ReadyPlanet.com


แพ่ง+อาญา


เรียน คุณ ลีนนท์  ที่เคารพ

 ขอความกรุณาอธิบายข้อความที่ว่า

ฟ้องคดีแพ่งตามเช็คที่มีจำนวนเงินไม่เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวสามารถฟ้องรวมไปกับคดีส่วนอาญาได้

กรณีของข้าฯ  เช็คเด้งตอนนี้อยู่ระหว่างอัยการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง(กำลังรออยู่)  เช็คที่ฟ้องยอดเงิน 6 แสน ลงวันที่1 พ.ย.50

ที่ข้าฯทราบ เช็คที่จะฟ้องแพ่งต้องภายใน 1 ปีจากวันที่ ที่ลงในเช็ค  กรณีนี้ถ้าอัยการสั่งฟ้อง  แพ้หรือชนะ คงอีกนาน  คำว่าฟ้องแพ่ง ภายใน 1 ปีจะเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่   หรือควรจ้างทนายฟ้องแพ่ง  และคำว่าจำนวนเงินไม่เกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียว สามารถฟ้องรวมอาญาได้  ช่วยกรุณาอธิบายด้วย

ขอขอบคุณล่วงหน้า



ผู้ตั้งกระทู้ ชนะ :: วันที่ลงประกาศ 2008-10-07 13:22:30


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1847416)

มาตรา 44 การเรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนตาม มาตรา ก่อนพนักงาน อัยการจะขอรวมไปกับคดี อาญาหรือจะยื่นคำร้องในระยะใดระหว่าง ที่คดีอาญากำลังพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นก็ได้
คำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคา ให้รวมเป็นส่วนหนึ่ง แห่งคำพิพากษาในคดีอาญา

 

มาตรา 44/1 ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทด แทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยให้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้
การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่น คำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้อง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหานอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหาย และจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาด สาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้อง แก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้

ก่อนที่จะครบหนึ่งปี ก็ฟ้องแพ่งเสียก่อนซิครับ

ตาม พรบ ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค คงทราบผลไม่เกินหนึ่งปีนะครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-08 14:59:21


ความคิดเห็นที่ 2 (1847761)

มีมูลหนี้จากอะไรครับ ถ้าเป็นมูลหนี้ที่มีหลักฐานก็จะมีอายุความตามมูลหนี้นั้น ไม่ต้องฟ้องตามตั๋วเงินก็ได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-09 09:15:29


ความคิดเห็นที่ 3 (1847977)

เรียน  คุณ ลีนนท์  ที่เคารพ

 ขอขอบคุณอย่างสูงที่กรุณาตอบคำถามให้

อ่านมาตรา 44  44/1  ไม่ค่อยจะเข้าใจมากนัก  ขอเรียนสอบถามคุณ ลีนนท์  อีกครั้งว่า

-เช็คที่จะฟ้องแพ่งจะต้องฟ้องโดยทนายความใช่หรือไม่  เพราะเคยถามทนายความบอกว่า  ค่าใช้จ่ายประมาณ  ร้อยละ 10 จากหน้าเช็คก็ประมาณ 3 หมื่น

-แต่ถ้าฟ้องโดยอัยการ  จะต้องมีค่าใช้จ่ายหรือไม่

-มูลหนี้เดิมจากการนำเช็คมาแลกเงินสด  ต่อมานำเช็คไปเรียกเก็บธนาคารปฎิเสธ เงินในบัญชีไม่พอจ่าย

จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอดเงินตามเช็คที่เด้ง  รับสภาพหนี้ทำวันที่ 1 ต.ค 50

 วันที่5ต.ค50 นำเช็คมาจ่ายให้  เช็คลงวันที่ถัดไป 1 เดือนจากวันรับสภาพหนี้คือ 1พ.ย 50  เช็คฉบับนี้เรียกเก็บ  1ธค 50 เพราะลูกหนี้เงินไม่พอจึงขอเลื่อน 1 เดือน พอครบกำหนดก็เอาเช็คเรียกเก็บธนาคารปฎิเสธเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ข้าฯก็ทวงถามตลอด ลูกหนี้ก็ขอผลัดอ้างว่ากำลังกู้เงินจากธนาคารกู้ได้จะคืนให้พร้อมดอกเบี้ย แล้วก็กู้ไม่ผ่าน

-13ก.พ.51 ข้าจึงได้ไปแจ้งความดำเนินคดีตำรวจรับเรื่อง โดยขอเอกสารหนังสือรับสภาพหนี้  และใบคืนเช็ค  ระหว่างดำเนินการก็มีการเรียกพยานที่อยู่ในเหตุการณ์รับสภาพหนี้+รับเช็ค  ไปสอบถาม หลังจากนั้น 2 เดือนตำรวจก็แจ้งว่าสั่งฟ้อง  เรื่องอยู่กับอัยการข้าฯก็ได้โทรไปสอบถาม อัยการก็บอกว่าพยายามคุยกับลูกหนี้ซะจะได้ไม่ต้องยุ่งยาก ซึ่งอัยการก็ได้บอกกับข้าว่าถ้าคุยไม่รู้เรื่องก็จะดำเนินการให้  แต่ต้องรอเพราะมีอัยการทั้งหมดเพียง 3 คน งานเยอะมาก  คดีไม่หมดอายุความ เพราะฟ้องร้องแล้ว

ตอนนี้ผ่านมาเกือบปีแล้วยังไม่มีหมายเรียกไปขึ้นศาลเลย  ขอคำแนะนำจากคุณลีนนท์  ว่าควรทำอย่างไรต่อไป

มูลหนี้จากการรับสภาพหนี้ มีอายุความกี่ปี

สุดท้ายนี้ขออวยพรให้คุณลีนนท์และครอบครัว  มีสุขภาพแข็งแรงคิดสิ่งใดสมความปรารถนาทุกประการ

ขอขอบคุณล่วงหน้า

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-10-09 14:50:20


ความคิดเห็นที่ 4 (1848236)

เรียน  คุณ  ลีนนท์  ที่เคารพ

ขอเรียนย้ำคำถามข้างบนอีกครั้ง

ขอขอบคุณล่วงหน้า

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-10-10 08:21:01


ความคิดเห็นที่ 5 (1848355)

ขออภัยครับอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจคำถาม ถามให้ชัดเจนอีกครั้งครับ

คุณบอกว่าฟ้องรวมอาญาได้แล้วให้อธิบายหมายความว่าอย่างไร ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-10 12:12:49


ความคิดเห็นที่ 6 (1848404)

เรียน  คุณ  ลีนนท์  ที่เคารพ

ขอขอบคุณ  ที่กรุณาอ่าน และตอบคำถาม  ที่ข้าฯถามจุดประสงค์คือ 

ถามว่าเช็คที่อยู่ในชั้นอัยการกำลังพิจารณาว่า จะฟ้อง หรือไม่ฟ้องผู้ถูกกล่าวหา(ชั้นพนักงานสอบสวนตำรวจมีความเห็นสั่งฟ้อง)ตอนนี้เช็ค ใกล้จะครบ 1 ปี ข้าฯเกรงว่าอายุความจะขาด

ฟ้องคดีแพ่งตามเช็คที่มีจำนวนเงินไม่เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวสามารถฟ้องรวมไปกับคดีส่วนอาญาได้

กรณีของข้าฯ  เช็คเด้งตอนนี้อยู่ระหว่างอัยการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง(กำลังรออยู่)  เช็คที่ฟ้องยอดเงิน 6 แสน ลงวันที่1 พ.ย.50

ที่ข้าฯทราบ เช็คที่จะฟ้องแพ่งต้องภายใน 1 ปีจากวันที่ ที่ลงในเช็ค  กรณีนี้ถ้าอัยการสั่งฟ้อง  แพ้หรือชนะ คงอีกนาน  คำว่าฟ้องแพ่ง ภายใน 1 ปีจะเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่   หรือควรจ้างทนายฟ้องแพ่ง  และคำว่าจำนวนเงินไม่เกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียว สามารถฟ้องรวมอาญาได้  ช่วยกรุณาอธิบายด้วย

ขอขอบคุณล่วงหน้า

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-10-10 13:43:36


ความคิดเห็นที่ 7 (1848436)

ในคดีตั๋วเงินมีอายุความ 1 ปี ถ้าคุณไม่ฟ้องภายใน 1 ปีก็ขาดอายุความ แต่เช็คที่สั่งจ่ายให้คุณมีมูลหนี้จากอะไร ถ้ามีมูลหนี้ตามสัญญาเงินกู้ที่มีหลักฐานเป็นหนังสือคุณก็สามารถฟ้องตามสัญญากู้ยืมเงินมีอายุความ 10 ปี (สมมุติ)

มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมี อำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(1) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลใน คดีทั้งปวง
(2) ไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย
(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา
(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือ จำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือ จำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษ อย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใด อย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้
ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจตาม (3) (4) หรือ
 (5)

เช็คของคุณมียอด 6 แสนบาท เกินอำนาจผู้พิพากษานายเดียวตามมาตรา 25 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-10 14:46:34


ความคิดเห็นที่ 8 (1848465)

จากคำถาม

-เช็คที่จะฟ้องแพ่งจะต้องฟ้องโดยทนายความใช่หรือไม่  เพราะเคยถามทนายความบอกว่า  ค่าใช้จ่ายประมาณ  ร้อยละ 10 จากหน้าเช็คก็ประมาณ 3 หมื่น

ก็ต้องให้ทนายความดำเนินการให้ครับ ถ้าคุณทำเองได้ก็สามารถทำเองได้เลย เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องมีทนายความ หมายความว่าตัวความหรือผู้เสียหายดำเนินคดีเองได้ เช่น ถ้าผมเป็นผู้เสียหายผมก็สามารถทำเองได้ในฐานะผู้เสียหายไม่ใช่ในฐานะทนายความ

คำถาม

-แต่ถ้าฟ้องโดยอัยการ  จะต้องมีค่าใช้จ่ายหรือไม่

ไม่ต้องมีเพราะรัฐมีหน้าที่บริการประชาชน แต่อาจจะไม่ทันใจเราอยู่บ้าง

 

คำถาม

-มูลหนี้เดิมจากการนำเช็คมาแลกเงินสด  ต่อมานำเช็คไปเรียกเก็บธนาคารปฎิเสธ เงินในบัญชีไม่พอจ่าย

 

คุณต้องฟ้องภายใน 1 ปีครับ ตามตั๋วเงิน

 

คำถาม

จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอดเงินตามเช็คที่เด้ง  รับสภาพหนี้ทำวันที่ 1 ต.ค 50

รับสภาพหนี้ว่าเป็นหนี้มาจากมูลใดครับ

 

คำถาม

มูลหนี้จากการรับสภาพหนี้ มีอายุความกี่ปี

อายุความต้องพิจารณาว่าในหนังสือรับสภาพหนี้ บอกว่ามีหนี้สินจากมูลหนี้ใด เช่นซื้อขาย หรือกู้ยืมเงินเป็นต้น ดังนั้นจะให้คำตอบได้ต้องมีข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ด้วยครับ

คำถาม

ขอคำแนะนำจากคุณลีนนท์  ว่าควรทำอย่างไรต่อไป

ควรฟ้องคดีตามตั๋วเงินภายในอายุความ 1 ปีครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-10 15:52:05


ความคิดเห็นที่ 9 (1848471)

เรียน คุณ  ลีนนท์  ที่เคารพ

ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงที่กรุณาตอบคำถามให้

มูลหนี้มาจาก หนังสือรับสภาพหนี้  (ข้าฯเคยอ่านเจอในเว็บ อายุความ 2 ปี  ถูกต้องหรือไม่)

ถ้าอายุความ 2 ปี ข้าฯก็สามารถรอจนกว่า ศาลจะพิพากษา  ถ้าชนะศาลคงจัดการเรื่องการคืนเงินจากเช็คให้  แต่ถ้าแพ้หรือศาลยกฟ้อง ข้าฯสามารถจ้างทนายความฟ้องแพ่งได้ ใช่หรือไม่

ขอขอบคุณ  ขออวยพรให้คุณลีนนท์  มีความสุขมากๆ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-10-10 15:57:30


ความคิดเห็นที่ 10 (1848498)

คำถาม

มูลหนี้มาจาก หนังสือรับสภาพหนี้  (ข้าฯเคยอ่านเจอในเว็บ อายุความ 2 ปี  ถูกต้องหรือไม่)

ผมไม่ทราบครับ แต่ความเห็นผม อายุความของหนังสือรับสภาพหนี้ย่อมมีอายุความตามมูลหนี้เดิม เช่น คุณเป็นหนี้บัตรเครดิต ซึ่งมีอายุความ 2 ปี เมื่อก่อนครบกำหนดสองปี ลูกหนี้มาทำหนังสือรับสภาพหนี้ ย่อมทำให้อายุความสดุดหยุดลงและเริ่มต้นนับใหม่

มาตรา 193/14   อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ยให้ประกันหรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยาย ว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
(2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้
(3) เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
(4) เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
(5) เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี

 

มาตรา 193/15   เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

ดังนั้นเมื่ออายุความสดุดหยุดลงแล้ว จึงเริ่มนับ 2 ปีใหม่นับแต่วันที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้ แต่ถ้ามูลหนี้มาจากเรื่องอื่นที่มีอายุความยาวกว่าสองปี ก็ให้นับใหม่และมีอายุความตามมูลหนี้เดิม

แต่มีกรณีที่มีการทำหนังสือรับสภาพความรับผิด ซึ่งเป็นการรับผิดว่าได้เป็นหนี้กันจริง ภายหลังที่หนี้ดังกล่าวนั้นหมดอายุความไปแล้ว เช่น หนี้ละเมิดมีอายุความ หนึ่งปี  และขาดอายุความแล้ว แต่มาลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพความรับผิดไว้ว่าได้ทำละเมิดจริงและมีหนี้ดังกล่าวกันจริง แม้จะขาดอายุความแล้ว หนังสือรับสภาพความรับผิดนั้นมีอายุความสองปีครับ

ดังนั้นควรฟ้องภายในหนึ่งปีครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-10 16:41:44


ความคิดเห็นที่ 11 (1848595)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 307/2549

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 การออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้นจะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย ข้อเท็จจริงที่ว่าการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงเป็นองค์ประกอบการกระทำความผิดหาได้เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาไม่ การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้และแนบสำเนาสัญญารับสภาพหนี้มาท้ายฟ้อง จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว เพราะการรับสภาพหนี้มิได้ก่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้นใหม่ เพียงแต่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เท่านั้น คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-10 22:31:11


ความคิดเห็นที่ 12 (1848596)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 307/2549 (ย่อยาว)

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัตนาธิเบศร์ ลงวันที่ 17 กันยายน 2542 สั่งจ่ายเงิน 1,500,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินว่าบัญชีปิดแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คในขณะที่ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2543 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น (2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ (3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น (4) ฯลฯ เมื่อมีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด" ตามบทบัญญัติดังกล่าว การออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้นจะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย ข้อเท็จจริงที่ว่าการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงเป็นองค์ประกอบการกระทำความผิดหาได้เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาไม่ การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้และแนบสำเนาสัญญารับสภาพหนี้มาท้ายฟ้อง จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว เพราะการรับสภาพหนี้มิได้ก่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้นใหม่ เพียงแต่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เท่านั้น คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-10 22:35:17


ความคิดเห็นที่ 13 (1849284)

เรียน  คุณ ลีนนท์ ที่เคารพ

  ขอขอบคุณในคำตอบที่ผ่านๆมา  ขอขอบคุณมากๆ

ขอเรียนถามอีกครั้งเพื่อความแน่นอน ขอถามเป็นครั้งสุดท้าย

-ลูกหนี้นำเช็คมาแลกเงินสดจากข้าฯ เดือนละ 20 ฉบับ หักดอกเบี้ยร้อยละ 5จากหน้าเช็ค เริ่มต้นแลกเช็ค เม.ย50 ,พค,มิย,กค50 จำนวน80ฉบับ เช็คผ่านตลอด

ต่อมาเดือน สค.50  แลกเช็ค 20 ฉบับ เช็คเด้ง ธนาคารปฏิเสธเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ยอดรวม ประมาณ 3 ล้าน(อันนี้คือเหตุการณ์เริ่มต้น)

-1 ตค. 50 ลูกหนี้มาทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ยอด 3 ล้าน

-5 ตค.50 นำเช็คมาจ่าย 24 ฉบับ ฉบับละ125,000+ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน เช็คลงวันที่ถัดไปจากวันรับสภาพหนี้ คือ 1พย.50- 1 ตค.52  ขณะนี้เช็คเด้ง12ฉบับ  ธนาคารแจ้งว่า บัญชีปิดแล้ว

-ข้าฯ ได้แจ้งความไปแล้ว 3 ครั้ง  กำลังจะแจ้งความรอบที่ 4

-ขอถามว่า

1.กรณีนี้มูลหนี้คือเช็คแลกเงินสด  อายุความแพ่งคือ 1ปี  จากวันที่ ที่ลงในเช็ค คือฉบับแรก 1พย 50  อายุความแพ่งจะหมดวันที่ 31ตค.51  ถูกต้องหรือไม่

2.เช็คทุกฉบับที่แจ้งความ ตัวจริงอยู่ที่ตำรวจ+อัยการ  ใช้สำเนาถ่ายเอกสารฟ้องแพ่ง ได้หรือไม่

3.แจ้งความ 3 ครั้ง ครั้งแรกแจ้งท้องที่ ที่ธนาคารปฏิเสธเช็ค(ปริมณฑล)  ครั้งที่2,3 แจ้งความท้องที่ที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้  ข้าฯสามารถนำสำเนาเช็ค 9 ฉบับฟ้องแพ่งรวมได้ที่ไหน

4.ถ้าข้าฯ ได้ทำการฟ้องแพ่งก่อน 1 ปี ข้าฯก็จะได้เงินต้น+ดอกเบี้ย 7.5 คืน  แต่เวลาอาจจะนาน ถูกหรือไม่

5.ถ้ารอฟ้องอาญาอย่างเดียว เผื่อลุกหนี้ สู้ถึง 3 ศาล และกินเวลานานกว่า 2 ปีโดยที่ไม่ฟ้องแพ่งเลย   กรณีนี้ถ้าข้าฯแพ้(อาญา) เงินทั้งหมด จะเหลือ ศูนย์ หรือเปล่า  เพราะเช็คหมดอายุแพ่ง

ขอขอบคุณ  คุณลีนนท์ล่วงหน้า  เป็นอย่างสูง

ขออวยพรให้คุณ ลีนนท์ มีความสุขมากๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-10-13 10:59:54


ความคิดเห็นที่ 14 (1849560)

1. อายุความนับตั้งแต่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้อง เมื่อเช็คลงวันที่ 1 พ.ย. 50 ขาดอายุความ 31 ต.ค.51 ถูกต้องครับ

2. ใช้สำเนาฟ้องได้ครับ แต่เวลาสืบพยานต้องใช้ต้นฉบับครับ

3. การฟ้องคดีแพ่งไม่ต้องคำนึงว่าคุณจะได้แจ้งความทึ่ท้องที่ใด แต่สามารถฟ้องได้ที่

1. ภูมิลำเนาของจำเลย

2. ท้องที่ที่ธนาคารเจ้าของเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินครับ(ต้องเป็นธนาคารที่มีหน้าที่จ่ายเงินไม่ใช่ที่ธนาคารของเราที่เราเอาเช็คเข้าเรียกเก็บ)

4. "ข้าฯก็จะได้เงินต้น+ดอกเบี้ย 7.5 คืน  แต่เวลาอาจจะนาน ถูกหรือไม่"

ถูกต้องครับ

5. เช็คเมื่อขาดอายุความฟ้องร้องก็คือกระดาษครับ

ขอแนะนำว่าควรฟ้องภายในอายุความ 1 ปี เพราะมีแนวโน้มว่าเป็นหนี้ที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกันขอให้อ่านฎีกาที่ให้มาให้ละเอียดและช้า ๆ คุณจะเห็นคำตอบในฎีกาที่ผมหามาให้ข้างบนนั้นครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2008-10-13 22:14:53


ความคิดเห็นที่ 15 (1849786)

เรียน  คุณ  ลีนนท์  ที่เคารพ

   ขอขอบคุณมากๆ  ที่กรุณาตอบคำถามให้  ขณะนี้เข้าใจแล้ว  ไว้คดีสิ้นสุดจะส่งข้อความไปแจ้งให้ทราบ

  ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง  ขออวยพรให้คุณลีนนท์และครอบครัว  มีความสุข  คิดหวังสิ่งใดสมความปรารถนาทุกประการ

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนะ วันที่ตอบ 2008-10-14 11:19:48



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล