ReadyPlanet.com


รวมกันนำเข้ายาบ้าเพื่อจำหน่าย


คนรู้จักโดนจับข้อหารวมกัน2คน นำเข้ายาบ้า 173 เม็ด ถ้าผู้ต้องหาคนที่1 (ของกลางอยู่ที่คนนี้ค่ะ) รับสารภาพคนเดียว และผู้ต้องหาคนที่ 2 จะสู้คดีจะพอมีทางรอดมั้ยค่ะ เพราะตอนแรกได้รับสารภาพไปแล้วทั้ง 2 คน (ขึ้นศาลไปแล้ว 2 รอบค่ะ)  และถ้าจะขอทนายศาลจะได้มั้ยค่ะเพราะเป็นคดียาเสพติด



ผู้ตั้งกระทู้ ช่วยด้วยค่ะ (pornnapa_c-at-bst-dot-co-dot-th) :: วันที่ลงประกาศ 2008-09-03 10:05:38


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1830588)

การต่อสู้คดีหรือไม่ต้องอยู่ที่ความจริงครับ ถ้าคุณกระทำความผิดจริง หากต่อสู้คดี แล้วศาลเชื่อตามพยานหลักฐานของโจทก์แล้ว โทษที่ได้รับจะสูงมาก แต่หากกระทำความผิดจริงขอแนะนำให้รับสารภาพแล้วคุณจะได้รับการลดโทษกึ่งหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นกล้าทำก็ต้องกล้ารับจะเป็นประโยชน์มากกว่าต่อสู้คดีโดยหวังไปตายเอาดาษหน้านั้นผมไม่ขอแนะนำครับ

เรื่องสารภาพไปก่อนนั้นไม่มีปัญหาอะไรครับ

ที่บอกว่าขึ้นศาลไปสองรอบแล้วนั้นไม่เข้าใจครับ เพราะตามปกติรอบที่สองจำเลยก็ต้องยืนยันคำให้การแล้ว หากปฏิเสธศาลก็จะถามว่ามีทนายความหรือยัง ถ้าต้องการทนายความศาลก็จะจัดหาให้

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ให้มาไม่ชัดเจน ตราบใดที่ยังไม่มีการสืบพยานก็สามารถถอนคำให้การเดิมได้เสมอ และขอศาลตั้งทนายความให้ได้ครับ

ไม่ว่าคดีอะไรถ้ามีโทษจำคุกก็ขอให้ศาลแต่งตั้งทนายความให้ได้ครับ

มาตรา 173 ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-03 14:29:46


ความคิดเห็นที่ 2 (1831359)

1. ถ้าจำเลยคนที่ 2 ไม่รู้ไม่เห็นจริงๆ  ถ้าสู้คดีโดยขอทนายจากศาล จะพอมีทางรอดมั้ยค่ะ  กรณีถ้าจำเลยคนที่1 บอกต่อศาลว่ายาบ้าเป็นของเขาคนเดียว  แต่จำเลยทั้ง 2 คนได้เซ็นรับสารภาพไปแล้วว่ารวมกันนำเข้ายาบ้า ตอนที่อยู่ที่โรงพักนะค่ะ

2.ถ้ารับสารภาพ น่าจะติดคุกประมาณกี่ปีค่ะ

ขอบคุณมากนะค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ช่วยด้วยค่ะ (pornnapa_c-at-bst-dot-co-dot-th)วันที่ตอบ 2008-09-04 15:05:39


ความคิดเห็นที่ 3 (1831540)

ถ้าไม่รู้ไม่เห็นจริง ๆ ก็ต้องต่อสู้คดีครับ ถ้าไม่ได้กระทำความผิดก็ไม่ต้องไปกังวลจนเกินไป ก็มีทางมีความหวังตลอดไปอยู่แล้ว ส่วนเรื่องที่จำเลยคนที่ 1 บอกว่าเป็นยาบ้าของเขาคนเดียวศาลจะเชื่อหรือไม่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีใครรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ดังนั้นการที่จำเลยด้วยกันจะพูดอย่างไรนั้นต้องดูเป็นเรื่อง ๆ ไป และในชั้นสืบพยานถ้าความสัมพันธ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกันศาลท่านก็ย่อมทราบดี ทนายความคงหาทางทำให้รอดได้ครับ

การรับสารภาพในชั้นสอบสวนหากมีข้อแก้ตัวที่น่าเชื่อก็ต่อสู้ได้เช่นตำรวจซ้อม เป็นต้น เพราะจริง ๆแล้วคนไม่ได้ทำความผิดจะไปรับสารภาพทำไมครับ

ตามที่เล่ามาคุณก็บอกว่าเป็นแค่คนรู้จัก ผมว่าเขาคงไม่ได้บอกคุณทุกอย่างที่เป็นความจริง ขนาดทนายความของเขา จำเลยหลายคนก็ไม่ยอมบอกความจริงทั้งหมด มารู้ทีหลังก็หมดทางแก้ไขแล้ว จากแทนที่จะเบากลัลเป็นหนักกว่าเดิม

สำหรับโทษเท่าไรนั้นอย่าให้บอกเลย เพราะเป็นอำนาจของศาล แต่ถ้าเจอข้อหานำเข้าก็โทษหนักหน่อยครับ ไม่น่าต่ำกว่า 10 ปีนะครับ(ความเห็น)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-04 20:05:08


ความคิดเห็นที่ 4 (1831597)

จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 950 เม็ด น้ำหนัก 93.35 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3.06 กรัม เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต **

คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 800,000 บาท

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 950 เม็ด น้ำหนัก 93.35 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3.06 กรัม เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ภายหลังจากนั้นจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา 40,000 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลคลองหาด อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว เจ้าพนักงานจับจำเลยกับพวกได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนกับธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อดังกล่าว และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ที่จำเลยใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลาง ธนบัตรของกลางได้คืนให้เจ้าของแล้ว ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ให้การปฏิเสธในข้อหานำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 102 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ให้ประหารชีวิต ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี และปรับ 400,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย คงจำคุกตลอดชีวิต ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี และปรับ 200,000 บาท รวมโทษจำเลยทุกกระทงแล้วคงจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 200,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กักขังแทนค่าปรับ ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทษศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 102 ความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายในฟ้องข้อ 1 ก. ว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 650 เม็ด น้ำหนัก 93.35 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3.06 กรัม เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และบรรยายในฟ้องข้อ 1 ข. ว่าจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเท่านั้นแม้เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 3.06 กรัม ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการนำเข้าเพื่อจำหน่ายก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายได้ เพราะเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง จึงเป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยปรับบทลงโทษที่ถูกต้องและกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยเสียใหม่ให้สอดคล้องกับบทลงโทษที่แก้ไขใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งนั้น เห็นว่า ความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน แต่กลับให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณา เช่นนี้ แม้คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ก็สมควรลดโทษให้หนึ่งในสามเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 65 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยตลอดชีวิต และปรับ 1,200,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้ว คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 800,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

( เกียงชัย จึงจตุรพิธ - ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช - มานัส เหลืองประเสริฐ )

หมายเหตุ

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน 950 เม็ด น้ำหนัก 93.35 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3.06 กรัม เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเช่นนี้ จะถือว่าฟ้องโจทก์ดังกล่าวจะให้ลงโทษจำเลยฐานนำเข้าเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ได้หรือไม่ มีความเห็นออกเป็น 2 ฝ่าย

1. ไม่สามารถลงโทษจำเลยฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเข้ามาจำหน่ายได้ ทั้งนี้เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย หากลงโทษฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ก็จะเป็นการเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ความเห็นนี้คือคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่หมายเหตุนี้วินิจฉัยไว้

2. ลงโทษจำเลยฐานนำเข้าเมทแอมเฟตามีนในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายได้เนื่องจาก โจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน 950 เม็ด น้ำหนัก 93.35 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3.06 กรัม เข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติว่า การผลิตนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็น การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ...ฯลฯ...

(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัม ขึ้นไป

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำเลยนำเข้าเมทแอมเฟตามีน 950 เม็ด จึงถือว่าจำเลยมีไว้ในครอบครอง เมทแอมเฟตามีนจำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไปกล่าวคือ มีถึง 950 เม็ด แม้โจทก์จะไม่บรรยายว่า 950 หน่วยการใช้ แต่ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ให้คำจำกัดความ หน่วยการใช้หมายความว่า เม็ด ซอง ขวด หรือหน่วยอย่างอื่นที่ทำขึ้น โดยปกติสำหรับการใช้เสพหนึ่งครั้ง ดังนั้น เมื่อระบุว่าจำนวน 950 เม็ด ก็ย่อมหมายความว่า 950 หน่วยการใช้จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติดังกล่าวว่าจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อพิจารณาน้ำหนัก โจทก์บรรยายว่า น้ำหนักเมทแอมเฟตามีนทั้งหมด 93.35 กรัม ซึ่งก็มีน้ำหนักตั้งแต่ 1.5 กรัมขึ้นไป ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อพิจารณาสารบริสุทธิ์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3.06 กรัม ซึ่งถือได้ว่ามีปริมาณตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเช่นกันเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าทั้งจำนวน น้ำหนัก และสารบริสุทธิ์ ตามฟ้องโจทก์เข้าข้อสันนิษฐานของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม ว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายและเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด จำเลยหรือผู้ที่ครอบครองยาเสพติดให้โทษไม่สามารถนำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่นได้ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2903/2548 เป็นต้น นอกจากนี้โจทก์ยังขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 65 ซึ่งมาตรา 65 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายต้องระวางโทษประหารชีวิต ซึ่งการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง คือ นำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงสามารถลงโทษจำเลยฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายได้

ผู้หมายเหตุเห็นด้วยกับความเห็นของฝ่ายหลัง เพราะชอบด้วยหลักกฎหมายมากกว่า

ศิริชัย วัฒนโยธิน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-04 22:03:59



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล