ReadyPlanet.com


ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัด


-ถ้าหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดตาย(ห้างหุ้นส่วนจำกัด) ห้างจะต้องเลิกกิจการหรือไม่

-จำนวนผู้ถือหุ้นสูงสุดในบริษัทจำกัดกฎหมายกำหนดไว้ไม่เกินกี่คน

ช่วยตอบหน่อยนะนะคะ ด่วนจริงๆค่ะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ รอม (thassawan_rom-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2008-09-07 20:55:38


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1833456)

เมื่อไม่มีหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดแล้วห้างก็ต้องเลิกครับ แต่ถ้าทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายไม่ประสงค์ที่จะให้ห้างเลิกก็ควรที่จะตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการขึ้นมาแทนและดำเนินกิจการของห้างต่อไปก็ได้(ความเห็น)

ในเรื่องบริษัทจำกัด ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องมีกี่คน แต่การก่อตั้งบริษัท จะต้องมีผู้ก่อตั้งอย่างน้อย 3 คน ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-08 12:42:12


ความคิดเห็นที่ 2 (1833936)

หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตายห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1055(5) ประกอบด้วยมาตรา 1080 และจะต้องตั้งผู้ชำระบัญชี

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2901/2517

 

โจทก์กับ ต. เป็นหุ้นส่วน ตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด โจทก์เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด ต. เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อ ต. ตายห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1055(5) ประกอบด้วยมาตรา 1080 และจะต้องตั้งผู้ชำระบัญชี ในการนี้จำเลยซึ่งเป็นทายาทและผู้รับมรดกของ ต.จะต้องเข้ามาแทนที่ต. เพื่อการชำระบัญชี ปรากฏว่าทรัพย์สินตลอดจนบัญชีและเอกสารต่างๆ ของห้างหุ้นส่วนอยู่ในมือจำเลย และโจทก์ขอร้องให้จำเลยมาร่วมกันชำระบัญชี และแบ่งคืนเงินทุนแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยเสีย ดังนี้ ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ (อ้างฎีกาที่ 191/2501)

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของนายตินเกียวหรือตินเพียว แซ่พัวโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนายพงษ์ศักดิ์และเด็กหญิงรัชนีวรรณผู้เยาว์ นายตินเกียวได้จดทะเบียนรับรองนายพงษ์ศักดิ์และเด็กหญิงรัชนีวรรณเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วจำเลยที่ 1 เป็นภริยา และจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายตินเกียว โจทก์และนายตินเกียวได้ตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขุมวิทอาหารสำเร็จรูป นายตินเกียวเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด เมื่อนายตินเกียวถึงแก่กรรมจำเลยทั้งห้าเข้ายึดครอบครองทรัพย์สิน กิจการ สมุดบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวทั้งยังยักย้ายสินค้าของห้างหุ้นส่วน และเรียกเก็บหนี้สินมาเป็นประโยชน์ของจำเลยทั้งห้า และถอนเงินจากธนาคารมาใช้จ่ายส่วนตัวอีกด้วย โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนได้ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระบัญชีเพื่อเลิกห้างหุ้นส่วนและแบ่งคืนเงินทุน แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย นอกจากนี้จำเลยทั้งห้ายังเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์มรดกอื่น ๆ ของนายตินเกียว โจทก์ขอให้จำเลยทั้งห้าแบ่งมรดกแก่ทายาทด้วยความเป็นธรรม แต่จำเลยทั้งห้าบิดพลิ้วเรื่อยมา จำต้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกรายนี้ ขอให้ศาลตั้งโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขุมวิทอาหารสำเร็จรูป และเป็นผู้จัดการมรดกของนายตินเกียว

ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า การขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกก็ดี ให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีก็ดี เป็นคดีไม่มีข้อพิพาท จะต้องเริ่มคดีด้วยคำร้องขอ มิใช่คำฟ้อง การขอให้ศาลสั่งตั้งผู้จัดการมรดกกับขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีไม่เกี่ยวข้องกัน จะรวมมาในคำฟ้องเดียวกันมิได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ขอให้รับฟ้องโจทก์ หรือสั่งให้โจทก์แยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก เป็นคดีไม่มีข้อพิพาท และเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องต่อศาล ส่วนการขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชี โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระบัญชีเพื่อเลิกห้างหุ้นส่วนและแบ่งคืนเงินทุนนั้น แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉยเป็นการโต้แย้งสิทธิ และเป็นคดีมีข้อพิพาท จะนำคดีไม่มีข้อพิพาทมาเสนอต่อศาลรวมกับคดีมีข้อพิพาทไม่ได้ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า ให้รับคำฟ้องของโจทก์เฉพาะที่ขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชี แล้วดำเนินการพิจารณาต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า การขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ขอให้พิพากษาไม่รับคำฟ้องของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อนายตินเกียวหรือตินเพียวซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตายห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขุมวิทอาหารสำเร็จรูปก็ต้องเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055(5) ประกอบด้วยมาตรา 1080 และจะต้องตั้งผู้ชำระบัญชีเพื่อชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดให้เสร็จไป เพื่อจะได้ไปจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ในการนี้จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทและผู้รับมรดกของนายตินเกียวจะต้องเข้ามาแทนที่นายตินเกียวเพื่อการชำระบัญชี แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1251 วรรค 2 จะบัญญัติให้พนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นผู้มีส่วนได้เสียในห้างหุ้นส่วนร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีให้ก็ตาม แต่จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าทรัพย์สินตลอดจนสมุดบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ของห้างหุ้นส่วนอยู่ในมือของจำเลยทั้งห้าและโจทก์ขอร้องให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระบัญชีและแบ่งคืนเงินทุนกันแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยแสดงว่าจำเลยทั้งห้าโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งห้า ขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 191/2501

พิพากษายืน

( มงคล วัลยะเพ็ชร์ - ดวง ดีวาจิน - ธานินทร์ กรัยวิเชียร )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-09-09 08:34:04



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล