ReadyPlanet.com


อยากให้ลูกสาว อายุ 16 ปี หมั้นไว้ก่อน ได้หรือไม่


ตอนนี้ลูกสาวอายุ 16 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยม แต่อยากให้ทำเรื่องหมั้นกับฝ่ายชายไว้ก่อนแต่ง มีข้อห้ามอย่างไรหรือไม่


ผู้ตั้งกระทู้ ประสาน :: วันที่ลงประกาศ 2008-07-01 09:46:17


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1790284)

มาตรา 1435 การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปี บริบูรณ์แล้ว

การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ

ชายหญิงจะทำการหมั้นได้ต้องมีอายุ 17 ปี บริบูรณ์ครับ มิฉะนั้นเป็นโมฆะครับ

การที่ชายจะทำการหมั้นหญิงนั้น มาตรา 1435 กำหนดอายุของคู่หมั้นไว้ว่าชายและหญิงต้องมีอายุอย่างต่ำ 17 ปี บริบูรณ์ อายุของคู่หมั้นที่กฎหมายกำหนดนี้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ การหมั้นที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขนี้ถือว่าเป็นโมฆะ การหมั้นที่ชายหญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปี บริบูรณ์อันเป็นโมฆะตาม มาตรา 1435 วรรคสอง นี้ แม้ต่อมาชายและหญิงจะมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์ แล้วทั้งสองคน จะให้สัตยาบันก็ไม่ได้เพราะขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172

มาตรา 172   โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้

เพราะฉะนั้นหากจะให้การหมั้นสมบูรณ์ก็ต้องมาทำการหมั้นกันใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อชายหญิงอายุครับ 17 ปีแล้ว

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-07-01 11:54:16


ความคิดเห็นที่ 2 (1791015)

 

ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ 17 ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามมาตรา 412 และ 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามมาตรา 407 หาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนาย อ. และนางสาว บ. ทำบันทึกข้อตกลงภายหลังที่นาย อ. กับนางสาว บ. เลิกการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ว่าจำเลยตกลงจะคืนเงินสินสอดและของหมั้นแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่

หมายเหตุ วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2547

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-07-02 07:19:01


ความคิดเห็นที่ 3 (1791019)

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาของนาย อ. จำเลยเป็นมารดาของนางสาว บ. เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ โจทก์จำเลยร่วมกันจัดพิธีแต่งงานให้กับบุตรทั้งสองคนแล้วพักอาศัยอยู่บ้านจำเลย แต่บุตรจำเลยไม่ยอมร่วมหลับนอนกับบุตรโจทก์และหลังแต่งงานเพียง ๓ วัน บุตรจำเลยหนีจากบ้านไปอันเป็นการผิดประเพณีของการสมรส โจทก์จำเลยจึงตกลงกันโดยจำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๗๐,๔๐๐ บาท ภายในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ แต่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน ๗๐,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีมูลหนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๗๐,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์จำเลยให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นางสาว บ. เกิดวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๔ ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ โจทก์และจำเลยจัดพิธีแต่งงานระหว่างนาย อ. กับนางสาว บ. ซึ่งขณะนั้นอายุ ๑๕ ปีเศษ ก่อนพิธีแต่งงานมีการหมั้นโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบว่านางสาว บ. อายุยังไม่ครบ ๑๗ ปี ส่วนการหมั้นมีของหมั้นเป็นสร้อยคอทองคำพร้อมจี้และสินสอดเป็นเงินสด นาย อ. กับนางสาว บ. อยู่กินฉันสามีภริยากันได้ ๓ วัน ก็เลิกการอยู่กินด้วยกันและโจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงว่าจำเลยตกลงคืนเงินสินสอดจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท และของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก ๒ บาท พร้อมจี้ทองคำให้แก่โจทก์ภายในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ตามเอกสารหมาย จ. ๑ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ข้อตกลงเอกสารหมาย จ. ๑ มีผลใช้บังคับได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ขณะแต่งงานนางสาว บ. อายุ ๑๔ ปีเศษ เป็นการขัดต่อกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ เท่ากับว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีผลบังคับได้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ ๑๗ ปี บริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง ๑๕ ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๓๕ วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา ๑๔๓๕ วรรคสอง นอกจากนี้ มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ ๑๗ ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๑๒ และ ๔๑๓ โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๐๗ หาได้ไม่ ดังนั้นบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ. ๑ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น?

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( จรัส พวงมณี - สุเทพ เจตนาการณ์กุล - จรูญวิทย์ ทองสอน )

ศาลจังหวัดภูเขียว - นายวิทยา วิมลสุรนาถ

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายก่อพงศ์ สุวรรณจูฑะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3072/2547

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-07-02 07:26:15



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล