว่า จำเลยเตรียมพร้อมที่จะสมัครใจวิวาท การที่นายสิริกับพวกเข้ามาถามกลุ่มพวกของจำเลยด้วยกิริยาอาการดังที่จำเลยกล่าวอ้าง บ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นการท้าทายกลุ่มพวกของพวกจำเลยอยู่ในที และเมื่อจำเลยตอบรับว่า “กูเอง” ซึ่งเสมือนเป็นการรับคำท้าทายของนายสิริโดยปริยาย เช่นนี้ พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าจำเลยกับนายสิริสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้กัน จำเลยจึงไม่อาจอ้างการกระทำโดยป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ขึ้นเป็นข้อแก้ตัว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

สำหรับปัญหาตามฎีกาในประการสุดท้ายที่จำเลยฎีกาขอให้ปรานีลงโทษในสถานเบา ลดโทษ และรอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยพกพาอาวุธปืนลูกซองสั้นเข้ามาในสถานศึกษาโดยไม่สมควร และยังสมัครใจวิวาทต่อสู้กันสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายในสถานศึกษา อีกทั้งยังใช้อาวุธปืนของกลางที่พกพามาซึ่งเป็นอาวุธปืนลูกซองสั้นยิงโดยไม่สนใจไยดีว่ากระสุนลูกปรายจะกระจายออกไปถูกนักศึกษาคนอื่นได้รับอันตราย และปรากฏว่ากระสุนปืนที่จำเลยยิงก็กระจายพลาดไปถูกนักศึกษาหญิงผู้เสียหายหลายคนได้รับอันตรายแก่กายด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดร้ายแรงที่ศาลสมควรลงโทษจำเลยอย่างเด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้วัยรุ่นหรือนักศึกษาคนอื่นๆ ประพฤติเยี่ยงจำเลยอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษและลดโทษแก่จำเลยแล้ว คงจำคุก 8 ปี โดยไม่พิจารณารอการลงโทษให้แก่จำเลยมานั้น นับว่าเหมาะสมเป็นคุณแก่จำเลยมากอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เบาลงอีก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้นจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 60 อีกบทหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษจำเลยแต่เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

( ธานิศ เกศวพิทักษ์ - วิชัย วิวิตเสวี - พิทักษ์ คงจันทร์ )

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-06-04 10:00:35


ความคิดเห็นที่ 2 (1763966)

กรณีที่น่าศึกษามากคือ 1. กระทำโดยพลาดหรือไม่ 2. อ้างเหตุป้องกันตัวได้หรือไม่ 3. มีเจตนาฆ่าหรือไม่

 

ตัวอย่าง

 

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะที่นายถาวรอินทร์นัตย์ แวะเข้ามาทักทายจำเลย นางอุทุมพร ภู่เงิน ภริยาจำเลยและนายทินกรจันทร์ช่วง น้องภริยาจำเลย ในร้านขายของชำของจำเลย ได้มีนางจินตนา ศรีเล็กภริยานายถาวร พาชายสองคนมาพบนายถาวร โดยชายสองคนดังกล่าวได้พูดขอเงินค่ารถกลับบ้านที่จังหวัดลำปาง แต่นายถาวรปฏิเสธ จึงถูกชายคนหนึ่งใช้ขวดสุราตีศีรษะและพวกวัยรุ่นที่รออยู่หน้าร้านอีก 2 ถึง 3 คน ได้เข้ารุมทำร้ายนายถาวร นายถาวรร้องเรียกให้จำเลยช่วย จำเลยจึงหยิบอาวุธปืนของจำเลย ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในครอบครองจากลิ้นชักโต๊ะเก็บเงิน แล้ววิ่งออกไปที่หน้าร้านพร้อมร้องตะโกนให้หยุด และยิงอาวุธปืนขึ้นฟ้า 3 นัด กลุ่มวัยรุ่นพากันวิ่งหนีไป ขณะนั้นมีเสียงดังจากอาวุธปืนของจำเลยอีก 1 นัด กระสุนปืนถูกนายก้อง เย็นสบาย ผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์รับจ้างได้รับอันตรายแก่กาย และถูกพลตำรวจสำรองพิเศษอนันต์ทองซิว ผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวถึงแก่ความตาย

พิเคราะห์แล้ว สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปโดยผิดกฎหมายเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วโดยโจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาในความผิดนี้ คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยมิได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มวัยรุ่น แล้วพลาดไปถูกนายก้องผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย และถูกพลตำรวจสำรองพิเศษอนันต์ผู้ตายถึงแก่ความตายตามฟ้องโจทก์ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากจำเลยยิงปืนขึ้นฟ้า 3 นัด แล้วกลุ่มวัยรุ่นได้เข้ามาทำร้ายจำเลย จำเลยถลาล้มลงทำให้อาวุธปืนลั่นอีก 1 นัด จึงถูกนายก้องผู้เสียหายและพลตำรวจสำรองพิเศษอนันต์ผู้ตาย ซึ่งมิได้อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวได้รับอันตรายแก่กายและถึงแก่ความตายดังกล่าว เห็นว่า แม้นาวาอากาศโทชัยยุทธ ต่างใจและพันตำรวจเอกนายแพทย์วิชิต สมาธิวัฒน์ แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลของผู้เสียหายและผู้ตายได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า วิถีกระสุนจากอาวุธปืนของจำเลยอยู่ในระดับที่ยิงลงต่ำโดยปลายกระบอกปืนน่าจะเฉียงลงล่างก็ตาม ก็ยังมิใช่ข้อเท็จจริงที่สรุปได้แน่นอนว่าจำเลยเจตนายิงใส่กลุ่มวัยรุ่น และกระสุนปืนพลาดถูกผู้เสียหายและผู้ตาย เพราะหากเป็นดังที่จำเลยโต้แย้งว่า กระสุนปืนลั่น ในขณะที่จำเลยถูกกลุ่มวัยรุ่นทำร้าย วิถีกระสุนก็อาจเฉียงต่ำลงดังที่ปรากฏจากบาดแผลของผู้เสียหายและผู้ตายก็เป็นได้ซึ่งข้อนี้ไม่มีพยานโจทก์ปากใดที่เบิกความว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มวัยรุ่น คงมีเพียงนางจินตนา ศรีเล็ก พยานโจทก์ที่เบิกความว่า เมื่อนายถาวรสามีพยานถูกตีด้วยขวดสุราที่ศีรษะและถูกรุมทำร้ายแล้ว ได้ร้องขอให้จำเลยช่วย จำเลยจึงเปิดลิ้นชักหยิบอาวุธปืนและวิ่งออกไปยืนที่หน้าร้าน พร้อมทั้งร้องให้หยุด กลุ่มวัยรุ่นคนหนึ่งซึ่งอยู่ภายในร้านร้องขึ้นว่า "มันมีปืน" พยานเห็นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า แล้วกลุ่มวัยรุ่นได้วิ่งหนีออกจากกันไป หลังจากนั้นจึงได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีก 1 นัด พยานและนายถาวรเดินออกไปหาจำเลยที่หน้าร้าน และดูว่ากลุ่มวัยรุ่นวิ่งไปทางใด ขณะนั้นจำเลยลุกขึ้นยืนพร้อมทั้งบอกว่าให้รอก่อน เนื่องจากจะพานายถาวรไปส่งโรงพยาบาล ส่วนนายถาวรพยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความว่า พยานถูกชายคนหนึ่งในสองคนที่นางจินตนาพามาพบ ใช้ขวดสุราตีศีรษะพยาน แล้วชายอีก 2 ถึง 3 คน กรูกันเข้ามาทำร้ายพยานพยานจึงร้องเรียกให้จำเลยช่วย พยานได้ยินเสียงปืนดังขึ้นที่บริเวณหน้าบ้าน และทราบภายหลังว่าจำเลยเป็นผู้ใช้อาวุธปืน เป็นเหตุให้มีผู้ตายและบาดเจ็บอย่างไรก็ตาม พยานได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ภายหลังเกิดเหตุพยานวิ่งตามกลุ่มวัยรุ่นออกไปที่หน้าร้าน พยานเห็นจำเลยกำลังลุกขึ้นจากพื้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำพยานโจทก์ทั้งสองจึงฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่มิให้กลุ่มวัยรุ่นกลุ้มรุมทำร้ายนายถาวร และหลังจากนั้นได้มีเสียงปืนนัดสุดท้ายดังขึ้นที่หน้าร้านขณะที่พยานทั้งสองได้ออกไปหาจำเลยที่หน้าร้าน ก็เห็นจำเลยลุกขึ้นยืน คำพยานโจทก์ดังกล่าวจึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ว่า เมื่อจำเลยยิงปืนขึ้นฟ้านัดที่ 3 แล้วได้มีกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลังของจำเลย จนเป็นเหตุให้จำเลยล้มลงขณะนั้นเองอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น 1 นัด วิถีกระสุนย่อมเฉียงต่ำลงเป็นเหตุให้ถูกผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวผ่านมาได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวถึงแก่ความตาย หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยยืนถืออาวุธปืนและยิงกลุ่มวัยรุ่นแต่พลาดไปถูกผู้เสียหายกับผู้ตายดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ พฤติการณ์ของจำเลยที่พยายามช่วยเหลือนายถาวรเพื่อนบ้านที่รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกัน ซึ่งถูกกลุ่มวัยรุ่นตีศีรษะด้วยขวดสุราและรุมทำร้ายในบ้านของจำเลย โดยจำเลยใช้อาวุธปืนยิงขู่ขึ้นฟ้า 3 นัด และข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าขณะนั้นจำเลยถืออาวุธปืนขู่พร้อมที่จะยิงขึ้นฟ้าอีกเพื่อระงับเหตุมิให้กลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายนายถาวร แต่จำเลยถูกกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลัง จนเป็นเหตุให้ล้มลง และกระสุนจากอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น1 นัด ถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย และถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จึงย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตน และของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงทั้งเป็นกรณีที่จำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุแม้การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้เสียหายและผู้ตายโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 จำเลยก็ไม่มีความผิดเพราะการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น และเมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีความผิด อาวุธปืนของกลางจึงมิใช่เป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ศาลจึงไม่อาจริบได้"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288, 80, 60 ประกอบด้วยมาตรา 69 เสียด้วย อาวุธปืนของกลางให้คืนเจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( วิชา มหาคุณ - พูนศักดิ์ จงกลนี - ปัญญา สุทธิบดี )

หมายเหตุ

การกระทำโดยป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ผู้กระทำจะต้องมีมูลเหตุจูงใจหรือเจตนาพิเศษ "เพื่อป้องกันสิทธิ" ผู้กระทำจึงต้องมีเจตนาธรรมดากล่าวคือประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลเสียก่อน หากนายแดงก่อเหตุขึ้นก่อนด้วยการใช้ปืนจะยิงนายดำ นายดำกลัวตายจึงใช้ปืนของตนยิงนายแดงตาย นายดำมีเจตนาฆ่านายแดงเป็นเจตนาฆ่าประเภทประสงค์ต่อผล แต่นายดำไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เพราะกระทำไป "เพื่อป้องกันสิทธิ" ในชีวิตของนายดำ หากนายแดงหลบทันกระสุนจึงไปถูกนายเหลืองตาย นายดำอ้างป้องกันยกเว้นความผิดที่กระทำโดยเจตนาต่อนายแดงในความผิดฐานพยายามฆ่านายแดงได้ และเมื่ออ้างป้องกันต่อนายแดงได้ แม้กระสุนไปถูกนายเหลืองจะเป็นเจตนาฆ่านายเหลืองโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,60 ก็สามารถอ้างป้องกันต่อนายเหลืองได้เช่นกัน จึงไม่มีความผิดต่อนายเหลืองในฐานฆ่านายเหลืองตายโดยพลาด หลักเรื่องป้องกันแล้วพลาดนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานในคำพิพากษาฎีกาหลายเรื่อง เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 205/2516 เป็นต้น

ตามตัวอย่างข้างต้น นายดำจะอ้างป้องกันในการกระทำต่อนายแดงและนายเหลืองได้ นายดำจะต้องกระทำโดย "เจตนา" ต่อนายแดงและนายเหลืองเสียก่อนซึ่งตามตัวอย่าง นายดำมีเจตนาฆ่าประเภทประสงค์ต่อผลต่อนายแดง และมีเจตนาฆ่าโดยพลาด (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,60) ต่อนายเหลือง จากนั้นจึงอ้าง "ป้องกัน" ตามมาตรา 68 ในการกระทำต่อนายแดงและนายเหลือง เพื่อยกเว้นความผิด

ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8534/2544 นี้ ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขู่ขึ้นฟ้า 3 นัด และถืออาวุธปืนขู่พร้อมที่จะยิงขึ้นฟ้าอีก แต่ถูกกลุ่มวัยรุ่นมาทุบที่ด้านหลัง เป็นเหตุให้ล้มลงและกระสุนจากอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น 1 นัด ถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย

เมื่อศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเช่นนี้ ก็ต้องถือว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่ากลุ่มวัยรุ่นไม่ว่าจะเป็นเจตนาฆ่าประเภทประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลก็ตาม ดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961/2528 ว่า ถ้าจำเลยมีเจตนาฆ่าบุคคลใดจำเลยก็คงจะใช้อาวุธปืนจ้องยิงไปยังบุคคลนั้นแทนที่จะถือปืนชูขึ้นฟ้า การที่จำเลยถือปืนชูขึ้นฟ้าย่อมแสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้ใด

เมื่อข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8534/2544 นี้เป็นเรื่องจำเลยไม่มีเจตนาฆ่ากลุ่มวัยรุ่น การที่กระสุนไปถูกผู้เสียหายบาดเจ็บและผู้ตายถึงแก่ความตายก็ไม่ใช่การกระทำโดยพลาด เพราะการกระทำโดยพลาด เป็นเรื่องของ"เจตนาโอน" ซึ่งหมายความว่าจำเลยจะต้องมีเจตนากระทำต่อกลุ่มวัยรุ่นเสียก่อนการที่กระสุนไปถูกผู้เสียหายและผู้ตายจึงจะเป็นการกระทำโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 ซึ่งหากจำเลยมีเจตนา "ฆ่า" กลุ่มวัยรุ่น เจตนาฆ่าดังกล่าวก็ "โอน" ไปยังผู้เสียหายและผู้ตายด้วย จำเลยจึงมีความผิดต่อผู้เสียหายตามมาตรา 288,60,80 และมีความผิดต่อผู้ตายตามมาตรา 288,60,68 ซึ่งหากจำเลยอ้างป้องกันตามมาตรา 68 ต่อกลุ่มวัยรุ่นได้ ก็ย่อมอ้างป้องกันตามมาตรา 68 ต่อผู้เสียหายและผู้ตายได้เช่นกัน

เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาฆ่ากลุ่มวัยรุ่น และไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายและผู้ตาย"โดยพลาด" ประเด็นเรื่อง "เจตนาฆ่า" ก็หมดไป ความรับผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาก็ไม่มี จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องอ้างว่าเป็นการกระทำโดย "ป้องกัน"เพื่อยกเว้นความผิด เพราะเมื่อไม่มีเจตนาฆ่าเสียแล้ว จะไปอ้างเรื่อง "ป้องกัน" มายกเว้นความผิดที่กระทำโดยเจตนาในฐานใด

ประเด็นจึงน่าจะอยู่ที่ว่า จำเลยกระทำโดยประมาทและต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 และมาตรา 291 หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่นั้น จะประมาทหรือไม่ต้องพิจารณาจาก "ภาวะ วิสัย และพฤติการณ์" คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961/2528 วางหลักไว้ว่า บุคคลที่ตกอยู่ในภาวะวิสัยและพฤติการณ์ที่กำลังหนีภัยจากการถูกรุมทำร้ายในขณะนั้น ย่อมจะเกณฑ์ให้มีความระมัดระวังเหมือนอย่างบุคคลธรรมดาย่อมไม่ได้

น่าจะต้องถือว่า จำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8534/2544 นี้มิได้ประมาทเพราะ "พฤติการณ์" ขณะนั้นคือการช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ถูกรุมทำร้ายเป็นเหตุการณ์ฉุกละหุกจะให้ใช้ความระมัดระวังเหมือนอย่างอยู่ในเหตุการณ์ปกติธรรมดาคงไม่ได้ การที่ปืนลั่นออกมาถูกผู้เสียหายบาดเจ็บและถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 300 และมาตรา 291

ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกานี้ จึงน่าจะเป็นเรื่องไม่มีความผิดเพราะ"ไม่ประมาท" ไม่น่าจะเป็นเรื่อง "ป้องกันแล้วพลาด" แต่อย่างใด

เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-06-04 10:16:52



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล