ReadyPlanet.com


ที่ดินถูกยึดขายทอดตลาด ได้เงินไม่พอชำระหนี้


ซื้อที่ดินแล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ถูกฟ้องยึดที่ขายทอดตลาดแล้วไม่พอจ่ายยังมีหนี้อีกประมาณ 200,000  บาทไม่รวมดอกเบี้ย ตอนนี้ธนาคารให้สำนักงานกฎหมายส่งจดหมายทวงหนี้ให้จ่ายใน 30 วัน อยากทราบขั้นตอนต่อไปทางกฎหมายว่าควรปฎิบัติอย่างไร ช่วยแนะนำด้วย ตอนนี้กลุ้มมาก ปัจจุบันรับราชการหย่ากับสามีแล้วมีบุตรอายุ 16 และมารดาอายุ 70 ที่ต้องรับผิดชอบ เงินเดือนประมาณ 25,000 มีรถยนต์ใช้งานมา 8 ปีซึ่งพ่อเซ็นโอนไว้ก่อนตาย(เราโอนหลังพ่อตาย) ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านแม่


ผู้ตั้งกระทู้ จันทิมา :: วันที่ลงประกาศ 2008-06-29 10:31:24


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1788812)

การเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินโดยการจำนองทรัพย์ที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้นั้น ทางเจ้าหนี้สถาบันการเงินจะให้ทำสัญญายกเว้นให้ลูกหนี้รับผิดชำระหนี้เมื่อยึดทรัพย์ขายทอดตลาดแล้วได้เงินชำระหนี้ไม่พอ

 

มาตรา 733    ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดีเงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

ดังนั้นหนี้ที่ยังค้างชำระ ลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับผิดและเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ๆ ก็จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้

กรณีรถยนต์ที่เป็นชื่อของคุณแม้จะเคยเป็นของบิดามาก่อนก็อยู่ในข่ายที่เจ้าหนี้ยึดมาชำระหนี้ได้ครับ

ส่วนเงินเดือนของข้าราชการไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดีครับ

มาตรา 286 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
(1) เบี้ยเลี้ยงชีพซึ่งกฎหมายกำ หนดไว้และเงินรายได้เป็นคราว ๆ อันบุคคลภายนอกได้ยกให้เพื่อเลี้ยงชีพ เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทหรือตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร
(2) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยราชการ และเงินสงเคราะห์ บำนาญ หรือบำเหน็จที่หน่วยราชการได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น
(3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (2) ที่นายจ้างจ่ายให้แก่บุคคลเหล่านั้น หรือคู่สมรส หรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท หรือตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร
(4) เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับอันเนื่องมาแต่ความตาย ของบุคคลอื่นเป็นจำนวน ตามที่จำเป็นในการดำเนินการฌาปนกิจศพตามฐานะของผู้ตายที่ศาลเห็นสมควร ในกรณีที่ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินตาม (1) และ (3) ให้ศาลกำหนดให้ไม่ น้อยกว่าอัตราเงินเดือนขั้นต่ำสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้น และไม่เกินอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้น โดยคำนึงถึงฐานะในทางครอบครัวของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและจำนวนบุพการีและผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย

ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจออกคำสั่งอายัดตาม มาตรา 311 วรรคสอง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินตาม (1) (3) และ (4) และให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับแก่การกำหนดจำนวนเงินตาม (1) และ (3) โดยอนุโลม แต่ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการกำหนดจำนวนเงินเช่นว่านั้น เพื่อขอให้ศาลกำหนดจำนวนเงินใหม่ได้

ในกรณีที่พฤติการณ์แห่งการดำรงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เปลี่ยนแปลงไป บุคคลตามวรรคสามจะยื่นคำร้องให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดี แล้วแต่กรณี กำหนดจำนวนเงินตาม (1) และ (3) ใหม่ก็ได้

คำสั่งของศาลที่เกี่ยวกับการกำหนดจำนวนเงินตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์ไปยังศาล
อุทธรณ์ได้และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-06-30 06:03:20



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล