ReadyPlanet.com


ต้นไม้บนที่ดิน


เรียนคุณลีนน

ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องต้นไม้บนที่ดินครับ

เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วผมได้ทำสัญญาซื้อที่ดินเนื่อที่ประมาณ 100 ตารางวาที่ โดยผ่อนส่งเดือนละ 1000 บาทจนกว่าจะหมดกับเจ้าของที่เดิม โดยมีสัญญาจะซื้อจะขายเรียบร้อย ที่ผ่านมา ผมและคุณแม่ได้นำต้นลีลาวดี เข้าไปปลูกบนผืนดินนั้นประมาณ 100 ต้นแต่ไม่นานทางผมเองมีปัญหาเรื่องการเงิน ไม่สามารถผ่อนส่งได้เป็นเวลาหลายงวด ทางเจ้าของที่เดิม จึงขอยึดที่คืนซึ่งทางผมเองก็ยินยอมโดยเจ้าของที่เดิมสัญญาว่าจะคืนเงินที่ส่งมาแล้วบางส่วนให้ทันทีที่มีผู้ซื้อที่ดินนั้นต่อด้วยเงินสด และเมื่อวันอังคารที่ 22/7ได้มีผู้ซื้อที่ดินนี้ต่อโดยจ่ายเป็นเช็คเ  งินสด แต่ทางเจ้าของที่เดิมได้  บ่  ยนเบี่ยงว่ายังไม่ได้จ่ายเงินทั้งหมดจึงยังไม่คืนเงินส่วนที่สัญญาว่าจะให้ซึ่งประเด็นนี้ทางผมคงต้องรอ เพราะเขาบอกว่าอีกประมาณ 20 วัน(ทราบว่าเป็นเช็คเงินสด เนื่องจากสืบทราบมา ไม่เป็นด้วยต เพราะไม่ได้อยู่เวลาเขาจ่ายเงินกัน )

แต่มีประเด็นอื่นเข้ามาแทรกครับต้นไม้ที่อยู่บนผืนดินนั้น ผมสามารถทางเจ้าของที่ใหม่บอกว่าห้ามตัดถ้าตัดมีเรื่อง เพราะเขาเป็นเจ้าที่แล้ว ผมอยากถามว่า ผมสามารถทำอะไรกับต้นไม้เหล่านั้นได้บ้างหรือได้หรือไม่ เพราะเจ้าของที่ใหม่บอกว่าเขาจ่ายเงินหมดแล้ว แต่เจ้าของที่เดิมบอกว่าจ่ายแค่เงินมัดจำเท่านั้นยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์

ขอรบกวนด้วยครับ



ผู้ตั้งกระทู้ สายชล :: วันที่ลงประกาศ 2008-07-25 10:51:50


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1807821)

มาตรา 139   อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่าที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นและหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย

มาตรา 144   ส่วนควบของทรัพย์หมายความว่าส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้นและไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลายทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือ สภาพไป

เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น

 

มาตรา 145   ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่

กฎหมายบอกว่าไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดิน และเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของส่วนควบซึ่งหมายถึงต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินนั้นด้วยครับ

ประเด็นคำถามของคุณนั้นเมื่อคุณใช้สิทธิปลูกต้นไม้ตามสัญญาจะซื้อขายคุณน่าจะเจรจากับเจ้าของที่ดินเดิมตกลงกับผู้ซื้อคนใหม่ว่าขายที่ดินไม่รวมกับต้นไม้โดยอนุญาตให้คุณขนย้ายต้นไม้ออกไปได้ หากเจ้าของไม่ให้ความร่วมมือก็คงเสียเปรียบผู้ซื้อคนใหม่อยู่ดีเพราะถ้าเขาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อใดต้นไม้ก็เป็นของเขาทันทีตามหลักกฎหมายที่ผมยกมาให้ดูนั้นครับผม

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-07-25 16:09:21


ความคิดเห็นที่ 2 (1807863)


ต้นยูคาลิปตัสเป็นต้นไม้ที่มีอายุหลายปี โดยสภาพถือว่าเป็นไม้ยืนต้น แม้โจทก์จะอ้างว่าปลูกไว้เพื่อตัดขายเป็นการปลูกลงในพื้นดินเป็นการชั่วคราว แต่ก็จะต้องใช้เวลาปลูกนานประมาณ 3 ถึง 5 ปีจึงจะตัดฟันนำไปใช้ประโยชน์ได้ และหลังจากตัดฟันแล้วตอที่เหลือก็จะแตกยอดเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำต้นใหม่ หลังจากนั้นประมาณ 3 ปีก็จะเจริญงอกงามเหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้เพื่อใช้ประโยชน์เป็นช่วงระยะเวลานานตลอดไปหาใช่ปลูกแล้วตัดฟันใช้ครั้งเดียวก็สิ้นสุด ต้นยูคาลิปตัสจึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะเข้าปลูกต้นยูคาลิปตัสโดยสุจริต ก็หาอาจใช้ยันจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐได้ไม่ และต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทที่โจทก์ปลูกย่อมไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะถือว่าไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 หากให้โจทก์ตัดต้นยูคาลิปตัสไปในระหว่างพิจารณา ภายหลังจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้ จึงสมควรสั่งห้ามไม่ให้โจทก์เข้าตัดฟันต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทระหว่างพิจารณาคดีไว้เป็นการชั่วคราว

 

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องและห้ามกระทำการใดอันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์และให้จำเลยทั้งสองระงับงดเว้นการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองให้การเป็นสาระสำคัญว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดิน

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ห้ามโจทก์ตัดต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาท

ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ห้ามโจทก์ตัดต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เข้าครอบครองและปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทและจะเข้าทำการตัดต้นไม้ดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างพิจารณาหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกในที่ดินพิพาทไม่เป็นส่วนควบของที่ดินเพราะโจทก์ปลูกเพื่อตัดขายเป็นการปลูกลงในที่ดินเป็นการชั่วคราวและโจทก์เข้าปลูกโดยสุจริตจึงมีสิทธิในต้นยูคาลิปตัสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310, 1313, 1314 และมาตรา 1316 นั้น เห็นว่าต้นยูคาลิปตัสเป็นต้นไม้ที่มีอายุหลายปี โดยสภาพถือว่าเป็นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะอ้างว่าปลูกไว้เพื่อตัดขาย เป็นการปลูกลงในพื้นดินเป็นการชั่วคราว แต่โจทก์ก็รับว่าจะต้องใช้เวลาปลูกนานประมาณ3 ถึง 5 ปี จึงจะตัดฟันนำไปใช้ประโยชน์ได้ และหลังจากตัดฟันแล้วตอที่เหลือก็จะแตกยอดเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำต้นใหม่ หลังจากนั้นประมาณ 3 ปี ก็จะเจริญงอกงามเหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีเจตนาปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้เพื่อใช้ประโยชน์เป็นช่วงระยะเวลานานตลอดไป หาใช่ปลูกแล้วตัดฟันใช้ครั้งเดียวก็สิ้นสุด อันจะทำให้ต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกเป็นทรัพย์ที่ติดกับที่ดินชั่วคราวดังที่โจทก์อ้าง ฉะนั้น ต้นยูคาลิปตัสจึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท

คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายแม้โจทก์จะเข้าปลูกต้นยูคาลิปตัสโดยสุจริต ก็หาอาจใช้ยันจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐแต่อย่างใดไม่ และต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทที่โจทก์ปลูกย่อมไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะถือว่าไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 ฉะนั้น หากให้โจทก์ตัดต้นยูคาลิปตัสไปในระหว่างพิจารณา ภายหลังจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้ จึงสมควรที่จะสั่งห้ามไม่ให้โจทก์เข้าตัดฟันต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทระหว่างพิจารณาคดีไว้เป็นการชั่วคราว"

พิพากษายืน

( สุรพล เจียมจูไร - ธีระจิต ไชยาคำ - บัญชา สหเกียรติมนตรี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7340/2542

นายวิชิต แสงทอง โจทก์/ กรมที่ดิน กับพวก จำเลย

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-07-25 16:51:34


ความคิดเห็นที่ 3 (4321886)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6666/2561

แม้ปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตผลปาล์มน้ำมันของกลางจะเกิดจากการเพาะปลูกของบริษัท บ. ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ แต่ต้นปาล์มน้ำมันดังกล่าวเป็นไม้ยืนต้นที่ปลูกบนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่รัฐอนุญาตแล้ว ไม่ปรากฏว่ารัฐหรือบริษัท บ. ได้ดำเนินการให้รื้อถอนต้นปาล์มออกไป แสดงว่าต่างมีความประสงค์ให้ต้นปาล์มน้ำมันเป็นส่วนควบของผืนป่า และเป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ผลปาล์มน้ำมันของกลางที่เกิดจากต้นปาล์มน้ำมันนั้น จึงเป็นดอกผลที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่า ผลปาล์มน้ำมันจึงเป็นของป่า จำเลยเข้าไปเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมันของกลาง การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิด อันเป็นความผิดฐานเก็บของป่าตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และผลปาล์มน้ำมันของกลางย่อมเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดจึงต้องริบ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ 085-9604258 วันที่ตอบ 2019-08-03 19:55:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล