ReadyPlanet.com


ได้อะไรบ้าง จากการเป็นภรรยาที่จดทะเบียน


ดิฉันแต่งงานจดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายกับสามี

ต่อมาได้กันอยู่กับสามีแต่ยังไม่ได้หย่ากัน

ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสกันมีดังนี้

1.รถยนต์นั่ง 1 คัน

2.รถกะบะ 1 คัน

3.รถยนต์นั่ง 1 คัน(แม่สามีโอนให้มา)

4.ที่ดิน 1 แปลง (แม่สามีโอนให้มา)

5.อาคารพาณิชย์ 2 ห้อง (แม่สามีโอนให้มา)

ต่อมาสามีได้เสียชีวิตเมื่อเดือนมิถุนายน 2551

พ่อสามีได้ติดต่อมาเพื่อให้ดิฉันเซ็นชื่อยินยอมให้ท่านเป็นผู้จัดการมรดก(แม่สามีเสียชีวิตแล้ว)แต่ท่านไม่ได้บอกว่าดิฉันจะได้อะไรบ้าง

ดิฉันขอถามว่า กรณีอย่างนี้ ดิฉันจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อจะได้รับทรัพย์สินของสามี เพราะดิฉันคิดว่าดิฉันเป็นภรรยาที่มีทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฏหมาย(ดิฉันกับสามี ไม่มีบุตรด้วยกัน)

และขอถามอีกคำถามหนึ่งว่า ผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่ สามีของดิฉันได้อยู่กันด้วยในขณะที่มีชีวิตอยู่ แต่ไม่มีทะเบียนสมรส และไม่มีบุตรด้วยกัน จะมีสิทธิ์ได้รับในทรัพย์สิน 5 รายการที่ดิฉันได้บอกข้างต้น หรือไม่

 



ผู้ตั้งกระทู้ ดวงตา :: วันที่ลงประกาศ 2008-09-22 15:24:52


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1840330)

ทรัพย์สินที่แม่สามีโอนให้มา ถ้าไม่ได้ระบุให้เป็นสินสมรสย่อมเป็นสินส่วนตัวของสามีและตกเป็นกองมรดกของผู้ตาย ตกทอดแก่ทายาทตามกฎหมาย

มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวล กฎหมายนี้หรือกฎหมาย

 

มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

สำหรับทรัพย์สินอื่นนอกนี้เป็นสินสมรสให้จัดแบ่งกันคนละครึ่งกับคู่สมรส ส่วนอีกกึ่งหนึ่งตกเป็นมรดกของผู้ตายตกทอดแก่ทายาทต่อไป

ตามที่คุณบอกมาว่าผู้ตายยังมีบิดาซึ่งยังมีชีวิตอยู่ดังนี้กองมรดกของผู้ตายนอกจากสินสมรสแล้วต้องแบ่งกันคนละครึ่งกับคุณครับ

สำหรับหญิงอื่นไม่มีฐานะเป็นทายาทของผู้ตายไม่มีสิทธิได้รับมรดกครับ

คุณควรขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับบิดาของผู้ตายเพื่อว่าคุณจะได้ทราบว่าการจัดมรดกได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย

หากไม่เข้าใจคำตอบถามมาใหม่นะครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-22 20:12:55


ความคิดเห็นที่ 2 (1840339)

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”
ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มรดก หรือกองมรดกของผู้ตายนั้น มิได้หมายความถึงเฉพาะแต่ทรัพย์สินของผู้ตายเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ ของผู้ตายที่ไม่ใช่ทรัพย์สินด้วย แต่อย่างไรก็ดี สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่าง ๆ ของผู้ตายอันสามารถตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทได้นั้น จะต้องไม่มีสิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบอันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เช่น กรณีผู้ตายเป็นนักร้อง นักแสดง ข้อผูกพันตามสัญญาที่ได้ทำไว้ในฐานะเป็นนักร้อง นักแสดง จะไม่ตกทอดไปถึงทายาท เพราะเป็นความสามารถเฉพาะตัวของผู้ตาย ตรงข้ามกับสิทธิในลิขสิทธิ์เสียงเพลง การประพันธ์เพลงการแสดงซึ่งมีกฎหมายรับรองไว้ถือเป็นทรัพย์สินที่ตกทอดเป็นมรดกได้ ดังนั้นสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ ของผู้ตายจึงอาจเกิดจากนิติกรรมสัญญา เช่น ซื้อขาย กู้ยืม จำนำ จำนอง หรือจากนิติเหตุ คือการกระทำละเมิด

กองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทในทันทีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ไม่ว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายโดยธรรมชาติ หรือ โดยคำสั่งศาลให้เป็นคนสาบสูญก็ตาม ทรัพย์สินต่างของผู้ตายย่อมจะตกทอดให้แก่ทายาทต่อไป โดยทายาทของผู้ตายไม่จำต้องแสดงเจตนาที่จะรับโอนมรดกนั้น เพราะทายาทมีอำนาจหน้าที่จะเข้ามาดำเนินการ อันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกนั้นได้ทันทีนับแต่เจ้ามรดกตาย ทายาทดังกล่าวนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทคือ

1. ทายาทซึ่งมีสิทธิตามกฎหมาย หรือที่เรียกว่า ทายาทโดยธรรม ซึ่งจะมีได้แต่เฉพาะบุคคลธรรมดา

“ทายาทโดยธรรม” หมายถึง ทายาทที่กฎหมายบัญญัติ ให้เป็นผู้มีสิทธิรับมรดก เมื่อเจ้ามรดกตาย ซึ่งจำแนกได้เป็น 2 ประเภทคือ

1.1. ทายาทโดยธรรมที่เป็นญาติสืบสายโลหิตหรือผู้มีสิทธิตามกฎหมาย สามารถจำแนกออกได้เป็น 6 ลำดับคือ

(1) ผู้สืบสันดาน หมายถึง ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมาของเจ้ามรดก ได้แก่ บุตร หลาน เหลน รวมถึงบุตรนอกกฎหมาย ที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรมด้วย

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน

(5) ปู่ ย่า ตา ยาย

(6) ลุง ป้า น้า อา

ทายาททั้ง 6 ลำดับนี้ ไม่ใช่ว่าจะมีสิทธิรับมรดกพร้อมกันทั้ง 6 ลำดับ ในแต่ละลำดับต่างก็จะมีสิทธิในการรับมรดกก่อนและหลังกันตามลำดับที่กฎหมายระบุไว้ เว้นแต่ทายาทลำดับ (1) คือผู้สืบสันดาน และทายาทลำดับ (2) คือ บิดา มารดา เท่านั้น ที่มีสิทธิได้รับมรดกด้วยกัน คือ ไม่ตัดสิทธิในการรับมรดกซึ่งกันและกัน ดังนั้นหากมีทายาทในลำดับต้น ทายาท ลำดับต่อไปก็ไม่มีสิทธิที่จะรับมรดก

1.2 ทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรส หมายถึง ทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรสของเจ้ามรดก ซึ่งอาจเป็นสามีหรือภรรยาของเจ้ามรดก แต่ต้องเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าเป็นสามีภรรยาที่ร้างกันหรือ แยกกันอยู่โดยที่มิได้มีการหย่าขาดจากันตามกฎหมายก็ถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกันอยู่ ซึ่งคู่สมรสนี้กฎหมายถือว่าสิทธิในการรับมรดกถือเสมือนเป็นทายาทลำดับต้น

2. ทายาทซึ่งมีสิทธิตามพินัยกรรม หรือที่เรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม ในกรณีอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีนิติบุคคลเป็นผู้รับพินัยกรรมนั้นก็มีข้อสำคัญว่า

มรดกที่จะได้รับตามพินัยกรรมนั้นต้องอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ถ้านอกขอบวัตถุประสงค์ก็ไม่มีสิทธิรับพินัยกรรมได้ ผู้รับพินัยกรรมในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ถ้านอกขอบวัตถุประสงค์ก็ไม่มีสิทธิรับพินัยกรรมได้ ผู้รับพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นญาติของเจ้ามรดกอาจเป็นบุคคลอื่นก็ได้

 

กรณีที่เจ้ามรดกไม่มีทายาท ไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ หรือผู้สืบมรดกโดยประการอื่น แต่ เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้ ผู้รับพินัยกรรมคงได้ไปเฉพาะทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ทรัพย์มรดกที่นอกเหนือไปจากในพินัยกรรมก็ต้องตกทอดแก่แผ่นดิน

ผู้จัดการมรดกได้แก่ บุคคลที่ผู้ทำพินัยกรรม หรือศาลตั้งขึ้นให้มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำเพื่อให้เป็นไปตามพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดก รวบรวมทรัพย์มรดกและนำมาแบ่งปันแก่ทายาทผู้มีสิทธิ

ผู้จัดการมรดกมีอยู่ 2 ประเภทคือ

1. ผู้จัดการมรดกที่ตั้งโดยพินัยกรรม

จะต้องมีข้อกำหนดของพินัยกรรมระบุไว้อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่างๆ รวมถึงมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ด้วย คือ

1. ต้องบรรลุนิติภาวะ

2.ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

3. ไม่เป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย

2. ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล

จะต้องมีคำสั่งศาลตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งภายใต้เงื่อนไข กฎเกณฑ์ที่กฎหมายระบุไว้และศาลสั่งแต่งตั้ง

ในการร้องขอจัดการมรดกนั้นได้จำกัดไว้เฉพาะบุคคล 3 ประเภท คือ

1) ทายาท ได้แก่ ทายาทโดยธรรม และผู้รับพินัยกรรม

2) ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง บุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทางมรดก เช่น คู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน

3) พนักงานอัยการ

บุคคลทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวนี้สามารถที่จะร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งให้ตนเองหรือบุคคลอื่นซึ่งมิได้เกี่ยวข้องเป็นทายาท หรือผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้จัดการมรดกได้

การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ศาลย่อมใช้ดุลยพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่มรดก การที่ศาลจะแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกนั้นจึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน

การคัดค้านคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

ผู้มีสิทธิร้องคัดค้านต้องเป็น

 

1) ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก

2) ผู้มีส่วนได้เสีย

3) พนักงานอัยการ

ซึ่งหมายถึง ผู้มีสิทธิร้องคัดค้านนั้นจะต้องอยู่ในฐานะของผู้มีสิทธิร้องขอจัดการมรดกได้

การยื่นคำร้องคัดค้าน

ผู้ร้องคัดค้านต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตายการจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกต้องยื่นร้องขอก่อนที่จะมีการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นลง

พินัยกรรม

การทำพินัยกรรมต้องเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตาย และการเผื่อตายนั้นต้องเป็นเรื่องทรัพย์สินของตนเองหรือในการต่างๆ ในการทำพินัยกรรมนั้น บุคคลจะต้องมีความสามารถในการทำพินัยกรรม ผู้เยาว์ก็สามารถจะทำพินัยกรรมได้ แต่ต้องเป็นบุคคลที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถ้าบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ รวมถึงพินัยกรรมที่บุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นก็ทำให้พินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะด้วยเช่นกัน

การทำพินัยกรรมนั้นต้องทำขึ้นตามแบบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ซึ่งแบบของพินัยกรรมมี 5 แบบ ด้วยกัน คือ

1) พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือตนเอง ซึ่งข้อความทั้งหมด รวมทั้งลงวันที่ เดือน ปี และลายมือชื่อของตน โดยไม่จำต้องมีพยานรับรองลายมือชื่อของตนก็ได้

2) พินัยกรรมแบบธรรมดา ต้องทำเป็นหนังสือ ลงวัน เดือน ปี ขณะที่ทำพินัยกรรมผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน พร้อมกัน ถ้าลงลายมือชื่อไม่ได้ก็ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย 2 คน

3) พินัยกรรมทำแบบเอกสารฝ่ายเมือง ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปที่อำเภอแจ้งความประสงค์ว่าตนต้องการทำพินัยกรรมเพื่อยกทรัพย์สินให้แก่ใคร โดยต้องไปต่อหน้าพร้อมด้วยพยาน 2 คน เป็นอย่างน้อย โดยนายอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้แจ้งลงไว้เป็นหลักฐานแล้วอ่านข้อความดังกล่าวให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง เมื่อทำพินัยกรรมและพยานได้รับทราบข้อความแล้วและเห็นว่าถูกต้องก็จะลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานไว้ ซึ่งถ้าผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อไม่ได้ก็สามารถพิมพ์ลายนิ้วมือ แล้วมีลายมือชื่อของพยาน 2 คนรับรองได้ และนายอำเภอจะเป็นผู้ลง วัน เดือน ปี ทั้งจดลงไว้ว่าพินัยกรรมได้ทำถูกต้อง และประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ

หากมีการขูด ลบ แต่ง เติมหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น ทำให้พินัยกรรมนั้นไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม พยาน นายอำเภอจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้

พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองจะทำ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือนอกสถานที่

4) พินัยกรรมแบบเอกสารลับ ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรมบรรจุไว้ในชองพินัยกรรมแล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกบนซองนั้น จากนั้นนำซองพินัยกรรมนั้น ไปแสดงต่อกรมการอำเภอและพยานอย่างน้อยอีก 2 คน พร้อมทั้งให้ถ้อยคำต่อกรมการอำเภอและพยานว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้ามีผู้เขียนต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนไว้ให้ทราบด้วย จากนั้นกรมการอำเภอจะจดถ้อยคำ วัน เดือน ปี ไว้บนซอง แล้วลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น

ปกติพินัยกรรมแบบเอกสารลับนี้จะเก็บรักษาไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะขอรับคืนไป และจะทำกันนอกที่ว่าการอำเภอไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายเขียนไว้เหมือนพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง

5) พินัยกรรมแบบด้วยวาจา จะต้องพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งไม่สามารถที่จะทำพินัยกรรมแบบอื่นได้ ซึ่งพฤติการณ์พิเศษนั้นได้แก่

1. ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย

2. มีโรคระบาด

3. มีสงคราม

โดยผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนที่อยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น และพยาน 2 คนนี้ต้องไปแสดงตนต่อนายอำเภอโดยไม่ชักช้าแล้วแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมสั่งไว้ยกให้แก่ใคร สั่งเมื่อไหร่ วัน เดือน ปี สถานที่เขากำหนดที่ไหนและพฤติการณ์พิเศษขณะนั้น ต้องแสดงให้ครบองค์ประกอบทั้ง 4 ตามกฎหมายได้ระบุไว้นายอำเภอก็จะบันทึกข้อความที่พยานแจ้งไว้แล้วให้พยานทั้งสองลงลายมือชื่อ

ข้อสำคัญของพินัยกรรม คือ จะต้องเป็นการกำหนดการเผื่อตาย ซึ่งกระทำโดยเป็นคำสั่งครั้งสุดท้าย หากผู้ทำพินัยกรรมได้ทำพินัยกรรมขึ้นได้หลายฉบับ พินัยกรรมฉบับหลังจะยกเลิกฉบับแรกซึ่งจะถือว่าเป็นพินัยกรรมที่มีผลใช้

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ** วันที่ตอบ 2008-09-22 20:32:07


ความคิดเห็นที่ 3 (1840599)

ขอถามอีกคำถามนะคะ

ดิฉันได้เซ็นชื่อยินยอมให้พ่อสามีเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ถ้าหากพ่อสามีแบ่งมรดกอย่างไม่เป็นธรรม ตามที่กฏหมายกำหนด ดิฉันมีสิทธิ์เรียกร้องอะไรบ้าง และต้องปฏิบัติอย่างไร

ผู้แสดงความคิดเห็น ดวงตา วันที่ตอบ 2008-09-23 11:25:27


ความคิดเห็นที่ 4 (1840659)

ก็มีสิทธิเรียกร้องตามสิทธิของคุณซึ่งอาจเป็นการที่ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์มรดกเป็นความผิดทางอาญาด้วยครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-23 12:35:13


ความคิดเห็นที่ 5 (1841016)

คำตอบที่คุณตอบมีประโยชน์กับดิฉันมากค่ะ ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง

ผู้แสดงความคิดเห็น ดวงตา วันที่ตอบ 2008-09-24 09:03:57



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล