ReadyPlanet.com


ให้เพื่อนยืมรถยนต์ไป แล้วรถถูกชนแล้วหนี


ให้เพื่อนยืมรถยนต์ไปทำธุระ ขณะที่เพื่อนจอดรอขณะติดสัญญาณไปจราจรถูกรถมอเตอร์ไซต์ชนแล้ว คนชนขับรถหนีไปเลย เพื่อนก็ยังไม่ดำเนินการซ่อมให้เราสักที อย่างนี้ผมจะฟ้องให้เพื่อนใช้หนี้ค่าซ่อมที่ผมได้ซ่อมไปได้หรือไม่

 



ผู้ตั้งกระทู้ เดชขจร :: วันที่ลงประกาศ 2008-08-30 11:02:29


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1828763)

มาตรา 643    ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

 

ตามมาตรา 643 ข้างต้น ผู้ให้ยืมจะเรียกให้ผู้ยืมรับผิดได้ก็ต่อเมื่อผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์ที่ยืมแบบผิดปกติเท่านั้น ตามที่ถามมานั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ยืมได้ใช้ทรัพย์หรือรถยนต์ที่ยืมผิดปกติแต่อย่างใด ผู้ให้ยืมหรือคุณจึงจะเรียกให้เพื่อนคุณรับผิดชอบไม่ได้ แต่สามารถฟ้องผู้ที่ทำละเมิดได้ แต่ปรากฎว่าคนทำละเมิดได้หนีไปแล้ว จึงต้องตกเป็นพับแก่ผู้ให้ยืมครับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3451/2524

ในการยืมใช้คงรูปนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา643 ได้บัญญัติให้ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเฉพาะแต่กรณีผู้ยืมเอาทรัพย์ที่ยืมไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือเอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ โจทก์เป็นแต่เพียงผู้ยืมรถคันที่ถูกชนไม่ได้เป็นเจ้าของไม่ปรากฏเหตุดังกล่าวที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม. และการที่รถที่โจทก์ขับได้รับความเสียหายก็มิใช่เป็นความผิดของโจทก์ฉะนั้นโจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของรถและแม้ว่าโจทก์จะได้ซ่อมรถคันดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของรถที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้คือเจ้าของรถ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

 

โจทก์ฟ้องให้จำเลยร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในฐานละเมิด

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ให้การปฏิเสธความผิดหลายประการ รวมทั้งต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถคันที่ถูกชน

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมรถแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 ที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ที่ 4 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับแต่ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์คดีนี้ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน จ.บ. 09101 ที่ถูกชน เพราะโจทก์เป็นแต่เพียงผู้ยืมเท่านั้น ในการยืมใช้คงรูปนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 643 ได้บัญญัติให้ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเฉพาะแต่ในกรณีผู้ยืมเอาทรัพย์ที่ยืมไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือเอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ ซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏเหตุดังกล่าวเลย และการที่รถที่โจทก์ขับได้รับความเสียหายก็มิใช่เป็นความผิดของโจทก์ หากแต่เป็นความผิดของบุคคลภายนอกฉะนั้นโจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์ และแม้ว่าโจทก์จะได้ซ่อมรถคันที่โจทก์ยืมมาไปเรียบร้อยแล้วก็ตาม โจทก์ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของรถที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้คือเจ้าของ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องและพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ฟังขึ้น คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 จะไม่ได้ฎีกาขึ้นมาแต่มูลกรณีเป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องจึงให้คำพิพากษาฉบับนี้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่มิได้ฎีกาขึ้นมาด้วย

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-08-31 12:23:43



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล