ReadyPlanet.com


ถ้าฟ้องหย่าโดยศาลฝ่ายเดียวใช้เวลานานเท่าไหร่ครับ


 คือผมกับภรรยาได้จดทะเบียนสมรสกันในปี พ.ศ. 2552
หลังจากที่จดทะเบียนสมรสแล้วต่างคนต่างไปทำงานที่ต่างประเทศคนละประเทศ
ที่ผ่านมาไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเลย อยากทราบว่าจะยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อทำการหย่าขาดจากกันได้ไหมครับ
และต้องยื่นที่ไหน (จุดประสงค์คือจะไปยื่นเรื่องหย่าต่อศาลฝ่ายเดียวที่ประเทศไทย  จดทะเบียนที่ต่างจังหวัด)
ถ้ายื่นเรื่องต่อศาลต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะทราบผล

ขอบพระคุณครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ธีระ :: วันที่ลงประกาศ 2013-07-09 00:42:14


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2395506)

เมื่อมีการจดทะเบียนสมรสกันแล้ว คู่สมรสย่อมเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย หากคู่สมรสมีความประสงค์ที่จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน สามารถทำได้ 2 กรณีคือ

1. การหย่าโดยความยินยอม

2. การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล

การหย่าโดยความยินยอม - เมื่อทั้งสองฝ่ายสมัครใจที่จะหย่าขาดจากกันก็ไปที่สำนักทะเบียน หากเป็นที่ต่างประเทศก็ติดต่อที่สถานทูตได้ หากเป็นที่ประเทศไทยก็ติดต่อสำนักงานเขต/อำเภอ แต่หากเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาลก็ต้องฟ้องหย่าต่อศาล และต้องมีเหตุหย่าตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ตามที่ได้คั้ดลิดมาให้ดูด้านล่างนี้

ตามคำถามคือ ผู้ถามและภริยา จดทะเบียนสมรสที่ผ่านมาไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันกันเลย แต่ไม่ได้บอกเหตุผลว่าเพราะเหตุใด เพราะการที่คู่สมรสไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันอาจมีเหตุหลายประการ ซึ่งกรณีที่ต่างฝ่ายต่างไปทำงานต่างประเทศ หากไปด้วยความจำเป็นหรือหน้าที่การงาน ก็ไม่มีเหตุหย่าตามกฎหมาย แต่หากเป็นการสมัครใจแยกกันอยู่ก็อาจเข้าหลักเกณฑ์ของกฎหมายข้อ  คือสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินสามปีก็อ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าได้

คำถามมีประเด็นว่า ยื่นฟ้องหย่าต่อศาลฝ่ายเดียว ฟังดูคำถามเหมือนกับว่า ทุกคนเมื่อต้องการหย่าก็ยื่นฟ้องศาลฝ่ายเดียวแล้วศาลก็หย่าให้ทุกคดีไปนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากศาลไม่ใช่ตรายางที่จะพิพากษาให้โจทก์ผู้ฟ้องหย่าฝ่ายเดียวชนะคดีเสมอไปทุกกรณี แต่ศาลจะต้องพิจารณาเหตุที่อ้างมาในคำฟ้องว่ามีเหตุตามกฎหมายหรือไม่ประการหนึ่ง และการรับฟ้องคดีและพิจารณาคดีศาลต้องแน่ใจว่า จำเลย(ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้รับหรือถือว่าได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องจากโจทก์แล้ว และไม่ทำคำให้การต่อสู้คดี หรือขาดนัดพิจารณา ศาลจึงจะอนุญาตให้พิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวได้ หาใช่ว่าโจทก์ต้องการฟ้องคดีฝ่ายเดียวโดยไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายหนึ่งแก้ข้อกล่าวหาได้

ขอสรุปประเด็นคำถามดังนี้ 1.(ฟ้องได้ไหม?) - ฟ้องหย่าได้เป็นสิทธิของคู่สมรสหากมีเหตุหย่า 2. (ต้องยื่นที่ไหน?) - ติดต่อทนายความดำเนินการให้ ศาลที่อยู่ในเขตอำนาจมี 2 ศาลคือมูลคดีที่เป็นเหตุฟ้องหย่า และ ภูมิลำเนาของจำเลย  3. (ใช้เวลานานเท่าไหร่?) - ประมาณ 50 วันศาลจะนัดพร้อมครั้งแรกครับ

มาตรา 1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-03 06:57:03


ความคิดเห็นที่ 2 (2395512)

มูลคดีเกิด คือต้นเหตุอันเป็นที่มาของคำฟ้อง

จำเลยได้กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โดยทำร้ายร่างกายโจทก์และขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน อันเป็นเหตุฟ้องหย่า เมื่อโจทก์จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนั้นจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4443/2546

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-08-03 07:24:59



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล