ReadyPlanet.com


ขอปรึกษาทนายความ - ฟ้องแบ่งมรดกในส่วนที่พึงจะได้ได้


แม่เสียก่อนพ่อ พ่อเสียแต่ไม่ได้ทำพินัยกรรม พ่อมีโฉนด 1 แปลง มีบุตร 4 คน หลังจากพ่อเสียลูก ๆ ได้ขึ้นโฉนดเป็น 4 ชื่อ หลังจากนั้นพี่ชายคนโตได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและต้องการขายที่ดินเพื่อเอาเงินมาแบ่งกัน แต่น้องชายคนเล็กสุดไม่ยอมขาย อยากเอาไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานต่อไป 

น้องชายคนเล็กเป็นคนดูแลพ่อและหาเงินรักษาพ่อตอนเจ็บป่วยและใช้หนี้สินให้พ่อหลังจากพ่อเสีย จึงอยากฟ้องเอาในส่วนที่น้องชายพึงจะได้ ไม่ทราบว่าจะฟ้องศาลให้ผู้จัดการมรดกแบ่งเป็น 5 ส่วนได้หรือไม่(ส่วนที่ 5 สำหรับน้องชายคนเล็กที่ดูแลพ่อพร้อมกับที่ใช้หนี้ให้พ่อด้วย) ขอคำแนะนำครับ



ผู้ตั้งกระทู้ คนกลาง :: วันที่ลงประกาศ 2013-07-04 03:08:44


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2394165)

เมื่อพ่อซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ เมื่อตายแล้วเรียกว่า เจ้ามรดก เมื่อเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ผู้ใด ย่อมตกได้แก่ทายาท (ตาม มาตรา 1629)  ทายาท ลำดับที่ 1 คือผู้สืบสันดาน ซึ่งต้องพิจารณาผู้สืบสันดานชั้นสนิทที่สุดเสียก่อน ชั้นสนิทที่สุดก็คือบุตรของเจ้ามรดก ตามข้อเท็จจริงคือ 4 คน ,

ทายาท ลำดับที่ 2 คือ บิดา มารดา ในที่นี้คือมารดา ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนเจ้ามรดกแล้ว ทายาทลำดับที่ 3 คือพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน หมายถึงพี่น้องของเจ้ามรดก ในกรณีตามคำถามถูกทายาทลำดับที่ 1 ตัดไปแล้วเพราะทายาทลำดับถัดลงมาไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย (ตาม มาตรา 1630)  ยกเว้น บิดา มารดา ซึ่งเป็นทายาทลำดับที่ 2 ไม่ถูกตัดเพราะกฎหมายให้บิดา มารดา ที่ยังมีชีวิตอยู่มีสิทธิรับส่วนแบ่งมรดกเสมือนว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

แบ่งมรดกออกเป็น 4 ส่วน คนละส่วน เท่า ๆ กัน น้องคนเล็กก็ได้ 1 ส่วน เมื่อมีการตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว (พี่ชายคนโต) ก็ต้องจัดการแบ่งทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกต่อไป น้องคนเล็กมีส่วนเดียวก็มีสิทธิรับไปส่วนเดียว และไม่มีสิทธิที่จะไม่ขายไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ เพราะนั่นคือการใช้สิทธิเกินส่วนของตนที่มีสิทธิได้รับมรดกเพียงส่วนเดียว

แม้น้องคนเล็กจะเป็นผู้ดูแลพ่อดูแลรักษาพ่อตอนเจ็บป่วยก็ตาม กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ให้มีสิทธิได้รับมรดกมากกว่าทายาทอื่นเพราะเหตุดูแลเจ้ามรดกก่อนเสียชีวิต เว้นแต่ใช้สิทธิเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปตามความเป็นจริง ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกออกเป็น 5 ส่วนตามต้องการได้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ
(1)  ผู้สืบสันดาน
(2)  บิดามารดา
(3)  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4)  พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5)  ปู่ ย่า ตา ยาย
(6)  ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635
 
มาตรา 1630  ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-07-30 17:40:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล